มงคล 38 ประการ พร้อมความหมาย

          มงคล 38 ประการ หมายถึงอะไร แล้วมงคล 38 ฉบับย่อมีอะไรบ้าง วันนี้เรามีบทความเกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนเรื่อง มงคล 38 ประการ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเครื่องที่ยึดเหนี่ยวและเป็นที่พึ่งทางใจ เป็นแบบแผนและแนวทางในการดำรงชีวิตอย่างถูกต้องและมีความสุขมาฝาก 
มงคลชีวิต 38 ประการ
มงคล 38 ฉบับย่อ 

          ถ้าหากพูดถึงเรื่องหลักธรรมคำสอนแล้ว เชื่อเลยค่ะว่า หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า "มงคลชีวิต 38 ประการ" ซึ่งเป็น "คุณธรรม" ที่หากยึดปฏิบัติแล้ว จะส่งให้ชีวิตพบเจอแต่ความสุข ความเจริญ ซึ่ง คำว่า "มงคล" นั้นหมายถึง เหตุแห่งความสุข ความก้าวหน้าในการดำเนินชีวิต ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้พึงปฏิบัติ โดยนำมาจากบท "มงคลสูตร" ที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบปัญหาเทวดาที่ถามว่า "คุณธรรมอันใดที่ทำให้ชีวิตประสบความเจริญ" โดยพระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า คุณธรรมนั้นนั่นก็คือ "มงคลชีวิต" ซึ่งก็มี 38 ประการ ได้แก่ ...   

1. การไม่คบคนพาล

          ท่านว่าลักษณะของคนพาลมี 3 ประการ คือ

          1. คิดชั่ว คือ การมีจิตคิดอยากได้ในทางทุจริต มีความพยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ คือ เห็นผิดเป็นชอบ

          2. พูดชั่ว คือ คำพูดที่ประกอบไปด้วยวจีทุจริต เช่น พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อ

          3. ทำชั่ว คือ ทำอะไรที่ประกอบด้วยกายทุจริต เช่น การฆ่าสัตว์ ลักขโมย ฉ้อโกง ฉุดคร่าอนาจาร ประพฤติผิดในกาม

          รูปแบบของคนพาล มีข้อควรสังเกต คือ

          1. ชอบแนะนำไปในทางที่ผิด หรือที่ไม่ควรแนะนำ เช่น แนะนำให้ไปเล่นการพนัน ให้ไปลักขโมย ให้กินยาบ้า ให้เสพยา ชวนไปฉุดคร่าอนาจาร เป็นต้น เหล่านี้ถือว่าเป็นพาล

          2. ชอบทำในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ เช่น ไม่ทำงานตามหน้าที่ของตนให้เรียบร้อย แต่กลับชอบจะไปก้าวก่ายยุ่งกับหน้าที่การงานของผู้อื่น หรือไปจับผิดเพื่อนร่วมงาน แกล้ง ยุยง นินทาว่าร้ายกันและกัน เป็นต้น

          3. ชอบทำผิดโดยเห็นสิ่งผิดเป็นของดี เช่น การสูบยาได้เป็นฮีโร่ เห็นคนที่ซื่อสัตย์เป็นคนโง่ไม่กินตามน้ำ ชอบรับสินบน ทุจริตในหน้าที่ หรือช่วยพวกพ้องให้พ้นจากความผิด เป็นต้น

          4. จะโกรธเคืองเมื่อพูดเตือน เช่น การเตือนเรื่องการเที่ยวเตร่ เตือนเรื่องการดื่มเหล้า กลับบ้านดึก เตือนเรื่องการคบเพื่อน เป็นต้น คนพวกนี้จะโกรธเมื่อได้รับการตักเตือน และไม่รับฟัง

          5. ไม่มีระเบียบวินัย เช่น ไม่เข้าคิวตามลำดับก่อน-หลัง แต่ชอบแซงคิวอย่างหน้าด้าน ๆ ทิ้งขยะลงคลอง หรือข้างทาง ไม่เคารพกฎหมายของบ้านเมือง หรือของท้องถิ่น เป็นต้น

2. การคบบัณฑิต

          บัณฑิต หมายถึง ผู้ทรงความรู้ มีปัญญา มีจิตใจที่งาม และมีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง รู้ดีรู้ชั่ว มีลักษณะ ดังนี้...

          1. เป็นคนคิดดี คือ การไม่คิดละโมบ ไม่พยาบาทปองร้ายใคร รู้จักให้อภัย เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ ความกตัญญูรู้คุณ เป็นต้น

          2. เป็นคนพูดดี คือ วจีสุจริต พูดจริง ทำจริง ไม่โกหก ไม่พูดหยาบ ถากถาง นินทาว่าร้าย

          3. เป็นคนทำดี คือ ทำอาชีพสุจริต มีเมตตา ทำทานเป็นปกตินิสัย อยู่ในศีลธรรม ทำสมาธิภาวนา

          รูปแบบของบัณฑิต มีข้อควรสังเกต คือ

          1. ชอบชักนำในทางที่ถูกที่ควร เช่น การชักนำให้เลิกทำในสิ่งที่ผิด ตักเตือนให้ทำความดี อย่างเช่น ให้เลิกเล่นการพนัน เป็นต้น

          2. ชอบทำในสิ่งที่เป็นธุระ เช่น การทำหน้าที่ของตนให้ลุล่วง และใช้เวลาที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ ไม่ก้าวก่ายเรื่องของผู้อื่น เว้นแต่จะได้รับการร้องขอ

          3. ชอบทำและแนะนำสิ่งที่ถูกที่ควร เช่น การพูดและทำอย่างตรงไปตรงมา แนะนำการทำทานที่ถูกต้อง ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น

          4. รับฟังดี ไม่โกรธ เช่น เมื่อมีคนมาว่ากล่าวก็ไม่ถือโทษ หรือโกรธ หรือทำอวดดี แต่จะรับฟังแล้วนำไปพิจารณาโดยยุติธรรม แล้วนำมาแก้ไขปรับปรุง

          5. รู้ระเบียบ กฎกติกามรรยาทที่ดี เช่น การรักษาระเบียบวินัยขององค์กร เพื่อให้หมู่คณะมีความเป็นระเบียบ และการดำเนินงานไม่สับสน หรือการรักษาความสะอาด ปฏิบัติ และเคารพกฎของสถานที่ ไม่ทำตามอำเภอใจ

3. การบูชาบุคคลที่ควรบูชา

          การบูชา คือ การแสดงความเคารพบุคคลที่เรานับถือ ยกย่อง เลื่อมใส ในบุคคลคนนั้น ซึ่งการบูชาแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ

          1. อามิสบูชา คือ การบูชาด้วยสิ่งของ เช่น การนำเงินให้พ่อแม่ไว้ใช้จ่าย หรือมอบทรัพย์สินให้พ่อแม่ หรือการนำดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระ ก็ถือเป็นอามิสบูชา เป็นต้น

          2. ปฏิบัติบูชา คือ การบูชาด้วยการเจริญสมาธิภาวนา การฝึกจิตให้ไม่ฟุ้งซ่าน เห็นความจริงในความเป็นไปของโลก เป็นต้น

          บุคคลที่ควรบูชา มีดังนี้

          1. พระพุทธเจ้า 

          2. พระปัจเจกพระพุทธเจ้า หมายถึง พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา

          3. พระมหากษัตริย์ผู้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม

          4. บิดามารดา

          5. ครูอาจารย์ ที่มีความรู้ดี มีความสามารถ และประพฤติดี

          6. อุปัชฌาย์ หรือผู้บังคับบัญชาที่มีความประพฤติดี ตั้งอยู่ในธรรม

4. การอยู่ในถิ่นอันสมควร

          ถิ่นอันสมควรควรประกอบด้วยสิ่งแวดล้อม 4 อย่าง ได้แก่

          1. อาวาสเป็นที่สบาย หมายถึง อยู่แล้วสบาย เช่น สะอาด เดินทางไป-มาสะดวก อากาศดี เป็นแหล่งชุมชน ไม่มีแหล่งอบายมุข เป็นต้น

          2. อาหารเป็นที่สบาย หมายถึง อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ เช่น มีแหล่งอาหารที่สามารถจัดซื้อหามาได้ง่าย เป็นต้น

          3. บุคคลเป็นที่สบาย หมายถึง ที่ที่มีคนดี จิตใจโอบอ้อมอารี ถ้อยทีถ้อยอาศัย มีศีลธรรม ไม่มีโจร นักเลง หรือใกล้แหล่งอิทธิพล เป็นต้น

          4. ธรรมะเป็นที่สบาย หมายถึง มีที่พึ่งด้านธรรมะ มีที่ฟังธรรม เช่น มีวัดอยู่ในละแวกนั้น มีโรงเรียน หรือแหล่งศึกษาหาความรู้ เป็นต้น

5. เคยทำบุญมาก่อน

          ขึ้นชื่อว่าบุญนั้น มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

          1. ทำให้กาย วาจา และใจ สะอาดได้

          2. นำมาซึ่งความสุข

          3. ติดตามไปได้ หมายถึง บุญจะติดตัวเราไปได้ตลอดจนถึงชาติหน้า

          4. เป็นของเฉพาะตน หมายถึง ขอยืม หรือแบ่งกันไม่ได้ ทำเองได้เอง

          5. เป็นที่มาของโภคทรัพย์ทั้งหลาย คือ ผลของบุญจะบันดาลให้เกิดขึ้นได้เองโดยไม่ได้หวังผล

          6. ให้มนุษย์สมบัติ ทิพย์สมบัติ และนิพพานสมบัติ แก่เราได้ หมายถึง ความสมบูรณ์ตั้งแต่ทางโลกจนถึงนิพพานได้เลย

          7. เป็นปัจจัยให้ถึงซึ่งนิพพาน คือ เป็นปัจจัยในการส่งเสริมให้บรรลุถึงนิพพานได้เร็วขึ้นเมื่อปฏิบัติ

          8. เป็นเกราะป้องกันภัยในวัฏสงสาร หมายถึง ในวงจรการเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือที่เรียกว่า เวียนว่ายตายเกิดนั้น บุญจะคุ้มครองให้ผู้นั้นเกิดในที่ดี อยู่อย่างมีความสุข หรือตายอย่างไม่ทรมาน ขึ้นอยู่กับกำลังบุญที่สร้างสมมา

          การทำบุญนั้นมีหลายวิธี แต่พอสรุปได้สั้น ๆ ดังนี้ 

          1. การทำทาน

          2. การรักษาศีล

          3. การเจริญภาวนา

6. การตั้งตนชอบ

          การตั้งตนชอบ หมายถึง การดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมาย ด้วยความถูกต้องและสุจริต อยู่ในสัมมาอาชีพ มีแผนการที่จะไปให้ถึงจุดหมายนั้นด้วยความไม่ประมาท มีการเตรียมพร้อม และมีความอดทนไม่ละทิ้งกลางคัน

7. ความเป็นพหูสูต

          เป็นผู้ที่ฟังมาก เล่าเรียนมาก เป็นผู้รอบรู้ โดยมีลักษณะ ดังนี้ 

          1. รู้ลึก คือ การรู้ในสิ่งนั้น ๆ เรื่องนั้น ๆ อย่างหมดจดทุกแง่ทุกมุม อย่างมีเหตุมีผล รู้ถึงสาเหตุจนเรียกว่าความชำนาญ

          2. รู้รอบ คือ การรู้จักช่างสังเกตในสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เช่น เหตุการณ์แวดล้อม เป็นต้น

          3. รู้กว้าง คือ การรู้ในสิ่งใกล้เคียงกับเรื่องนั้น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน สัมพันธ์กัน เป็นต้น

          4. รู้ไกล คือ การศึกษาถึงความเป็นไปได้ ผลในอนาคต เป็นต้น

          ถ้าอยากจะเป็นพหูสูตก็ควรต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

          1. ความตั้งใจฟัง คือ ชอบฟัง ชอบอ่านหาความรู้ และค้นคว้า เป็นต้น

          2. ความตั้งใจจำ คือ รู้จักวิธีจำ โดยตั้งใจอ่านหรือฟังในสิ่งนั้น ๆ และจับใจความให้ได้

          3. ความตั้งใจท่อง คือ ท่องให้รู้โดยอัตโนมัติ ไม่ลืม ในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญ

          4. ความตั้งใจพิจารณา คือ การรู้จักพิจารณา ตรึกตรองในสิ่งนั้น ๆ อย่างทะลุปรุโปร่ง

          5. ความเข้าใจในปัญหา คือ การรู้อย่างแจ่มแจ้งในปัญหาอย่างถ่องแท้ด้วยปัญญา

8. การรอบรู้ในศิลปะ

          ศิลปะ คือ สิ่งที่แสดงออกถึงความงดงาม และมีความสุนทรียะ โดยลักษณะของมัน มีดังนี้ 

          1. มีความประณีต

          2. ทำให้ของดูมีค่ามากขึ้น
        
          3. ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์

          4. ไม่ทำให้เกิดกามกำเริบ

          5. ไม่ทำให้เกิดความพยาบาท

          6. ไม่ทำให้เกิดความเบียดเบียน

          ถ้าท่านอยากเป็นคนมีศิลปะ ควรต้องฝึกให้มีคุณสมบัติเหล่านี้ไว้ในตัว คือ

          1. มีศรัทธาในความงดงามของสิ่งต่าง ๆ

          2. หมั่นสังเกตและพิจารณา

          3. มีความประณีต อารมณ์ละเอียดอ่อน

          4. เป็นคนสุขุม มีความคิดสร้างสรรค์

9. มีวินัยที่ดี

          วินัย คือ ข้อกำหนด ข้อบังคับ กฎเกณฑ์ เพื่อควบคุมให้มีความเป็นระเบียบนั่นเอง มีทั้งวินัยของสงฆ์และของคนทั่วไป สำหรับของสงฆ์นั้นมีทั้งหมด 7 อย่าง หรือเรียกว่า อนาคาริยวินัย ส่วนของบุคคลทั่วไปมี 10 อย่าง คือ การละเว้นจากอกุศลกรรม 10 ประการ

          อนาคาริยวินัยของพระ มีดังนี้

          1. ปาฏิโมกขสังวร คือ การอยู่ในศีลทั้งหมด 227 ข้อ การผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งถือว่าต้องโทษแล้วแต่ความหนัก-เบา เรียงลำดับกันไปตั้งแต่ ขั้นปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต เป็นต้น (ความหมายของแต่ละคำต้องอธิบายเยอะ จะไม่กล่าวในที่นี้)

          2. อินทรียสังวร คือ การสำรวมอายตนะทั้ง 5 และกาย วาจา ใจ ให้อยู่กับร่องกับรอย โดยอย่าไปเพลิดเพลินติดกับสิ่งที่มาสัมผัสเหล่านั้น

          3. อาชีวปาริสุทธิสังวร คือ การหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ นั่นก็คือ การออกบิณฑบาต ไม่ได้เรียกร้อง เรี่ยไรหรือเที่ยวขอเงินชาวบ้านมาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของตัวเอง

          4. ปัจจัยปัจจเวกขณะ คือ การพิจารณาในสิ่งของทั้งหลายถึงคุณประโยชน์โดยเนื้อแท้ของสิ่งของเหล่านั้นอย่างแท้จริง โดยใช้เพื่อบริโภค เพื่อประโยชน์ ความอยู่รอด และความเป็นไปของชีวิตเท่านั้น

          วินัยสำหรับฆราวาส หรือบุคคลทั่วไป เรียกว่า อาคาริยวินัย มีดังนี้ (อกุศลกรรมบถ 10 ประการ)

          1. ไม่ฆ่าชีวิตคน หรือสัตว์ไม่ว่าน้อย-ใหญ่

          2. ไม่ลักทรัพย์ ยักยอกเงิน สิ่งของมาเป็นของตัว

          3. ไม่ประพฤติผิดในกาม ผิดลูกผิดเมีย ข่มขืนกระทำชำเรา

          4. ไม่พูดโกหก หลอกลวงให้หลงเชื่อ หรือชวนเชื่อ

          5. ไม่พูดส่อเสียด นินทาว่าร้าย ยุยงให้คนแตกแยกกัน

          6. ไม่พูดจาหยาบคาย ให้เป็นที่แสลงหูคนอื่น

          7. ไม่พูดจาไร้สาระ หรือที่เรียกว่า พูดจาเพ้อเจ้อไม่มีสาระ เหตุผล หรือประโยชน์อันใด

          8. ไม่โลภอยากได้ของเขา คือ มีความคิดอยากเอาของคนอื่นมาเป็นของเรา

          9. ไม่คิดร้าย ผูกใจเจ็บ แค้น ปองร้ายคนอื่น

          10. ไม่เห็นผิดเป็นชอบ เช่น เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีความสำคัญ บุญหรือกรรมไม่มีจริง เป็นต้น


10. กล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต

          คำว่า วาจาอันเป็นสุภาษิต ในที่นี้ มิได้หมายถึงเพียงว่าต้องเป็นคำร้อยกรอง ร้อยแก้ว เป็นคำคมบาดใจมีความหมายลึกซึ้งเท่านั้น แต่รวมถึงคำพูดที่ดี มีประโยชน์ต่อผู้ฟัง ซึ่งสรุปว่าประกอบด้วยลักษณะ ดังนี้

          1. ต้องเป็นคำจริง คือ ข้อมูลที่ถูกต้อง มีหลักฐานอ้างอิงได้ ไม่ได้ปั้นแต่งขึ้นมาพูด

          2. ต้องเป็นคำสุภาพ คือ พูดด้วยภาษาที่สุภาพ มีความไพเราะในถ้อยคำ ไม่มีคำหยาบโลน หรือคำด่า

          3. พูดแล้วมีประโยชน์ คือ มีประโยชน์ต่อผู้ฟัง ถ้าหากนำแนวทางไปคิด หรือปฏิบัติในทางสร้างสรรค์

          4. พูดด้วยจิตที่มีเมตตา คือ พูดด้วยจิตใจที่มีความปรารถนาดีต่อผู้ฟัง มีความจริงใจต่อผู้ฟัง

          5. พูดได้ถูกกาลเทศะ คือ พูดในสถานที่เหมาะสม และในเวลาที่เหมาะสม โดยความเหมาะสมจะมีมาก-น้อยเช่นไร ก็ขึ้นอยู่กับเรื่องที่พูด

11. การบำรุงบิดามารดา

          ท่านว่าพ่อแม่นั้นเปรียบได้เป็นทั้ง ครูของลูก เทวดาของลูก พรหมของลูก และอรหันต์ของลูก ความหมายโดยละเอียดมีดังต่อไปนี้ 

          - ที่ว่าเป็นครูของลูก เพราะว่าท่านได้คอยอบรมสั่งสอนลูก เป็นคนแรกก่อนคนอื่นใดในโลก

          - ที่ว่าเป็นเทวดาของลูก เพราะว่าท่านจะคอยปกป้อง คุ้มครอง เลี้ยงดู ประคบประหงมมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก บำรุงให้เติบใหญ่เป็นอย่างดี ไม่ให้เกิดอันตรายต่อลูกในทุกด้าน

          - ที่ว่าเป็นพรหมของลูก เพราะว่าท่านมีพรหมวิหาร 4 นั่นก็คือ มีเมตตา หมายถึง ความเอ็นดู ความปรารถนาดีต่อลูกในทุก ๆ ด้าน ไม่มีที่สิ้นสุด มีกรุณา หมายถึง ให้ความกรุณาต่อลูก ลูกอยากได้อะไรก็หามาให้ลูก ให้การศึกษาเล่าเรียน ส่งเสียเท่าที่มีความสามารถจะให้ได้ มีมุทิตา หมายถึง ความรักที่ยอมสละได้แม้ชีวิตของตัวเองเพื่อลูก ยอมเสียสละได้ทุกอย่าง และมีอุเบกขา หมายถึง การวางเฉย ไม่ถือโกรธเมื่อลูกประมาท ซน ทำผิดพลาดเพราะความไร้เดียงสา หรือเพราะความไม่รู้

          - ที่ว่าเป็นอรหันต์ของลูก เพราะว่าท่านมีคุณธรรม 4 ประการ อันได้แก่

          - เป็นผู้มีอุปการคุณต่อลูก คือ อุปการะเลี้ยงดูมาด้วยความเหนื่อยยาก กว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่

          - เป็นผู้มีพระเดชพระคุณต่อลูก คือ ให้ความอบอุ่นเลี้ยงดู ปกป้องจากภยันตรายต่าง ๆ นานา

          - เป็นเนื้อนาบุญของลูก คือ ลูกเป็นส่วนหนึ่งของกรรมดีที่พ่อแม่ได้ทำไว้ และเป็นผู้รับผลบุญที่พ่อแม่ได้สร้างไว้แล้วทางตรง

          - เป็นอาหุไนยบุคคล คือ เป็นเหมือนพระที่ควรแก่การเคารพนับถือและรับของบูชา เพื่อเทิดทูนไว้เป็นแบบอย่าง

          การทดแทนพระคุณบิดามารดาท่านสามารถทำได้ ดังนี้

          ระหว่างเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็เลี้ยงดูท่านเป็นการตอบแทน ช่วยเหลือเป็นธุระเรื่องการงานให้ท่าน ดำรงวงศ์ตระกูลให้สืบไป ไม่ทำเรื่องเสื่อมเสีย รวมทั้งประพฤติตนให้ควรแก่การเป็นผู้สืบทอดมรดกจากท่าน ครั้นเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ก็ทำบุญอุทิศกุศลให้ท่าน ส่วนการเป็นลูกกตัญญูต่อพ่อแม่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่าไว้ ดังนี้

          1. ถ้าท่านยังไม่มีศรัทธา ให้ท่านถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือ พยายามให้ท่านมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เชื่อในเรื่องการทำดี

          2. ถ้าท่านยังไม่มีศีล ให้ท่านถึงพร้อมด้วยศีล คือ พยายามให้ท่านเป็นผู้รักษาศีล 5 ให้ได้

          3. ถ้าท่านเป็นคนตระหนี่ ให้ท่านถึงพร้อมด้วยการให้ทาน คือ พยายามให้ท่านรู้จักการให้ด้วยเมตตาโดยไม่หวังผลตอบแทน

          4. ถ้าท่านยังไม่ทำสมาธิภาวนา ให้ท่านถึงพร้อมด้วยปัญญา คือ พยายามให้ท่านหัดนั่งทำสมาธิภาวนาให้ได้

12. การสงเคราะห์บุตร

          คำว่า บุตร มีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่

          1. อภิชาตบุตร คือ บุตรที่มีความดี คุณธรรม และความสามารถเหนือกว่าบิดา มารดา

          2. อนุชาตบุตร คือ บุตรที่มีความดี คุณธรรม และความสามารถเสมอบิดา มารดา

          3. อวชาตบุตร คือ บุตรที่มีความดี คุณธรรม และความสามารถต่ำกว่าบิดา มารดา

          การที่เราเป็นพ่อเป็นแม่ของบุตรนั้น มีหน้าที่ที่ต้องให้กับลูกของเรา คือ

          1. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว

          2. ปลูกฝัง สนับสนุนให้ทำความดี

          3. ให้การศึกษาหาความรู้

          4. ให้ได้คู่ครองที่ดี (ใช้ประสบการณ์ของเราให้คำปรึกษาแก่ลูก ช่วยดูให้)

          5. มอบทรัพย์ให้ในโอกาสอันควร (การทำพินัยกรรม ก็ถือว่าเป็นสิ่งถูกต้อง)

13. การสงเคราะห์ภรรยา

          เมื่อว่าด้วยเรื่องคนที่จะมาเป็นคู่ครองของชาย หรือที่เรียกว่าจะมาเป็นภรรยานั้น ในโลกนี้ท่านแบ่งลักษณะของภรรยาออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่

          1. วธกาภริยา หมายถึง ภรรยาเสมอด้วยเพชฌฆาต เป็นพวกที่มีจิตใจคิดไม่ดี ชอบทำร้าย ชอบด่าทอสาปแช่ง คิดฆ่าสามี หรือมีชู้กับชายอื่น

          2. โจรีภริยา หมายถึง ภรรยาเสมอด้วยโจร เป็นคนล้างผลาญ สร้างหนี้สิน หาได้เท่าไรก็ไม่พอ หรือเอาเรื่องในบ้านไปโพนทะนาให้คนข้างนอกรับรู้ ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง

          3. อัยยาภริยา หมายถึง ภรรยาเสมอด้วยนาย เป็นคนชอบข่มสามีให้อยู่ในอำนาจ ไม่ให้เกียรติสามีเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้อื่น ชอบสั่งการหรือเอาแต่ใจตัวเอง เห็นสามีเป็นคนไร้ความสามารถ แต่ตัวเองเป็นผู้นำ

          4. มาตาภริยา หมายถึง ภรรยาเสมอด้วยแม่ คือ ผู้ที่มีความรักต่อสามีอย่างสุดซึ้ง ไม่เคยทอดทิ้งแม้ยามทุกข์ยาก ป่วยไข้ ไม่ทำให้มีเรื่องสะเทือนใจ

          5. ภคินีภริยา หมายถึง ภรรยาเสมอด้วยน้องสาว คือ ผู้ที่มีความเคารพต่อสามีในฐานะพ่อบ้าน แต่ขัดใจกันบ้างตามประสาคนใกล้ชิดกันแล้วก็ให้อภัยกัน โดยไม่คิดพยาบาท เดินตามแนวทางของสามี ต้องพึ่งพาสามี

          6. สขีภริยา หมายถึง ภรรยาเสมอด้วยเพื่อน ต่างคนต่างก็มีอะไรที่เหมือนกัน ความสามารถพอกัน ไม่จำเป็นต้องพึ่งพากัน ไม่ค่อยยอมกัน เป็นตัวของตัวเอง แต่ก็รักกันและช่วยเหลือกัน โดยต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเอง

          7. ทาสีภริยา หมายถึง ภรรยาเสมอด้วยคนรับใช้ คือ ภรรยาที่อยู่ภายใต้คำสั่งสามีโดยไม่มีข้อโต้แย้ง สามีเป็นผู้เลี้ยงดู สั่งอะไรก็ทำอย่างนั้น แม้จะไม่เห็นด้วยก็ไม่ออกความเห็น อดทนทำงานตามหน้าที่ตามแต่สามีจะสั่งการ แม้ถูกดุด่า เฆี่ยนตี ก็ยังทนอยู่ได้โดยไม่โต้ตอบ

          ท่านว่าคนที่จะมาเป็นสามีภรรยาได้ดีหรือคู่สร้างคู่สมนั้น ควรต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

          1. สมสัทธา คือ มีศรัทธาเสมอกัน

          2. สมสีลา คือ มีศีลเสมอกัน

          3. สมจาคะ คือ มีการเสียสละเหมือนกัน

          4. สมปัญญา คือ มีปัญญาเสมอกัน

          เมื่อได้แต่งงานกันแล้ว แต่ละฝ่ายก็มีหน้าที่ที่ต้องทำ ดังนี้

          สามีมีหน้าที่ต่อภรรยา คือ

          1. ยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา คือ การแนะนำเปิดเผยว่าเป็นภรรยา ไม่ปิดบังกับผู้อื่น และให้เกียรติภรรยาในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ด้วย

          2. ไม่ดูหมิ่น คือ ไม่ดูถูกภรรยาเมื่อทำไม่เป็น ทำไม่ถูก หรือเรื่องชาติตระกูล การศึกษาว่าต่ำต้อยกว่าตน แต่ต้องสอนให้

          3. ไม่ประพฤตินอกใจภรรยา คือ การไปมีเมียน้อยนอกบ้าน เลี้ยงต้อย หรือเที่ยวเตร่หาความสำราญกับหญิงบริการ

          4. มอบความเป็นใหญ่ให้ในบ้าน คือ การมอบธุระทางบ้านให้กับภรรยาจัดการ รับฟังและทำตามความเห็นของภรรยาเกี่ยวกับบ้าน

          5. ให้เครื่องแต่งตัว คือ ให้ความสุขกับภรรยาเรื่องการแต่งตัวให้พอดี เพราะสตรีเป็นผู้รักสวยรักงามโดยธรรมชาติ

          ฝ่ายภรรยาก็มีหน้าที่ต้องตอบแทนสามี คือ

          1. จัดการงานดี คือ งานบ้านการเรือนต้องไม่บกพร่อง ดูแลด้านความสะอาด ทำนุบำรุงรักษา ด้านโภชนาการให้เรียบร้อยดี

          2. สงเคราะห์ญาติสามีดี คือ ให้ความเอื้อเฟื้อญาติฝ่ายสามี เท่าที่ตนมีกำลังพอทำได้ ไม่ได้หมายถึงเรื่องทรัพย์สินเงินทองอย่างเดียว

          3. ไม่ประพฤตินอกใจสามี คือ ไม่คบชู้ หรือปันใจให้ชายอื่น ซื่อสัตย์ต่อสามีคนเดียว

          4. รักษาทรัพย์ให้อย่างดี คือ รู้จักรักษาทรัพย์สินไว้ไม่ให้หมดไปด้วยความสิ้นเปลือง แต่ก็ไม่ถึงกับตระหนี่

          5. ขยันทำงาน คือ ไม่เกียจคร้านเอาแต่ออกงาน นอน กิน หรือเที่ยวแต่อย่างเดียว ต้องทำงานบ้านด้วย

14. การทำงานไม่ให้คั่งค้าง

          ว่าด้วยสาเหตุที่ทำให้งานคั่งค้างนั้นสรุปสาเหตุได้เพราะว่า..

          1. ทำงานไม่ถูกกาล

          2. ทำงานไม่ถูกวิธี

          3. ไม่ยอมทำงาน

          หลักการทำงานให้เสร็จลุล่วง มีดังนี้

          1. ฉันทะ คือ มีความพอใจในงานที่ทำ

          2. วิริยะ คือ มีความตั้งใจ พากเพียรในงานที่ทำ

          3. จิตตะ คือ มีความเอาใจใส่ในงานที่ทำ

          4. วิมังสา คือ มีการคิดพิจารณาทบทวนงานนั้น ๆ

15. การให้ทาน

          การให้ทาน คือ การให้ที่ไม่หวังผลตอบแทน โดยหมายให้ผู้ได้รับได้พ้นจากทุกข์ แบ่งออกเป็น 3 อย่าง ได้แก่

          1. อามิสทาน คือ การให้วัตถุ สิ่งของ หรือเงินเป็นทาน

          2. ธรรมทาน คือ การสอนให้ธรรมะเป็นความรู้เป็นทาน

          3. อภัยทาน คือ การให้อภัยในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ดีกับเรา ไม่จองเวร หรือพยาบาทกัน

          การให้ทานที่ถือว่าเป็นความดี และได้บุญมากนั้นจะประกอบด้วยปัจจัย 3 ประการ อันได้แก่

          1. วัตถุบริสุทธิ์ คือ เป็นของที่ได้มาโดยสุจริต ไม่ได้ไปยักยอกมา โกงมา หรือได้มาด้วยวิธีแยบยล

          2. เจตนาบริสุทธิ์ คือ มีจิตยินดี ผ่องใสเบิกบาน ไม่รู้สึกเสียดายสิ่งที่ให้ ตั้งแต่ก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้

          3. บุคคลบริสุทธิ์ คือ ให้กับผู้รับที่มีศีลธรรม ตัวผู้ให้เองก็ต้องมีศีลที่บริสุทธิ์

          การให้ทานที่ถือว่าไม่ดี และยังอาจเป็นบาปกรรมถึงเราทางอ้อมอีกด้วย ได้แก่

          1. ให้สุรา ยาเสพติด เป็นต้น (ถ้าเขาเมาแล้วขับรถชนตาย เราก็มีส่วนบาปด้วย)

          2. ให้อาวุธ (ถ้าอาวุธนั้นถูกเอาไปใช้ประหัตประหาร บาปก็มาถึงเราด้วย)

          3. ให้มหรสพ คือ การบันเทิงทุกรูปแบบ

          4. ให้สัตว์เพศตรงข้ามเพื่อผสมพันธุ์ อันนี้รวมถึงการจัดหาสาว ๆ ไปบำเรอผู้มีอำนาจหรือผู้น้อยด้วย เป็นต้น

          5. ให้ภาพลามก หรือสิ่งพิมพ์ลามก เพราะทำให้เกิดความกำหนัด เกิดกามกำเริบ (เมื่อดูแล้วเกิดไปฉุดคร่า ข่มขืนใคร บาปก็ตกทอดมาถึงเราด้วย)

16. การประพฤติธรรม

          การประพฤติธรรม คือ การปฏิบัติให้เป็นไป แบ่งออกได้เป็น 2 อัน ได้แก่

          กายสุจริต คือ

          1. การไม่ฆ่าสัตว์ หมายรวมหมดตั้งแต่สัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ และมนุษย์

          2. การไม่ลักทรัพย์ หมายรวมถึงการคอร์รัปชัน ไปหลอกลวง ปล้นจี้ชาวบ้านด้วย

          3. การไม่ประพฤติผิดในกาม หมายรวมถึงการคบชู้ นอกใจภรรยา และการข่มขืนด้วย

          วจีสุจริต คือ

          1. การไม่พูดเท็จ คือ การพูดแต่ความจริง ไม่หลอกลวง

          2. การไม่พูดคำหยาบ คือ คำที่ฟังแล้วไม่รื่นหู เกิดความรู้สึกไม่สบายใจรวมหมด

          3. การไม่พูดจาส่อเสียด การนินทาว่าร้าย

          4. การไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล คือ การพูดที่ไม่เป็นสาระ หาประโยชน์อันใดมิได้

          มโนสุจริต คือ

          1. การไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น คือ การนึกอยากได้ของเขามาเป็นของเรา

          2. การไม่คิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น คือ การนึกอยากให้คนอื่นประสบเคราะห์กรรม คิดจะทำร้ายผู้อื่น

          3. การเห็นชอบ คือ มีความเชื่อความเข้าใจในความเป็นจริง ความถูกต้องตามหลักคำสอนตามแนวทางพระพุทธศาสนา

17. การสงเคราะห์ญาติ

          ลักษณะของญาติที่ควรให้การสงเคราะห์ เมื่ออยู่ในฐานะ ดังนี้ 

          1. เมื่อยากจนหาที่พึ่งมิได้

          2. เมื่อขาดทุนทรัพย์ในการค้าขาย

          3. เมื่อขาดยานพาหนะ

          4. เมื่อขาดอุปกรณ์ทำมาหากิน

          5. เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย

          6. เมื่อคราวมีธุระการงาน

          7. เมื่อคราวถูกใส่ความหรือมีคดี

          การสงเคราะห์ญาติ ทำได้ทั้งทางธรรมและทางโลก ได้แก่

          ในทางธรรม ก็ช่วยแนะนำให้ทำบุญกุศล ให้รักษาศีล และทำสมาธิภาวนา

          ในทางโลก ก็ได้แก่

          1. ให้ทาน คือ การสงเคราะห์เป็นทรัพย์สิน หรือเงินทอง เพื่อให้เขาพ้นจากทุกข์หรือความลำบากตามแต่กำลัง

          2. ใช้ปิยวาจา คือ การพูดเจรจาด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน สุภาพ และประกอบไปด้วยความปรารถนาดี

          3. มีอัตถจริยา คือ การประพฤติตนให้เป็นประโยชน์กับเขา อาจช่วยเหลือด้วยแรงกาย กำลังใจ หรือด้วยความสามารถที่มี

          4. รู้จักสมานัตตตา คือ การวางตัวให้เหมาะสม อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ร่วมทุกข์ร่วมสุข ไม่ถือตัว

18. ทำงานที่ไม่มีโทษ

          งานที่ไม่มีโทษ ประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้

          1. ไม่ผิดกฎหมาย คือ ทำให้ถูกต้องตามกฎหมายของบ้านเมือง

          2. ไม่ผิดประเพณี คือ แบบแผนที่ปฏิบัติกันมาแต่เดิม ควรดำเนินตาม

          3. ไม่ผิดศีล คือ ข้อห้ามที่บัญญัติไว้ในศีล 5

          4. ไม่ผิดธรรม คือ หลักธรรมทั้งหลาย เช่น การพนัน การหลอกลวง

          ส่วนอาชีพต้องห้ามสำหรับพุทธศาสนิกชน ได้แก่

          1. การค้าอาวุธ

          2. การค้ามนุษย์

          3. การค้ายาพิษ

          4. การค้ายาเสพติด

          5. การค้าสัตว์เพื่อนำไปฆ่า

มงคลชีวิต

19. ละเว้นจากบาป

          บาป คือ สิ่งที่ไม่ดี เสีย ความชั่วที่ติดตัว ซึ่งไม่ควรทำ ท่านว่าสิ่งที่ทำแล้วถือว่าเป็นบาป ได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 คือ

          1. ฆ่าสัตว์

          2. ลักทรัพย์

          3. ประพฤติผิดในกาม

          4. พูดเท็จ

          5. พูดส่อเสียด

          6. พูดคำหยาบ

          7. พูดเพ้อเจ้อ

          8. โลภอยากได้ของเขา

          9. คิดพยาบาทปองร้ายคนอื่น

          10. เห็นผิดเป็นชอบ

20. สำรวมจากการดื่มน้ำเมา

          ว่าด้วยเรื่องของน้ำเมานั้น อาจทำมาจากแป้ง ข้าวสุก การปรุงโดยผสมเชื้อ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ดื่มแล้วทำให้มึนเมา เช่น เบียร์ ไวน์ ไม่ใช่แค่เหล้าเท่านั้น ล้วนมีโทษ อันได้แก่

          1. ทำให้เสียทรัพย์ เพราะต้องนำเงินไปซื้อหาทั้ง ๆ ที่เงินจำนวนเดียวกันนี้สามารถนำเอาไปใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างอื่นได้มากกว่า

          2. ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท ซึ่งนำไปสู่ความวุ่นวาย เจ็บตัว หรือถึงแก่ชีวิต และคดีความ เพราะน้ำเมาทำให้ขาดการยับยั้งชั่งใจ

          3. ทำให้เกิดโรค โรคที่เกิดเนื่องมาจากการดื่มสุราล้วนแล้วแต่บั่นทอนสุขภาพกายจนถึงตายได้ เช่น โรคตับแข็ง โรคหัวใจ โรคความดัน

          4. ทำให้เสียชื่อเสียง เมื่อคนเมาไปทำเรื่องไม่ดีเข้า เช่น ไปลวนลามสตรี ปล่อยตัวปล่อยใจ ก็ทำให้วงศ์ตระกูลและหน้าที่การงานเสี่อมเสีย

          5. ทำให้ลืมตัวไม่รู้จักอาย คนเมาทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ทำสิ่งที่คนมีสติจะไม่ทำ เช่น แก้ผ้าเดิน หรือนอนในที่สาธารณะ เป็นต้น

          6. ทอนกำลังปัญญา กินแล้วทำให้เซลล์สมองเริ่มเสื่อมลง ก็จะทำให้สุขภาพและปัญญาเสื่อมถอย ความสามารถโดยรวมก็ด้อยลง

21. ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย

          ธรรมในที่นี้ก็คือ หลักปฏิบัติที่ทำแล้วมีผลในทางดีและเป็นจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงโปรดแนะทางไว้

          คนที่ประมาทในธรรมนั้นมีลักษณะที่สรุปได้ ดังนี้ 

          1. ไม่ทำเหตุดี แต่จะเอาผลดี

          2. ทำตัวเลว แต่จะเอาผลดี

          3. ทำย่อหย่อน แต่จะเอาผลมาก

          สิ่งที่ไม่ควรประมาท ได้แก่

          1. การประมาทในเวลา คือ การปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปโดยไม่ทำอะไรให้เกิดประโยชน์ หรือผัดวันประกันพรุ่ง เป็นต้น

          2. การประมาทในวัย คือ คิดว่าอายุยังน้อย ไม่ต้องทำความเพียรก็ได้ เพราะยังต้องมีชีวิตอยู่อีกนาน เป็นต้น

          3. การประมาทในความไม่มีโรค คือ คิดว่าตัวเองแข็งแรงไม่ตายง่าย ๆ ก็ปล่อยปละละเลย เป็นต้น

          4. การประมาทในชีวิต คือ การไม่กำหนดวางแผนถึงอนาคต คิดอยู่แต่ว่ายังมีชีวิตอยู่อีกนาน เป็นต้น

          5. การประมาทในการงาน คือ ไม่ขยันตั้งใจทำให้สำเร็จ ปล่อยตามเรื่องตามราว หรือปล่อยให้ดินพอกหางหมู เป็นต้น

          6. การประมาทในการศึกษา คือ การไม่คิดศึกษาเล่าเรียนในวัยที่ควรเรียน หรือขาดความเอาใจใส่ที่เพียงพอ

          7. การประมาทในการปฏิบัติธรรม คือ การไม่ปฏิบัติสมาธิภาวนาหรือศึกษาหลักธรรมให้ถ่องแท้ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นต้น

22. มีความเคารพ

          ท่านได้กล่าวว่าสิ่งที่ควรเคารพ มีอยู่ดังนี้

          1. พระพุทธเจ้า

          2. พระธรรม

          3. พระสงฆ์

          4. การศึกษา

          5. ความไม่ประมาท คือ การดำเนินตามหลักธรรมคำสอนพระพุทธศาสนาอื่น ๆ ด้วยความเคารพ

          6. การสนทนาปราศรัย คือ การต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือนด้วยความเคารพ 

23. มีความถ่อมตน

          ความอ่อนน้อมถ่อมตน คือ การไม่แสดงออกถึงความสามารถที่ตัวเองมีอยู่ให้ผู้อื่นทราบเพื่อข่มผู้อื่น หรือเพื่อโอ้อวด การไม่อวดดี เย่อหยิ่งจองหอง แต่แสดงตนอย่างสงบเสงี่ยม

          ท่านว่าไว้ว่าโทษของการอวดดีนั้น มีอยู่ดังนี้

          1. ทำให้เสียคน คือ ไม่สามารถกลับมาอยู่ในร่องในรอยได้เหมือนเดิม เสียอนาคต

          2. ทำให้เสียมิตร คือ ไม่มีใครคบหาเป็นเพื่อนด้วย ถึงจะมีก็ไม่ใช่เพื่อนแท้

          3. ทำให้เสียหมู่คณะ คือ ถ้าต่างคนต่างถือดี ก็ทำให้ไม่สามารถตกลงกันได้ ในที่สุดก็ไม่ถึงจุดหมาย หรือทำให้เป็นที่เบื่อหน่ายของคนอื่น

          การทำตัวให้เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนนั้น มีหลักดังนี้

          1. ต้องคบกัลยาณมิตร คือ เพื่อนที่ดีมีศีลมีธรรม คอยตักเตือนหรือชักนำไปในทางที่ดีที่ถูกที่ควร

          2. ต้องรู้จักคิดไตร่ตรอง คือ การรู้จักคิดหาเหตุผลอยู่ตลอดถึงความเป็นไปในธรรมชาติของมนุษย์ ต่างคนย่อมต่างจิดต่างใจ รวมทั้งหลักธรรมอื่น ๆ

          3. ต้องมีความสามัคคี คือ การมีความสามัคคีในหมู่คณะ อะลุ่มอล่วยในหลักการ ตักเตือน รับฟังและเคารพความคิดเห็นของผู้อื่นอย่างมีเหตุผล

          ท่านว่าลักษณะของคนถ่อมตนนั้น มีดังนี้

          1. มีกิริยาที่นอบน้อม

          2. มีวาจาที่อ่อนหวาน

          3. มีจิตใจที่อ่อนโยน

          สรุปแล้วก็คือ สมบูรณ์พร้อมด้วยกาย วาจา และใจนั่นเอง

 24. มีความสันโดษ

          คำว่าสันโดษไม่ได้หมายถึง การอยู่ลำพังคนเดียวอย่างเดียวก็หาไม่ แต่หมายถึง การพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ในของของตัว ซึ่งท่านได้ให้นิยามที่เป็นลักษณะของความสันโดษ ดังนี้ 

          1. ยถาลาภสันโดษ หมายถึง ความยินดีตามมีตามเกิด คือ มีแค่ไหนก็พอใจเท่านั้น เป็นอยู่อย่างไรก็ควรจะพอใจ ไม่คิดน้อยเนื้อต่ำใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่

          2. ยถาพลสันโดษ หมายถึง ความยินดีตามกำลัง เรามีกำลังแค่ไหนก็พอใจเท่านั้น ตั้งแต่กำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังบารมี หรือกำลังความสามารถ เป็นต้น

          3. ยถาสารูปสันโดษ หมายถึง ความยินดีตามควร ซึ่งโยงใยไปถึงความพอเหมาะพอควรในหลาย ๆ เรื่อง เช่น รูปลักษณ์ของตนเอง และรวมทั้งฐานะที่เราเป็นอยู่

25. มีความกตัญญู

          คือการรู้คุณ และตอบแทนท่านผู้นั้น บุญคุณที่ว่านี้มิใช่ว่าตอบแทนกันแล้วก็หายกัน แต่หมายถึงการรำลึกถึงพระคุณที่เคยให้ความอุปการะแก่เราด้วยความเคารพยิ่ง ท่านว่าสิ่งของหรือผู้ที่ควรกตัญญูนั้น มีดังนี้

          1. กตัญญูต่อบุคคล บุคคลที่ควรกตัญญูก็คือ ใครก็ตามที่มีบุญคุณควรระลึกถึงและตอบแทนพระคุณ เช่น บิดา มารดา อาจารย์ เป็นต้น

          2. กตัญญูต่อสัตว์ ได้แก่ สัตว์ที่มีคุณต่อเรา ช่วยทำงานให้เรา เราก็ควรเลี้ยงดูให้ดี เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย หรือสุนัขที่ช่วยเฝ้าบ้าน เป็นต้น

          3. กตัญญูต่อสิ่งของ ได้แก่ สิ่งของทุกอย่างที่มีคุณต่อเรา เช่น หนังสือที่ให้ความรู้แก่เรา อุปกรณ์ทำมาหากินต่าง ๆ เราไม่ควรทิ้งขว้าง หรือทำลายโดยไม่เห็นคุณค่า

26. การฟังธรรมตามกาล

          เมื่อมีโอกาส เวลา หรือตามวันสำคัญต่าง ๆ ก็ควรต้องไปฟังธรรมบ้างเพื่อสดับตรับฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์ในหลักธรรมนั้น ๆ และนำมาใช้กับชีวิตเราเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น ท่านว่าเวลาที่ควรไปฟังธรรมนั้น มีดังนี้ 

          1. วันธรรมสวนะ คือ วันพระ หรือวันที่สำคัญทางศาสนา

          2. เมื่อมีผู้มาแสดงธรรม อย่างเช่น การฟังธรรมตามวิทยุ การที่มีพระมาแสดงธรรมตามสถานที่ต่าง ๆ หรือการอ่านจากสื่อต่าง ๆ

          3. เมื่อมีโอกาสอันสมควร เช่น ในวันอาทิตย์เมื่อมีเวลาว่าง หรือในงานมงคล งานบวช งานกฐิน งานวัด เป็นต้น

          คุณสมบัติของผู้ฟังธรรมที่ดีควรต้องมี ดังนี้

          1. ไม่ดูแคลนในหัวข้อธรรมว่าง่ายเกินไป

          2. ไม่ดูแคลนในความรู้ความสามารถของผู้แสดงธรรม

          3. ไม่ดูแคลนในตัวเองว่าโง่ ไม่สามารถเข้าใจได้

          4. มีความตั้งใจในการฟังธรรม และนำไปพิจารณา

          5. นำเอาธรรมนั้น ๆ ไปปฏิบัติให้เกิดผล
 
27. มีความอดทน

          ท่านว่าลักษณะของความอดทนนั้นสามารถจำแนกออกได้ดังต่อไปนี้

          1. ความอดทนต่อความลำบาก คือ ความลำบากที่ต้องประสบตามธรรมชาติ ซึ่งอาจมาจากสภาพแวดล้อม เป็นต้น

          2. ความอดทนต่อทุกขเวทนา คือ ทุกข์ที่เกิดจากสังขารของเราเอง เช่น ความไม่สบายกาย เป็นต้น

          3. ความอดทนต่อความเจ็บใจ คือ การที่คนอื่นทำให้เราต้องผิดหวัง หรือพูดจาให้เจ็บช้ำใจ ไม่เป็นอย่างที่หวัง เป็นต้น

          4. ความอดทนต่ออำนาจกิเลส คือ สิ่งยั่วยวนทั้งหลายถือเป็นกิเลสทั้งทางใจและทางกาย เช่น ความนึกโลภอยากได้ของเขา หรือการพ่ายแพ้ต่ออำนาจเงิน เป็นต้น

          วิธีทำให้มีความอดทน คือ มีหิริโอตัปปะ

          1. หิริ ได้แก่ การมีความละอายต่อบาป การที่รู้ว่าเป็นบาปแล้วยังทำอีกก็ถือว่าไม่มีความละอายเลย

          2. โอตตัปปะ ได้แก่ การมีความเกรงกลัวในผลของบาปนั้น ๆ

28. เป็นผู้ว่าง่าย

          ท่านว่าผู้ว่าง่ายนั้นมีลักษณะที่สังเกตได้ ดังนี้

          1. ไม่พูดกลบเกลื่อนเมื่อได้รับการว่ากล่าวตักเตือน คือ การรับฟังด้วยดี ไม่ใช่แก้ตัวแล้วปิดประตูความคิดไม่รับฟัง

          2. ไม่นิ่งเฉยเมื่อได้รับการเตือน คือ การนำคำตักเตือนนั้นมาพิจารณาและแก้ไขข้อบกพร่องนั้น ๆ

          3. ไม่จับผิดผู้ว่ากล่าวสั่งสอน คือ การที่ผู้สอนอาจจะมีความผิดพลาด เนื่องจากความประมาท เราควรให้อภัยต่อผู้สอน เพราะการจับผิดทำให้ผู้สอนต้องอับอายขายหน้าได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีงาม

          4. เคารพต่อคำสอนและผู้สอน คือ การรู้จักสัมมาคารวะต่อผู้ให้คำสอน และเคารพในสิ่งที่ผู้สอนได้นำมาแนะนำ

          5. มีความอ่อนน้อมถ่อมตน คือ ไม่แสดงความยโส ถือตัวว่าอยู่เหนือผู้อื่นเพราะสิ่งที่ตัวเองเป็นตัวเองมี

          6. มีความยินดีต่อคำสอนนั้น คือ ยอมรับในคำสอนนั้น ๆ ด้วยความยินดี เช่น การไม่แสดงความเบื่อหน่ายเพราะเคยฟังมาแล้ว เป็นต้น

          7. ไม่ดื้อรั้น คือ การไม่อวดดี คิดว่าของตัวเองนั้นผิดแต่ก็ยังดันทุรังทำต่อไป เพราะกลัวเสียชื่อ เสียฟอร์ม

          8. ไม่ข้ดแย้ง เพราะว่าการว่ากล่าวตักเตือนหรือสั่งสอนนั้นก็คือสิ่งที่ตรงข้ามกับที่เราทำอยู่แล้ว เราควรต้องเปิดใจให้กว้าง ไม่ขัดแย้งต่อคำสอน คำวิจารณ์นั้น ๆ

          9. ยินดีให้ตักเตือนได้ทุกเวลา คือ การยินดีให้มีการแสดงความคิดเห็นตักเตือนได้โดยไม่มีข้อยกเว้นเรื่องเวลา

          10. มีความอดทนต่อการเป็นผู้ถูกสั่งสอน คือ การไม่เอาความขัดแย้งในความเห็นเป็นอารมณ์ แต่ให้เข้าใจเจตนาที่แท้จริงของผู้สอนนั้น

          การทำให้เป็นคนว่าง่ายนั้นทำได้ ดังนี้

          1. ลดมานะของตัว คือ การไม่ถือดี ไม่ถือตัว ความไม่สำคัญตัวเองว่าเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ เช่น ถือตัวว่าการศึกษาดีกว่า เป็นต้น

          2. ละอุปาทาน คือ การไม่ยึดถือในสิ่งที่เรามี เราเป็น หรือถือมั่นในอำนาจกิเลสต่าง ๆ

          3. มีสัมมาทิฏฐิ คือ มีปัญญาที่เห็นชอบ การเห็นถูกเห็นควรตามหลักอริยสัจ 4 เชื่อเรื่องความไม่เที่ยง เชื่อในเรื่องบุญเรื่องบาป เป็นต้น

29. การได้เห็นสมณะ

          คำว่า สมณะ แปลตรงตัวได้ว่า ผู้สงบ (หมายถึง ผู้อยู่ในสมณเพศ) ท่านว่าคุณสมบัติของสมณะต้องประกอบไปด้วย 3 อย่าง คือ

          1. ต้องสงบกาย คือ มีความสำรวมในการกระทำทุกอย่าง รวมถึงกิริยา มรรยาท ตามหลักศีลธรรม

          2. ต้องสงบวาจา คือ การพูดจาให้อยู่ในกรอบของความพอดี มีความสุภาพสงบเสงี่ยมในคำพูดและภาษาที่ใช้ เป็นไปตามข้อปฏิบัติ ประเพณี

          3. ต้องสงบใจ คือ การทำใจให้สงบปราศจากกิเลสครอบงำ ไม่ว่าจะเป็น โลภ โกรธ หลง หรือความพยาบาทใด ๆ ตั้งมั่นอยู่ในสมาธิภาวนา

          การได้เห็นสมณะ มีดังนี้ 

          1. เห็นด้วยตา ความหมายก็ตรงตัวคือ การเห็นจากการสัมผัสด้วยสายตาของตนเอง แล้วมีความประทับใจในความสำรวมในกาย

          2. เห็นด้วยใจ เนื่องจากความสำรวมกาย วาจา ใจของสมณะจะช่วยโน้มน้าวจิตใจของเราให้โอนอ่อนผ่อนตาม และรับฟังหลักคำสอนด้วยใจที่ยินดี ซึ่งนั่นก็หมายถึง การเปิดใจเราให้สมณะได้ชี้นำนั่นเอง

          3. เห็นด้วยปัญญา หมายความถึงการรู้โดยการใช้ปัญญาใคร่ครวญ พิจารณาในการสัมผัสและเข้าถึงและรับรู้ถึงคำสอนของสมณะผู้นั้น และรู้ว่าท่านเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอย่างแท้จริง

          เมื่อเห็นแล้วก็ต้องทำอย่างนี้ คือ

          1. ต้องเข้าไปหา คือ เข้าไปขอคำแนะนำ ชี้แนะจากท่าน หรือให้ความเคารพท่าน

          2. ต้องเข้าไปบำรุงช่วยเหลือ คือ การช่วยเหลือท่านในโอกาสอันควร เพื่อแบ่งเบาภาระของท่าน

          3. ต้องเข้าไปฟัง คือ การรับฟังคุณธรรม หลักคำสอนของท่านมาไว้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาชีวิต

          4. หมั่นระลึกถึงท่าน คือ การระลึกถึงความดีที่ท่านมีแล้วนำมาเป็นตัวอย่างกับตัวเราเอง

          5. รับฟังรับปฏิบัติ คือ การรับคำแนะนำของท่านมาปฏิบัติทำตามเพื่อให้เกิดผล ครั้นเมื่อติดขัดก็ใคร่แก้ไขเพื่อให้รู้จริงเห็นจริงตามนั้น

30. การสนทนาธรรมตามกาล

          การได้สนทนากันเรื่องธรรม ทำให้ขยายขอบเขตการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ และได้รู้ในสิ่งใหม่ ๆ ที่เราอาจนึกไม่ถึง หรือเป็นการเผื่อแผ่ความรู้ที่เรามีให้แก่ผู้อื่นได้ทราบด้วย

          ก่อนที่เราจะสนทนาธรรม ควรต้องพิจารณาและคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้ คือ

          1. ต้องรู้เรื่องที่จะพูดดี

          2. ต้องพูดเรื่องจริง มีประโยชน์

          3. ต้องเป็นคำพูดที่ไพเราะ

          4. ต้องพูดด้วยความเมตตา

          5. ต้องไม่พูดจาโอ้อวด ยกตนข่มท่าน

          ข้อปฏิบัติเมื่อมีการสนทนาธรรม

          1. มีศีลธรรม คือ การเป็นผู้ที่รักษาศีล 5 หรือศีล 8 เป็นนิจศีลอยู่แล้ว การเป็นผู้ปฏิบัติถือเป็นหน้าที่ขั้นต้นในการเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี

          2. มีสมาธิดี คือ การมีจิตใจจดจ่ออยู่กับเรื่องที่สนทนา ไม่ว่อกแว่ก พร้อมทั้งเป็นผู้ที่หมั่นเจริญสมาธิภาวนาด้วย

          3. แต่งการสุภาพ คือ การแต่งตัวให้เหมาะสมกับยุคสมัย อยู่ในกรอบประเพณีของสังคมแวดล้อม ณ ที่นั้น ๆ ถูกกาลเทศะ

          4. มีกิริยาสุภาพ คือ มีความสุภาพในท่วงท่า ไม่ว่าจะเดิน นั่ง ยืน หรือการกระทำใด ๆ การที่มีกิริยางดงาม สุภาพ ย่อมโน้มน้าวจิดใจผู้พบเห็นให้เกิดความประทับใจที่ดี

          5. ใช้วาจาสุภาพ คือ การใช้ถ้อยคำที่สุภาพในการสนทนา ไม่ใช้คำหยาบคาย หรือก้าวร้าว

          6. ไม่กล่าวค้านพระพุทธพจน์ คือ การไม่นำเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นข้อสงสัย หรือกล่าวค้าน เพราะสิ่งที่กล่าวไว้ในพระพุทธพจน์ย่อมเป็นความจริงตลอดกาล

          7. ไม่ออกนอกประเด็นที่ตั้งไว้ คือ การพูดให้อยู่ในหัวข้อที่ตั้งไว้ ไม่พูดแบบน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง

          8. ไม่พูดนานจนน่าเบื่อ คือ การเลือกเวลาที่เหมาะสมตามสถานการณ์ เนื่องจากเรื่องบางเรื่องอาจไม่จำเป็นต้องขยายความมากเกินไป

31. การบำเพ็ญตบะ

          ตบะ โดยความหมายแปลว่า ทำให้ร้อน ไม่ว่าด้วยวิธีใด การบำเพ็ญตบะ หมายความถึง การทำให้กิเลส ความรุ่มร้อนต่าง ๆ หมดไป หรือเบาบางลง ลักษณะการบำเพ็ญตบะ มีดังนี้

          1. การมีใจสำรวมในอินทรีย์ทั้ง 6 (อายตนะภายใน 6 อย่าง) ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไม่ให้หลงติดอยู่กับสัมผัสภายนอกมากเกินไป ไม่ให้กิเลสครอบงำใจเวลาที่รับรู้อารมณ์ผ่านอินทรีย์ทั้ง 6 (อินทรีย์สังวร)

          2. การประพฤติรักษาพรหมจรรย์ เว้นจากการร่วมประเวณี หรือกามกิจทั้งปวง

          3. การปฏิบัติธรรม คือ การรู้และเข้าใจในหลักธรรม เช่น อริยสัจ เป็นต้น ปฏิบัติตนให้อยู่ในศีล และถึงพร้อมด้วยสมาธิ และปัญญา โดยมีจุดหมายสูงสุดที่พระนิพพาน กำจัดกิเลส ละวางทุกสิ่งได้หมดสิ้นด้วยปัญญา

32. การประพฤติพรหมจรรย์

          คำว่าพรหมจรรย์ หมายความถึง การบวชซึ่งละเว้นเมถุน การครองชีวิตที่ปราศจากเมถุน การประพฤติธรรมอันประเสริฐ ท่านว่าลักษณะของธรรมที่ถือว่าเป็นการประพฤติพรหมจรรย์นั้น (ไม่ใช่ว่าต้องบวชเป็นพระ) มีอยู่ดังนี้

          1. ให้ทาน บริจาคทานไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ สิ่งของ เงินทอง หรือปัญญา

          2. ช่วยเหลือผู้อื่นในกิจการงานที่ชอบ ที่ถูกที่ควร (เวยยาวัจจมัย)

          3. รักษาศีล 5 คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ทำผิดในกาม ไม่พูดปด ไม่ดื่มน้ำเมา (เบญจศีล)

          4. มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา กับคนที่เราต้องพบปะด้วยทุกคน (อัปปมัญญา)

          5. งดเว้นจากการเสพกาม (เมถุนวิรัติ)

          6. ยินดีในคู่ของตน คือ การมีสามีหรือภรรยาคนเดียว (สทารสันโดษ)

          7. เพียรพยายามที่จะละความชั่ว ไม่ท้อถอยในความบากบั่น (วิริยะ)

          8. รักษาซึ่งศีล 8 คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ร่วมประเวณี ไม่พูดปด ไม่ดื่มน้ำเมา ไม่บริโภคอาหารตั้งแต่เที่ยงวันเป็นต้นไป ไม่ฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการละเล่น ใช้ของหอมหรือเครื่องประดับ ไม่นอนบนที่สูงใหญ่ หรูหรา (อุโบสถ)

          9. ใช้ปัญญาเห็นแจ้งใน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (อริยธรรม)

          10. ศึกษาปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา ให้รู้แจ้งเห็นจริง (สิกขา)

          *ขออธิบายเพิ่มเติมว่า ข้อ 5 ที่บอกว่าให้งดเว้นการเสพกาม แต่ข้อ 6 ให้ยินดีในคู่ของตนนั้น เพราะว่าการประพฤติพรหมจรรย์ในที่นี้หมายถึง บุคคลทั่วไปที่อาจมีครอบครัวแล้ว ก็ประพฤติพรหมจรรย์ได้โดยการงดเว้นการร่วมประเวณี เช่น ในวันสำคัญ ๆ 

33. การเห็นอริยสัจ

          อริยสัจ หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ หลักแห่งอริยสัจมีอยู่ 4 ประการตามที่ท่านได้สั่งสอนไว้ มีดังนี้

          1. ทุกข์ คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ความเป็นจริงของสัตว์โลกทุกผู้ทุกนามต้องมีทุกข์ 3 ประการ คือ การเกิด ความแก่ ความตาย นอกจากนี้ก็มีความทุกข์ที่เป็นอาการ หรือเกิดจากสภาพแวดล้อม สรุปได้ดังนี้

          -ความโศกเศร้า (โสกะ)

          -ความรำพันด้วยความเสียใจ (ปริเทวะ)

          -ความเจ็บไข้ได้ป่วย (ทุกขะ)

          -ความเสียใจ (โทมนัส)

          -ความท้อแท้ สิ้นหวัง คับแค้นใจ (อุปายาส)

          -การตรอมใจ ผิดหวังจากสิ่งที่ไม่รัก (อัปปิเยหิ สัมปโยโค)

          -การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก (ปิเยหิ วิปปโยคะ)

          -ความหม่นหมองเมื่อปรารถนาแล้วไม่ได้สิ่งนั้น (ยัมปิจฉัง นลภติ)

          2. สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ นอกจากเหตุแห่งทุกข์ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ต้นตอของทุกข์ก็อยู่ที่ใจของเราด้วย นั่นก็คือ ความอยาก ท่านว่าเป็นตัณหา 3 อย่าง ซึ่งแบ่งออกได้ ดังนี้ 

          - ความอยากได้ หมายรวมถึง อยากทุกอย่างที่นำมาสนองสัมผัสทั้ง 5 และกามารมณ์ (กามตัณหา)

          - ความอยากเป็น คือ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ (ภวตัณหา)

          - ความไม่อยากเป็น คือ ความไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ (วิภวตัณหา)

          3. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ ภาวะที่ตัณหาดับสิ้นไป ความหลุดพ้น หรือหมายถึง ภาวะของพระนิพพานนั่นเอง

          4. มรรค คือ ข้อปฏิบัติ หรือหนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ การเดินทางสายกลางเพื่อไปให้ถึงการดับทุกข์ มรรคมี 8 ประการ คือ

          - ความเห็นชอบ เช่น ความศรัทธาในเบื้องต้นต่อหลักธรรม คำสอน เช่น การเชื่อว่ากรรมดีกรรมชั่วมีจริง เป็นต้น (สัมมาทิฏฐิ)

          - ความดำริชอบ หรือความคิดชอบ มีความคิดที่ถูกต้องตามหลักธรรม เช่น การใช้ปัญญาพิจารณาความไม่เที่ยงของสังขาร หรือการไม่คิดอยากได้ของเขามาเป็นของเรา เป็นต้น (สัมมาสังกัปปะ)

          - เจรจาชอบ คือ การปฏิบัติตามหลักธรรม ไม่พูดโกหก ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ เป็นต้น (สัมมาวาจา)

          - ทำการชอบ หรือการมีการกระทำที่ไม่ผิดหลักศีลธรรม เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ เป็นต้น (สัมมากัมมันตะ)

          - เลี้ยงชีพชอบ คือ การทำมาหากินในทางที่ถูก ไม่เบียดเบียนหรือทำความเดือดร้อนให้กับสัตว์หรือผู้อื่น อยู่ในหลักธรรมที่กำหนด เช่น ไม่มีอาชีพค้ามนุษย์ หรืออาชีพค้าอาวุธ เป็นต้น (สัมมาอาชีวะ)

          - ความเพียรชอบ คือ การหมั่นทำนุบำรุงในสิ่งที่ถูกต้อง เช่น การพยายามละกิเลสออกจากใจ หรือการพยายามสำรวม กาย วาจา ใจให้ดำเนินตามหลักธรรมของท่าน เป็นต้น (สัมมาวายามะ)

          - ความระลึกชอบ คือ มีสติตั้งมั่นในสิ่งที่ถูกต้องตามหลักธรรม เช่น การพึงระลึกถึงความตายที่ต้องเกิดกับทุกคน เป็นต้น (สัมมาสติ)

          - จิตตั้งมั่นชอบ คือ มีจิตที่มีสมาธิ ไม่ว่อกแว่กหรือคิดฟุ้งซ่าน และการทำสมาธิภาวนาตามหลักการที่ท่านได้บัญญัติแนะนำเอาไว้ (สัมมาสมาธิ)

34. การทำให้แจ้งในพระนิพพาน

          นิพพาน คือ ภาวะของจิตที่ดับกิเลสได้หมดสิ้น หลุดจากอำนาจกรรม และไม่ต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏอีก ซึ่งก็คือพ้นจากทุกข์นั่นเอง

          ท่านว่าลักษณะของนิพพานมีอยู่ 2 ระดับ ดังนี้

          1. การดับกิเลสขณะที่ยังมีเบญจขันธ์เหลืออยู่ หรือการเข้าถึงนิพพานขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ - อุปาทิเสสนิพพาน

          2. การดับกิเลสที่ไม่มีเบญจขันธ์เหลืออยู่เลย คือ การที่ร่างกายเราแตกดับแล้วไปเสวยสุขอันเป็นอมตะในพระนิพพาน (ตรงนี้ไม่สามารถอธิบายให้กระจ่างมากไปกว่านี้ได้) - อนุปาทิเสสนิพพาน

          การที่จะเข้าถึงพระนิพพานได้ ต้องปฏิบัติธรรมและเจริญสมาธิภาวนาจนถึงขั้นสูงสุด

35. มีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม

          คำว่า โลกธรรม มีความหมายถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำบนโลกนี้ ซึ่งเราไม่ควรมีจิดหวั่นไหวต่อสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ท่านว่าลักษณะของโลกธรรมมี 4 ประการ คือ

          1. การได้ลาภ เมื่อมีลาภผลก็ย่อมมีความเสื่อมเป็นธรรมดา มีแล้วก็ย่อมหมดไปได้ เป็นแค่ความสุขชั่วคราวเท่านั้น

          2. การได้ยศ ยศฐาบรรดาศักดิ์ล้วนเป็นสิ่งสมมุติขึ้นมาทั้งนั้น เป็นสิ่งที่คนยอมรับกันว่าเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ พอหมดยศก็หมดบารมี

          3. การได้รับการสรรเสริญ ที่ใดมีคนนิยมชมชอบ ที่นั่นก็ย่อมต้องมีคนเกลียดชังเป็นเรื่องธรรมดา การถูกนินทาจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ

          4. การได้รับความสุข ที่ใดมีสุขที่นั่นก็จะมีทุกข์ด้วย มีความสุขแล้วก็อย่าหลงระเริงไปจนลืมนึกถึงความทุกข์ที่แฝงมาด้วย

          การทำให้จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม มีวิธีดังนี้

          1. ใช้ปัญญาพิจารณา โดยตั้งอยู่ในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา พิจารณาอยู่เนือง ๆ ถึงหลักธรรมต่าง ๆ

          2. เจริญสมาธิภาวนา ใช้กรรมฐานพิจารณาถึงความเป็นไปในความไม่เที่ยงในสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก และสังขาร

36. มีจิตไม่โศกเศร้า

          ท่านว่ามีเหตุอยู่ 2 ประการที่ทำให้จิตเราต้องโศกเศร้า คือ

          1. ความโศกเศร้าที่เกิดเนื่องมาจากความรัก รวมถึงรักสิ่งของ ทรัพย์สินเงินทองด้วย

          2. ความโศกเศร้าที่เกิดจากความใคร่

          การทำให้จิตใจไม่โศกเศร้านั้น มีข้อแนะนำ ดังนี้

          1. ใช้ปัญญาพิจารณาอยู่เนือง ๆ ถึงความไม่เที่ยงในสิ่งของทั้งหลาย และร่างกายของเรา

          2. ไม่ยึดมั่นในตัวตน หรือความจีรังยั่งยืน ในคนหรือสิ่งของว่าเป็นของเรา

          3. ทุกอย่างในโลกล้วนเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ แม้ร่างกายเราก็ใช้เป็นที่อาศัยชั่วคราวเท่านั้น

          4. คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่เที่ยงด้วยกันทั้งนั้น

37. มีจิตปราศจากกิเลส

          กิเลส คือ สิ่งที่ทำให้เกิดความเศร้าหมอง ซึ่งได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ท่านได้แบ่งประเภทของกิเลส ออกเป็นดังนี้ 

          1. ราคะ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น

          - ความโลภอย่างแรงจนแสดงออกมา เช่น การลักขโมย ปล้น จี้ ข่มขืนกระทำชำเรา เป็นต้น (อภิชฌาวิสมโลภะ)

          - ความเพ่งเล็งจะเอาของคนอื่นมาเป็นของตัว มีใจอยากได้ของคนอื่นแต่ยังไม่ถึงกับแสดงออก (อภิชฌา)

          - ความอยากได้ในทางไม่ชอบ เช่น การยอมรับสินบน การทุจริตเพื่อแลกกับการมีทรัพย์เป็นต้น (ปาปิจฉา)

          - ความมักมากเห็นแก่ได้ ด้วยการเอามาเป็นของตนจนเกินพอดี เอาประโยชน์ใส่ตัวโดยไม่คำนึงถึงคนอื่น (มหิจฉา)

          - ความยินดีในกาม คือ ยังไม่สามารถละกิจกรรมทางเพศได้ ยังมีความรู้สึก มีแรงกระตุ้น มีความพอใจในเรื่องเพศ (กามราคะ)

          - ความยินดีในรูปธรรมอันประณีต ก็คือติดอยู่ในอารมณ์ของรูปฌาณ ปรารถนาในรูปของภพเมื่อทำสมาธิขั้นสูงขึ้นไป (รูปราคะ)

          - ความยินดีในอรูปฌาณ คือ ติดอยู่ในอารมณ์ของอรูปฌาณเมื่อทำสมาธิถึงภพของอรูปพรหม (อรูปราคะ)

          2. โทสะ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น

          - พยาบาท คือ การผูกใจอาฆาต มีใจที่ไม่หวังดี การจองเวร

          - โทสะ คือ การคิดประทุษร้าย เนื่องด้วยมีใจพยาบาทแล้วก็มีใจคิดหมายทำร้าย

          - โกธะ คือ ความโกรธ ความเดือดร้อนใจ ซึ่งล้วนเป็นเหมือนไฟที่เผาตัวเอง

          - ปฏิฆะ คือ ความขัดใจ ความไม่พอใจอันทำให้อารมณ์หงุดหงิด

          3. โมหะ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น

          - ความเห็นผิดเป็นชอบ เช่น การไม่เชื่อในเรื่องบาป เรื่องบุญเป็นต้น (มิจฉาทิฐิ)

          - ความหลงผิด ไม่รู้ตามความเป็นจริง (โมหะ)

          - การเห็นว่ามีตัวตน เช่น การเชื่อในสิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่าเท่านั้น (สังกายทิฏฐิ)

          - ความสงสัย คือ สงสัยในพระธรรม คำสั่งสอนในเรื่องการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ (วิจิกิจฉา)

          - การยึดถืออย่างงมงาย เช่น การไปกราบไหว้สัมภเวสีที่อยู่ตามต้นไม้ ขอลาภเป็นต้น (สีลัพพตปรามาส)

          - ความถือตัว คือ การสำคัญตัวเองผิดว่าเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้ (มานะ)

          - ความฟุ้งซ่าน คือ การที่จิตใจว่อกแว่ก คิดไม่เป็นสาระ ไม่อยู่กับร่องกับรอย ไม่มีสมาธิ หรือการทำสมาธิไม่นิ่ง (อุทธัจจะ)

          - ความไม่รู้จริง คือ การที่รู้แค่ผิวเผิน หรือการทึกทักเอาเอง ไม่ปฏิบัติตามหลักพระธรรม ยังไม่เกิดปัญญา (อวิชชา)

          โทษของการมีกิเลสดังกล่าวข้างต้นพอสรุปได้สั้น ๆ ดังนี้

          1. ราคะ มีโทษน้อย แต่คลายช้า

          2. โทสะ มีโทษมาก แต่คลายเร็ว

          3. โมหะ มีโทษมาก แต่คลายช้า

38. มีจิตเกษม

          เกษม หมายถึง มีความสุข สบาย หรือสภาพที่มีจิตใจที่เป็นสุข มีจิดเกษมก็คือมีจิตที่เป็นสุข ในที่นี้หมายถึง การละแล้วซึ่งกิเลส ที่ท่านว่าไว้ว่าเป็นเครื่องผูกอยู่ 4 ประการ คือ

          1. การละกามโยคะ คือ การละความยินดีในวัตถุ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายเรียกว่ากามคุณ ซึ่งประกอบด้วย รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส

          2. การละภวโยคะ คือ การละความยินดีในภพ โดยให้เห็นว่าสิ่งใด ๆ ในโลกล้วนไม่เที่ยงแท้ หรือคงอยู่ตลอดไป

          3. การละทิฏฐิโยคะ คือ การละความยินดีในความเห็นผิดเป็นชอบ โดยให้ดำเนินตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่กล่าวมาแล้ว

          4. การละอวิชชาโยคะ คือ การละความยินดีในอวิชชาทั้งหลาย ความไม่รู้ทั้งหลาย โดยให้มุ่งปฏิบัติเพื่อปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก 
tripod.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มงคล 38 ประการ พร้อมความหมาย อัปเดตล่าสุด 10 พฤษภาคม 2564 เวลา 08:31:34 1,751,852 อ่าน
TOP
x close