x close

นายกฯ กล่าวปิดแถลงนโยบาย ยันรัฐบาลทำทันที


 
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร


คลิป นายกฯ กล่าวปิดแถลงนโยบาย



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก พรรคเพื่อไทย, nitipoom.comyoutube.com โพสต์โดย TheSpokesmandp

          ยิ่งลักษณ์ กล่าวแถลงนโยบาย ยันเดินหน้าทำทุกนโยบายเพื่อประชาชน ค่าแรง 300 ครอบคลุมลูกจ้างรัฐ - เอกชน เรื่องปรองดอง จะให้การเยียวยาทุกฝ่าย ไม่แทรกแซง คอป.

          น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา ว่า รัฐบาลน้อมรับฟังทุกข้อคิดเห็นจากสมาชิก และจะตั้งใจผลักดันทุกนโยบายที่ได้แถลงไว้เพื่อประชาชน โดยจะไม่ทำงานเพื่อบริหารการเมือง แต่จะทำเพื่อความสุขของประชาชน ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข และยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก พร้อมกันนี้ยืนยันว่า ทุกนโยบายที่ได้แถลงไว้ ไม่ได้หลอกลวง เพราะไม่มีเหตุผลใดที่รัฐบาลจะทำเช่นนั้น

          ส่วนกรณีรายละเอียดในนโยบายโดยเฉพาะค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ที่ระบุเป็นรายรายได้นั้น มีเจตนาที่ต้องการช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้ครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชน ขณะที่เงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 15,000 บาทนั้น จะเริ่มจากข้าราชการ โดยดำเนินการทันทีหลังจากทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 เสร็จสิ้น ขณะที่การสร้างความปรองดอง จะเริ่มจากการเยียวยาทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเมือง และในพื้นที่ภาคใต้ โดยในส่วนของการเมือง จะเยียวยาให้ทุกฝ่าย นอกจากนี้ ยังให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ทำหน้าที่ตรวจสอบในข้อเท็จจริง โดยที่รัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซง

          พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ขอโอกาสให้ตนเองทำงานเพื่อประชาชน ขณะที่เรื่องนโยบายต่างประเทศนั้น ขอให้ทุกฝ่ายไม่ต้องเป็นห่วง และการออกวีซ่าให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าญี่ปุ่น นั้นยืนยันว่าในขณะนั้น ตนไม่มีอำนาจตามกฎหมาย เป็นเอกสิทธิ์ของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่จะให้สิทธิ์ พ.ต.ท.ทักษิณ


สภาล่ม! ปิดประชุมกลางคัน เพราะคำว่าใบอนุญาตฆ่าประชาชน


ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ




คลิป ณัฐวุฒิใช้สิทธิ์พาดพิง



          เมื่อวานนี้ (24 สิงหาคม) ในการประชุมรัฐสภาแถลงนโยบายของรัฐบาล เป็นวันที่ 2 มีทั้งฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภา ร่วมกันอภิปรายนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยบรรยากาศในช่วงเช้ายังเป็นไปอย่างเรียบร้อย แต่ในช่วงดึกกลับมีบรรยากาศตึงเครียดมากขึ้น หลัง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายพาดพิงการดำเนินคดีเสื้อแดงข้อหาละเมิดสถาบัน ส่งผลให้เกิดการฆ่ากัน และกล่าวหามีการออกใบอนุญาตให้ฆ่าประชาชน ทำให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ และ นายอภิสิทธิ์ เวชชชีวะ ส.ส บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี ประท้วงให้ถอนคำพูด จน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ต้องสั่งพักการประชุมในที่สุด

          โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากที่ นายจตุพร พรหมพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ใช้สิทธิพาดพิงชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภา โดยระบุว่าเรื่องทักษิณมหาราษฎร์ เกิดจากหลังเลือกตั้งมีคนชั่วขี้เรือนบางคนไปขึ้นป้ายทักษิณมหาราษฎร์ ดังนั้น ขอสาปแช่งคนชั่วที่เอาป้ายมาขึ้นขอให้มีอันเป็นไป อีกทั้งพวกตนเจ็บปวดที่ ศอฉ.ไปขึ้นฝังล้มเจ้าพวกตนโดยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งที่เลขา สมช. และโฆษก ศอฉ.บอกว่าปลอม 

          ทำให้ นายสุเทพ ลุกขึ้นประท้วงระบุว่าตนเสียหาย ประธานปล่อยให้ นายจตุพร พูดในเรื่องเลยเถิดว่า ศอฉ.ที่ตนกำกับดูแลได้ทำหลักฐานปลอม ใส่ร้าย นายจตุพร แต่เนื่องจากมีการล่วงละเมิดต่อสถาบันเบื้องสูง ตนรับผิดชอบดูแลความมั่นคงบ้านเมือง เมื่อเห็นว่าคนเหล่านี้มีพฤติกรรม ก็ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีทันที ไม่ใช่เรื่องใส่ร้าย เพราะขณะนี้ดีเอสไอสอบสวนเป็นผู้ต้องหาแล้วจำนวน 19 คน มี นายจตุพรอยู่ด้วย เป็นเรื่องจริง 

          จากนั้น นายณัฐวุฒิ ได้ลุกตอบโต้ทันทีว่า ตนก็เป็น 1 ใน 19 คน ขอยืนยันความบริสุทธิ์ พวกตนไปมอบตัวต่อดีเอสไอ และเซ็นหนังสือรับรองการสละสิทธิ์ใช้เอกสิทธิ์คุ้มครองในสมัยประชุม แต่การใส่ร้ายเอาสถาบันเบื้องสูงมาใช้ไม่เป็นส่วนดีต่อใครเลย เป็นเรื่องที่ทำลายทุกคนทุกฝ่าย นายกรัฐมนตรีที่ได้รับเสียงเลือกตั้งสูงสุดในประเทศ ก็ล้มเพราะข้อกล่าวหานี้ และที่ตนเจ็บปวดที่สุดคือข้อกล่าวหานี้ใช้ออกใบอนุญาตฆ่าประชาชน ไม่อยากให้คนตายเพิ่มเติมอีก

          ด้วยประโยคนี้ทำให้ นายอภิสิทธิ์ ลุกขึ้นประท้วง โดยระบุว่าประเด็นที่ นายสุเทพ ประท้วงไม่ใช่ความเสียหายต่อตัวพวกของตน แต่เพราะ ส.ส.ที่ประท้วงเอาประเด็นเรื่องสถาบันไปผูกโยงกับการเสียชีวิต ถ้าไม่จริงไม่เป็นไร ให้สมาชิกคนดังกล่าวลุกมาพูดใหม่ ตนยืนยันการเสียชีวิตในปี 2553 ให้สอบกันตามความจริง ใครผิดก็ลงโทษ แต่คนที่พูดว่าเอาเรื่องข้อกล่าวหาเกี่ยวกับสถาบันมาเป็นใบอนุญาตเกี่ยวกับการเสียชีวิต พูดอย่างนั้นพวกตนไม่เสียหาย แต่สถาบันเสียหาย ทำให้ นายสุเทพ เสริมอีกว่า นายณัฐวุฒิ ต้องถอนคำพูด ตนยอมไม่ได้ ตนเสียใจจริง ๆ ถ้าประธานไม่วินิจฉัยให้ถอน ตนก็ยอมรับประธานไม่ได้เหมือนกัน จากนั้นประธานจึงต้องสักพักการประชุม 10 นาที เพื่อไปวินิจฉัยคำอภิปรายของ นายณัฐวุฒิ อย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

          ทั้งนี้ หลังพักการประชุม 40 นาที และเปิดประชุมอีกครั้ง นายณัฐวุฒิ ได้กล่าวขอถอนคำพูด ขณะที่ นายประเสริฐ จันทร์รวงทอง เสนอให้ปิดประชุม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน จึงลุกขึ้นท้วงว่าฝ่ายค้านยังอภิปรายไม่ครบขอให้เปิดประชุมต่อไป แต่ประธานฯ ได้ขอมติที่ประชุมจะให้เปิดประชุมต่อหรือไม่ ส.ส.ซีกฝ่ายค้านบางส่วน ทยอยออกจากที่ประชุมโดยไม่แสดงตน เมื่อประธานขานคะแนนการนับองค์ประชุมจึงมีจำนวน 308 คน ซึ่งถือว่าไม่ครบองค์ประชุมที่ต้องมี 325 คน ประธานจึงสั่งตรวจสอบองค์ประชุมอีกครั้ง และเมื่อนับครั้งที่สองก็มีสมาชิกเพียง 313 ไม่ครบองค์ประชุม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จึงลุกขึ้นประท้วงว่าเรื่องนี้ไม่ใช่กฎหมายสำคัญไม่ต้องลงมติ และการนับองค์ประชุมก็เป็นเรื่องที่ประชาธิปัตย์เสนอ ทำให้ ส.ส.ประชาธิปัตย์ที่ส่งเสียงโห่ ประธานสภาฯจึงสั่งปิดการประชุมทันทีในเวลา 23.30 น.

          อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ญัตติการแถลงนโยบายยังค้างอยู่ในที่ประชุม เมื่อองค์ประชุมไม่ครบ ประธานต้องนัดประชุมใหม่ โดยนัดล่วงหน้า 3 วัน แต่มีปัญหาข้อกฎหมายเนื่องจากการแถลงนโยบายต้องเสร็จภายใน 15 วัน หลังรัฐบาลรับหน้าที่ ซึ่งคือวันที่ 25 สิงหาคม นายสมศักดิ์ จึงนัดประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้ง ในวันที่ 25 สิงหาคม เวลา 13.00 น. เพื่อลงมติปิดการอภิปราย


สาทิตย์ วงศ์หนองเตย



[24 สิงหาคม]  สภาฯ วุ่นจตุพรประท้วงสาทิตย์ ปมไพร่-อำมาตย์

          ประธานสภาฯ สั่งปรับแผนการอภิปราย ตามมติวิป 3 ฝ่าย ให้อภิปรายเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 30 นาที โดยเริ่มจาก ส.ว. ก่อน ขณะเกิดความวุ่นวายขึ้น เมื่อ"จตุพร" ลุกขึ้นประท้วง การอภิปรายของ "สาทิตย์" เรื่องไพร่-อำมาตย์ ขณะที่ ส.ส.ปชป.ประท้วงประธานสภาไม่เป็นกลาง

          สำหรับการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่ออภิปรายนโยบายของรัฐบาล วันที่ 2 (24 สิงหาคม) ได้ใช้เวลาในการประชุมตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ในวันนี้รวม 8 ช.ม. โดยบรรยากาศยังเป็นไปอย่างเรียบร้อย ทั้งฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภา ร่วมกันอภิปรายนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในช่วงบ่าย พล.อ.ธีรเดช มีเพียร รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานสภาฯ ในการประชุม ได้แจ้งต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาว่า จะปรับในการอภิปรายตามมติของวิปทั้ง 3 ฝ่าย ที่ให้แบ่งการอภิปรายออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 30 นาที โดยจะเริ่มที่สมาชิกวุฒิสภาก่อน ซึ่งด้านนายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา ได้แสดงความห่วงใยในเรื่องของสถาบันและการปรองดอง ซึ่งอยากให้รัฐบาลเห็นความสำคัญมากขึ้น

          ขณะเดียวกัน ทางด้านนายมณเฑียร บุญตัน ส.ว.สรรหา ได้อภิปรายว่า นโยบายของรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของสวัสดิการของผู้พิการ รวมถึงอยากให้ผลักดันนโยบายทางด้านของเศรษฐกิจและกีฬาด้วย

          ทั้งนี้ บรรยากาศการประชุมร่วมรัฐบาลเพื่ออภิปรายนโยบายของรัฐบาลได้เกิดความวุ่นวายขึ้นเล็กน้อย เมื่อนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นประท้วงการอภิปรายของ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.จ.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้อภิปรายพาดพิงถึงความเป็นไพร่ และอำมาตย์

          โดย นายจตุพร ได้ระบุว่า ความเป็นไข้ เกิดจาการกระทำของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ ควรรอให้รัฐบาลชุดนี้ได้เริ่มทำงานก่อนที่จะออกมาโจมตี เนื่องจากขณะนี้ ยังอยู่ระหว่างการแถลงนโยบายอยู่

          จากนั้น นายเจ๊ะอามิง โต๊ะตาหยง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จ.นราธิวาส เขต 1 ได้ลุกขึ้นประท้วงนายจตุพร ว่า การลุกขึ้นประท้วงของ นายจตุพร นั้น ไม่ได้ระบุว่ามีการผิดข้อบังคับใด โดย นายจตุพร ก็ได้กล่าวพาดพิง เจ๊ะอามิง ว่าฟังประสาคนไม่รู้เรื่อง จนทำให้นายเจ๊ะอามิง ได้ให้นายจตุพร ลุกขึ้นถอนคำพูดซึ่งก็ได้เกิดการตอบโต้กันไปมาจนเมื่อนายจตุพร ได้ลุกขึ้นถอนคำพูด จนทำให้ที่ประชุมสามารถดำเนินต่อไปได้

          โดยล่าสุด การอภิปรายในขณะนี้นั้นทั้งกลุ่มของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเองก็ได้มีการหาอภิปรายตกลงแล้ว และก็ขณะนี้เป็นการอภิปรายของกลุ่มฝ่ายสมาชิกวุฒิสภาอีกครั้งโดยทุกกลุ่มจะต้องให้การอภิปรายเวียนกันจนครบกลุ่มละ 30 นาที

รัฐสภา


ส.ส.ประชาธิปัตย์ ประท้วง ประธานสภาไม่เป็นกลาง

          สภาวุ่นอีกรอบ ส.ส.ปชป. ประท้วง ปธ.สภาฯ ทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง ก่อนจะมีการสั่งเชิญ ส.ส. ออกจากที่ประชุม 2 คน ก่อนที่ ส.ส.ปชป. คนอื่น ๆ ประท้วงต่อเนื่อง

          บรรยากาศแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา ได้เกิดความวุ่นวายขึ้นเมื่อนายธนา ชีรวินิจ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นประท้วงการทำหน้าที่ของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานในที่ประชุม กรณีทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง ผิดข้อบังคับการประชุมและกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่นายสมศักดิ์ตัดบทไม่ให้นายธนา ชี้แจงว่าทำหน้าที่ผิดข้อบังคับใด ทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นประท้วงอย่างต่อเนื่อง ว่าประธานสภาฯ ผิดข้อบังคับที่ 45

          โดย น.พ.ณรงค์ เดชกิจวิกรม ประท้วงว่า ประธานสภาฯ ควรรับฟังคำชี้แจงของสมาชิกรัฐสภา แต่ประธานสภาฯ ยังคงตัดบทว่า มีคำวินิจฉัยไปแล้ว ไม่ให้สมาชิกลุกขึ้นประท้วง แต่ความวุ่นวายก็ยังไม่จบ จนประธานสภาฯ ต้องเชิญนายวิรัตน์ กัลยาศิริ และ น.พ.ณรงค์ ออกจากห้องประชุมทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ส่วนใหญ่ไม่พอใจและลุกขึ้นประท้วงประธานสภาฯ

          จากนั้นประธานสภาฯ ให้เจ้าหน้าที่ รปภ. ของรัฐสภา เชิญสมาชิกที่ยืนประท้วงทั้งหมดออกจากห้องประชุม พร้อมระบุว่า หากเกิดอะไรขึ้นตนจะรับผิดชอบเอง แต่ก็ไม่ได้ทำให้สมาชิกที่ยืนประท้วงนั่งลง จนประธานสภาฯ ต้องใช้ข้อบังคับขั้นเด็ดขาด โดยการยืนขึ้นอีกครั้ง ความวุ่นวายจึงยุติ

          จากนั้น นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา เสนอให้สั่งพักการประชุมเพื่อร่วมพูดคุยกับวิป 3 ฝ่าย ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา และยังคงให้สมาชิกอภิปรายนโยบายต่อ และได้ลงจากบัลลังก์มอบหน้าที่ให้กับ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภาฯ ทำหน้าที่ควบคุมการประชุมแทน


เฉลิม กลืนน้ำลายลูกสอบตกไม่เป็น รมต. อ้างพูดเอามันตอนหาเสียง



เฉลิม ชี้แจงประชุมรัฐสภา 23 สค 54





เฉลิม โต้กรณ์ ประชุมรัฐสภา 23 สค 54



เฉลิมโต้ ศุภชัย ประชุมรัฐสภา 23 สค 54




เฉลิม ชี้จุดยืน ไม่แก้ไข ม. 112 แน่นอน

         หลังจากที่มีการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาไปเมื่อวานนี้ (23 สิงหาคม) ประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากนั้นก็คือ รัฐธรรมนูญมาตรา 112 ที่เป็นข้อถกเถียงกันว่า ใครจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์มากกว่ากัน

        เปิดฉากด้วย ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงกรณีที่ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ได้ระบุว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ อีกทั้งยังมีความต้องการที่จะแก้กฏหมายมาตรา 112 ว่าด้วยเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ว่า ทางพรรคไม่เคยมีความคิดที่จะแก้มาตรา 112 และขอยืนยันว่า ทุกคนไม่ว่าจะเป็น ส.ส. รัฐมนตรี ประชาชน ข้าราชการทุกหมู่เหล่า มีความจงรักภักดีด้วยกันทั้งนั้น ทั้งนี้ตนในฐานนะนักกฏหมาย อยากจะออกกฏหมาย ห้ามใครบอกว่าจงรักภักดีมากกว่ากัน ใครรักสถาบันกษัตริย์มากกว่ากัน เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก

       อย่างไรก็ตาม เมื่อ ร.ต.อ.เฉลิม พูดถึงประเด็นนี้ นายศุภชัย ก็ขอยกมือขึ้นประท้วง โดยกล่าวว่า ตนไม่เคยกล่าวหาว่ารัฐบาลไม่มีความจงรักภักดี และไม่เคยพูดถึงเรื่องที่นายเฉลิมกล่าวหาออกมาสักประโยคเดียว ทั้งนี้ตนอยากให้ ร.ต.อ. เฉลิม ถอนคำพูดทั้งหมด พราะตนพูดแค่ว่า ทางรัฐบาลไม่มีนโยบายเชิงรุกที่ปกป้องสถาบัน และเมื่อนายศุภชัย กล่าวยังไม่ทันจบ ร.ต.อ.เฉลิม ก็บอกว่า เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ตนขอถอนคำพูดก็ได้ แต่นายศุภชัยไม่ยอม เพราะไม่อยากให้ถอนคำพูดส่ง ๆ แต่อยากให้ถอนคำพูด เพื่อไม่ให้ทางรัฐสภาต้องจดบันทึกการประชุมในคำกล่าวหาดังกล่าวลงไป

        ทั้งนี้ ทาง ร.ต.อ. ก็ยอมถอนคำพูดแต่โดยดี และได้กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องล้มเจ้า เรื่องเว็บไซต์หมิ่นสถาบัน ซึ่งตนก็เห็นมาตลอดเวลา แต่ตนไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะตอนนั้น ตนไม่ได้เป็นรัฐบาล พูดเรื่องนี้ ก็เหมือนจะพาดพิงรัฐบาลชุดก่อน ว่าทำอะไรไม่ได้ ถ้าเกิดเรื่องดังกล่าวในรัฐบาลของตน ตนจะจัดการแบบกัดไม่ปล่อย และดำเนินการขั้นเด็ดขาดเลยทีเดียว ส่วนเรื่องนโยบายเชิงรุกเกี่ยวกับการปกป้องสถาบันนั้น จะต้องแสดงออกเพียงแค่การติดบอร์ด ติดเท่านั้นหรือ อย่างไรก็ดี ตนขอยืนยันตรงนี้ชัด ๆ ว่า ตนและรัฐบาลจะไม่มีวันแก้ไขมาตรา 112 แน่นอน

       และเมื่อ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุงกล่าวจบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก็ได้ขออภิปรายต่อทันทีว่า ในส่วนที่รัฐบาลชุดก่อนโดนพาดพิงนั้น เกี่ยวกับเรื่องมาตรา 112 เท่าที่ทราบกันดีว่า เมื่อมีการชุมนุมเสื้อแดงกันเมื่อไร ประเด็นที่จะต้องพูดกันบทเวทีนั้นก็คือ การแก้ไขมาตรา 112 ทั้งนี้ เมื่อ ร.ต.อ. เฉลิม และพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลแล้ว ก็น่าจะมีการปกป้องสถาบัน โดยชี้แจงว่าไม่เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว ที่คนเสื้อแดงเรียกร้อง เพราะที่ผ่านมาก็มีกลุ่มคนเสื้อแดง และแกนนำบางคนโดนดำเนินคดีเกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ มาหลายคนแล้ว จึงอยากจะให้รัฐบาลแสดงจุดยืนเพื่อความสบายใจของประชาชนทุกคน อีกเรื่องที่ตนจะพูดนั้่นก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 309 ซึ่งเป็นมาตราที่จะมีผลต่อการนิรโทษ กรรมของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่า เมื่อปี 2551 มีคนบางคนอยากจะแก้ไขมาตรานี้ และเมื่อตรวจสอบก็พบว่า คนที่พูดดังกล่าวชื่อ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ที่ดำรงตำแหน่งเป็น รมว. มหาดไทยในขณะนั้น ซึ่งมันขัดกับสิ่งที่ ร.ต.อ.เฉลิม บอกว่า จะไม่มีการนิรโทษกรรมเกิดขึ้น แต่ในเมื่อ ร.ต.อ.เฉลิม และนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ออกมายืนยันแล้วว่า จะไม่แทรกแซงคดีนิรโทษกรรม ตนก็สบายใจ


กรณ์ ซัดหนัก ปมภาษีขายหุ้นแอมเพิลริช

         อดีต รมว.คลัง ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อย่างนายกรณ์ จาติกวณิช ได้กล่าวถึงเรื่องภาษีขายหุ้นแอมเพิลริช ในการแถลงนโยบาลของรัฐบาลต่อรัฐสภา ว่า เมื่อทางกรมสรรพากรไม่อุทธรณ์คดีดังกล่าว ทำให้ พานทองแท้ และพินทองทา ชินวัตร ไม่ต้องจ่ายภาษี ทั้งนี้ ตนอยากจะฝากถามถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่า เมื่อลูกไม่ต้องเสียภาษี พ.ต.ท.ทักษิณ ก็จะต้องเสียภาษีหรือไม่ เพราะฉะนั้นอย่าแทรกแซงกรมสรรพากร โดยการไม่สั่งเก็บภาษีจาก พ.ต.ท. ทักษิณ

        และเมื่อนายกรณ์ กล่าวจบ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ในรัฐบาลชุดนี้ก็ได้ลุกขึ้นชี้แจงว่า ตนต้องขอขอบคุณที่นายกรณ์เตือนตนเรื่องการจัดเก็บภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่การเก็บภาษีเป็นเรื่องของกรมสรรพากร ไม่ใช่เรื่องของ รมว.คลัง

      จากนั้น ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ก็ลุกขึ้นยืนพร้อมกล่าวต่อว่า นายกรณ์ ทันทีว่า ตนเสียใจที่เคยมี รมว.คลัง อย่างนายกรณ์ เพราะการอภิปรายในลักษณะนี้ เป็นการเจาะลึก และดูเหมือนจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อยากจะถามว่า นายกรณ์ ต้องการอะไร ต้องการจะเก็บ พ.ต.ท. ทักษิณ หรือ คนนี้อาจจะเป็นคนที่คุณเกลียด แต่ท่านเป็นคนที่ตน และพรรคเพื่อไทย รักและเคารพเป็นที่สุด  พร้อมทั้งกล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องภาษี เวลาจะเก็บก็บอกว่าเป็นทรัพย์ของลูก เวลายึดก็บอกว่าเป็นทรัพย์ของพ่อ ...
        
      อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ. เฉลิม ก็ได้ชี้แจงถึงเรื่องดังกล่าวว่า การที่ไม่ได้เก็บภาษีจากการขายหุ้นแอมเพิลริชนั้น เพราะว่า ไม่ได้มีการซื้อขายหุ้นจริง เป็นนิติกรรมอำพราง  ดังนั้น ทางศาลภาษีอากรกลางจึงวินิจฉัยให้เพิกถอนการประเมินภาษี 1.2 หมื่นล้านบาทในส่วนนั้น และวินิจฉัยในช่วงที่พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล

      ขณะที่ นายกรณ์ กล่าวต่อว่า ท่าทีของร.ต.อ.เฉลิม รองนายกฯ  อาจทำให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ไม่กล้าทำหน้าที่ตรวจสอบภาษีการขายหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เป็นได้

ยิ่งลักษณ์ แถลงนโยบายต่อรัฐสภา


  นายกฯ แจงสภาไม่ยกเลิกกองทุนน้ำมัน

        นายกรัฐมนตรี แจง การยกเลิกกองทุนน้ำมัน เป็นแนวคิดลดค่าครองชีพ ช่วงหาเสียง พอทำงาน พบมีหลายวิธีที่ช่วยลดค่าครองชีพ พร้อมย้ำไม่จำเป็นต้องยกเลิก ย้ำไม่ได้ทำงานเพื่อคนๆ เดียว

        น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นชี้แจงต่อรัฐสภา เกี่ยวกับนโยบายยกเลิกกองทุนน้ำมัน ว่า เป็นแนวคิดที่จะช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชน เพราะน้ำมันเป็นต้นทุนของสินค้าหลายชนิด แต่เมื่อได้เข้ามาทำงาน กลับพบว่า มีอีกหลายวิธีที่จะช่วยเหลือประชาชน ในการลดค่าครองชีพได้ อาทิ การลดราคาน้ำมัน พร้อมกับย้ำว่า การทำงานของรัฐบาล และตนเองนั้น ไม่ได้ทำเพื่อคนๆ เดียว แต่ทำเพื่อประชาชนทั้งหมด ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ เชื่อว่าประชาชนจะขับไล่ออกจากตำแหน่งเอง

        ด้าน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากพลังงาน ซึ่งเป็นต้นทุนค่าครองชีพ โดยลดต้นทุนน้ำมัน คือ การยกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันชั่วคราว เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งก็กลับมาเก็บใหม่ โดยไม่ได้ยกเลิก ส่วนเรื่องก๊าซแอลพีจี เห็นว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยจัดการเรื่องนี้ผิดพลาดมาโดยตลอด ประเทศเพื่อนบ้านมีการขายแพงกว่าประเทศไทยอย่างมาก ซึ่งเห็นว่าหากละเลยเรื่องนี้จะเกิดปัญหาในอนาคต ส่วนราคาน้ำมัน เห็นว่ามีการผันผวนตามตลาดโลก ซึ่งรัฐบาลชุดนี้จะกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนใช้พลังงานอย่างประหยัด และเรื่องนโยบายต่างๆ ทางรัฐบาลจะดำเนินการตามที่ได้เสนอไว้อย่างเต็มที่ แม้ว่าฝ่ายค้านจะตั้งข้อสังเกตว่าจะสามารถทำได้อย่างที่หาเสียงไว้หรือไม่

        ขณะที่ นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นอภิปรายว่า ประชาชนต่างคาดหวังที่จะเห็นรัฐบาลชุดนี้ ดำเนินการตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้เมื่อตอนหาเสียง แต่หลังจากที่ตนได้ฟังการแถลงนโยบายในวันนี้แล้ว ชักไม่แน่ใจว่า ประชาชนจะไว้ใจรัฐบาล จะทำตามนโยบายที่ให้ไว้อย่างไร โดยนโยบายแรกที่ประชาชนคาดหวังไว้ คือ เรื่องการพักหนี้ ที่จะพักหนี้ให้กับเกษตรกร หรือ ผู้มีรายได้ต่ำ ไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งรัฐบาล ได้ประสานไปยังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นสถาบันการเงินของรัฐที่จะเข้ามาดูแล เป็นหลักในส่วนของสินเชื่อต่างๆ ซึ่งปัจจุบัน มีประชาชนที่เป็นหนี้สูงกว่า 16 ล้านคน จะทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินไปพักหนี้ถึง 3 แสนล้านบาท รวมถึงการดูแลการพักหนีนอกระบบ ที่มีประชาชนเป็นหนี้นอกระบบ จำนวนมาก ซึ่งกำลังรอฟังความชัดเจนของรัฐบาล

        ขณะที่นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ หรือ ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ที่ พรรคเพื่อไทย หาเสียงไว้นั้น ก็มีแนวโน้มว่า บางคนจะได้เงิน 300 บาท บางคนจะไม่ได้ 300 บาท เนื่องจากมีเงื่อนไขของประสิทธิภาพในการทำงานมาเป็นตัวชี้วัด ด้านนโยบายเงินเดือน 15,000 บาท ให้กับผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าสุดท้ายแล้ว จะได้เงินเดือน 15,000 บาท ครบทุกคนหรือไม่ จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลพูดให้ชัดเจนว่า จะทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้อย่างไร

  กิตติรัตน์ ยันค่าแรง 300-15,000 เริ่มปี 55

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยัน นโยบายที่แถลงในวันนี้ ไม่ใช่ประชานิยม ย้ำ ระมัดระวังความเสี่ยง รัฐบาลจริงใจ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บ. - ป.ตรี 15,000 บ. เริ่มได้ต้นปี 2555 พร้อมทำทันที หลังงบปี 55 ผ่านสภา แจง จำนำราคาข้าว ใช้งบน้อยกว่าประกัน ทำให้ส่งออกได้ในราคาแพง เงินถึงมือเกษตรกร ย้ำ ศึกษามาอย่างดีแล้ว

          นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายรักฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้แจง นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยยืนยันว่า นโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ไม่ได้เป็นนโยบายประชานิยมให้กับผู้ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่เป็นนโยบายที่มีความครอบคลุม มีความโปร่งใส ระมัดระวังเรื่องความเสี่ยง และสร้างความสมดุลให้กับเศรษฐกิจใระดับมหภาคในระยะยาว มีมาตรการรองรับเงินเฟ้อ อาทิ การชะลอการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้ราคาน้ำมันบางชนิดลดลง ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ด้วยการเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ

          ส่วนนโยบายรายได้ขั้นต่ำ 300 บาท และ ปริญญาตรี 15,000 บาท รัฐบาลมีความจริงใจที่จะเห็นแรงงานมีรายได้ไม่น้อยกว่า 300 บาท และจะสามารถดำเนินการได้ทันที ในต้นปี 2555 โดยข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ จะได้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ไม่รวมค่าล่วงเวลา ส่วนข้าราชการที่สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี จะได้รายได้ 15,000 บาทต่อเดือน และผู้สำเร็จการศึกษาที่ใกล้เคียงกัน ก็จะมีการพิจารณาปรับให้ด้วยเช่นกัน

          ทั้งนี้ได้กล่าวชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรถึงนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน และเงินเดือนข้าราชการ15,000 บาท/เดือน ที่ได้มีการหาเสียงไว้และมีการปรับเปลี่ยนเป็นแรงงานมีรายได้ไม่น้อยกว่า 300 บาท/วัน นั้น มีคำจำกัดความแตกต่างกัน ซึ่งรัฐบาลจะเร่งจัดทำร่างงบประมาณรายจ่ายมี 2555 ให้เสร็จในต้นเดือน ก.ย.นี้ เพื่อจะนำมาดำเนินนโยบายดังกล่าวในทันทีหลังจากงบประมาณผ่านการอนุมัติจากสภาฯ ซึ่งยืนยันว่า รัฐบาลจะทำงานเต็มที่เพื่อให้แรงงานมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 300 บาท/วัน

          ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านได้ทวงถามให้ นายกิตติรัตน์ แจงการปรับเปลี่ยนนโยบายจากค่าแรงขั้นต่ำเป็นรายได้ขั้นต่ำ ซึ่งใช้คำพูดในสภาไม่ตรงกับการหาเสียง

          นอกจากนี้ นายกิตติรัตน์ ยังระบุว่า หลังจากที่มีการแถลงนโยบายเสร็จสิ้น รัฐบาลจะเร่งทำงานทันที และคาดว่าจะจัดทำร่างพระราชบัญญัต ิงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2555 เสร็จสิ้นในช่วงต้นเดือนกันยายน ขณะที่นโยบายการรับจำนำข้าว ที่ให้ข้าวหอมมะลิ เกวียนละ 20,000 บาท และข้าวเจ้า เกวียนละ 15,000 บาท รัฐบาลศึกษามาเป็นอย่างดี เพราะการประกันราคาพืชผลเกษตร ทำให้รัฐต้องเสียงบประมาณ 85,000 ล้านบาท และยังมียอดหนี้ที่ค้างอยู่ในธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กว่า 30,000 ล้านบาท รวมแล้วกว่า 140,000 ล้านบาท ซึ่งรายได้ไม่ถึงมือเกษตรกรโดยตรง แตกต่างกับนโยบายจำนำข้าว ที่ใช้งบเพียง 55,000 ล้านบาท ในการเก็บรักษาข้าว ซึ่งการจำนำจะคำนึงถึงกลไกการตลาดและศักยภาพของพืช อีกทั้ง ยังทำให้ข้าวของไทยมีราคาสูงในการส่งออกไปต่างประเทศ ขณะที่การประกันราคาข้าว จะทำให้ต่างประเทศซื้อข้าวได้ในราคาถูก

  ปชป.อัดโครงการจำนำข้าว เอื้อประโยชน์เอกชน

          นายเกียรติ สิทธีอมร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นกล่าวถึงนโยบายการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ว่า จากที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายไว้ว่า จะรับจำนำข้าวทุกเม็ด 32 ล้านตัน โดยจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายนนี้ และโครงการดังกล่าวจะช่วยทำให้ข้าวของประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกมีราคาสูงขึ้นนั้น ส่วนตัวไม่เชื่อว่าจะทำได้ เพราะมองย้อนหลังไป 30 ปี ก็ไม่เคยมีประเทศไหนมีมาตรการภายในประเทศให้ราคาข้าวขยับขึ้นได้ นอกจากนี้ ราคาข้าวจะขึ้นได้หรือไม่อยู่ที่สต๊อกข้าวเท่านั้น และไม่ได้ขึ้นอยู่กับมาตรการของรัฐบาล

          ทั้งนี้ นายเกียรติ ยังได้ยกตัวอย่างสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่รับจำนำข้าวโดยให้ราคาสูงกว่าตลาด 20% ทำให้ต้องใช้เงินเข้าไปแทรกแซงราคามากกว่า 1 แสนล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลมีสต๊อกข้าวมากถึง 5 ล้านตัน จากเดิมที่มีอยู่ 2.7 ล้านตัน สุดท้าย ก็ต้องขายข้าวล็อตใหญ่นี้อย่างขาดทุนถึง 1.6 หมื่นล้านบาท และยังเกิดระบบโควต้าเอื้อประโยชน์ต่อผู้ส่งออกรายใหญ่เท่านั้นอีกด้วย

          นายเกียรติ กล่าวต่ออีกว่า ขณะเดียวกันก็ยังมีงานวิจัยจากสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุชัดเจนด้วยว่า ระบบจำนำข้าวนั้นสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น และยังสร้างปัญหาการสวมสิทธิ์ข้าวที่นำมาจากประเทศเพื่อนบ้านมากถึง 5-6 แสนตัน


ยิ่งลักษณ์ แถลงนโยบายต่อรัฐสภา


คลิป นายกฯ แถลงนโยบายรัฐบาลต่อสภา 23 สิงหาคม 2554


[23 สิงหาคม] นายกฯ ยิ่งลักษณ์ แถลง 16 นโยบาย ต่อรัฐสภาแล้ว

        ยิ่งลักษณ์ แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว ลั่นสร้างเศรษฐกิจเข้มแข็ง สร้างความปรองดอง และพาประเทศชาติสู่ประชาคมอาเซียน พร้อมประกาศ 16 นโยบายสำคัญ

        วันนี้ (23 สิงหาคม) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยระบุว่า นโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลจะยึดหลักการบริหารที่มีความยืดหยุ่น คำนึงพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล โดยมีจุดมุ่งหมาย 3 ประการ คือ...

        1. นำประเทศไทยไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจที่สมดุลมีความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ ภายในประเทศมากขึ้น

        2. นำประเทศไทยไปสู่สังคมที่มีความปรองดองสมานฉันท์และอยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรมที่เป็นมาตรฐานสากลเดียวกันและมีหลักปฏิบัติที่เท่าเทียมกันต่อประชาชนคนไทยทุกคน

        3. นำประเทศไทยไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 อย่างสมบูรณ์ โดยสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งทั้งด้านเศรษฐกิจสังคมและ วัฒนธรรมและการเมืองและความมั่นคง

        นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า นโยบายของรัฐบาลจะมี 2 ส่วนสำคัญ คือนโยบายเร่งด่วน และนโยบายตลอดอายุรัฐบาล ซึ่งเนื้อหานโยบายเร่งด่วน 16 ข้อ มีดังนี้

        1. สร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย

        2. กำหนดให้การแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ

        3. ป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นในภาครัฐอย่างจริงจัง

        4. ส่งเสริมให้มีการจัดการน้ำอย่างบูรณาการด้วยการสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่-กลาง-เล็ก

        5. เร่งแก้ไขปัญหาความไม่สงบและนำสันติสุขกลับสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ว

        6. เร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศ

        7. แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง

             - ลดส่งเข้ากองทุนพลังงาน

             - จัดให้มับัตรเครดิตพลังงาน

             - ดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค

             - แก้ไขปัญหาค่าครองชีพ

        8. ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ

             - พักหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 5 แสนบาท อย่างน้อย 3 ปี และปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้ที่มีหนี้เกิน 5 แสนบาท

             - เพิ่มรายได้รายวันสำหรับแรงงานเป็นวันละ 300 บาท และรายเดือนของผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีรายได้เดือนละไม่น้อยกว่า 15,000 บาท

             - จัดให้มีเบี้ยยังชีพรายเดือนแบบขั้นบันไดสำหรับผู้สูงอายุ

             - ให้มีมาตรการภาษีเพื่อลดภาระการลงทุนสำหรับสิ่งจำเป็นในชีวิตของประชาชนทั่วไป ได้แก่บ้านหลังแรก

        9. ปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เหลือร้อยละ 23 ในปี 2555 และลดลงร้อยละ 20 ในปี 2556 เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน ขยายฐานภาษีและรองรับเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558

        10. ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุนสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพ

             - เพิ่มกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอีแห่งละ 1 ล้านบาท

             - จัดตั้งกองทุนพัฒนาศักยภาพสตรีเฉลี่ยจังหวัดละ 100 ล้านบาท

             - จัดตั้งกองทุนตั้งตัวได้วงเงินประมาณ 1 พันล้านบาทต่อสถาบันอุดมศึกษาที่ร่วมโครงการ

             - SML

        11. ยกระดับสินค้าการเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยให้มีการประกันภัยพืชผลและนำระบบรับจำนำสินค้าการเกษตรมาใช้ รับจำนำข้าวเกวียนละ15,000บาท

        12. เร่งเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวโดยปี 2554-2555 เป็นปีมหัศจรรย์ไทยแลนด์ (มิราเคิลไทยแลนด์ เยียร์) และประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวร่วมเฉลิมฉลองในพระราชพิธีมหามงคลในช่วงปี 2554-2555

        13. สนับสนุนงานศิลปหัตถกรรม และผลิตภัณชุมชน เพื่อสร้างเอกลักษณ์และผลิตสินค้าในท้องถิ่น

             - สนับสนุนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ

             - บริหารโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ให้มีศักยภาพ ใช้ภูมิปัญญญาท้องถิ่น ผนวกกับความรู้ใหม่ๆ

        14. พัฒนาระบบประกันสุขภาพ เพิ่มประสิทธิภาพหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า30 บาทรักษาทุกโรค

        15. จัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้โรงเรียน โดยเริ่มทดลองดำเนินการในโรงเรียนนำร่อง สำหรับระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2555 ควบคู่กับการพัฒนาเนื้อหาที่เหมาะสมตามหลักสูตรบรรจุลงในแท็บเล็ต รวมถึงทำอินเตอร์เน็ตไร้สายตามมาตรฐานการให้บริการและในพื้นที่สาธารณะ รวมถึงสถานศึกษาที่กำหนดฟรี

        16. เร่งรัดและผลักดันการปฏิรูปการเมือง ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขว้าง โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้ประชาชนเห็นชอบโดยการออกเสียงประชามติ

        ส่วนนโยบายที่ต้องดำเนินการในกรอบระยะเวลาบริหารราชการ 4 ปี รวม 7 ข้อ โดยนโยบายเร่งด่วน ที่เริ่มดำเนินการในปีแรก เช่น แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และผู้ประกอบการ เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อ และราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยการชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมั้นเชื้อเพลิง สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงบางประเภทชั่วคราว เพื่อให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงทันที และปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ มุ่งสู่การสะท้อนราคาต้นทุนพลังงาน รวมถึงจัดให้มีบัตรเครดิตพลังงาน สำหรับผู้ประกอบอาชีพรถรับจ้าง ขนส่งผู้โดยสารสาธารณะ ในวงเงินที่เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ใช้ต่อเดือนจริง และแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ โดยดูแลราคาสินค้าและการมีรายได้ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อสุทธิของประชาชน โดยป้องกันและแก้ไขการผูกขาดทั้งทางตรงและทางอ้อม

        นอกจากนี้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ สร้างสมดุล และความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจมหภาค ได้แก่ พักหนี้ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อย และผู้มีรายได้น้อย ที่มีหนี้ต่ำกว่า 5 แสนบาท อย่างน้อย 3 ปี และปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้ที่มีหนี้เกิน 5 แสนบาท ดำเนินการให้แรงงานมีรายได้เป็นวันละไม่น้อยกว่า 300 บาท และผู้ที่จบระดับการศึกษาปริญญาตรีมีรายได้เดือนละไม่น้อยกว่า 15,000 บาท ลดภาษีบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรก จะดำเนินการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้เหลือร้อยละ 23 ในปี 2555 และลดลงเหลือร้อยละ 20 ในปี 2556 พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน เช่น เพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท





อภิสิทธิ์ จี้เพื่อไทยปรับค่าแรง 300 ให้ทัน 1 ม.ค.55

          หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ติงนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท ทำประชาชนสับสน จี้ปรับ 1 ม.ค. ปี 55 ทันที ตามที่หาเสียงไว้

          นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้าน ขึ้นกล่าวอภิปรายต่อรัฐสภา ประเด็นนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยกล่าวว่า นโยบายดังกล่าว รัฐบาลพยายามจะบิดเบือนคำพูด จากค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งประชาชนกลุ่มที่คาดหวัง คือ แรงงานเข้าใหม่ไร้ฝีมือ เป็นการสร้างข้อกำหนดให้เป็นรายได้ขั้นต่ำ 300 บาท และอิงกับประสิทธิภาพและมาตรฐานฝีมือแรงงาน ทำให้ประชาชนสับสน

          นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้แนะนำให้มองถึงผลกระทบรอบด้านในนโยบายดังกล่าว โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว ที่จะส่งผลให้เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศ 3 - 4 ล้านคน รวมถึง การดูแลภาคธุรกิจและผู้ประกอบการให้มีแรงจูงใจผลกระทบภาคอุตสาหกรรม การส่งออก ไม่ให้มีการย้ายฐานการผลิต ซึ่งนโยบายดังกล่าวควรทำให้ได้อย่างชัดที่สุด วันที่ 1 มกราคม 2555 ตามที่ได้หาเสียงไว้

          นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงนโยบายที่รัฐบาลประกาศว่าจะปราบยาเสพติดให้หมดภายใน 1 ปีนั้น ตนอยากฝากว่าอย่าใช้ความรุนแรงในการปราบปรามยาเสพติดเหมือนในอดีต พร้อมทั้งตั้งคำถามว่า ความชัดเจนของนโยบายต่าง ๆ จะเกิดขึ้นเมื่อใด

  เฉลิม แจงแก้ปัญหายาเสพติด-แก้รัฐธรรมนูญ

          ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นชี้แจงถึงประเด็นที่นายอภิสิทธิ์ อภิปรายเรื่องการปราบปรามยาเสพติด เนื่องจากได้รับมอบหมายให้ดูแลงานด้านนี้ โดย ร.ต.อ.เฉลิม ระบุว่า จะเน้นการบำบัดและจับกุม ไม่มีฆ่าตัดตอนแน่นอน ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามนโยบายของรัฐบาลนั้น เนื่องจากเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาจากเผด็จการ แต่ทั้งนี้ยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ในรูปแบบของสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร. และไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยใครคนใดคนหนึ่ง หรือเป็นการนิรโทษกรรม








ชูวิทย์ อภิปรายจี้ ขึ้นค่าแรง-เงินเดือน

          นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย ได้ขึ้นอภิปรายถึงนโยบายของรัฐบาล โดยได้กล่าวว่าขอให้รัฐบาล แก้ไขปัญหาเรื่องสินค้าราคาแพง โดยเฉพาะในเรื่องของราคาไก่ ทั้งที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกแต่กลับตีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 100 ขณะที่ไก่ของสหรัฐอเมริกา มีราคาเพียง 60 บาทต่อกิโลกรัม เท่านั้น

          ขณะเดียวกันก็ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการนโยบายค่าแรง 300 บาท เงินเดือน 15,000 บาท สำหรับผู้ที่จบปริญญาตรี และก็นโยบายการแจกแท็บเล็ตในทันที เนื่องจากเห็นว่าหากรัฐบาลไม่เร่งดำเนินการนโยบายต่าง ๆ หากมีการปรับเปลี่ยนรัฐบาล ก็จะไม่ได้มีการดำเนินการ

          นอกจากนี้ เห็นว่ารัฐบาลจะต้องมีความเข้มงวดในเรื่องของอบายมุขและยาเสพติด ทั้งนี้ นายชูวิทย์ ยังได้นำคลิปวิดีโอ ที่ได้มีการถ่ายไว้ในบ่อนการพนัน เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยได้ระบุว่า บ่อนการพนันนั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่ของ สน.ที่มีอักษรย่อว่า ส.เสือ โดยระบุอีกว่า ไม่ใช่ สน.พื้นที่สำเหร่ และ สน.สำราญราษฎร์ พร้อมกันนี้ก็ยังได้คลิปวิดีโอ ซึ่งมีการซื้อขายยาเสพติดในห้องสุขาในสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง มาเปิดที่ประชุมห้องรัฐสภา และยังเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

  






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นายกฯ กล่าวปิดแถลงนโยบาย ยันรัฐบาลทำทันที อัปเดตล่าสุด 27 สิงหาคม 2554 เวลา 16:17:29 211,796 อ่าน
TOP