เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Apple
แพทย์ เผย สาเหตุการเสียชีวิตของ "สตีฟ จ็อบส์ " อย่างเป็นทางการ ขณะที่ แอปเปิ้ล เตรียมจัดงานไว้อาลัย 19 ต.ค. นี้
เจ้าหน้าที่การแพทย์ของรัฐบาลท้องถิ่น เผยสาเหตุการเสียชีวิตของ สตีฟ จ็อบส์ อดีตประธานบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท แอปเปิ้ล อย่างเป็นทางการ โดยระบุว่า สตีฟ จ็อบส์ หยุดหายใจ เมื่อเดินทางกลับไปถึงบ้านที่เมืองพาโลอัลโต มลรัฐแคลิฟอร์เนีย วันที่ 5 ตุลาคม ที่ผ่านมา การเสียชีวิตของเขาเกิดจากมะเร็งที่ตับอ่อน ซึ่งศพของ จ็อบส์ ถูกฝังเมื่อวันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม ที่สุสานในท้องที่ โดยไม่มีการชันสูตรแต่อย่างใด
ขณะที่มีแหล่งข่าวบางกระแส บอกว่า บริษัทแอปเปิ้ล จะจัดงานไว้อาลัยแด่ สตีฟ จ็อบส์ ในวันที่ 19 ตุลาคม นี้ ที่โรงละครกลางแจ้งของบริษัท โดยไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วม
Steve Jobs
[7 ตุลาคม] ช็อกโลก! สตีฟ จ็อบส์ ซีอีโอแอปเปิ้ลเสียชีวิตแล้ว
เป็นที่ช็อกไปทั่วโลก หลังจากที่ สตีฟ จ๊อบส์ อดีตซีอีโอแอปเปิ้ล เสียชีวิตแล้วด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา
โดยช่วงเช้าวันนี้ (6 ตุลาคม) ทางแอปเปิ้ล ได้ออกมาแถลงว่า ในนามของแอปเปิ้ลมีความเสียใจอย่างยิ่งที่ สตีฟ จ็อบส์ ได้จากไปแล้ว ด้วยวัย 56 ปี โดยเขาป่วยเป็นโรคโรคมะเร็งตับอ่อนมานานหลายปีแล้ว นอกจากนี้ แถลงการณ์จากคณะกรรมการบริหาร ยังกล่าวยกย่องนายจ็อบส์ว่าเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด และเต็มไปด้วยพลัง ซึ่งทำให้เขาเป็นบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา พร้อมทั้งกล่าวว่า โลกดีขึ้นอย่างมากเพราะมี สตีฟ จ็อบส์
ทั้งนี้ สตีฟ จ็อบส์ เป็นบุคคลซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกฐานะผู้ก่อตั้งร่วมและตำนานแห่งแอปเปิ้ล บริษัทขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก โดย สตีเฟน พอล จ็อบส์ หรือ สตีฟ จ็อบส์ เกิดเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1955 เขาได้เริ่มก่อตั้งแอปเปิ้ลคอมพิวเตอร์ร่วมกับกับ สตีฟ วอซเนียก ใน ค.ศ.1976 ซึ่งต่อมาก็ทำให้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล Apple II กลายเป็นที่นิยมขึ้น
ต่อมาในปี ค.ศ.1984 จ็อบส์ ลาออกจากแอปเปิ้ล หลังจากประสบความล้มเหลวในการชิงตำแหน่งคณะกรรมการบริหาร เขาจึงได้ก่อตั้งเน็กซ์ ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ แต่ใน ค.ศ.1996 แอปเปิ้ลได้ซื้อกิจการเน็กซ์ของจ็อบส์ ทำให้เขาได้กลับเข้าทำงานในบริษัทแอปเปิลอีกครั้ง และรับตำแหน่งซีอีโอตั้งแต่ ค.ศ.1997-2011
แต่เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ก็เป็นที่ช็อกของคนทั่วโลกมาแล้วครั้งหนึ่ง หลังจากที่จ็อบส์ประกาศลาออกจากตำแหน่งซีอีโอ ซึ่งก็เป็นที่น่าแปลกใจว่าเขาลาออกด้วยสาเหตุใด ขณะเดียวกัน ทางบอร์ดบริหารก็ได้เลือก ทิม คุก ให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งแทนเขา แต่ทั้งนี้ แม้ว่า สตีฟ จ๊อบส์จะประกาศลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว ทางบอร์ดบริหารก็ยังเลือกให้สตีฟ จ็อบส์ นั่งตำแหน่ง ประธานบอร์ดบริหารของแอปเปิ้ล เพื่อช่วยเหลือบริษัทในเรื่องวิสัยทัศน์ ความคิดสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจต่อไป จนกระทั่งวานนี้ (5 ตุลาคม) เขาก็เสียชีวิตด้วยมะเร็งตับอ่อนหลังจากที่รักษาตัวมานานหลายปี สร้างความตกใจและเศร้าสลดให้กับคนในวงการไอทีไปทั่วโลก
ประวัติ Steve Jobs (สตีฟ จ็อบส์)
เจ้าพ่อแห่งนวัตกรรมเทคโนโลยีผู้สร้างสรรค์ iPhone, iPad, iPod, ให้ผู้คนได้ก้าวเข้าสู่โลกแห่งการสื่อสารเชื่อมโลกเข้าด้วยกัน สำหรับ สตีฟ จ็อบส์ โดยก่อนที่แอปเปิ้ลจะประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดได้จนถึงทุกวันนี้ จ็อบส์ต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจมาตลอดชีวิตของเขา ซึ่งต้องผ่านทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
สำหรับ สตีเฟน พอล จ็อบส์ หรือ สตีฟ จ็อบส์ เกิดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1955 (2498) ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เขาสมรสกับลอเรนซ์ พาวเวลล์ เมื่อวัน 18 มีนาคม ค.ศ. 1991 และมีบุตรด้วยกันสามคน ได้แก่ รีด, เอริน และ อีฟ จ็อบส์ นอกจากนี้ เขายังมีลูกสาวนอกสมรสอีกหนึ่งคนด้วย คือ ลิซ่า จ็อบส์
ชีวิตในวัยเรียน จ็อบส์จบการศึกษาจาก โฮมสตีดไฮสคูล ในเมืองคิวเปอร์ทิโน่ และสมัครเรียนต่อที่รีด คอลเลจ ในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน แต่ดูเหมือนว่าเขาจะไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนเท่าไรนัก เพราะเรียนได้ภาคการศึกษาเดียวก็ถูกพักการเรียนเสียแล้ว แต่หลายปีต่อมาเขาได้รับเชิญไปปาฐกถาในพิธีสำเร็จการศึกษาของบัณฑิตมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเขาได้กล่าวเอาไว้ว่า
"การที่ผมพักการเรียนที่รีด คอลเลจ ทำให้ผมมีเวลาไปเข้าเรียนเกี่ยวกับตัวอักษร ถ้าผมไม่ได้เรียนวิชานั้นที่วิทยาลัยรีด เครื่องแม็คอินทอชคงจะไม่มีรูปแบบอักษรหลากหลาย และไม่มีฟอนต์ ที่มีการแบ่งระยะห่างอย่างถูกสัดส่วนเช่นนี้"
จ็อบส์เริ่มฉายแววนักธุรกิจตั้งแต่เขาอายุเพียง 21 ปีเท่านั้น หลังจากที่เขาและ สตีฟ วอซเนียก ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทแอปเปิ้ล คอมพิวเตอร์ ขึ้นในปี 1976 ในไม่ช้า Apple I เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่นำออกสู่สายตาชาวโลก โดยตั้งราคาไว้ที่ 666.66 ดอลลาร์ ซึ่งจ็อบส์ก็ใช้เวลาไม่นานก็สามารถขายคอมพิวเตอร์ให้กับร้านค้าท้องถิ่นได้ 50 เครื่อง และแอปเปิ้ลก็เริ่มต้นธุรกิจขึ้น โดยมีวอซเนียกเป็นผู้ออกแบบสินค้า ส่วนจ็อบส์ทำหน้าที่นักการตลาด
และในปี ค.ศ.1977 ความสำเร็จของจ็อบส์ก็ได้รับการตอกย้ำอีกครั้ง หลังจากที่บริษัทแอปเปิ้ลปล่อย Apple II ออกมา ทำให้แอปเปิ้ลกลายเป็นผู้ผลิตรายสำคัญในวงการอุตสาหกรรมเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.1980 แอปเปิ้ลคอมพิวเตอร์ได้กลายมาเป็นบริษัทมหาชน และการเปิดขายหุ้นให้แก่สาธารณชนผู้สนใจร่วมลงทุน ทำให้สถานภาพส่วนตัวของจ็อบส์สูงส่งขึ้นเป็นอันมาก
ตามมาด้วยความสำเร็จในการพัฒนา เครื่องแมคอินทอช ในปี ค.ศ.1984 ซึ่งเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นแรกที่มีส่วนประสานงานผู้ใช้แบบกราฟฟิก หรือ วิธีการใช้งานคอมพิวเตอร์ผ่านทางสัญลักษณ์หรือภาพนอกเหนือจากตัวอักษร ทำให้แอปเปิ้ลประสบความสำเร็จทางการค้าอย่างมากเช่นกัน แอปเปิ้ลจึงเลิกพัฒนาเครื่อง Apple II เพื่อส่งเสริมสายการผลิตเครื่องรุ่นแมค และยังคงยืนหยัดมาจนกระทั่งทุกวันนี้
ในขณะที่จ็อบส์ได้กลายเป็นผู้บริหารมีบุคลิกโดดเด่นและมีส่วนผลักดันโครงการต่าง ๆ ของแอปเปิ้ลให้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วนั้น เขากลับถูกมองว่าเป็นผู้จัดการที่มีบุคลิกแปลกประหลาดและโมโหร้าย ในที่สุดจ็อบส์ได้ลาออกในปี ค.ศ. 1985 ภายหลังจากประสบปัญหาขัดแย้งเรื่องอำนาจภายในบริษัทแม้เขาจะลาออกจากบริษัทแอปเปิ้ลแล้ว แต่เขาก็ไม่ได้หยุดที่จะพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านไอทีต่อไป โดยจ็อบส์ได้ก่อตั้งบริษัทคอมพิวเตอร์ขึ้นมาใหม่ ชื่อว่า เน็กซ์ (NeXT) พร้อมกับเปิดตัว เครื่องคอมพิวเตอร์ลิซ่า แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากเน็กซ์มีเทคโนโลยีล้ำยุค แต่มันไม่เคยเข้าสู่กระแสความนิยมหลักได้ เพราะราคาที่สูงลิ่ว และเน้นเจาะกลุ่มตลาดไปที่สาขาวิทยาศาสตร์และสถาบันการศึกษาเท่านั้น
แม้คอมพิวเตอร์ลิซ่าจะไม่ประสบความสำเร็จตามที่จ็อบส์คาดหวังไว้ แต่เขาก็ยังได้สร้างผลงานด้านแอนิเมชั่นออกมาอย่างดีเยี่ยม โดยในปี ค.ศ.1986 จ็อบส์ได้ทุ่มเงินเป็นจำนวนถึง 10 ล้านดอลลาร์ เพื่อซื้อกิจการด้านดิจิตัล แอนิเมชั่น จากจอร์จ ลูคัส ผู้สร้างภาพยนตร์ พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นพิกซาร์ และสร้างให้เป็นบริษัทสตูดิโอภาพยนตร์แอนิเมชั่น ที่ประสบความสำเร็จมากสุดของโลกในอีกหนึ่งทศวรรษให้หลัง ก่อนจะขายให้วอลท์ ดิสนีย์ ในราคา 7,400 ล้านดอลลาร์ โดยภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง อาทิ ทอยสตอรี่ 1 และ 2, ตัวบั๊กส์ หัวใจไม่บั๊กส์, มอนสเตอร์ส อิงค์ บริษัทรับจ้างหลอน (ไม่) จำกัด และ นีโม่ ปลาเล็กหัวใจโต๊...โต เป็นต้น
ในที่สุด พรหมลิขิตก็ทำให้จ็อบส์ได้กลับเข้าไปทำงานในแอปเปิ้ลอีกครั้ง หลังจากที่แอปเปิ้ลเข้าซื้อกิจการของเน็กซ์ ในวงเงิน 402 ล้านดอลลาร์ ทำให้เขากลายเป็นผู้บริหารระดับสูงชั่วคราว (iCEO) ของแอปเปิ้ลในปี ค.ศ.1997 ซึ่งการกลับมาของจ็อบส์ ทำให้เครื่องเล่นดนตรีพกพา "iPod" ได้ถือกำเนิดขึ้นด้วยเช่นกัน
จากการซื้อกิจการของเน็กซ์ ทำให้เทคโนโลยีหลายตัวของบริษัทได้แจ้งเกิดในผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ล เช่น Mac OS X รวมถึงการเปิดตัว iMac ซึ่งทำให้บริษัทสามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างมากด้วย จึงทำให้ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ บริษัทแอปเปิ้ล คอมพิวเตอร์ ได้ขยายกิจการไปหลายสาขา พร้อมกับการเปิดตัวสินค้ามากมาย ไม่ว่าจะเป็น iPod เครื่องเล่นดนตรีขนาดพกพา, iTunes ซอฟต์แวร์สำหรับดนตรีดิจิทัล, iPhone และ iPad
แม้ว่ากิจการของแอปเปิ้ลกำลังดำเนินไปได้อย่างสวยงาม แต่ทุกคนก็ต้องตกใจหลังจากที่ทราบข่าวการประกาศลาออกจากตำแหน่งของสตีฟ จ็อบส์ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2011 ทั้งนี้ จ็อบส์ ตรวจพบมะเร็งตับอ่อนตั้งแต่กลางปี ค.ศ. 2004 และมีปัญหาทางสุขภาพเรื่อยมา จนในที่สุดเขาก็เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับอ่อนเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากที่แอปเปิ้ลเพิ่งจะประกาศเปิดตัว iPhone 4S ได้เพียงแค่วันเดียวเท่านั้น ท่ามกลางความเศร้าสลดและอาลัยต่อ สตีฟ จ๊อบส์ ผู้ซึ่งก่อตั้งและเป็นตำนานแห่งแอปเปิ้ล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คนดังร่วมไว้อาลัย สตีฟ จ็อบส์ อัจฉริยะไอทีผู้จากไป