พนักงานหญิง ขอลาไปแต่งงาน 4 วัน มีการขออนุมัติวันลาล่วงหน้า แต่หัวหน้าไม่ให้ แถมใช้เหตุผลนี้ว่าเป็นการขาดงาน และไล่ออก สุดท้ายบริษัทเจอบทเรียนเจ็บ อย่าคิดว่าจะเอาเปรียบกันได้
พนักงานหลายคนทุ่มเททำงานให้กับบริษัทอย่างไม่หยุดหย่อน แต่การจะลาทั้งทีก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก แม้กระทั่งมีกิจธุระที่สำคัญจำเป็น ทางหัวหน้างานก็ไม่ยอมให้ลาง่าย ๆ จนกลายเป็นหนึ่งในพฤติกรรมของสังคมการทำงานที่เป็นพิษ หรือที่เรียกว่า Toxic Workplace
วันที่ 27 ธันวาคม 2567 เว็บไซต์ CTWANT เผยเรื่องราวของพนักงานหญิงรายหนึ่งในประเทศจีน ชื่อสกุลหยาง เธอเป็นพนักงานออฟฟิศที่บริษัทแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง ทำงานมาได้ประมาณ 1 ปี จนกระทั่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่ผ่านมา เธอมีแพลนที่จะแต่งงาน เธอจึงขออนุญาตใช้ลาพักร้อน 4 วัน กับทางหัวหน้างาน ซึ่งเธอได้วางแผนจัดการแจ้งล่วงหน้าก่อนถึง 2 เดือน
อย่างไรก็ตาม คำขอลางานของเธอไม่ได้รับการอนุมัติเสียที เธอรอแล้วรออีกจนวันงานแต่งงานใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ กระทั่งก่อนวันแต่งงานเพียง 1 วัน เธอได้รับการตอบกลับจากทางบริษัทอย่างที่ไม่คาดคิด เมื่อทางหัวหน้างานของเธอปฏิเสธการลาของเธอ ทว่างานแต่งงานของเธอกำลังจะเกิดขึ้นในวันรุ่งขึ้น เธอจึงตัดสินใจพักเรื่องงานเอาไว้ก่อน แล้วมุ่งหน้าไปเข้าพิธีสำคัญในชีวิตของเธอ
หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ หยางได้เดินทางกลับมาทำงานที่บริษัท แต่ปรากฏว่าทางบริษัทได้ลงรายงานว่าเธอขาดงานต่อเนื่องเป็นเวลา 4 วัน และใช้เหตุผลข้อนี้ในการไล่เธอออกจากงาน เธอรู้สึกตกใจและไม่พอใจกับการปฏิบัติเช่นนี้ของทางบริษัท ในที่สุดเธอจึงยื่นฟ้องต่อศาล
หลังจากเรื่องราวเกี่ยวกับคดีความดังกล่าวนี้ถูกเผยแพรออกมา ก็กลายเป็นประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือด หลายคนพากันตำหนิทางบริษัทแห่งนี้ กล่าวว่า "บริษัทแย่มาก !", "พนักงานหญิงโดนไล่ออกเมื่อแต่งงาน มันมากเกินไปจริง ๆ", "นี่เป็นรูปแบบการบังคับพนักงานลาออกที่เลวร้ายมาก", "หัวหน้าเป็นมนุษย์หรือเปล่า ? ลาแต่งงานไม่ได้รับการอนุมัติ ทั้งที่ลาล่วงหน้าตั้ง 2 เดือน", "วงจรสมองของบริษัทมีปัญหา", "นาน ๆ ทีจะเห็นบริษัทแปลก ๆ แบบนี้ในปี 2024"
กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ศาลได้พิจาณามีความเห็นว่า หยางได้พูดคุยเรื่องการลาล่วงหน้ากับหัวหน้าของเธอหลายครั้ง แต่บริษัทปฏิเสธคำขอลาของเธอ ซึ่งไม่สมเหตุสมผล อีกทั้งยังตามมาด้วยการไล่เธอออก การกระทำดังกล่าวถือเป็นการเลิกจ้าง ผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงตัดสินให้ทางบริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยแก่หยางเป็นจำนวน 36,750 หยวน (ราว 171,500 บาท) และต่อมาศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก CTWANT