มารู้จักโบท็อกซ์ (BOTOX) กับแพทยสภา ... รศ.นพ.ประวิตร อัศวานนท์




มารู้จักโบท็อกซ์ (BOTOX) กับแพทยสภา (รศ.นพ.ประวิตร อัศวานนท์)



 
โบท็อกซ์ คืออะไร?

         "โบท็อกซ์" (Botox) เป็นชื่อทางการค้า (trade name) ของสาร โบทูลินั่ม ท็อกซิน เอ (Botulinum toxin A) ซึ่งเป็นโปรตีน ชนิดหนึ่ง ที่สร้างจาก แบคทีเรีย ชื่อ คลอสตริเดียม โบทูลินั่ม (Clostridium botulinum) ที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษแก่มนุษย์ หากได้รับในปริมาณมากๆ เช่น จากอาหารกระป๋องที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อตัวนี้ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้  จากการที่กล้ามเนื้อกระบังลมไม่ทำงาน  ผู้ป่วยจึงหยุดหายใจ 

 โบทูลินั่ม ท็อกซิน ออกฤทธิ์ อย่างไร?

         โบทูลินั่ม ท็อกซิน ออกฤทธิ์โดยการไปจับกับส่วนปลายของเซลล์ประสาท ทำให้เซลล์ประสาท ไม่สามารถหลั่งสารสื่อประสาทได้ กล้ามเนื้อจึงคลายตัว หรือ อีกนัยหนึ่งก็คือ เกิด อัมพาตของกล้ามเนื้อเล็กๆนั้น  โดยจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 2-3 วัน และเห็นผลสูงสุดในเวลาประมาณ 7– 14 วัน 

 แล้วแพทย์เอา "สารพิษ" นี้มาใช้ทำไม?

         แพทย์ทราบมานานหลายสิบปีแล้วว่าหากฉีดเข้าไปในกล้ามเนื้อในปริมาณน้อยๆ โบทูลินั่ม ท็อกซินจะทำให้กล้ามเนื้อ "คลายตัว" ดังนั้นในยุคแรกๆ จักษุแพทย์จึงนำโบทูลินั่ม ท็อกซิน มาฉีดรักษาโรคตาเหล่  ตาเข และโดยบังเอิญจากการฉีดรักษาในบริเวณรอบดวงตานี้เอง ก็ทำให้แพทย์พบว่าริ้วรอยบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณหน้าผากหว่างคิ้วและรอบดวงตาดีขึ้นด้วย 

         ในยุคต่อมาจึงมีการฉีด โบทูลินั่ม ท็อกซิน เพื่อประโยชน์ในด้านความสวยงามตามมาอย่างแพร่หลาย และมีเทคนิควิธีการที่ต่างๆ กันออกไป มีการนำมาฉีดเพื่อทำให้หน้าเรียวลง  ยกกระชับผิวหนัง ลดเหงื่อบริเวณรักแร้ ฝ่ามือ ตลอดจนรักษาอาการปวดศีรษะ ปวดเกร็งต้นคอ และอีกหลายกรณี ในประเทศสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวมีการฉีดกันเป็น ล้านๆครั้ง ต่อปี

 ผลของการฉีด โบทูลินั่ม ท็อกซิน อยู่นานเท่าใด?

         โดยทั่วไปผลของการฉีดจะอยู่ได้นานประมาณ 3-8 เดือน ทั้งนี้ขึ้นกับว่าฉีดรักษาอาการอะไร ฉีดบริเวณใด  ฉีดเป็นครั้งแรกหรือเป็นการฉีดซ้ำ  ผู้รับการรักษาอายุเท่าใด ซึ่งการที่ผลการรักษาอยู่ไม่ถาวรนั้น ที่จริงอาจนับได้ว่าเป็นข้อดี เพราะหากผลที่ได้รับไม่เป็นที่น่าพอใจ ในที่สุดก็จะค่อยๆ หายไปเองได้ ข้อเสียก็คือสิ้นเปลือง เพราะหากได้ผลดี  ถูกใจก็ต้องฉีดซ้ำเรื่อยๆ

 โบท็อกซ์ อันตรายหรือไม่

         จากการรวบรวมผู้ป่วยที่ได้รับการฉีด โบทูลินั่ม ท็อกซิน จำนวนมาก ในต่างประเทศ พบว่าไม่มีอันตรายถึงชีวิต  เมื่อใช้โดยผู้เชี่ยวชาญและใช้ฉีดเพื่อความสวยงาม

         ผลข้างเคียงส่วนมากที่เกิดขึ้นมักเป็นแบบเฉพาะที่ เช่น หนังตาตก  กลืนอาหารลำบาก  หน้าไม่สมมาตร  หรือจุดเลือดออกในบริเวณที่ฉีด  ซึ่งเกิดได้แม้ในมือผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นแพทย์ และผู้ทำการรักษาจึงควรคุยกันโดยละเอียดก่อนการฉีดทุกครั้ง

 เมื่อเกิดผลข้างเคียงแล้วจะทำอย่างไร?

         ดังที่ได้กล่าวแล้วตอนต้นว่าผลจากการฉีด โบทูลินั่มท็อกซิน นั้นจะค่อยๆ หมดไปเองภายในเวลาเป็นเดือน ดังนั้นผู้รับการรักษาจึงใจเย็นๆ และค่อยๆ รอให้ผลของ โบทูลินั่ม ท็อกซิน หมดไปเองก็ได้  ส่วนในกรณีที่เกิดหนังตาตกนั้น ผู้รับการรักษาควรปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษาเป็นกรณีไป

  คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ประวิตร อัศวานนท์
ประธานวิชาการ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

เอกสารเผยแพร่ของแพทยสภา โดย
นอ.(พิเศษ)นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มารู้จักโบท็อกซ์ (BOTOX) กับแพทยสภา ... รศ.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 15:35:56 286,703 อ่าน
TOP
x close