x close

ชำแหละค่าโง่โทลล์เวย์ สัญญารัฐที่ประชาชนเสียเปรียบ



ชำแหละ "ค่าโง่" โทลล์เวย์ตั้งแต่ยุค "น้าชาติ" ข้อสัญญาทำรัฐเสียเปรียบ ปชช.เดือดร้อนจ่ายค่าผ่านทางสูงลิ่ว (มติชนออนไลน์)

          ชำแหละ "ค่าโง่" โทลล์เวย์ พบพิรุธข้อสัญญาทำให้รัฐเสียเปรียบอย่างหนัก ระบุรัฐบาล "ชาติชาย" ผูกสัญญาหลวม เกิดช่องโหว่ ขณะที่สมัย "วันนอร์" คุม ก.คมนาคมรื้อสัญญาขยายอายุสัมปทาน ปรับค่าผ่านทางเพิ่ม ยุค"ธีระ"เปลี่ยนเงื่อนไข ยืดสัญญาขายหุ้นราคาพาร์

          ผู้สื่อข่าว "มติชน" รายงานว่า หลังจากมีการตรวจสอบข้อสัญญาสัมปทานโครงการทางยกระดับอุตราภิมุข หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ ระหว่างกรมทางหลวงกับบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) พบข้อพิรุธในสัญญาที่รัฐบาลชุดต่าง ๆ มีผลทำให้ประเทศชาติต้องเสียค่าโง่ และความเสียหายดังกล่าวกระทบไปถึงประชาชน ต้องเสียค่าผ่านทางในราคาที่สูง 

          แหล่งข่าวจากกรมทางหลวงเปิดเผยว่า สัญญาโทลล์เวย์ เซ็นเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2532 สมัยนายมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อายุสัญญา 25 ปี สิ้นสุดปี 2557 จากการสอบสวนพบว่า สัญญาทำให้รัฐตกเป็นฝ่ายเสียหายอย่างน้อย 2 ข้อ ข้อแรก กรมทางหลวงกำหนดจุดก่อสร้างระยะทางแค่ 15.4 กิโลเมตร จากถนนวิภาวดีรังสิตไปยังสนามบินดอนเมือง ทำให้การจราจรบริเวณหน้าสนามบินดอนเมืองกระจุกตัว ต้องขยายเส้นทางโทลล์เวย์จากดอนเมืองไปถึงรังสิตในเวลาต่อมา ทั้งที่ควรสร้างเลยสนามบินดอนเมืองออกไปตั้งแต่เริ่มแรก เพราะในเชิงวิศวกรรมการทำโทลล์เวย์ในเมืองขนาดใหญ่ระยะทางสั้น ๆ ไม่เหมาะสม เนื่องจากเส้นทางสาธารณะที่มีอยู่แล้วถูกเบียดบังคับแคบลง แต่เอกชนกลับได้รับประโยชน์จากการเก็บค่าธรรมเนียม

          ข้อที่สอง สัญญาระบุว่า หากส่วนราชการกระทำหรือละเว้นการกระทำจนเป็นเหตุให้จำนวนยวดยานพาหนะลดลงแล้ว กรมทางหลวงต้องเจรจากับผู้รับสัมปทานเพื่อแก้ไขผลเสียต่อฐานะการเงินของบริษัท โดยปรับอัตราค่าผ่านทางหรือขยายอายุสัมปทาน หรือเลื่อนระยะเวลาเริ่มต้นในการแบ่งปันรายได้ให้แก่กรมทางหลวง ข้อนี้ทำให้รัฐตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะหลังจากนั้นถนนวิภาวดีรังสิตเกิดความแออัดอย่างมาก  

          ต่อมาในสมัยนายวันมูหะมัดนอร์ วะทา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวงแก้ไขสัญญา วันที่ 29 พฤศจิกายน 2539 ให้เอกชนลงทุนขยายเส้นทางไปถึงหน้ากองทัพอากาศ และยกระดับต่อเชื่อมกับสนามบินดอนเมือง เชื่อมต่อกับทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ทำให้ต้องขยายอายุสัมปทานเพิ่มอีก 7 ปี จากปี 2557 เป็นปี 2564 และปรับเพดานค่าผ่านทางดินแดง - ดอนเมือง ที่เดิมกำหนดสูงสุดไว้แค่ 30 บาท เพิ่มเป็น 80 บาท

          นอกจากนี้ยังยอมจัดหาเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนให้บริษัท จำนวน 8,500 ล้านบาท และบริษัทยังจดทะเบียนเพิ่มทุนอีก 4,522 ล้านบาท ให้รัฐบาลซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าว 3,000 ล้านบาท เมื่อบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รัฐบาลต้องขายหุ้นคืนแก่ผู้ถือหุ้นเดิม คงสัดส่วนการถือครองไม่เกินร้อยละ 25

          ต่อมาสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มี พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีมติให้กระทรวงการคลังขายหุ้นของบริษัททางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ให้แก่บริษัท แบ็งค็อก แอนด์ บราวน์ โทลโรดส์ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด 38.65 ล้านหุ้น หรือร้อยละ 12.28 ในราคาหุ้นละ 10 บาท (ราคาพาร์) และเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2550 พล.ร.อ.ธีระ เห็นชอบให้ขยายสัมปทานอีก 13 ปี จากปี 2564 เป็นปี 2577 ถ้ายึดวันเซ็นสัญญาปี 2532 อายุสัมปทานโทลล์เวย์ยืนยาวถึง 45 ปี

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแก้ไขสัญญาดังกล่าวมีผลกระทบต่อผู้ใช้บริการในปัจจุบัน เพราะผู้รับสัมปทานปรับค่าผ่านทางครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2552 รถยนต์สี่ล้อต้องเสียค่าธรรมเนียม จาก 55 บาท เป็น 85 บาท รถมากกว่า 4 ล้อขึ้นไป จาก 95 บาท เป็น 125 บาท

          นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงกำลังรอหนังสือแจ้งจากกรมทางหลวงก่อนว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อสัญญาของโทลล์เวย์ที่มีนายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ได้รายงานข้อสงสัยเกี่ยวกับการแก้สัญญาว่าเป็นอย่างไร จากนั้นจะรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป 

          นายวีระ เรืองสุขศรีวงศ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า กรมได้รับหนังสือแจ้งจากกระทรวงคมนาคมให้ดำเนินการตรวจสอบสัญญาแล้ว โดยได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมา มีนายสุจินต์ เรืองพรวิสุทธิ์ วิศวกรใหญ่ด้านวางแผนและวางโครงการก่อสร้าง เป็นประธานในการตรวจสอบแล้ว


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชำแหละค่าโง่โทลล์เวย์ สัญญารัฐที่ประชาชนเสียเปรียบ อัปเดตล่าสุด 17 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 16:19:57 17,363 อ่าน
TOP