x close

ผงะ! เครื่องดื่ม ในสถานศึกษา พบ จุลินทรีย์ อื้อ


กรมวิทย์ ตรวจเครื่องดื่มใน รร.อนุบาล-มัธยม ทั่วประเทศ ผงะ จุลินทรีย์ เกินมาตรฐานอื้อ ก่อโรคระบบทางเดินอาหาร (เดลินิวส์)

         เมื่อวันที่ 20 พ.ย. นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 12 แห่งทั่วประเทศ ได้เก็บตัวอย่างเครื่องดื่มในโรงเรียนระดับอนุบาลและมัธยมศึกษาในเขตเทศบาลที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ตั้งอยู่ จำนวน 42 แห่ง รวม 303 ตัวอย่าง แบ่งเป็นโรงเรียนระดับอนุบาล จำนวน 21 แห่ง  125  ตัวอย่าง และโรงเรียนระดับมัธยม จำนวน 21 แห่ง 178 ตัวอย่าง ผลการตรวจคุณภาพทางเคมีหาสารกัดบูด พบปริมาณกรดเบนโซอิก จำนวน 109 ตัวอย่าง โดยปริมาณกรดเบนโซอิกที่พบอยู่ในช่วง 4 – 64.60 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และพบปริมาณกรดซอร์บิก จำนวน 129 ตัวอย่าง ปริมาณกรดซอร์บิกที่พบอยู่ในช่วง 1.75 – 101.86 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  และพบการใช้สีผสมอาหาร จำนวน 133 ตัวอย่าง โดยพบปริมาณสีอยู่ในช่วง 0.1 – 49.33 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2547ฉบับที่ 281 เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร ทั้งนี้เกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้มีวัตถุกันเสียไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และสีผสมอาหารไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

         อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อว่า สำหรับผลการตรวจวิเคราะห์ด้านจุลินทรีย์ พบการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค ได้แก่ แซลโมเนลลา สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส และ คลอสทริเดียม เพอร์ฟริงเกนส์ จำนวน  22  ตัวอย่าง โดยพบเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค ในโรงเรียนระดับอนุบาล จำนวน 13 ตัวอย่าง และพบในโรงเรียนระดับมัธยม  จำนวน 9 ตัวอย่าง นอกจากนี้ยังพบจุลินทรีย์ที่ชี้บ่งถึงสุขลักษณะการผลิตเกินเกณฑ์มาตรฐาน ตามประกาศกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พ.ศ.2536 ได้แก่ ยีสต์ รา โคลิฟอร์ม อี.โคไล 193 ตัวอย่าง โดยพบเกินเกณฑ์ในโรงเรียนระดับอนุบาล จำนวน 65 ตัวอย่าง และพบในโรงเรียนระดับมัธยม จำนวน 128 ตัวอย่าง 

         นพ.จักรธรรม กล่าวต่อว่า แม้การประเมินความเสี่ยงทางด้านเคมี จากการได้รับปริมาณวัตถุกันเสียและสีผสมอาหารในเครื่องดื่มในโรงเรียน ไม่เกิดผลเสียหายต่อสุขภาพ แต่ในชีวิตประจำวันผู้บริโภคยังมีความเสี่ยงที่ได้รับสารเหล่านี้ เนื่องจากผู้บริโภคมีโอกาสได้รับจากการบริโภคผลิตภัณฑ์อีกหลายประเภทที่มีการใช้วัตถุกันเสีย และสีผสมอาหาร หากรับประทานอาหารที่มีสารเหล่านี้เกินปริมาณที่ร่างกายสามารถกำจัดได้ อาจเกิดอาการภูมิแพ้ คลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้องได้

         ส่วนปริมาณจุลินทรีย์ที่ตรวจพบ ถือว่ายังไม่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค เนื่องจากพบเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค และเชื้อที่ชี้บ่งถึงสุขลักษณะการผลิต เช่น  อี.โคไล บางสายพันธุ์สามารถก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษต่อผู้บริโภคได้ โดยผู้บริโภคจะมีอาการปวดท้อง ท้องร่วง ถ่ายเป็นมูกเลือด และอาจมีไข้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนักเรียนระดับอนุบาล ถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรค เนื่องจากมีระบบการสร้างภูมิคุ้มกันต่ำ อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค หน่วยงานที่รับผิดชอบงานอนามัยของโรงเรียน ควรเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลการผลิตที่ดีของผู้ประกอบการ มีการส่งเสริมให้ความรู้ในการผลิตที่ดี และผู้ประกอบการควรใช้ความระมัดระวังในการผลิตทุกขั้นตอน โดยเฉพาะความสะอาดรวมถึงการเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผงะ! เครื่องดื่ม ในสถานศึกษา พบ จุลินทรีย์ อื้อ อัปเดตล่าสุด 21 พฤศจิกายน 2552 เวลา 15:46:54 17,445 อ่าน
TOP