x close

บ่าวสาวยุคใหม่ กับขันหมากร่วมสมัย

พานขันหมาก


เรียบเรียงโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต

          หากมีเสียงโห่ร้อง เสียงตีกลอง พร้อมด้วยขบวนถือกล้วย อ้อย เป็นที่ทราบกันดีว่ากำลังมีหนุ่มสาวกำลังจะจูงมือเข้าพิธีหมั้นหรือแต่งงานอย่างแน่นอน อะๆ แต่เดี๋ยวนี้คู่บ่าวสาวหลายคู่เชียวที่ละเลย แถมไม่ค่อยสนใจพิธีการแห่ขันหมาก ประเพณีแต่งงานดีๆ ของไทย อาจเพราะเห็นเป็นของคร่ำครึโบราณ หรือเปลืองเงินเปลืองทอง ประมาณว่าไม่มีขันหมากพวกฉันก็แต่งงานได้ 

          หยุด!! หยุดค่ะ หยุดคิดเช่นนั้น เพราะการแห่ขันหมากเป็นเครื่องแสดงความเคารพต่อพ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาว และสื่อให้เห็นว่าฝ่ายเจ้าบ่าวยกย่องให้เกียรติสู่ขออย่างครบถ้วนตามประเพณี ยินดีต้อนรับเข้าเป็นสมาชิกในครอบครัว ดังนั้น วันนี้กระปุกเวดดิ้งจึงนำเรื่องของขันหมากแบบร่วมสมัย มาฝากคู่บ่าวสาวสมัยใหม่ที่ (ยัง) อยากยกขันหมากตามประเพณีแบบไทยๆ กันค่ะ

ว่าด้วยเรื่องของขันหมาก...


          ขันหมาก คือ ขันใส่หมากพลูที่เชิญไปพร้อมกับของอื่นๆ ในพิธีหมั้นหรือแต่งงาน เป็นเครื่องคารวะผู้ปกครองฝ่ายหญิง รูปแบบของการจัดขันหมากจะขึ้นอยู่กับธรรมเนียมปฏิบัติของแต่ละท้องถิ่น แม้แต่ต่างตระกูลก็ยังอาจมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งปัจจุบันนิยมยกขันหมากครั้งเดียวในวันหมั้น เพื่อช่วยให้พิธีสง่างามมีความหมาย และเป็นสิริมงคลยิ่งขึ้น  อีกทั้งจะได้ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยเกินไปในวันแต่งงาน ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวจะเป็นผู้จัดเตรียมขันหมากและเครื่องประกอบ ได้แก่ พานหรือขันสินสอดทองหมั้น พานแหวน เตียบขนม ผลไม้ ต้นกล้วย และต้นอ้อย ตลอดจนสิ่งของอื่นๆ ตามที่เห็นสมควร ปกตินิยมจัดเป็นจำนวนคู่แปดหรือสิบพาน

          ในขันหมากจะใช้ขันน้ำพานรอง นอกจากจะมีหมากทั้งผลและใบพลู แล้วก็ยังจะต้องมีเหรียญเงิน เหรียญทอง ใบแก้ว ใบเงิน ใบทอง ใบรัก และถุงแพรสีเงินทองขนาดเล็กบรรจุถั่วงา เรียงให้สวยงามพูนขึ้นมาเหนือปากขัน แล้วใช้กรวยใบตองครอบ ห่อด้วยผ้าลูกไม้โปร่งเพื่อจะได้ไม่ตกหล่นเสียหายระหว่างทาง

          สำหรับสินสอดทองหมั้นนั้น ถ้าไม่รวมเอาไว้ในขันหมาก จะจัดแยกออกมาเป็นพานเดียวหรือสองพานก็ได้ ตกแต่งให้สวยงามและห่อด้วยผ้าลูกไม้โปร่งลักษณะเดียวกับขันหมาก 

          พานแหวนนิยมใช้ใบตอง และกุหลาบมอญประดิษฐ์เป็นกลีบประกอบเข้าเป็นดอกไม้ขนาดใหญ่สองหรือสามชั้น วางกล่องกำมะหยี่ใส่แหวนไว้ตรงกลาง 

ขนมขันหมาก


 ขนมมงคลที่ใช้ในขบวนขันหมาก 

          เลือกจากชื่อที่ไพเราะ และมีความหมายดี เช่น จ่ามงกุฏ สเน่ห์จันทน์ ฝอยทอง ทองเอก ทองหยิบ ทองหยอด ขนมกง และขนมชั้น เป็นต้น ขนมเหล่านี้จัดทำอย่างประณีต อบควันเทียม และดอกไม้หอมกรุ่น หรือเลือกขนมที่ชอบใจนำมาจัดลงในกระทงใบตองจีบขนาดย่อม แล้วเรียงลงในเตียบหรือพานขนาดใหญ่  จัดไว้สองเตียบเป็นคู่กัน ครอบด้วยใบตอง และใช้ฝาชีหรือผ้าโปร่งลูกไม้คลุมอีกชั้นหนึ่ง 

          แต่ขันหมากบางท้องถิ่นจะจัดขนมเป็นชิ้นใหญ่วางไว้ในถาด ครอบชิ้นขนมด้วยกรวยแป้งโปร่งย้อมสีสดอย่างสีแดง เขียว ชมพู ม้วนเป็นทรงฝาชี และมักจะมีขนมจันอับแบบจีนเสริมมา เพราะเป็นขนมหวานธัญพืช สื่อถึงความหอมหวาน และความเจริญงอกงาม ซึ่งอาจจัดผลไม้ไปในขบวนด้วยก็ได้ ผลไม้ที่นิยมกันก็คือ กล้วย ส้ม และมะพร้าวที่มีผิวสวยไร้ตำหนิ 

          ส่วนเครื่องประกอบขันหมากที่ไม่ควรขาดไปก็คือ ต้นกล้วยและต้นอ้อยอย่างละ 2 ต้น เลือกหน่ออ่อนที่เริ่มจะผลิใบเป็นต้นเล็กๆ ให้มีรากติดมาด้วย จัดต้นกล้วยต้นอ้อยปักในพาน แต่งด้วยกระดาษสี และดอกไม้พวงมาลัย เมื่อเสร็จพิธีแล้วคู่บ่าวสาวจะต้องนำไปปลูกและดูแลให้เจริญงอกงามด้วย 

          ทั้งนี้ การจัดขันหมากจะสวยงามวิจิตรบรรจงเพียงไร ก็ขึ้นกับความต้องการของฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาว หากชอบความเรียบง่ายจะจัดแต่พองาม แต่ถ้าหากต้องการให้ขันหมากสวยเป็นพิเศษ เห็นคงจะต้องพึ่งร้านดอกไม้หรือช่างฝีมือที่รับจัดขันหมากโดยเฉพาะ...รับรองสวยงามแท้ๆ ค่ะ

ขบวนขันหมาก 

          ขบวนขันหมาก ประกอบด้วย เถ้าแก่ฝ่ายชาย จะเป็นบิดา เจ้านาย หรือผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือก็ได้ โดยเถ้าแก่จะเดินนำเจ้าบ่าวและบิดามารดา ตามด้วยผู้ที่ยกขันหมาก จากนั้นเป็นพานสินสอดทองหมั้น และพานแหวน ซึ่งนิยมใช้หญิงสาวเป็นผู้ถือ ส่วนพานขนมผลไม้ ต้นกล้วย ต้นอ้อย มีน้ำหนักมาก จึงต้องให้ชายหนุ่มรับผิดชอบไป หากต้องการให้ครื้นเครง ให้จัดหากลองยาวและคนรำนำขบวนมาด้วย ก็จะเพิ่มสีสันให้งานได้อีกไม่น้อย


ขันหมาก


 ขั้นตอน

          เมื่อขบวนขันหมากมาถึงหน้าบ้านเจ้าสาว หรือสถานที่จัดพิธี ฝ่ายเจ้าสาวจะส่งเด็กๆ และญาติพี่น้องออกมากั้นขบวน โดยจะนำสร้อยเงินทอง เข็มขัดทอง มาใช้แทน เชือกกั้น จากนั้นเถ้าแก่ฝ่ายชายจะทำหน้าที่จ่ายเงินใน ซอง (ส่วนใหญ่จะนิยมใช้สีชมพู) ให้กับผู้กั้นขันหมากเป็นเงินจำนวนไม่มากไม่น้อยเกินไป จนเมื่อผ่านเข้าไปได้แล้ว ก็จะมีเด็กจากทางฝ่ายหญิงยกพานรับขันหมากออกมาต้อนรับ ซึ่งพานรับขันหมากของฝ่ายเจ้าสาวจะเป็นพานใบเล็ก บรรจุหมากพลู บุหรี่ และ ไม้ขีด ตามธรรมเนียมการต้อนรับผู้มาเยือน เด็กผู้ยกพานจะออกมาพร้อมกับผู้ใหญ่หรือเถ้าแก่ฝ่ายหญิงเพื่อพูดจาต้อนรับ จากนั้นเถ้าแก่ฝ่ายชายจะรับพานมา อาจจะหยิบหมากหรือบุหรี่ ออกมา ก่อนส่งพานคืนให้เด็กพร้อมกับซองเงิน เด็กก็จะเดินนำไปยังที่นั่งซึ่งฝ่ายหญิงจัดไว้ 

          เด็กหญิงที่ยกขันหมากจะต้องระวังไม่วางขันลงเลย จนกว่าจะมีผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวมารับไปจัดวางเตรียมทำพิธี ต่อ เพราะโบราณถือว่าเมื่อคนยกขันหมากแล้ววางทิ้งไว้ จะทำให้หมั้นแล้วไม่ได้แต่ง เมื่อลงนั่งและจัดวางขันหมากเรียบร้อยแล้ว เถ้าแก่ก็จะเจรจากันในทำนองว่าเป็น “วันดี วันมงคล จึงยกขันหมากมาขอหมั้น” จากนั้นฝ่ายหญิงก็จะตรวจดู แหวน สินสอด และ ทองหมั้น พร้อมทั้งเปิดขันหมากออกแกะถุงถั่วงาคลุกกับเหรียญเงิน เก็บไว้ สำหรับนำไปปลูกและแบ่งไว้บูชาที่หิ้งพระในเรือนหอ

          หลังจากตรวจนับสินสอดทองหมั้นเป็นที่พอใจแล้ว เถ้าแก่จะเรียกเจ้าสาวออกมากราบไหว้ผู้ใหญ่ รอถึงเวลาฤกษ์ จึงสวมแหวน จากนั้นก็มอบพวงมาลัยและของชำร่วยให้แขกเหรื่อ ก่อนจะรับประทานอาหารร่วมกัน เมื่อเสร็จพิธีแล้วฝ่ายหญิงจะมอบขนมขันหมากให้แก่ฝ่ายชายครึ่งหนึ่ง เพราะเป็นพิธีหมั้นและเมื่อจะคืนถาดและพานให้แก่เจ้าของ ก็มักจะใส่ขนมหรือสิ่งของไปด้วย อย่างไรก็ตาม สาวโสดบางคนที่ไม่ใช่เจ้าสาวก็ไม่ค่อยกล้าชิมขนม ขันหมาก เนื่องจากมีความเชื่ออยู่ว่าอาจจะทำให้กลายเป็นสาวแก่ 

          เห็นไหมค่ะขั้นตอนง่ายๆ เพียงเท่านี้ ก็ทำให้การแต่งงานตามแบบประเพณีไทยสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีแล้วค่ะ แม้จะมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ก็ยังคงความซาบซึ้งประทับใจไม่เสื่อมคลาย


ข้อมูลจาก
http://www.thaiweddingmall.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บ่าวสาวยุคใหม่ กับขันหมากร่วมสมัย อัปเดตล่าสุด 14 กรกฎาคม 2551 เวลา 16:56:18 39,650 อ่าน
TOP