x close

ทำความเข้าใจสันติวิธี ท่ามกลางความขัดแย้ง



ทำความเข้าใจสันติวิธี (nonviolent action) ท่ามกลางความขัดแย้งใหญ่ในสังคมไทย


 สันติวิธีคืออะไร?

          สันติวิธีคือ คำซึ่งรวบรวมวิธีการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งหลายรูปแบบ ทั้งการประท้วง (เช่นแต่งชุดดำหรือสีอื่นๆ) การไม่ให้ความร่วมมือ (เช่นการไม่ซื้อสินค้าหรือใช้บริการของบางบริษัท) และการเข้าแทรกแซงโดยตรง (เช่นการที่นักกิจกรรมสันติวิธีบุกเข้าเขตหวงห้ามของรัฐบาลฝรั่งเศสในแอฟริกาเหนือเพื่อไม่ให้เกิดการทดลองระเบิดปรมาณูเมื่อเดือนมกราคม 1960) การกระทำทั้งหมดนี้ผู้กระทำการหรือเว้นจะกระทำการบางอย่างดำเนินการของตนโดยไม่ใช้ความรุนแรงโดยเฉพาะความรุนแรงทางกายภาพ (Sharp, Waging Nonviolent Struggle 92005):41)

          ขบวนการสันติวิธีจึงมีหลายแบบ บ้างก็ถือว่าเป็นสันติวิธีแบบเลือกเรื่อง (selective nonviolence) เช่นขบวนการคัดค้านอาวุธนิวเคลียร์ในสหรัฐอเมริกา คนในขบวนการจำนวนไม่น้อยอาจไม่ได้คัดค้านการบุกอิรักของรัฐบาลบุช

          บ้างก็เป็นสันติวิธีแบบหลักการครอบคลุมทุกเรื่อง (principled nonviolence) เช่นกลุ่มศาสนาบางกลุ่มที่ไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบทั้งในชีวิตประจำวันและไม่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเพราะเห็นว่ามีปัญหาความรุนแรง เช่น กลุ่ม อามิช ในสหรัฐ

          บ้างก็รวมไปถึงชนิดของอาหารที่รับประทานและวิถีชีวิตที่ใช้ด้วย (เช่นต้องเป็นมังสวิรัติ และต้องใช้ชีวิตเรียบง่ายไม่ตกเป็นทาสของทุนนิยม+บริโภคนิยม เพื่อจะได้ไม่ก่อความรุนแรงต่อโลกและสิ่งแวดล้อม

 ขบวนการสันติวิธีในโลกเป็นอย่างไร?

          เช่นเดียวกับแนวคิดสันติวิธี ขบวนการสันติวิธีในโลกก็มีหลากหลายในงานศึกษาเพื่อเปรียบเทียบการต่อสู้ด้วยสันติวิธีกับการใช้ความรุนแรงชิ้นล่าสุด นักวิจัยเทียบการรณรงค์ต่อต้านรัฐบาล 323 กรณีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ ค.ศ.900-2006 และพบว่ารัฐบาลที่ใช้วิธีรุนแรงจัดการกับขบวนการต่อต้านรัฐบาลที่ใช้สันติวิธีมีโอกาสพ่ายแพ้มากกว่ากรณีที่ใช้ความรุนแรงจัดการกับขบวนการต่อต้านที่ใช้วิธีรุนแรงถึง 6 เท่า (Stephan and Chenoweth, "Why Civil Resistance Works" in lnternational Securitty (V.33, no.1, 2008):7-44)

          ด้วยเหตุนี้ถ้ารัฐบาลใช้ความรุนแรงที่ตนครอบครองอยู่เข้าไปดำเนินการกับการชุมนุมด้วยสันติวิธี ความสูญเสียของชีวิตผู้คนพลเมือง จะทำลายความชอบธรรมของฝ่ายรัฐ

          และโอกาสพ่ายแพ้ของรัฐบาลก็เป็นไปได้มาก!!

 ขบวนการสันติวิธีเหล่านี้เป็นสันติวิธีสมบูรณ์แบบหรือไม่?

          ขบวนการสันติวิธี "บริสุทธิ์" หาได้ยากในโลก เพราะมักเป็นขบวนการที่ประกอบด้วยประชาชนหลากหลายมาร่วมด้วยแรงจูงใจต่างกัน

          การศึกษาบางชิ้นจึงถือว่าถ้าขบวนการประกาศใช้การต่อสู้ด้วยสันติวิธีเป็นด้านหลัก ก็คือว่าเป็นขบวนการสันติวิธี

          แต่ขบวนการ "สันติวิธี" ใดที่ใช้ความรุนแรงมาผสมก็จะถูกลดความชอบธรรมลงเสมอ

 อหิงสา, อารยะขัดขืน และการต่อต้านด้วยสันติวิธี

          อหิงสาเป็นแนวทางการต่อสู้ด้วยสันติวิธีของมหาตมะ คานธี ที่ใช้ต่อสู้กับจักรวรรดินิยมอังกฤษ มีน้ำหนักสำคัญอยู่ที่พลังสัจจะและจิตวิญญาณของคน เป็นการต่อสู้ชนิดที่มีเป้าหมายเพื่อ "ความเป็นธรรม" โดยไม่เบียดเบียนคู่ต่อสู้ ไม่ใช้ความรุนแรงทางกายภาพกับเขา ที่สำคัญไม่เกลียดชังเขา และหากมีอะไรเกิดขึ้นผู้ใช้อหิงสาจะต้องยอมทนรับทุกข์เสียเอง ในแง่นี้การกล่าวร้ายป้ายสีคนที่ไม่เห็นด้วยกับตนก็ถือว่าไม่ใช่อหิงสา

          อารยะขัดขืน (civil disobedience) เป็นการใช้สันติวิธีที่มุ่งเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือนโยบายของรัฐบาล โดยมุ่งกระตุ้นให้สังคมโดยรวมเห็นว่ามีความอยุติธรรมเกิดขึ้น เพราะมีลักษณะเด่นอยู่ที่ เป็นการละเมิดกฎหมาย เป็นการกระทำสาธารณะโดยแจ้งให้ทางบ้านเมืองทราบก่อน และผู้กระทำยอมรับผลของการละเมิดกฎหมายนั้น

          สิ่งสำคัญคือ เมื่อสังคมเห็น "คนดี" ถูกกฎหมายบ้านเมืองลงโทษ ก็จะกระตุ้นสำนึกแห่งความยุติธรรมในสังคมขึ้น จนไปแก้ไขกฎหมายหรือนโยบายของรัฐเสียใหม่ ในแง่นี้ถ้าไม่ยอมให้กฎหมายบ้านเมืองลงโทษก็ไม่ใช่อารยะขัดขืน (ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, อารยะขัดขืน (2549))

          สิ่งที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกำลังทำอยู่ในขณะนี้อาจกล่าวได้ว่า เป็นการใช้สันติวิธีเป็นยุทธวิธีหลักในการต่อต้านรัฐบาล

 ข้อควรระวังในการใช้สันติวิธี

          สันติวิธีไม่ใช่การต่อสู้ที่จะรับประกันความสำเร็จ ที่สำคัญอาจนำมาซึ่งความรุนแรงต่อตัวผู้ใช้ได้ ความข้อนี้สำคัญเพราะผู้คนที่เข้าร่วมขบวนการต่อต้านรัฐบาลเป็นคนสามัญ มีทั้งพ่อเฒ่าแม่แก่ ลูกเล็กเด็กแดง ความปลอดภัยของพวกเขาเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดของสังคมไทย เพราะเขาเป็นมนุษย์และเป็นพี่น้องของเราทุกคน ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของขบวนการที่เลือกใช้สันติวิธี และเป็นหน้าที่แรกของรัฐบาลที่จะต้องปกป้องคุ้มกันชีวิตของพวกเขา

          ความยากลำบากของสันติวิธีในสังคมไทยปัจจุบัน

          ถ้าพรรค NLD และฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าใช้วิธีการทั้งหมดที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในสังคมไทยขณะนี้ คงไม่ยากที่จะระบุว่า ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าใช้สันติวิธี

          แต่ขณะนี้สังคมไทยกำลังตกอยู่ใต้ความขัดแย้งใหญ่ 3 ประการ คือ

           ขัดกันเรื่องเป้าหมายทางการเมือง (รัฐบาลที่เข้มแข็งประชาชนเลือกตั้งกันเข้ามา หรือ รัฐบาลอ่อนแอที่ถูกควบคุมกำกับเข้มข้น)

           ขัดกันเรื่องวิธีการแก้ปัญหา (ในอดีตตกลงกันได้เพราะเห็นพ้องว่า การเลือกตั้งเป็นคำตอบ แต่ขณะนี้ดูเหมือนจะไม่ใช่เสียแล้ว)

           ขัดกันในระดับจินตนาการ "ความเป็นไทย" (ถ้าไม่เห็นด้วยกับ "ฝ่ายเรา" ไม่ใช่ "คนไทย")

          แต่ใช่หรือไม่ว่า ยิ่งเพราะความขัดแย้งหนักหนาเพียงนี้ จึงต้องหันมาอาศัยสันติวิธีที่คนในสังคมไทยขัดกันได้ แต่ไม่เกลียดชังเข่นฆ่ากัน


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทำความเข้าใจสันติวิธี ท่ามกลางความขัดแย้ง อัปเดตล่าสุด 2 กันยายน 2551 เวลา 11:36:01 9,516 อ่าน
TOP