x close

สทศ.- สพฐ.ปะทะเดือด ใครสอนเด็กท่องจำ

การศึกษา



สทศ.-สพฐ.ปะทะเดือดใครสอนเด็กท่อง (ไทยโพสต์)

          หัวหินเดือด! สทศ.ฉะ สพฐ.กลางที่ประชุมย้ำข้อสอบโอเน็ตออกตามหลักสูตร  สะท้อนเด็กคิดวิเคราะห์เป็นหรือไม่ ขณะที่ครูมุ่งสอนอัดเนื้อหาอย่างเดียวหวังแค่ให้เด็กพ้นรั้วโรงเรียน ด้าน สพฐ.ระดมขุนพลโต้ทันควัน หลักสูตรไม่ใช่ปัญหา  แต่เกิดจากหลายปัจจัยทั้งที่บ้านและการบริหารงานของ ผอ.โรงเรียน ขณะที่  "จุรินทร์" สั่งทบทวนหลักสูตรเนื้อหาเยอะไปหรือไม่ พร้อมชี้ข้อสอบโอเน็ตต้องมีการทบทวนสัดส่วนเนื้อหาแบ่งเปอร์เซ็นต์คิดวิเคราะห์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

          เมื่อวันที่ 11 กันยายน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดประชุมเชิงนโยบายเพื่อระดมความคิดเรื่องการพัฒนาการศึกษาทั้งระบบเพื่อพัฒนาคุณภาพเด็ก และเยาวชนไทยระหว่างวันที่ 11-12 กันยายน โดยมีผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ. และผู้เกี่ยวข้องในวงการศึกษาเข้าร่วมกว่า  300  คน

          โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวเปิดการประชุมว่า ตนอยากได้คำตอบในด้านนโยบายในหลายคำถามเพื่อขับ เคลื่อนองคาพยพใน 6 ข้อ คือ 1.การเรียนการสอนในปัจจุบันสอนให้เด็กท่องจำหรือคิดวิเคราะห์  

          2.การออกข้อสอบไม่ว่าจะเป็นการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต  การสอบความถนัดทั่วไปหรือ  GAT และการสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ  หรือ  PAT สอดคล้องกับการเรียนการสอนหรือไม่หากสอนอย่างหนึ่ง สอบอีกอย่างหนึ่ง ในที่สุดโรงเรียนกวดวิชาก็เฟื่องฟู เพราะเด็กไม่สามารถเรียนในโรงเรียนได้รู้เรื่องจึงต้องหันหน้าไปพึ่งโรงเรียนกวดวิชาแทน 

          3.เด็กไทยเรียนในห้องเรียนมากเกินไปหรือไม่ 4.ระบบการคัดเลือกเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษามีความเหมาะสม และสอดคล้องกับระบบการเรียนการสอนและได้นักศึกษาที่ตรงตามความต้องการหรือไม่  5.สถาบันอุดมศึกษาสามารถผลิตบัณฑิตได้มีคุณภาพ และตรงตามความต้องการของประเทศหรือไม่ และ  6.ระบบการประเมินเป็นระบบที่มีความเหมาะสมถูกต้องเที่ยงตรงหรือยัง

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ในช่วงเช้าของการประชุมผู้ร่วมอภิปรายข้อมูลซ้ำไปซ้ำ มาและไม่ตอบคำถามทั้ง 6 ข้อ ทำให้ช่วงบ่ายนายจุรินทร์ ต้องขอความร่วมมือให้ผู้ร่วมประชุมให้ช่วยตอบคำถามข้อ 1-3  ที่ชัดเจน โดยนายกสมาคมโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการออกข้อสอบโอเน็ตของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ  (สทศ.) ว่าทำไมจึงต้องให้ครูโรงเรียนสาธิต และอาจารย์ในมหาวิทยาลัยออกข้อสอบเท่านั้น ทำไมไม่เปิดโอกาสให้ครูทั่วไปได้ออกข้อสอบด้วย

          รศ.ดร.อุทุมพร  จามรมาน  ผอ.สทศ.กล่าวว่า การออกข้อสอบโอเน็ตจำเป็นต้องอาศัยผู้ที่มีเวลาและออกข้อเป็นมาช่วยออก อีกทั้งยังต้องสามารถเก็บความลับได้ส่วน หาก ศธ.อยากย้อนกลับไปดูว่าเด็กสามารถคิดวิเคราะห์ได้หรือไม่นั้น  สทศ.สามารถช่วยได้โดยวิเคราะห์ผลสอบ  GAT ของเด็ก เพื่อสะท้อนการคิดวิเคราะห์ของเด็ก ส่วนข้อสอบโอเน็ตสอดคล้องกับการเรียนการสอนหรือไม่นั้นตนไม่ทราบ แต่ขอย้ำว่าการออกข้อสอบของ สทศ. ออกตามหลักสูตรของ สพฐ.ซึ่งสะท้อนการเรียนการสอนในโรงเรียน ส่วนเด็กเรียนในห้องเรียนมากเกินไปหรือไม่นั้น ตนคิดว่าทุกวันนี้ครู มุ่งสอนและหวังให้เด็กจบออกไปอย่างเดียวทำให้เด็กทุกวันนี้เรียนมากเกินไป

          คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตนคิดว่าหลักสูตรไม่ได้ขวางกั้นการคิดวิเคราะห์ ตรงกันข้ามหลักสูตรของ สพฐ.เน้นการคิดวิเคราะห์ด้วยซ้ำ อีกทั้งความพร้อมของการสอนเชิงคิดวิเคราะห์ แต่ละโรงเรียนก็มีความแตกต่างกัน บางครอบครัวพ่อแม่สอนให้ลูกรู้จักคิดวิเคราะห์ เด็กก็จะรู้จักคิดวิเคราะห์ นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่ที่ตัวผู้บริหารโรงเรียนซึ่ง  ผอ.บางโรงเรียนก็สั่งอย่างเดียว ทำให้ครูชินกับการรับคำสั่งจึงไม่สามารถไปสอนให้เด็กคิดได้ ดังนั้นจึงคิดว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่หลักสูตร  ต้องแก้ที่พื้นฐานครอบครัว ผู้บริหาร และครู เป็นหลัก

          นายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รอง  กพฐ.) กล่าวว่า ปัจจุบันการเรียนการสอนที่ฝึกให้เด็กคิดเป็นนั้นมี แต่ยังไม่มีความเข้มข้น จึงไม่เห็นภาพของความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน  ส่วนเรื่องข้อสอบโอเน็ต ในปัจจุบันสอดคล้องกับการเรียนการสอนหรือไม่นั้น ตนมองว่าข้อสอบปัจจุบันยังไม่สามารถวัดศักยภาพของผู้เรียนได้ ซึ่ง สพฐ.ได้วิเคราะห์ข้อสอบโอเน็ตพบข้อจำกัดอยู่หลายเรื่อง เช่น ความบกพร่องของข้อสอบ ซึ่งมีสัดส่วนความจำและการคิดวิเคราะห์ในแต่ละรายวิชาที่ไม่ชัดเจน ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญว่าเราจะให้ความสำคัญกับความจำหรือการคิดวิเคราะห์ 

          คุณหญิงสุชาดา กีระนันท์ อดีตอธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า ตัวหลักสูตรปัจจุบันเขียนได้ดี แต่ตนมีความกังวลเกี่ยวกับสาระการเรียนรู้ที่มากเกินไป แต่หากถามว่ามีการเรียนการสอนปัจจุบันทำให้เด็กคิดวิเคราะห์ได้หรือไม่นั้น คงไม่สามารถตอบได้ เพราะปัจจุบันมีโรงเรียนหลายรูปแบบ และยังคงมุ่งเรียนในห้องมาก  และก็เรียนกวดวิชามากเช่นกัน เพราะพ่อแม่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าทำอย่างไรให้ลูกเข้ามหาวิทยาลัยได้

          นายจุรินทร์ กล่าวสรุปการอภิปรายว่าเรื่องที่ต้องทำ 2 ส่วน คือ เนื้อหาที่เด็กต้องท่องจำก็ต้องจำ ขณะที่ภารกิจข้างหน้าก็ต้องเพิ่มให้เด็กคิดวิเคราะห์ด้วย ดังนั้นจึงต้องอบรมพัฒนาครูเพื่อสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น ซึ่งขณะนี้  สพฐ.ได้ประสานกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย  (ทปอ.) ในการอบรมพัฒนาครูทั้ง  500,000  คน ให้เกิดผลทางปฏิบัติจริงๆ

          "ส่วนเรื่องเนื้อหาหลักสูตร ก็ต้องกลับไปดูว่าอะไรที่เกินก็ต้องปรับ ขอฝากให้ผู้เกี่ยวข้องกลับไปคิดหาแนวทางปฏิบัติที่สามารถทำได้จริง ยังมีเรื่องข้อสอบโอเน็ต ผมอยากให้ สทศ.กลับไปทบทวนว่ามีความจำเป็นต้องแบ่งสัดส่วนระหว่างการคิดวิเคราะห์และการท่องจำหรือไม่ นอกจากนั้น ยังอยากให้ไปดูเรื่องผู้ออกข้อสอบที่มีการวิจารณ์ด้วยว่า ต่อไปควรมีระบบการคัดเลือกผู้ออกข้อสอบหรือไม่  ซึ่งผมคิดจากตรรกะว่า ข้อสอบที่ออกโดยอาจารย์สาธิตเด็กสาธิตก็สามารถทำได้ดี"  นายจุรินทร์กล่าว


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สทศ.- สพฐ.ปะทะเดือด ใครสอนเด็กท่องจำ อัปเดตล่าสุด 12 กันยายน 2552 เวลา 16:52:52 11,030 อ่าน
TOP