x close

เลห์แมนฯ ลั่นขายทิ้งธุรกิจในไทย

หุ้น



          ความพยายามในการอัดฉีดเงิน และมาตรการช่วยเหลือสถาบันการเงินในสหรัฐฯ เพื่อหยุดยั้งวิกฤติการล่มสลายของ ธนาคาร และวาณิชธนกิจน้อยใหญ่ที่อาจจะตามมา ภายหลังบริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้ง อิงค์ ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง ถนนทุกสายทั้งจากฝั่งยุโรป และเอเชียดาหน้าเข้าสู่ตลาดซื้อคืนพันธบัตรเพื่อเสริมสภาพคล่องด้วยเม็ดเงิน จำนวนมหาศาล ขณะที่เฟดเตรียมประกาศมาตรการอุ้มสถาบันการเงินในประเทศอีกขั้น 

          ทั้งนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ได้ประกาศอัดฉีดสภาพคล่องสู่ตลาดการเงินอีก 1.5 ล้านล้านเยน หรือ 500,000 ล้านบาท วานนี้ (16 กันยายน) เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดหลังหุ้นดิ่งลง นับเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินครั้งใหญ่ที่สุดภายในวันเดียวในรอบ 5 เดือน และได้เริ่มประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินซึ่งจะมีขึ้นต่อเนื่อง 2 วัน เริ่มต้นวันที่ 16 กันยายน โดยตลาดคาดว่าที่ประชุมจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% 

          มาตรการดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่เลห์แมน บราเธอร์ส แห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ยื่นขอความคุ้มครองมูลหนี้รวมทั้งสิ้น 3.43 ล้านล้านเยน หรือ 1.12 ล้านล้านบาท ภายใต้กฎหมายล้มละลายต่อศาลกรุงโตเกียว นับเป็นการล้มละลายครั้งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้

          สำนักงานกำกับดูแลการเงินของญี่ปุ่นออกคำสั่งให้เลห์แมนฯระงับการทำธุรกรรมทั้งหมดเป็นเวลา 12 วันนับตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน รวมทั้งได้ออกคำสั่งอีกฉบับให้เลห์แมนฯคุ้มครองนักลงทุนอย่างเต็มที่และห้าม โยกย้ายทรัพย์สินออกนอกประเทศ ทั้งนี้ เลห์แมนฯ ในญี่ปุ่นมีทรัพย์สินอยู่ทั้งสิ้น 1.2 ล้านล้านเยน หรือราว 387,600 ล้านบาท  

          ขณะที่ธนาคารกลางจีนได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิง 0.27% ไปเมื่อวันที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมา ทันทีที่รับรู้ข่าวการล้มละลายของเลห์แมนฯ พร้อมกับเตรียมเงินจำนวน 50,000 ล้านเหรียญฯหรือ 1.7 ล้านล้านบาท อัดฉีดสภาพคล่องในระบบหากเกิดปัญหา พร้อมระบุว่า มาตรการนี้มีเป้าหมายเพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง และมีเสถียรภาพ ในฝั่งยุโรปธนาคารกลางอังกฤษ ได้อัดฉีดเม็ดเงิน 20,000 ล้านปอนด์หรือราว 1.2 ล้านล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องในตลาดเงินระยะสั้น หลังจากที่วันก่อนหน้า (15 กันยายน) ได้อัดฉีดเงินเข้าระบบไปแล้ว 5,000 ล้านปอนด์ ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปอัดฉีดเงิน 70,000 ล้านยูโร หรือ 3.36 ล้านล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงินยุโรป

//image.kapook.com/images/w_02.gif  คลังจับตาวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ 

          ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้ผลักดันให้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวลง มูลค่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 1.7 ล้านล้านบาท หลังจากอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ 6.1% และการล้มละลายของเลห์แมนฯ ซึ่งอาจทำให้เกิดโดมิโนกระทบสถาบันการเงินในภาพรวม ขณะที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ได้เรียกนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นายเฮนรี่ พอลสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สหรัฐฯ และนายคริสโตเฟอร์ ค็อกซ์ ประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ประชุมด่วนเพื่อถกปัญหา  

          ด้านคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟด ที่ได้เริ่มประชุมเพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ก็ได้เริ่มประชุมแล้วในวันที่ 16 กันยายน โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าเฟดน่าจะปรับลดดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นผลกระทบ ในเชิงลบ ซึ่งอาจนำไปสู่การลดดอกเบี้ยในระดับ 0.25-0.50% 

          นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลกระทบจากกรณีเลห์แมนฯ กับเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยถือเป็นการปรับตัวตามตลาดโลก ดังนั้น ยังไม่จำเป็นที่จะต้องออกมาตรการเสริมเพื่อประคับประคองตลาดหุ้นและตลาดเงิน ส่วนนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รก.รมช.คลัง กล่าวว่า ปัญหาสถาบันการเงินของสหรัฐฯจะทำให้มีการดูดเงินจากประเทศเล็กกลับไปให้ บริษัทแม่ ทำให้ห่วงสภาพคล่องเศรษฐกิจไทย โดยถ้าปล่อยไว้ทุนสำรองของไทยลดลง ปริมาณเงินบาทในระบบจะลดมากไป ดังนั้น ควรปล่อยให้สภาพคล่องเข้ามาโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรปล่อยเงินเข้ามาด้วยการซื้อพันธบัตร เพราะถ้าไม่มีมาตรการอะไรทรัพย์สินในตลาดหลักทรัพย์อาจพังได้ และจะดึงให้ดอกเบี้ยสูงขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเงินไหลออกในระยะสั้นมีเพียง 20,000-30,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่มาก 

          ขณะที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รก.รมช.คลัง เปิดเผยว่า สิ่งที่ต้องเป็นห่วงต่อไปคือ กรณีธนาคารเอไอจี ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจอีกแห่งของสหรัฐฯที่ขาดสภาพคล่องระยะสั้น เพราะเอไอจี เป็นธนาคารที่มาลงทุนในไทยจำนวนมากและเป็นบริษัทแม่ของเอไอเอประกันชีวิต ซึ่งได้มอบหมายให้ไปตรวจสอบแล้วว่า เอไอจีลงทุนในไทยคิดเป็นมูลค่าเท่าใด ธุรกิจใดบ้างเพื่อพิจารณาว่า หากเอไอจีมีปัญหาจะมีผลกระทบต่อไทยอย่างไร

//image.kapook.com/images/w_02.gif  เลห์แมนฯ ลอยแพทิ้งธุรกิจในไทย 

          นายกฤษดา กวีญาณ ที่ปรึกษาการลงทุนประจำประเทศไทยของเลห์แมน บราเธอร์ส เปิดเผยว่า มูลค่าเงินการลงทุนของเลห์แมนฯที่มีอยู่ในไทยขณะนี้มากกว่า 40,000-50,000 ล้านบาท และหลังจากนี้คงต้องหยุดชะงักแบบถาวรหลังเลห์แมนฯล้มละลาย โดยสินทรัพย์ที่มีอยู่ทั้งหมดต้องถูกขายออกเพื่อนำเงินไปช่วยบริษัทแม่ ดังนั้น การลงทุนของเลห์แมนฯในไทยคงจะไม่มีอีกแล้ว

          สำหรับผลกระทบต่อไทย คาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก เนื่องจากเงินลงทุนส่วนใหญ่ 40,000 ล้านบาท จะอยู่ในรูปของอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรมและสำนักงานให้เช่า แม้จะต้องตัดขายสินทรัพย์ทิ้งทั้งหมดก็ไม่น่ากังวล แต่อาจมีผลทำให้ราคาปรับตัวลงได้ เพราะเลห์แมนฯ ถือเป็นรายใหญ่สุดของประเทศ พื้นที่รวม 100,000 ตารางเมตร ทั้งโรงแรมและสำนักงานให้เช่า เช่น ตึกอิตัลไทย, ตึกเมอร์คิวรี่, ตึกเมืองไทยภัทร และตึกแปซิฟิค แอสเซ็ทส์ ย่านสุขุมวิท หากมีการนำทรัพย์เหล่านี้ปล่อยสู่ตลาดในราคาที่ถูก อาจมีผลกระทบต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ไทย แต่ก็เป็นโอกาสของนักลงทุนไทยในการซื้อทรัพย์เหล่านี้

          นายกฤษดายังกล่าวว่า เลห์แมนฯ ยังมีสัญญาที่จะให้สินเชื่อกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นอย่างน้อย 2-3 แห่ง ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งอาจทำให้บริษัทเหล่านี้ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และท่องเที่ยวเกิดปัญหา สภาพคล่อง และต้องหาแหล่งระดมทุนใหม่ในการทำโครงการหรือลงทุนต่อ ซึ่งตนเห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย น่าจะเข้ามาช่วยเหลือหาแหล่งเงินทุนให้ หากเห็นว่าเป็นโครงการที่มีอนาคต เพราะบริษัทเหล่านี้ไม่ได้มีปัญหา และหากโครงการดำเนินต่อไปไม่ได้ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจะเป็นคนไทยไม่ใช่ต่างชาติ นอกจากนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยยังควรจัดตั้งเงินกองทุนรองรับผู้กู้ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินของโลกครั้งนี้ และหามาตรการรองรับดูแลสภาพคล่องในระบบไม่ให้ขาด รวมถึงดูแลต้นทุนการเงินของเอกชนไม่ให้สูงเกินไป



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เลห์แมนฯ ลั่นขายทิ้งธุรกิจในไทย อัปเดตล่าสุด 17 กันยายน 2551 เวลา 13:50:20 28,132 อ่าน
TOP