x close

ล้างมือ วิธีดูแลสุขภาพ ที่แสนธรรมดา

ล้างมือ


          เชื้อโรคมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง เราอาจติดเชื้อได้ง่ายๆ หากไม่รู้จักป้องกันดูแลสุขภาพ ลองใช้วิธีการง่ายๆ และคนส่วนใหญ่มักจะละเลยก็คือ การล้างมือ แค่ก่อนอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ ก็ช่วยให้คุณปลอดโรคได้


          เวลาพูดถึงการดูแลสุขภาพ คนเรามักนึกถึงเรื่องที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน ถ้าเป็นเรื่องอาหารก็เป็นเรื่องที่ต้องสรรหาและปรุงแต่งอย่างไม่ธรรมดา ถ้าจะพักผ่อนก็ต้องตะลอนหาบรรยากาศดีๆ แต่คนเรามักจะละเลยสิ่งที่ทำได้ง่ายๆ อย่างการ "ล้างมือ"


          บางครั้งเมื่อละเลยแล้ว ก็สามารถเป็นต้นเหตุให้เกิดความเจ็บป่วยขึ้นได้ ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงขั้นเสียชีวิตได้


          การ "ล้างมือ" เป็นการดูแลสุขภาพแบบง่ายที่สุดและเรียกได้ว่าราคาถูกที่สุดก็ว่าได้


          "จะคอยเตือนลูกตลอดให้เขาล้างมือก่อนทานอาหาร เขาก็ทำจนเป็นนิสัยประจำอยู่แล้ว มีบางครั้งที่หิวหน้ามืดตาลายจริงๆ วิ่งมาจะหยิบขนมเข้าปาก หากตอนนั้นเขาเล่นอยู่ในบ้านก็จะปล่อยนะ แต่ถ้าไปเล่นข้างนอกมา ก็จะไม่ยอม ต้องให้ไปล้างมือก่อน" จุฑารัตน์ ถือซื่อ เล่าถึง "นโม" ลูกสาววัย 6 ขวบ ของเธอที่ไม่เคยเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อใดๆ แม้กระทั่งท้องเสียเล็กๆ น้อยๆ


          ตั้งแต่ปีที่แล้วมา เรามักได้ยินข่าวเรื่องโรคระบาดพวกปากมือเท้าเปื่อยในเด็กนักเรียนอย่างอนุบาลหรือ ป.1- ป.2 ทางโรงเรียนต่างๆ จึงมีหนังสือเวียนถึงผู้ปกครองอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อมีข่าวการระบาดของโรค ไม่ว่าจะในเมืองไทยหรือต่างประเทศ ผู้ปกครองจึงเตรียมกระติกน้ำดื่มและของใช้ส่วนตัวของเด็กๆ มาเอง ดูแลเอาใจใส่ให้เด็กล้างมือก่อนทานอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ


          การดูแลสุขภาพตัวเองด้วยการล้างมือ บางครั้งก็เป็นเรื่องง่ายดาย จนทำคนมองข้าม แม้จะเห็นความจำเป็นแล้วก็ตาม


          "อ่านเจอจากนิตยสารบ่อยๆ เขาบอกว่าบนแป้นคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์เชื้อโรคเยอะกว่าในห้องน้ำเสียอีก สิ่งที่ทำเป็นประจำก็คือ นั่งทำงานไป กินขนมไปด้วย บางทีก็ทานข้าว แป้นพิมพ์เป็นมันเลย" จุฑารัตน์ กล่าวเช่นนั้น ส่วนเรื่องล้างมือก่อนทานอาหาร บางครั้งเธอก็ลืมเพราะต้องออกไปทานอาหารตามร้านข้างนอก


          จุฑารัตน์ บอกว่า ที่จริงก็ทราบว่าไม่เฉพาะคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ บนโต๊ะหรือปุ่มกดลิฟต์ ก็ไม่ใช่จุดที่จะไว้ใจได้ ก็เพราะเวลาเป็นเงินเป็นทอง ทำให้เผลอตัวผละมือจากแป้นพิมพ์งานได้ ก็หยิบขนมใส่ปากทานรองท้องก่อนเพื่อไม่ต้องเสียเวลา ก่อนลุกไปทานอาหารเป็นเรื่องเป็นราว


เชื้อโรคมีอยู่ทุกที่


          ศ.นพ. สมหวัง ด่านชัยวิจิตร แพทย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึงเชื้อโรคว่า เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการเจ็บป่วยของคนเรา


          ในร่างกายของเราก็มีเชื้อโรคอยู่ในตัว ทุกส่วนบนร่างกายเราที่มองเห็น จับต้องได้ มีเชื้อโรคเสมอ แม้กระทั่งจับต้องไม่ได้ ตรงไหนเป็นรูเป็นโพรงตรงนั้นเชื้อโรคเยอะ อย่างรูจมูกหรือในปาก ถ้าไม่ได้แปรงฟัน สักพักหรือสักชั่วโมงหนึ่ง ปากก็เหม็นแล้ว เพราะแบคทีเรียเจริญเติบโตเต็มที่ อย่างรักแร้ที่มีกลิ่นเหม็นก็เพราะมีเชื้อโรคมากนั่นเอง


          เชื้อโรคมีทั้งมีประโยชน์และโทษ ประโยชน์คือ เป็นยาป้องกันตัวเราเอง ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคข้างนอกเข้ามา อีกอย่างเชื้อโรคบนผิวหนัง ร่างกายจะสร้างกรดไขมันป้องกัน ถ้าเชื้อโรคอื่นมาตกใส่ก็จะตาย


          "หน้ามันๆ อย่างผู้ชาย เชื้อโรคไม่ค่อยชอบ เกาะแล้วมันตาย แต่ถ้าหน้าสาวๆ ล้างสะอาดๆ ไม่ค่อยมีกรดไขมัน พวกสิวฝ้า เสี้ยน ผู้หญิงมักเป็นมากกว่าผู้ชาย" ศ.นพ.สมหวัง กล่าว ก็เพราะเราไปล้างของที่ดีๆ ออกไป


          ในร่างกายมนุษย์ ยิ่งอยู่ลึก เชื้อโรคก็ยิ่งมีจำนวนมาก อย่างอุจจาระ ยิ่งมีกลิ่นเหม็น ก็เพราะเชื้อโรคมาก


          คุณหมอคนเดิม อธิบายต่อว่า พวกเชื้อโรค ถ้ามันอยู่ของมันถูกที่ ก็ไม่มีปัญหา แต่เมื่ออยู่ผิดที่ อย่างเชื้อโรคบนผิวหนัง ถ้าพลัดเข้าไปอยู่ใต้ผิวหนังเพราะมีแผล มันก็ทำให้เกิดโรคหรือเชื้อโรคที่อยู่ในลำไส้ ถ้าลำไส้แตก เชื้อโรคก็ออกไปนอกลำไส้ ก็เกิดโรค


สถานที่ใดเป็นจุดเสี่ยงเชื้อโรคเยอะบ้าง?


          "เชื้อโรคมีทุกที่ที่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ใด เวลาเซลล์บนผิวหนังลอก ก็จะมีเชื้อโรคอยู่ หรือเวลาพูด น้ำลายก็ออกมาก็มีเชื้อโรคด้วย" ศ.นพ.สมหวัง กล่าว ส่วนจะมีอันตรายต่อร่างกาย ก็ต่อเมื่อมีเชื้อโรครุนแรงติดต่อได้ อย่าง ไข้หวัดนก โรคซาร์ส ถ้ามีเกิดขึ้นก็จะติดต่อกันได้ง่าย  


          ส่วนวิธีการป้องกัน ศ.นพ.สมหวัง บอกว่า เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ทุกทวาร ทั้งการหายใจ กิน ทางบาดแผล และเพศสัมพันธ์ ทั้งๆ ที่ร่างกายมีกลไกป้องกันตามธรรมชาติอยู่แล้ว ถ้าเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายในปริมาณไม่มาก ร่างกายก็มีภูมิคุ้มกันต่อสู้ได้ แต่ถ้าเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจำนวนมาก หรือระหว่างนั้นร่างกายอ่อนแอ หรือเชื้อที่เข้าไปมีความรุนแรง ก็อาจเกินกำลังของร่างกาย ทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้


          "อย่างการกิน วันหนึ่งเรากินเชื้อโรคไปไม่รู้เท่าไร ขี้ฟันกรัมหนึ่งมีเชื้อโรคกว่าหนึ่งพันล้านตัว วันหนึ่งกินเข้าไปตั้งเท่าไหร่ แล้วยังเชื้อโรคจากอาหารการกิน แต่พอไปโดนกรดในกระเพาะอาหาร มันก็ตายเกลี้ยง ยกเว้นเรากินเข้าไปเยอะหรือกรดมีน้อย ก็ทำให้เกิดโรคขึ้นมา" ศ.นพ.สมหวัง ว่า โอกาสที่ทำให้ติดเชื้อมากที่สุดคือ การกิน ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงมากที่สุด รองลงมาคือ หวัด ไข้หวัดใหญ่


รักษาสุขภาพง่ายๆ "ล้างมือ"


          โรคติดเชื้อมากมายสามารถติดต่อผ่านการสัมผัส อย่างเช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ โรคหัด หัดเยอรมัน ไม่ได้ติดต่อผ่านการหายใจเอาเชื้อเข้าไปเท่านั้น แต่เวลามือไปสัมผัสกับสิ่งของเครื่องใช้ที่ใช้ร่วมกับคนอื่น หรือของใช้สาธารณะทั่วไป อย่างราวโหนรถเมล์หรือราวบันได แล้วกลับมาสัมผัสตัวเอง อย่างแคะจมูก เชื้อโรคก็จะเข้าสู่โพรงจมูกส่วนหน้า เมื่อหายใจเข้าไป ก็ทำให้เกิดโรคได้


          โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย โรคตับอักเสบชนิดเอ โรคบิด อหิวาตกโรค โรคพยาธิชนิดต่างๆ ซึ่งติดต่อได้จากการที่มือปนเปื้อนเชื้อเหล่านี้ แล้วหยิบจับอาหารรับประทานเข้าไป โรคติดต่อทางการสัมผัสโดยตรง เช่น โรคตาแดง โรคเชื้อรา แผลอักเสบที่ผิวหนัง หิด เหา โรคเริม โรคที่ติดต่อได้หลายทาง เช่น โรคอีสุกอีใส อาจติดต่อได้จากการหายใจ และการสัมผัส


          โรคติดเชื้อเหล่านี้ เป็นโรคที่พบบ่อย และบางครั้งอาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมาได้ แต่การป้องกันโรคจากการติดเชื้อเหล่านี้ ไม่ใช่การไปทำความสะอาดจุดต่างๆ ที่ผู้คนต้องเข้าไปใช้ชีวิต มีวิธีที่ง่ายกว่านั้นก็คือ "ล้างมือ"


          ศ.นพ.สมหวัง บอกว่า เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ด้วยการสัมผัส ส่วนใหญ่เป็นมือ อย่างบนโต๊ะมีเชื้อโรค เอามือไปจับ เชื้อโรคก็ติดบนมือเรา ถ้าไม่ระมัดระวัง แคะตา แคะขี้มูกหรือจับต้องผิวหนังที่มีแผล หรือคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ 


การรู้จักดูแลความสะอาดของมือ ก็ลดความเสี่ยงได้ง่ายที่สุด


          "ก่อนกินข้าว ควรล้างมือด้วยน้ำเปล่า ถ้ามีสบู่ก็ดี ไม่ต้องน้ำยาอะไรมาก ล้างด้วยสบู่ธรรมดา เชื้อโรคจะออกไปแล้ว 99%  ถ้าฟอกมือดีๆ จะออกไปได้ 99.99% แต่มันไม่หมดหรอก อยู่ตามรูขุมขน มันไม่ออก แต่ไม่เป็นอันตราย เชื้อโรคที่อันตรายคือ ที่เราไปหยิบจับ อาจจะมีเชื้อโรคทำให้ท้องเสียหรืออาจมีอหิวาต์ติดอยู่ที่มือ ถ้าหยิบจับอาหารกิน แล้วช่วงนั้นร่างกายอ่อนแอ ก็ป่วยเลย"


          ควรล้างมือบ่อยแค่ไหน? ศ.นพ.สมหวัง บอกว่า สำหรับคนทั่วไปมีสองเวลา คือ ก่อนทานอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ


ป้องกันดีกว่ารักษา


          ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีในวงการแพทย์ว่า ยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะ หากมีการใช้บ่อย ก็มีผลทำให้เชื้อโรคดื้อยา บริษัทผลิตยาตัวใหม่ๆ ออกมาไม่บ่อยนัก เพราะยาตัวหนึ่งต้องลงทุนเป็นหลักหมื่นล้าน


          ศ.นพ. สมหวัง บอกว่า ช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมาไม่ค่อยมีการลงทุนในการพัฒนายาต้านจุลชีพใหม่ๆ เพราะยาพวกนี้ออกมาขายแค่พักหนึ่ง เชื้อโรคก็ดื้อยาแล้ว ยาก็ขายไม่ออก จึงดูเหมือนจะหมดยุคยาปฏิชีวนะแล้ว ไม่สามารถทำอะไรเชื้อโรคได้เลย เพราะเชื้อโรคพัฒนาขึ้น ดังนั้นในกลุ่มวิชาชีพแพทย์ก็ต้องระวัง ชะลอการใช้ให้น้อยที่สุด ไม่ใช้ยาพร่ำเพรื่อ


          "ดูจากรายงานการดื้อยาแต่ละโรงพยาบาล หลายปีที่ผ่านมามีอัตราการดื้อยาเพิ่มขึ้น สารพัดเชื้อท้องร่วง จนบางเชื้อไม่มียารักษาแล้ว วัณโรคที่ดื้อยา มีปัญหาในการรักษามากขึ้น ก็ต้องคิดต่อว่า เราจะถนอมยาไว้ได้อย่างไร ต้องทำร่างกายให้แข็งแรง ไม่ติดเชื้อง่ายๆ ก็ไม่ต้องใช้ยา ยาก็ยังมีประสิทธิภาพอยู่"


          คุณหมอคนเดิมว่า อยากรณรงค์ให้คนเห็นความสำคัญของการป้องกันเชื้อโรคก่อนเข้าสู่ร่างกาย มีหลายวิธีอย่างการใส่หน้ากากหรือผ้าคาดจมูก การใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร และง่ายที่สุด ลงทุนน้อยที่สุด คือ "ล้างมือ"


          "โรคที่ระบาดส่วนใหญ่แพร่ด้วยมือ ส่วนที่แพร่ทางน้ำหรืออาหารนั้นเป็นส่วนน้อย และอีกอย่างอยากให้ปฏิบัติจนกลายเป็นวัฒนธรรม เด็กที่ติดเชื้อหวัดหรือโรคติดต่ออะไรในสิงคโปร์หรือญี่ปุ่น พอลูกมีอาการไอ พ่อแม่จะต้องใส่หน้ากากอนามัยให้โดยอัตโนมัติเลยก็ช่วยลดการแพร่กระจาย อย่างโรคท้องร่วง ก็สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ หรือพวกมือเท้าปากเปื่อย ถ้าขยันล้างมือ ก็ลดความเสี่ยงได้มาก"


เชื้อโรคในโรงพยาบาล


          นอกจากประชาชนทั่วไป ต้องหมั่นล้างมือเพื่อป้องกันเชื้อโรคแล้ว คนอีกกลุ่มที่ต้องเอาใจใส่ในการล้างมืออย่างมาก ก็คือ บุคลากรในโรงพยาบาล โครงการหนึ่งที่ ศ.นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร กำลังรณรงค์ เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อในคนไข้ที่เข้ารับการรักษา เนื่องจากในโรงพยาบาลมีเชื้อโรคจำนวนมาก บุคลากรจึงต้องพิถีพิถันล้างมือ ควรจะล้างแบบไหน จึงมีโครงการเกี่ยวกับการล้างมือ


          องค์การอนามัยโลก มีโครงการว่าในช่วง 3 - 5 ปีจะทำอย่างไรให้คนไข้ปลอดภัยมากที่สุด และการติดเชื้อในโรงพยาบาลมีโอกาสมากแค่ไหน จึงได้มีการศึกษา


          "ปีแรกคือปลายปี 2549 ขณะที่สำรวจมีคนไข้ 6.5% ติดเชื้อจากโรงพยาบาล ทั้งในไทย และอเมริกาประมาณ 7%  แถวสแกนดิเนเวียติดเชื้อต่ำสุดประมาณ 4% ถ้าเข้ามาในโรงพยาบาลก็ต้องเสี่ยงแล้ว ถ้าติดเชื้อในโรงพยาบาล ผู้ติดเชื้อ 100 คน มีโอกาสเสียชีวิต 10 คน จำนวนผู้เสียชีวิตสูงมาก เพราะคนไข้ร่างกายอ่อนแอ เฉพาะในเมืองไทยคนไข้ติดเชื้อปีหนึ่งประมาณ 4 แสนคน ในจำนวนนั้นเสียชีวิต 4 หมื่นคน เฉลี่ยแล้วเสียชีวิตวันละ 100 กว่าคน เรื่องนี้ไม่มีใครรู้ว่า มันเกิดขึ้นทุกวัน" ศ.นพ.สมหวัง เล่าถึงสาเหตุของการทำงานโครงการรณรงค์เรื่องการล้างมือทั้งในโรงพยาบาล และประชาชนทั่วไป



ข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ล้างมือ วิธีดูแลสุขภาพ ที่แสนธรรมดา โพสต์เมื่อ 26 พฤษภาคม 2551 เวลา 11:24:28 6,293 อ่าน
TOP