x close

รางวัล... ที่ฉันไม่ต้องการ

ผู้พิการดีเด่น ปี 2550



          สาวสวยอดีตบัณฑิตคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยสยาม นั่งรถเข็นขึ้นรับรางวัลผู้พิการดีเด่น ปี 2550 แม้ใบหน้าเธอจะยิ้ม แต่ข้างในมันเต็มไปด้วยน้ำตา


          "จุ๊" ศิริรัตน์ จั่นเพชร วัย 34 ปี ย้อนเล่าเหตุการณ์ที่แม้จะผ่านมานานถึง 8 ปีแล้ว แต่เธอก็ยังไม่ลืม เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ชีวิตจากคนปกติต้องล่มสลายกลายเป็นหญิงพิการ


          "ตอนนั้นฉันทำงานอยู่ที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเป็นพนักงานบัญชี ยอมรับว่าเป็นชีวิตที่มีความสุข ได้ทำงานดีๆ มี่เพื่อนดีๆ แล้วฉันก็ได้แต่งงานกับชายที่ฉันรัก" ชีวิตของจุ๊น่าจะเหมือนกับผู้หญิงทั่วไป ทำงานดีมีครอบครัวที่อบอุ่น แต่มันกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อปี 2543 เธอป่วยด้วยโรคภูมิแพ้เอสแอลอี ซึ่งเป็นโรคประจำตัว ครั้งนั้นเธอไปพบแพทย์ตามที่นัด เธอบอกแพทย์ว่า มีอาการปวดหลังแทรกซ้อนขึ้นมา แต่แพทย์ก็ไม่ได้ตรวจอะไร เพียงแต่ให้ยามารับประทาน และให้กลับบ้าน เมื่อกลับบ้านเธอมีอาการปวดหลังรุนแรงมากขึ้น ถึงขนาดชักหมดสติ พ่อแม่จึงพาส่งโรงพยาบาลอีกครั้ง แพทย์ได้ทำการผ่าตัด ณ เวลานั้น


          แต่เหตุการณ์กลับเลวร้าย เมื่อฟื้นขึ้นมา จุ๊กลับไม่รู้สึกรู้สาที่ขาทั้งสองขา เธอเป็นอัมพาต และที่เลวร้ายกว่านั้นจุ๊ไม่สามารถควบคุมระบบขับถ่ายได้ เธอช็อค แม้เธอและครอบครัวพยายามถามถึงสาเหตุจากแพทย์ผู้รักษาแต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ


          "ฉันพยายามขอพบหมอที่ผ่าตัด เพื่อสอบถามรายละเอียด แต่คำตอบที่ได้รับคือ จะพบไปทำไม พบไปก็ไม่มีประโยชน์ หมอไม่ได้รักษาเธอคนเดียว ยังต้องรักษาอีกเป็นสิบๆ คน เขาจำไม่ได้หรอกว่ารักษาอะไรเธอไปบ้าง" บุรุษพยาบาล ตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงไม่ไยดี


          ชีวิตของจุ๊ล่มลงตั้งแต่วันนั้น เธอบอกว่า เหมือนคนจมน้ำแต่พยายามที่จะดิ้นรนขอความช่วยเหลือเพื่อให้ตัวเองรอด แต่เธอก็ไม่ได้รับความเหลียวแล ยิ่งไปกว่านั้นชีวิตวัยสาว วัยทำงานที่ดูสดใสมันก็ค่อยๆ มืดสนิทลงเช่นกัน "ตอนนั้นทุกอย่างมันแย่ มันแย่ลงเรื่อยๆ หมอไม่ให้ความกระจ่างว่ามันเกิดอะไรขึ้น ที่สำคัญฉันต้องออกจากงาน สามีที่เพิ่งแต่งงานกันได้เพียง 2 เดือนก็ทิ้งไป"


          เธอบอกว่า ในทางมืดๆ ที่เธอไม่รู้จะดำเนินชีวิตอย่างไรก็ยังพอมีแสงสว่างให้ได้เห็นทางบ้าง จุ๊ได้พบกับนางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ซึ่งจะเปรียบกับเป็นฟางเส้นสุดท้ายของเธอก็ว่าได้ เธอได้รับการช่วยเหลือเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องการดำเนินคดีฟ้องร้องแพทย์ที่รักษา โดยขณะนึ้คดีอยู่ระหว่างรอคำวินิจฉัยจากศาลอุทธรณ์


          "ฉันไม่อยากให้ทุกอย่างเป็นแบบนี้ ไม่อยากเป็นคดีความกับหมอ แต่ที่ยื่นฟ้องเพราะต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม จากคนปกติก็ต้องกลายมาเป็นคนพิการ มันเพราะอะไร เพราะความประมาทเลินเล่อในการรักษาใช่ไหม ฉันขอแค่คำตอบแต่ก็ไม่มีใครตอบ ฉันเข้าใจคนเรามันผิดกันได้ แต่อย่างน้อยๆ ขอโทษสักคำได้ไหม แต่ที่เสียใจและฟ้องร้อง เพราะเขาทำกับฉันเหมือนฉันไม่ใช่คน!!!"


          วันนี้แม้เธอจะไม่สามารถออกไปทำงานหาเงินมาจุนเจือครอบครัวได้ เธอยังโชคดีที่เธอได้รับน้ำใจ จากเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ด้วยการมอบคอมพิวเตอร์ และเครื่องถ่ายเอกสาร ให้เป็นอุปกรณ์เลี้ยงชีพ เธอต่อสู้ชีวิต แม้จะต้องทนต่อความเจ็บปวดตามร่างกาย หากก็ต้องกล้ำกลืนไว้เพื่อให้ครอบครัว "สบายใจ"


          "ฉันเป็นลูกคนเดียว ในฐานะลูกที่มีหน้าที่ดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า แต่ฉันทำสิ่งนั้นไม่ได้แล้ว ที่ทำได้คือ ไม่พยายามสร้างภาระให้ท่านเพิ่มขึ้นอีก แม้ภาระทางบ้านส่วนใหญ่จะตกอยู่ที่พ่อ แต่อย่างน้อยฉันก็หาค่าขนมให้ตัวเองได้ ด้วยการรับพิมพ์งาน รับถ่ายเอกสาร ไม่ต้องแบมือขอเงินพ่อแม่"


          เพราะความ "ไม่ย่อท้อ" ต่อโชคชะตา จึงทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อจากผู้นำชุมชนให้เข้ารับรางวัลผู้พิการดีเด่น ปี 2550


          "พอได้รับรางวัล รู้สึกดีใจแค่แวบหนึ่งเท่านั้นเองค่ะ แต่พอมองโล่และเห็นคำว่า ผู้พิการดีเด่น มันเป็นการตอกย้ำความพิการที่ได้มา ไม่เคยคิดเลยว่าชีวิตนี้ต้องมาเป็นคนพิการดีเด่น เจ็บช้ำค่ะ สู้เป็นคนปกติที่ไม่ได้รับรางวัลใดๆ จะยังดีเสียกว่า" เธอบอกด้วยน้ำเสียงสิ้นหวัง



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รางวัล... ที่ฉันไม่ต้องการ อัปเดตล่าสุด 18 กันยายน 2551 เวลา 16:11:32 4,974 อ่าน
TOP