x close

ผีบ้าแห่งเมืองปาย

สันโดษ สุขแก้ว


ผีบ้าแห่งเมืองปาย (กรุงเทพธุรกิจ)

          จากหนุ่มออฟฟิศแห่งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตามรอยฝันสู่บ้านเกิด พูดคุยกับ "อ้ายสันโดษ" ถึงชีวิตเรียบง่ายบนหัวไร่ปลายนา ณ ไฮ่อุ๊ยตำคำ

          หลายคนออกค้นหาผ่านโลกออนไลน์ หลังจากดูหนังสั้นในรายการ Hot Short Films ไทยทีวี เพราะอยากรู้ว่า "อ้ายสันโดษ" ในเรื่องมีอยู่จริงหรือไม่? และโฮมสเตย์ "ไฮ่อุ๊ยต๋าคำ" อยู่ตรงไหนในอำเภอปาย?  

          นอกจากจะมีตัวตนอยู่จริงแล้ว เรื่องราวความคิดความฝันของ "อ้ายสันโดษ" หรือ สันโดษ สุขแก้ว ไม่ต่างจากนิยายชีวิตเข้มข้น เพราะกว่าจะมาเป็น "ไฮ่อุ๊ยต๋าคำ" บนที่ดินหัวไร่ปลายนากว่า 40 ไร่ เขาใช้สองมือค่อยๆ บรรจงสร้างฝันนี้มายาวนานนับ 20 ปี จนถูกชาวบ้านตั้งสมญานาม "ผีบ้าแห่งเมืองปาย" เพราะเป็นคนคิดอะไรแปลกๆ ทำอะไรแปลกๆ แตกต่างจากที่คนอื่นเขาทำกัน 

          "เขาเรียกผมว่าผีบ้าตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว เพราะชอบทำอะไรไม่เหมือนคนอื่น สร้างบ้านก็ไม่เหมือนคนอื่น แต่เราไม่เคยท้อ" สันโดษ หัวเราะน้อยๆ เล่าถึงฉายาผีบ้าแห่งเมืองปาย

          วันนี้กลับกลายเป็นความภูมิใจลึกๆ เมื่อสิ่งที่เขาเพียรพยายามทำมาตลอด เริ่มมีคนเข้าใจแล้วว่านี่แหละคือแนวทางยืนหยัดด้วยตัวเองอย่างทรนง โดยไม่จำเป็นต้องละทิ้งวิถีชีวิตวัฒนธรรมความเป็นอยู่ท้องถิ่น การพึ่งพาตนเองและอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน

          เสียงรอบข้างเปลี่ยนไป เริ่มมีกลุ่มชาวบ้านแวะเวียนเข้ามาดูงาน การทำเกษตรแบบธรรมชาติ การสร้างบ้านจากไม้เก่าๆ โดยไม่ต้องตัดไม้จากป่า รวมไปถึงกรณีศึกษาที่น่าสนใจของการอยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของเมืองปายที่กลายเป็นสินค้าการท่องเที่ยวระดับประเทศ

          สันโดษ มองว่าในเมื่อไม่มีทางต้านกระแสไหว แล้วทำไมชาวบ้านเจ้าของพื้นที่จะไม่เป็นฝ่ายได้จากการท่องเที่ยวบ้าง    

          "พยายามพูดกับชาวบ้านว่า เราสามารถได้เงินจากนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต แต่เอาความเป็นตัวเองนี่แหละเป็นจุดขาย"


สันโดษ สุขแก้ว



          ภาพของนักท่องเที่ยวฝรั่งผมทอง เดินลงมาย่ำทุ่งนา ปลูกข้าว ตำข้าว ฝึกทอผ้าอย่างตั้งอกตั้งใจ กลายเป็นส่วนหนึ่งใน "ไฮ่อุ๊ยต๋าคำ" ที่เริ่มเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบโฮมสเตย์มาได้ราวๆ 2 ปี

          "แรกเริ่มไม่ได้คิดว่าจะทำไฮ่อุ๊ยต๋าคำเป็นที่พักรับนักท่องเที่ยว แค่คิดว่าอยากจะทำสวนทำการเกษตรแบบธรรมชาติ บ้านหลังแรกเฮือนโญนตั้งใจสร้างให้ลูกชาย จะได้ไม่ลืมว่าบรรพบุรุษชนเผ่าโญนของตระกูลเคยอยู่กันอย่างไร"

          บังเอิญมีชาวต่างชาติเข้ามาเห็นเลยขอมาอาศัยด้วย มาเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้าน และบอกกันปากต่อปากในกลุ่มนักท่องเที่ยว ต่อมาเลยขยับขยายเป็น 10 หลัง เป็นบ้านชนเผ่าที่สร้างขึ้นง่ายๆ มีทั้งแบบเฮือนไต, เฮือนญาง, กะเหรี่ยง ลีซอ, บ้านดินแบบจีนยูนนาน, ฉางข้าว ฯลฯ

          "อยากทำให้เห็นว่าไม่ต้องสร้างบังกะโลสวยหรู แต่อยู่เรียบง่ายอย่างที่เราเป็น ก็ขายความเป็นตัวเองได้ เป็นชาวนาก็ขายความเป็นชาวนา ชวนฝรั่งไปปลูกข้าว กลับมายืนในจุดที่เราเป็น วันหนึ่งถึงไม่มีนักท่องเที่ยวมาเลย ผมก็ยังทำเกษตร ทำไร่ทำนา มีครกตำข้าวกิน ผักเราก็ปลูก ผลไม้เราก็มี อยากจะกินอะไรคว้าตะกร้าเดินไปเก็บเอาในซูเปอร์มาร์เก็ตในสวน"

          เริ่มจากการปลูกต้นไม้ทีละต้นๆ จนกลายเป็นป่า เป็นไร่ เป็นนา ปล่อยให้ต้นไม้โตตามธรรมชาติ และปล่อยตามเสรี ค่อยซับความชุ่มชื้นในดิน จนเกิดเป็นแหล่งน้ำ และในอนาคตข้างหน้า ที่นี่ยังเตรียมศึกษาใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าใช้เองอีกด้วย

          ทั้งความเรียบง่ายแต่แปลกแหวกแนว ดิบเถื่อน ติดดินแบบบ้านป่า หลุดกรอบแต่ใกล้ชิดวิถีธรรมชาติ ห้องน้ำแปลกประหลาดที่ไม่มีใครเหมือน กินข้าวกับกระบอกไม้ไผ่ จาน ชาม ช้อนไม้ไผ่ อาบน้ำไปชมดาวไป นอนเล่นกลางทุ่งนา จิบน้ำชาข้างกองฟืน ฯลฯ กลายเป็นทั้งเสน่ห์เฉพาะตัวของที่นี่ นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยสกรีนนักท่องเที่ยวด้วยว่าต้องชอบอะไรทำนองนี้ อยู่ง่ายกินง่าย พอใจวิถีความเป็นอยู่ในแบบนี้อย่างที่เจ้าของบ้านเป็น   

          "มันมีทฤษฎีอย่างหนึ่งว่า ความแปลกและซ่อนเร้นจะทำให้คนรู้สึกอยากเข้ามาค้นหาเหมือนห้องน้ำที่นี่ มีแต่คนอยากจะถ่ายรูปส้วมพระราชา อยากขึ้นไปลองนั่งสูดอากาศมองเห็นวิวธรรมชาติ"

          ไม่ใช่แค่เข้ามาพบเจอกับสถานที่แปลกตาไม่เหมือนใคร แต่ละวันจะพบกับเจ้าของบ้านที่มาพร้อมกับเอกลักษณ์การแต่งตัวแบบแฟชั่นชนเผ่าหลากหลายสไตล์ วันนั้นอ้ายสันโดษมาในชุดเสื้อกะเหรี่ยงสีแดงตัวเก่ง สวมกางเกงแบบเผ่าโญน ไว้หนวดไว้เครา มีผ้าโพกหัว

          เพิ่งจะลุกมาแต่งตัวอย่างนี้ เมื่อตอนกลับมาอยู่บ้านครั้งล่าสุดไม่กี่ปีมานี้ เพราะเห็นว่าเดี๋ยวนี้ชาวเขาเผ่าต่างๆ พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองบอกว่าใส่แล้วอายคนอื่นเพราะดูไม่เท่ แต่ผมไม่อายที่จะใส่ เลยเอามาใส่ทุกเผ่า เพราะอยากอนุรักษ์ว่าใส่แล้วมันสวยงามนะ สิ่งเหล่านี้มีคุณค่ามันเป็นเอกลักษณ์


สันโดษ สุขแก้ว



          ย้อนไปไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ ใครจะคิดว่าชายในชุดชนเผ่าคนเดียวที่ยืนอยู่นี้จะแต่งตัวคนละเรื่องกับในอดีตที่ทำงานใส่สูทผูกเนกไท นั่งจิบกาแฟที่ออฟฟิศ เคยเป็นถึงระดับผู้บริหารบริษัทรับดูแลซ่อมบำรุงโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยอง

          "ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะมาก เป็นชีวิตที่เรียบง่าย เช้ามากวาดขยะ แยกขยะ รดน้ำต้นไม้ เลี้ยงหมู เป็ด ไก่ จากเหมือนก่อนอยู่ออฟฟิศ มีพนักงานเป็นร้อย ตอนนี้เลยใช้ภรรยาคนเดียวแทน (หัวเราะ)"

          โรคออฟฟิศที่รุมเร้า ไหนจะทั้งไมเกรน โรคกระเพาะ กระดูกทับเส้น สิ่งแวดล้อมและสังคมในเมืองที่กดดัน ทำให้สันโดษใฝ่ฝันมาตลอดว่าอยากกลับมาบ้าน มาใช้ชีวิตเรียบง่ายใน "ไฮ่อุ๊ยต๋าคำ" แบบพออยู่พอกิน ไม่อยากห่างครอบครัวไปทำงานที่ไหนอีก

          กว่าฝันนี้จะเป็นจริงได้กลับมาอยู่บ้านแบบถาวรเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ก็ต้องใช้เวลาลงทุนลงแรง อดทนรอคอยผ่านไปนานถึง 20 ปีเต็ม เริ่มตั้งแต่ที่ดินผืนนี้ยังโล่งเตียนไม่มีต้นไม้เลยสักต้น ค่อยๆ ลงแรงปลูกต้นไม้ทีละต้น ทีละเมล็ด ด้วยความอดทน เริ่มต้นจากการปลูกต้นไม้สร้างป่า เพื่อให้มีน้ำใช้เอง ปลูกต้นไม้คลุมพื้นดินเพื่อดูดซับความชื้นในดินเอาไว้ ในช่วงแรกๆ เลยมีแรงต่อต้านจากพ่อแม่ เพราะไม่เข้าใจว่าทำไมถึงได้คิดและทำอะไรที่ไม่เหมือนคนอื่น ทำไมคิดแต่จะปลูกป่า ไม่ปลูกอะไรที่มีผลผลิตไปขายได้เหมือนคนอื่นเขาทำกัน

          ระหว่างนั้นก็ต้องออกไปทำงานหาเงิน เก็บหอมรอมริบมาเป็นทุนสร้างฝัน ผ่านประสบการณ์โชกโชน ทั้งรอนแรมจากบ้าน ไปทำงานไกลถึงในตะวันออกกลางก็เคยมาแล้ว และที่สุดท้ายคือที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยอง

          "ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว ร่างความฝันไว้ว่าอยากจะมีบ้านเล็กในป่าใหญ่ อยู่กลางไร่ มีทุกอย่าง มีสวนผลไม้ อยากกินมะม่วงได้กิน อยากกินขนุนได้กิน แล้วก็ขายสิ่งนั้น แบบพออยู่พอกิน พึ่งตนเองได้ภายในไร่ของเรา ไม่ต้องไปดิ้นรนหาเงินที่ไหนแล้ว เพราะเราทำงานมาเหนื่อยมากแล้วทั้งชีวิต" สันโดษเล่า

          หลังจากอดทนรอคอยมาแสนนาน ตอนนี้เขากำลังกลับมาเก็บเกี่ยวฝันที่ลงทุนลงแรงไว้ใน "ไฮ่อุ๊ยต๋าคำ" ด้วยความสุขใจในบ้านเกิดที่อำเภอปาย



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

โดย : ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผีบ้าแห่งเมืองปาย อัปเดตล่าสุด 10 พฤษภาคม 2552 เวลา 14:24:49 49,657 อ่าน
TOP