คนอีสานล่า "ค่างแว่น" ถิ่นเหนือ ฮิตทำ "ค่างส้ม - ร้าค่าง" เปิปของอร่อยใกล้ห้วยขาแข้ง เชื่อยาบำรุงชั้นดี (มติชนออนไลน์)
ชาวอีสานนิยมของแปลกล่า "ค่างแว่น" ทำของเด็ด ค่างส้ม - ร้าค่าง เชื่อยาบำรุงชั้นดี กรมอุทยานฯ เร่งสร้างความเข้าใจประชาชน เปิบพิศดารก่ออันตรายเชื้อโรคเพียบ
นายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงข่าวเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน กรณีหน่วยลาดตระเวนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งสามารถจับกุมผู้กระทำผิด พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 โดยการล่าสัตว์ป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยสามารถยึดของกลางเป็น ค่าง 2 ตัว พร้อมเนื้อค่างและกระดูกสับละเอียดรวมจำนวน 21 กิโลกรัม เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม
จากการสอบสวน พบว่าเนื้อค่างดังกล่าว กำลังจะถูกนำไปแปรรูปเพื่อทำเป็นส้มค่าง และร้าค่าง สำหรับการบริโภคเป็นอาหาร ที่นิยมรับประทานในกลุ่มชาวบ้านที่อพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงหนือ เข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินในพื้นที่ใกล้เคียงกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งด้านตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อ.ลานสัก อ.ห้วยคด และ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี อ.แม่วงก์ กิ่ง อ.แม่เปิน และ กิ่ง อ.ชุมตาวงศ์ จ.นครสวรรค์ ทั้งนี้ ในพื้นที่ดังกล่าว นับว่าเป็นพื้นที่ล่อแหลมต่อการคุกคามสัตว์ป่า เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด โดยเฉพาะค่างแว่นถิ่นเหนือที่อาศัยอยู่จำนวนมากที่สุดในประเทศไทย จากสถิติพบว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551- พฤษภาคม 2552 มีจำนวนคดีด้านสัตว์ป่า 236 คดี สามารถช่วยเหลือสัตว์ที่มีชีวิตอยู่ได้ 4,026 ตัว ส่วนใหญ่เป็นนกและลิ่น หรือตัวนิ่ม ซึ่งตัวลิ่นที่จับได้จะเป็นการลำเลียงส่งผ่านไปประเทศที่ 3 เพื่อนำไปบริโภคตามความเชื่อ
"ที่ผ่านมาเราพบว่ายังมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการบริโภคสัตว์ป่าอยู่อย่างมาก โดยเฉพาะคิดว่าเป็นยาบำรุง ซึ่งในกรณีของค่างนี้ จะพบอยู่ในบางพื้นที่ใกล้เคียงกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งที่มีค่างแว่นถิ่นเหนืออยู่จำนวนมาก นอกจากที่จะคิดว่าเป็นยาบำรุง รักษาโรคแล้ว ยังเป็นอาหารท้องถิ่นที่ยังมีรับประทานกันอยู่ การนำเนื้อค่างมาทำเป็น ส้ม หรือ แหนม ก็เป็นการถนอมอาหารชนิดหนึ่ง ที่ใช้วิธีการหมักด้วยข้าวสุก เกลือ และกระเทียม ใช้เวลาหมัก 3 วัน เวลาจะรับประทานสด ทอด หรือนำไปประกอบอาหารอื่น เช่น หมก แกง หรือไม่ก็นำไปทำเป็นร้าค่าง แบบเดียวกับปลาร้าด้วย ซึ่งเมนูนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นมา แต่ทำกันมานานแล้ว ซึ่งหากไปตามตลาดเช้า จะพบว่ามีการวางขายอยู่ในราคากิโลกรัมละ 300 บาท และนอกจากนี้ ยังมีรายงานด้วยว่า มีคนเคยพบว่ามีการนำเนื้อหมีมาทำเป็น ส้มหมี หรือ หมีร้าด้วย แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่เคยพบ เพราะถ้าพบก็จะต้องจับกุมทันที" นายเกษมสันต์กล่าว
อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า ในขณะนี้นอกจากการออกลาดตระเวน จับกุมผู้กระทำผิดตามกฎหมายแล้ว ยังจัดให้เจ้าหน้าที่เข้าทำงานในพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ๆ ให้กับประชาชนกลุ่มที่นิยมนำค่างมาทำเป็นอาหารแล้ว ว่า การรับประทานเนื้อสัตว์ป่า หรือค่าง ไม่ได้ทำให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ แต่ในทางตรงกันข้ามกลับจะทำให้เกิดอันตรายด้วย เพราะในเนื้อค่าง มีเชื้อโรคต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเชื้อโรคกลุ่มไวรัส ที่ทำให้เกิดโรคเริม โรคพิษสุนัขบ้า รวมไปถึงทำให้เกิดอาการท้องร่วงท้องเสีย และที่ผ่านมาก็พบว่ามีผู้เสียชีวิตมาแล้วแม้ว่าจะยังไม่มีการพิสูจน์แน่ชัดว่าเกิดจากการรับประทานเนื้อค่างก็ตาม แต่จำนวนคน และสถิติการเป็นโรคต่างๆ ของคนในพื้นที่ก็น่าจะทำให้เชื่อได้ว่า การบริโภคค่าง อาจจะมีส่วนในการเสียชีวิตดังกล่าวด้วย
"จุดประสงค์สำคัญของเราที่ออกมาแถลงข่าวเรื่องนี้ เพราะต้องการชี้แจงให้ประชาชนเห็นถึงอันตราย ของการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า และส้มค่าง หรือ ส้มหมี ก็หนึ่งในอีกหลายเมนูสัตว์ป่าที่ถือว่าผิดกฎหมาย และอยากรณรงค์ให้กลุ่มที่ยังชอบบริโภคเมนูสัตว์ป่าเหล่านี้ เปลี่ยนค่านิยมใหม่ได้แล้ว เพราะมันไม่ได้เป็นผลดีอย่างที่คิดกัน โดยเฉพาะปัจจุบันที่เราไม่รู้ว่า เชื้อโรคอะไรที่ติดมากับสัตว์ป่าพวกนี้บ้าง แทนที่จะอายุยืน ก็อาจจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็วกว่าเดิม หรือ อาจเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ แทนที่จะปึ๋งปั๋งกว่าเดิมก็เป็นได้" นายเกษมสันต์ กล่าว
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก