x close

ค่าเงินบาทวันนี้ 29.90บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าในรอบ13 ปี

เงิน


บาทแข็งโป๊กตบหน้าธปท. เย้ยมาตรการแก้เขิน ชี้กนง.เบรกดอกเบี้ย (ไทยโพสต์) 

          ธปท.ยิ่งออกมาตรการผ่อนคลาย เงินบาทยิ่งแข็งค่าตบหน้า ล่าสุดแข็งโป๊กแตะ 29.95 บาทต่อดอลลาร์แล้ว ทำสถิติแข็งค่าในรอบ 13 ปี 

          แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออก 2 มาตรการผ่อนคลายระเบียบเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน เพิ่มเติมจาก 5 มาตรการที่กระทรวงการคลังอนุมัติก่อนหน้านี้ ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลงแล้ว ยังทำสถิติแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          โดยค่าเงินบาทวันที่ 6 ต.ค. แข็งค่าหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแล้ว โดยเคลื่อนไหวในกรอบ 29.95-29.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติแข็งค่าในรอบ 13 ปี
 
          นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน สายงานธุรกิจตลาดเงิน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 20 ต.ค.นี้ น่าจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดแรงกดดันค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง

          อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามว่า ธปท.จะมีมาตรการมาควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนเพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไปหรือไม่ โดยคาดว่าเงินบาทในไตรมาส 4 ปีนี้ มีโอกาสแข็งค่าช่วง 29.80-30.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่คาดไว้ที่ 30.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

          "กนง.ควรจัดลำดับความสำคัญเรื่องของเงินบาทมากกว่าเงินเฟ้อ เพราะขณะนี้เอกชนได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทอย่างมาก ดังนั้น กนง.ควรจะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น มีผลช่วยชะลอการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อบางส่วน เพราะการนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรมีต้นทุนที่ถูกลง ทำให้ราคาสินค้าต่ำลงตามไปด้วย" นายกอบสิทธิ์กล่าว

          ด้านนายศุภกร สุนทรกิจ รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี เชื่อว่า กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้เต็มที่ในปีนี้ที่ 2.00% เพราะหากการประชุม กนง.ครั้งนี้มีการชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย เชื่อว่าจะต้องปรับขึ้นในครั้งต่อไป

          นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการด้านบริหาร ธปท.กล่าวว่า ผลการศึกษาของ ธปท.พบว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับประเทศต่าง ๆ จะเป็นระดับที่สร้างแรงจูงใจให้เงินทุนไหลเข้ามาลงทุนได้ ต่อเมื่ออัตราดอกเบี้ยนั้น ๆ มีส่วนต่างในระดับสูง และค่าเงินไม่ผันผวนมากเกินไป ขณะที่ส่วนต่างดอกเบี้ยในระดับไม่กี่เปอร์เซ็นต์คงไม่จูงใจให้เงินทุนไหลเข้ามามากนัก เพราะการเคลื่อนไหวขึ้นลงของค่าเงินในระดับ 1-2% ใช้เวลาเพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น

          สำหรับสาเหตุที่เงินทุนไหลเข้าไทยจำนวนมากนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มฟื้นกลับมา และมีการเติบโตได้ในระดับค่อนข้างดี ซึ่งจะเห็นได้จากหน่วยงานต่าง ๆ มีการปรับประมาณการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยใหม่จากระดับ 7% เป็น 8%

          ส่วนที่มีคำถามว่ากลายเป็นสงครามค่าเงินแล้วหรือไม่ นางอัจนากล่าวว่า คงไม่ แต่การที่หลายประเทศในภูมิภาคพยายามจะทำให้ค่าเงินของตัวเองอ่อนค่าลง ก็อาจกลายเป็นการแข่งขันที่ทำให้ค่าเงินตัวเองอ่อนค่าลงก็เป็นได้



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ค่าเงินบาทวันนี้ 29.90บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าในรอบ13 ปี อัปเดตล่าสุด 7 ตุลาคม 2553 เวลา 17:52:39 37,550 อ่าน
TOP