x close

ลูกหนี้นอกระบบเฮรัฐโดดอุ้ม รายละไม่เกิน 2 แสน


ลูกหนี้นอกระบบ

 

ลูกหนี้นอกระบบเฮรัฐโดดอุ้ม รายละไม่เกิน 2 แสน โอนให้แบงก์-แก้ดอกโหดเปิดให้ลงทะเบียน 1-30 ธ.ค. (เดลินิวส์)

         ลูกหนี้ทั่วประเทศเฮ เตรียมลงทะเบียน 1-30 ธ.ค.นี้ "มาร์ค" ใจป้ำเปิดโครงการ "โอนหนี้เข้าระบบ...เพื่อพบชีวิตใหม่" ช่วยเหลือชาวบ้านหัวละไม่เกิน 2 แสน ลั่นถึงเวลาแก้ปัญหาอย่างจริงจังแล้ว "กรณ์" ไฟเขียวปลดล็อกเครดิตบูโรแก้หนี้ได้เท่าเทียมกัน  ยันไม่ได้ปลดหนี้หรือให้เปล่า แต่จะฟื้นฟูอย่างยั่งยืน "กระทรวงยุติธรรม" ตั้งศูนย์แก้หนี้ผิดกฎหมายระบุ เจ้าหนี้มีสิทธิเจอยึดทรัพย์แถมพ่วงคดีอาญาด้วย "ธ.ก.ส." เตรียมวงเงิน 10,000 ล้าน "ออมสิน" พร้อมรับหนี้ไม่อั้น โพลชี้ชาวบ้าน 57% สนร่วมโครงการ 

         ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวน ชั่น วันที่ 19 พ.ย. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ภายใต้ชื่อ "โอนหนี้เข้าระบบ...เพื่อพบชีวิตใหม่" ว่า ปัจจุบันคนไทยเป็นหนี้นอกระบบที่ต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยอย่างโหดร้ายทารุณมาก รัฐบาลตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชนในจุดนี้ จึงพยายามหาหนทางในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้ลุล่วงไปได้ โดยมอบหมายให้ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ไปคลี่คลายความทุกข์ของประชาชน กระทั่งกระบวนการทุกอย่างได้เริ่มต้นเดินหน้า ประชาชนชำระหนี้ได้ด้วยดอกเบี้ย และเงินต้นที่สมเหตุสมผล อีกทั้งหนี้นอกระบบมีความเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลในแต่ละท้องถิ่น จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงยุติธรรมเข้ามาร่วมแก้ปัญหานี้ด้วย

         "ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการแก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบของประชาชน จากการเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนตลอดเดือน ธ.ค.นี้ เป็นโอกาสที่ดี ที่รัฐบาลจะเข้ามาดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ใช้ชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีในการใช้ชีวิต ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้ง ลูกหนี้ เจ้าหนี้ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้"

         ด้านนายกรณ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้เป็น 1 ในยุทธศาสตร์ฝนตกทั่วฟ้า ที่ต้องการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งปัญหาหนี้นอกระบบ รัฐบาลพยายามอย่างมาก เพื่อหาวิธีปรับหนี้นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบ ทั้งนี้ยืนยันว่า ไม่ได้ตั้งใจให้ประชาชนเข้าใจว่าคือการปลดหนี้ การให้เปล่า หรือการจ่ายหนี้แทนแต่อย่างใด แต่เป็นการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่เรื้อรังเข้ามาสู่กระบวนการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเปิดลงทะเบียนระหว่างวันที่ 1-30 ธ.ค.นี้ ผ่านสาขาของธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จากนั้นจะรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นส่งให้กรมบัญชีกลางคัดกรองประเภทหนี้ เพื่อกำหนดว่าธนาคารใดจะเป็นเจ้าภาพแก้ปัญหาหนี้รายนั้น ๆ ต่อไป สำหรับประชาชนที่เตรียมเข้าร่วมโครงการ แต่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) นั้นเข้าร่วมโครงการได้ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะข้อมูลในเครดิตบูโรเป็นเพียงการแจ้งสถานการชำระหนี้กับสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโรเท่านั้น ไม่มีผลต่อการยื่นขอสินเชื่อแต่อย่างใด 

         ขณะที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว. ยุติธรรม กล่าวว่า กระทรวงฯ จะใช้กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้หนี้นอกระบบ เพื่อให้สังคมเกิดความเป็นธรรม และปลดแอกประชาชนนับล้านที่เป็นลูกหนี้นอกระบบ ให้ลืมตาอ้าปากได้ ทั้งนี้ จะตั้งศูนย์รับร้องเรียนการแก้ปัญหาหนี้ที่ผิดกฎหมาย หากมีการร้องเรียนและตรวจสอบพบจะใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ที่บัญญัติว่า ห้ามไม่ให้เรียกดอกเบี้ยเกิน 15% ต่อปี ถ้าสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ให้ลดลงมาเป็น 15% ไม่เช่นนั้น ถือว่าหนี้จากการกู้เงินดังกล่าวเป็นโมฆะทันที หากไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการเจรจาแก้ไขหรือประนอมหนี้

          ทั้งนี้ หากตรวจสอบพบว่าเจ้าหนี้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก่อเหตุทำร้ายร่างกาย ข่มขู่ลูกหนี้ให้ชำระดอกเบี้ยเงินกู้ หรือจัดทำธุรกรรมอำพราง จะมีความผิดอาญาฐานกรรโชกทรัพย์ และทำร้ายร่างกาย โดยจะประสานให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้าดำเนินคดี และยึดทรัพย์เจ้าหนี้นอกระบบเหล่านี้ทันที

         นายลักษณ์ วจนานวัช ผจก.ธนาคาร ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส.จะชี้แจงให้ผู้จัดการสาขารับทราบนโยบายอีกครั้งวันที่ 27 พ.ย. นี้  ส่วนการรับลงทะเบียนนั้นพนักงานพร้อมแล้ว เพียงลูกหนี้เตรียมสำเนาบัตรประชาชน เอกสารการเป็นหนี้มาแสดง แต่หากไม่มี ก็มาลงทะเบียนได้เช่นกัน แต่ต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นหนี้ที่เกิดโดยสุจริต คาดว่าภายในวันที่ 15 ม.ค. 53 จะชัดเจนว่า ธ.ก.ส. จะรับโอนลูกหนี้มาเท่าใด เบื้องต้น เตรียมวงเงินไว้ 10,000 ล้านบาท แต่หากมากกว่านี้ก็ไม่มีปัญหา ส่วนการคิดดอกเบี้ยที่ 12% นั้นจะคิดเพียง 3 ปีแรก จากนั้นคิดตามอัตรา ธ.ก.ส.ที่ 6.75-9.75% และขยายเวลาผ่อนชำระได้นาน 12 ปี ซึ่งนอกจากรับโอนหนี้ของเกษตรกร แล้ว ธ.ก.ส.ยังจะเข้าไปช่วยอบรมฟื้นฟูอาชีพให้ด้วยหากพบว่ารายใดมีปัญหา

         ด้านนายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี รอง ผอ.ธนาคารออมสินอาวุโส กล่าวว่า การที่ออมสินคิดดอกเบี้ยแตกต่างจากธนาคารอื่น เพราะมองว่ากลุ่มลูกหนี้นอกระบบเป็นฐานเดียวกับลูกค้าธนาคารประชาชน ที่น่าจะมีหนี้นอกระบบไม่เกินรายละ 20,000-30,000 บาท จึงคิดดอกเบี้ยเท่าธนาคารประชาชนที่ 0.5% ต่อเดือน สำหรับมูลหนี้ไม่เกิน 30,000 บาท แต่หากสูงกว่านี้และไม่เกิน 200,000 บาทคิด 0.75% โดยจะขยายเวลาชำระหนี้จาก 5 ปีเป็น 8 ปี และไม่ได้จำกัดวงเงินการรับโอนหนี้ ขึ้นอยู่กับจำนวนลูกหนี้ที่คณะกรรมการเจรจาประนอมหนี้ส่งเข้ามา แต่มองว่าน่าจะมีลูก หนี้รายย่อยไม่ถึง 50% จากการที่ธนาคารประชาชนปล่อยกู้มียอดหนี้คงค้าง 10,000 ล้านบาท มีลูกหนี้ 500,000 ราย ครั้งนี้ก็ไม่น่าจะมีมากกว่านี้ โดยการรับโอนหนี้นอกระบบนี้ จะแยกเป็นบัญชีสินเชื่อโครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

         ขณะที่ นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ. ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลสำรวจสถานภาพหนี้ภาคครัวเรือนทั่วประเทศ จากกลุ่มตัวอย่าง 1,202 คน ระหว่างวันที่ 6-13 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ประชาชนกว่า 57.26% สนใจเข้าร่วมโครงการแก้หนี้นอกระบบ และไม่สนใจเข้าร่วม 42.74% เชื่อว่าหากเข้าร่วมแก้หนี้จะช่วยลดภาระดอกเบี้ย ทำให้มีเงินเหลือเก็บออม จับจ่ายใช้สอย และลงทุนทำธุรกิจเพิ่มได้ แต่ทั้งนี้ยังกังวลว่า การแก้ปัญหาอาจไม่ได้ผล เพราะรัฐไม่ได้ติดตามผลอย่างต่อเนื่อง หรือบางรายไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และมีหนี้สูงกว่าที่รัฐกำหนด ทำให้ขาดโอกาสในการเข้าร่วม

         สำหรับสถานะหนี้ภาคประชาชน ตกเฉลี่ยครัวเรือนละ 147,542 บาท เพิ่มขึ้นจากต้นปี 2.8% หรือครัวเรือนละ 3,000 บาท โดยแบ่งเป็นในระบบ 42.6% นอกระบบ 57.4% และมีอัตราผ่อนชำระเดือนละ 9,654 บาท สาเหตุที่มีหนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ เพราะมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ประกอบกับค่าครองชีพเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องหันไปหาแหล่งเงินกู้นอกระบบ เพื่อนำมาใช้จ่ายใน ชีวิตประจำวัน ลงทุน และผ่อนยานพาหนะ

         นายธนวรรธน์ กล่าวว่า หอการค้าเห็นด้วยต่อมาตรการแก้ไขหนี้ของรัฐ แม้มีรูปแบบคล้ายประชานิยมและไม่ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก แต่เชื่อว่าเป็นนโยบายที่ดี เข้าถึงประชาชนได้จริง ช่วยลดรายจ่ายจากดอกเบี้ย และเหลือเงินใช้ออม ใช้จ่ายมากขึ้นในอนาคต ส่วนวงเงินกู้กำหนด รายละ 200,000 บาท ถือว่าเหมาะสม เพราะมากกว่าหนี้เฉลี่ย 147,542 บาท และจากการที่รัฐใช้สถาบันการเงินรัฐช่วยขับเคลื่อน ซึ่งมีระบบการจัดการ และบริหารความเสี่ยงดี จึงเชื่อว่านโยบายครั้งนี้จะประสบ ความสำเร็จ และมีโอกาสเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้ เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไม่ถึง 10%

         ส่วนบรรยากาศจับกุมแก๊งปล่อยเงินกู้โหด ที่ จ.ชลบุรี เช้าวันเดียวกัน พ.ต.ท. วิโรจน์ แย้มปราศัย สว.สส.สภ.ดอนหัวฬ่อ สืบทราบมาว่ามีแก๊งปล่อยเงินกู้โหดในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร อ.เมืองชลบุรี จึงขอหมายค้นศาลแขวงชลบุรี ที่ 173/2552 ลงวันที่ 18 พ.ย. 52 เข้าค้นหมู่บ้านกรีนวิลล์ บ้านเลขที่ 78/17 หมู่ 5 ต.ดอนหัวฬ่อ พบแก๊งเก็บเงินกู้ 4 คน ประกอบด้วย นายชาคริต เสนาะสรรพ์ อายุ 22 ปี นายอาทิตย์ ปลื้มผล อายุ 24 ปี นายโกเมธ อายุ 19 ปี นายพิทักษ์ อายุ 18 ปี (สองคนหลังขอสงวนนามสกุล) จากนั้นสอบสวนขยายผลเข้าจับกุมนายสุธรรม สมสะอาด อายุ 23 ปี ที่บุญสมคอนโดมิเนียม ห้อง 215 หมู่ 5 พร้อมของกลางเอกสารการกู้เงินผิดกฎหมายกว่า 300 ฉบับ ยอดเงินหลายล้านบาท สอบสวนทราบว่ามีนายทุนจาก จ.จันทบุรี เป็นเจ้าของเงิน โดยผู้ต้องหาทั้งหมดที่จับได้เป็นกลุ่มทวงหนี้ เบื้องต้นแจ้งข้อหาร่วมกันให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และประกอบกิจการสินเชื่อส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูกหนี้นอกระบบเฮรัฐโดดอุ้ม รายละไม่เกิน 2 แสน อัปเดตล่าสุด 20 พฤศจิกายน 2552 เวลา 11:43:59 12,872 อ่าน
TOP