x close

แมงกะพรุนกล่อง วายร้ายตัวใหม่ในท้องทะเลไทย


แมงกะพรุนกล่อง
แมงกะพรุนกล่อง



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก nationalgeographic, sciencedaily และอินเทอร์เน็ต

          จากที่มีรายงานว่า มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศถูกพิษของแมงกะพรุนชนิดหนึ่ง จากท้องทะเลในประเทศไทย จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องเข้าโรงพยาบาล หรือบางรายถึงขั้นเสียชีวิต ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศต้องติดต่อกับกรมทรัพยากรทางทะเล เพื่อให้หน่วยงานของไทยตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น จนในที่สุดก็ทราบว่าแมงกะพรุนที่พบคือ แมงกะพรุนกล่อง ซึ่งมีพิษที่รุนแรงมากและยังไม่เคยมีการวิจัยในประเทศไทยมาก่อน หลายคนสงสัยว่าเจ้าแมงกะพรุนชนิดนี้ทำไมถึงมีฤทธิ์ขนาดคร่าชีวิตคนได้ วันนี้เรามารู้ถึงพิษภัยของแมงกะพรุนกล่องกันค่ะ

 รู้จัก แมงกะพรุนกล่อง

          แมงกะพรุนกล่อง เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่ค้นพบไม่นาน โดยสถาบันไอไอเอสอี (International Institute for Species Exploration) มหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตท ของสหรัฐอเมริกา ได้จัดให้ แมงกะพรุนกล่อง อยู่ในอันดับ 8 ของ10 สุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกแห่งปี 2550

          แมงกะพรุนกล่อง (Box Jellyfish) มีอีกชื่อหนึ่งว่า แมงกะพรุนอิรุคันจิ (irukandji jellyfish) หรือตัวต่อทะเล เป็น แมงกะพรุนกล่อง ชนิดที่ 2 ในสกุลมาโล (Malo) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า มาโล คิงกิ (Malo kingi) โดยตั้งตามชื่อของ โรเบิร์ต คิง (Robert King) นักท่องเที่ยวชาวอเมริกันที่เสียชีวิตจากพิษของ แมงกะพรุนกล่อง ที่ตอนเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เหตุการณ์นี้ปลุกกระแสให้คนตื่นตัว หันมาหาวิธีจัดการแมงกะพรุนชนิดนี้มากขึ้น

แมงกะพรุนกล่อง
แมงกะพรุนกล่อง


          แมงกะพรุนกล่อง เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง โดยมีลักษณะโปร่งใสสีฟ้าอ่อน รูปร่างคล้ายลูกบาศก์จึงได้ชื่อว่า แมงกะพรุนกล่อง มีขนาดประมาณ 10-30 เซนติเมตร มีหนวดบาง ๆ งอกออกมาถึง 15 เส้น และสามารถยืดได้ไกลถึง 3 เมตร หนวดแต่ละเส้นจะประกอบด้วยเซลล์พิษจำนวนมาก อีกทั้งยังมีดวงตาที่มีประสิทธิภาพสูงเกาะกลุ่มกันอยู่รอบตัวสี่ทิศ  นอกจากนี้ แมงกะพรุนกล่อง ยังสามารถเคลื่อนที่พุ่งขึ้นสู่ด้านบนได้อย่างรวดเร็วมาก และว่ายน้ำได้เร็วถึง 5 ฟุตต่อวินาที จึงสามารถจับสัตว์ทะเลด้วยกันกินเป็นอาหารได้อย่างง่ายดาย มักอาศัยอยู่ตามทะเลในเขตอุ่น เช่น ตามชายฝั่งของประเทศออสเตรเลียตอนเหนือ ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ หมู่เกาะฮาวาย ฯลฯ ช่วงที่พบได้มากคือ เดือนตุลาคม - เมษายน และหลังช่วงพายุฝนที่จะถูกน้ำทะเลพัดพาเข้ามาจนใกล้ฝั่ง

 พิษร้ายจาก แมงกะพรุนกล่อง

แมงกะพรุนกล่อง

 
          ด้วยเข็มพิษที่มีกว่าล้านเซลล์ตามหนวดที่ยืดออกมา ทำให้ แมงกะพรุนกล่อง เป็นแมงกะพรุนชนิดที่มีพิษร้ายแรงที่สุด โดยพิษนี้จะสร้างความทรมาน เจ็บปวดอย่างรุนแรง ทำให้เซลล์ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสตายได้ โดยพิษสามารถเข้าสู่กระแสเลือดไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง และเมื่อเข้าสู่ระบบประสาท ก็จะกดทับระบบประสาททำให้หยุดหายใจ และยังมีผลต่อระบบหัวใจ โดยทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหยุดเต้นเฉียบพลัน บางรายยังไม่ทันขึ้นจากน้ำ พิษเข้าสู่หัวใจทำให้หัวใจล้มเหลวเสียชีวิตทันที ถือว่าพิษของ แมงกะพรุนกล่อง นี้ทำให้หัวใจหยุดเต้นได้เร็วที่สุดในโลก

 การรักษาเมื่อถูกพิษ แมงกะพรุนกล่อง

          หากได้รับพิษแมงกะพรุน ต้องรีบขึ้นจากน้ำ หรือพาผู้ถูกพิษขึ้นจากน้ำ จากนั้นให้ตรวจชีพจรและการเต้นของหัวใจว่ายังเป็นปกติดีหรือไม่ ถ้าหัวใจหยุดเต้นให้รีบทำ CPR โดยทันที และอย่าพยายามถูหรือเกาบริเวณที่ถูกพิษเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เข็มพิษแตกปล่อยพิษออกมามากขึ้น

แมงกะพรุนกล่อง
แมงกะพรุนกล่อง


          จากนั้นให้ล้างแผลด้วยน้ำส้มสายชู หรือน้ำทะเล เพื่อระงับการปล่อยพิษจากเข็มพิษ อย่าใช้น้ำจืดหรือแอลกอฮอล์ล้างเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ถุงพิษของเข็มพิษแตกออกมามากขึ้น และยิ่งปวดแสบปวดร้อน ถ้ามีหนวดของแมงกะพรุนติดอยู่ให้หาอะไรบาง ๆ เช่น มีดโกน หรือสันบัตรพลาสติก ขูดเอาเมือกและคีบเข็มพิษออกจากผิวหนัง ถ้าปวดมากอาจใช้น้ำแข็ง หรือน้ำอุ่นประคบ อาจใช้เชือกรัดเหนือบริเวณที่ถูกพิษ เพื่อป้องกันพิษกระจายไปตามกระแสเลือด จากนั้นรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

 การป้องกัน แมงกะพรุนกล่อง

          การป้องกันไม่ให้โดนพิษของแมงกะพรุน สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงไม่เล่นน้ำทะเล หลังจากเกิดฝนตก เพราะแมงกะพรุนอาจถูกน้ำพัดมาบนชายฝั่ง หรือใกล้ชายฝั่ง เสี่ยงต่อการถูกพิษได้ และหากต้องการดำน้ำในบริเวณที่อาจมีแมงกะพรุน ควรใส่เสื้อผ้ามิดชิด เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว เพื่อไม่ให้ถูกหนวดแมงกะพรุน ถ้าหากพบแมงกะพรุนที่ตายแล้ว ไม่ควรจับหรือสัมผัส เพราะยังคงมีพิษหลงเหลืออยู่ตามหนวด

          แม้ในอ่าวไทยจะพบ แมงกะพรุนกล่อง ได้ไม่มาก แต่เมื่อพิษของมันสามารถทำอันตรายแก่ชีวิตของคนได้ เราก็คงไม่สามารถเพิกเฉยได้อีกต่อไป เพื่อน ๆ คนไหนไปเที่ยวทะเล ก็คงต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น และไม่ว่าจะเจอแมงกะพรุนชนิดไหนก็ไม่ควรสัมผัส เพราะพิษของมันอาจทำอันตรายต่อเราได้เช่นเดียวกันค่ะ


คลิกอ่านความเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล
- saveoursea.net
- en.wikipedia.org
- มหาวิทยาลัยวลักลักษณ์
- ngthai.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แมงกะพรุนกล่อง วายร้ายตัวใหม่ในท้องทะเลไทย อัปเดตล่าสุด 29 เมษายน 2553 เวลา 11:49:10 22,737 อ่าน
TOP