กฎหมายแรงงาน เรื่องใกล้ตัวที่นายจ้าง-ลูกจ้าง ควรรู้

          ทำความเข้าใจกับกฏหมายแรงงาน เรื่องสำคัญที่ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ นายจ้าง-ลูกจ้างก็ควรรู้


กฎหมายแรงงาน เรื่องใกล้ตัวที่นายจ้าง-ลูกจ้าง ควรรู้

         ในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก คือเรื่องของพนักงาน หรือแรงงาน ซึ่งบริษัทมีหน้าที่ต้องดูแลพนักงานเหล่านี้ตามสิทธิที่ควรจะได้รับตลอดการทำงาน โดยเป็นไปตามข้อบังคับทางกฎหมาย ซึ่งกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องนี้ก็คือเรื่องกฎหมายแรงงานนั่นเอง ทว่า กฎหมายแรงงานคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรนั้น กระปุกดอทคอมได้รวบรวมข้อมูลมาให้แล้วค่ะ

กฎหมายแรงงานคืออะไร?

         กฎหมายแรงงาน คือ กฎหมายที่บัญญัติถึงสิทธิและหน้าที่ของนายจ้าง ลูกจ้าง องค์การของนายจ้าง และองค์กรของลูกจ้าง รวมทั้งมาตรการที่กำหนด ให้นายจ้าง ลูกจ้างและองค์กรดังกล่าวปฏิบัติต่อกัน เพื่อให้การจ้างงาน และความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเป็นไปโดยเหมาะสม

กฎหมายแรงงานมีความสำคัญอย่างไร?

         กฎหมายแรงงาน เป็นกฎหมายที่รัฐบัญญัติออกมา เพื่อให้สอดคล้องและเกิดความเป็นธรรมกับทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ภายใต้มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยกฎหมายดังกล่าว จะช่วยประสานให้ระบบการบริหารการจัดการภายในองค์กร โดยเฉพาะการบริหารงานบุคคลเป็นไปอย่างราบรื่น และมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน แน่นอนว่าไม่ใช่แค่นายจ้างเท่านั้นที่จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด ตัวลูกจ้างหรือผู้ใช้แรงงานเองก็จำเป็นต้องศึกษากฎหมายแรงงานไว้บ้าง เพราะในช่วงยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้ นายจ้างบางรายอาจฉวยโอกาสจากลูกจ้าง เพื่อลดต้นทุนของบริษัท ดังนั้นหากลูกจ้างทราบถึงขอบเขตสิทธิของตนที่ได้ระบุไว้ในกฎหมายแรงงาน ก็จะช่วยให้ลูกจ้างเหล่านั้นรอดพ้นจากการถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบได้ ซึ่งส่วนสำคัญที่ลูกจ้างควรรู้ในกฎหมายแรงงาน เช่น วันหยุด วันลา ค่าจ้าง ค่าชดเชย หรือสวัสดิการต่าง ๆ ที่ลูกจ้างควรจะได้รับนั่นเอง

กฎหมายแรงงานมาจากที่ไหน?

กฎหมายคุ้มครองแรงงาน

         สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายแรงงานจะต้องทราบก่อนว่า กฎหมายแรงงาน เป็นเพียงคำที่ใช้เรียกกันทั่ว ๆ ไป และมีที่มาจากกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานและสวัสดิการ ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหมวดดังกล่าวนี้ มีทั้ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์, พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน, พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

          แต่สำหรับลูกจ้างทั่วไปให้ดูข้อมูลจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน ประกาศใช้เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562 โดยปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้เข้ากับสภาพการณ์ปัจจุบัน โดยกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับสิทธิ์ที่ลูกจ้างและนายจ้างควรรู้ ดังนี้   

         - กรณีเลิกจ้าง 

          หากถูกเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่ได้ทำความผิดหรือไม่ได้ลาออกเองโดยสมัครใจ จะได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้างในวันทำงาน ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

          1. ทำงานต่อเนื่องครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้ค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 30 วัน  
          2. ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี ได้เงินชดเชยไม่น้อยกว่า 90 วัน  
          3. ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่เกิน 6 ปี ได้เงินชดเชยไม่น้อยกว่า 180 วัน 
          4. ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่เกิน 8 ปี ได้เงินชดเชยไม่น้อยกว่า 240 วัน  
          5. ทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี ได้เงินชดเชยไม่น้อยกว่า 300 วัน  
          6. ทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป ได้เงินชดเชยไม่น้อยกว่า 400 วัน 

         - กรณีนายจ้างผิดนัดไม่จ่ายค่าตอบแทน 

          ครอบคลุมทั้งกรณีนายจ้างไม่คืนหลักประกันที่เป็นเงิน, ไม่จ่ายเงินกรณีเลิกสัญญาจ้างโดยไม่แจ้งล่วงหน้า, ไม่จ่ายค่าล่วงเวลา, ค่าทำงานวันหยุด, ค่าล่วงเวลาในวันหยุด หรือเงินชดเชยกรณีหยุดกิจการ กำหนดให้นายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยให้ลูกจ้างจำนวน 15% ต่อปีตามระยะเวลาที่ผิดนัด 

         - กรณีเปลี่ยนนายจ้าง

          หากมีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง นิติบุคคล และทำการจดทะเบียนโอนหรือควบกับนิติบุคคลอื่น จนมีผลให้ลูกจ้างกลายเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ กรณีนี้ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วย และนายจ้างใหม่จะต้องให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามเดิมกับที่ลูกจ้างเคยได้รับ

         - กรณีย้ายสถานประกอบการ


          นายจ้างต้องติดประกาศให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วันก่อนย้ายสถานประกอบการ หากไม่ประกาศ นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษให้ลูกจ้างจำนวน 30 วัน 

          นอกจากนี้ หากลูกจ้างไม่ต้องการย้ายไปทำงานที่ใหม่ สามารถแจ้งให้นายจ้างทราบเป็นหนังสือภายใน 30 วันที่ประกาศ โดยจะมีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยพิเศษสูงสุด 400 วัน ตามหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยเลิกจ้าง

         - กรณีลากิจ

          ให้สิทธิ์ลูกจ้างสามารถลากิจธุระอันจำเป็น ได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน โดยที่ยังได้รับค่าจ้างตามปกติ

         - กรณีลาคลอดบุตร

          เพิ่มสิทธิ์ให้ลูกจ้างหญิงที่ตั้งครรภ์ สามารถลาเพื่อคลอดบุตรได้ไม่เกิน 98 วัน ซึ่งรวมถึงวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรและให้นับรวมวันหยุดที่มีระหว่างวันลาด้วย จากเดิมลาคลอดบุตรได้ 90 วัน

          ทั้งนี้ ลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างระหว่างลาคลอดบุตรจากประกันสังคม 45 วัน และจากนายจ้างอีกไม่เกิน 45 วัน

         - ลูกจ้างหญิงชายมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน

          นายจ้างต้องกำหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดให้กับลูกจ้างชายหรือหญิงในอัตราที่เท่าเทียมกัน หากมีคุณภาพและปริมาณงานที่เท่ากัน 

         - การจ่ายผลตอบแทน

         ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง, ค่าล่วงเวลา, ค่าทำงานในวันหยุด, ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้

         1. กรณีที่มีการคำนวณค่าจ้างเป็นรายเดือน รายวัน รายชั่วโมง หรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่นที่ไม่เกินหนึ่งเดือน ให้จ่ายเดือนหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้ง เว้นแต่จะมีการตกลงกันเป็นอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้าง แต่หากมีการคำนวณค่าจ้าง นอกเหนือจากนี้ ให้จ่ายตามกำหนดเวลาที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน

         2. ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ให้จ่ายเดือนหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้ง

         3. กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ให้กับลูกจ้างภายในสามวันนับแต่วันที่เลิกจ้าง

         สำหรับผู้ที่กำลังจะก้าวขึ้นเป็นนายจ้าง หรือผู้ที่อยู่ในฐานะลูกจ้าง หากมีเวลาก็ลองศึกษากฎหมายแรงงานกันดูนะคะ อย่างน้อยจะได้รู้วิธีปฏิบัติตนในฐานะนายจ้าง และลูกจ้าง ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้องค์กรเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น และทำให้องค์กรของเราสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงยั่งยืนตลอดไป
 
 
อัปเดตข้อมูลล่าสุด เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กฎหมายแรงงาน เรื่องใกล้ตัวที่นายจ้าง-ลูกจ้าง ควรรู้ อัปเดตล่าสุด 9 เมษายน 2562 เวลา 16:57:39 102,093 อ่าน
TOP
x close