x close

ความขัดแย้งของประเทศไทย...ในมุมมอง ศุ บุญเลี้ยง







เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการที่นี่ตอบโจทย์ โพสต์โดยคุณ LadyBimbettes สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม

           ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รายการที่นี่ตอบโจทย์ ทางช่องไทยพีบีเอส ได้เชิญศิลปิน นักคิด นักเขียนชื่อดังหลายท่านมาเปิดมุมมองเกี่ยวกับเรื่องการเมือง และอนาคตของประเทศไทย ซึ่งก็มีหลายคนที่ประกาศชัดเจนว่าตนเองอยู่สีอะไร มีมุมมองอย่างไรบ้าง

           และเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา อีกหนึ่งนักคิด นักเขียน และศิลปินที่ได้มาเป็นแขกรับเชิญของรายการ ก็คือ จุ้ย-ศุ บุญเลี้ยง อดีตนักร้องนำวงเฉลียง ซึ่งเขาก็มีมุมมองเกี่ยวกับประเทศไทยที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ลองไปติดตามแนวคิดจากผู้ชายคนนี้กันดู

           เริ่มต้นด้วยคำถามแรกคือ "เมื่อวันก่อนทางรายการเชิญ "หงา คาราวาน" มาออกรายการ ก็ชัดเจนว่า สีเหลือง ส่วน "วิสา คัญทัพ" ก็ชัดเจนว่า สีแดง ถ้าเช่นนั้น ศุ บุญเลี้ยง อยู่สีอะไร"...นักร้องดัง บอกว่า เขาไม่ได้กั๊กคำตอบนะ แต่เท่าที่เรารู้จัก เรายังไม่ได้เป็นสีเดียวกับคนเหล่านั้น บางอย่างก็เชื่อเหมือนเขา แต่ไม่สามารถเข้าไปร่วมสังกัดกับเขาได้ หากจะไปแดง ก็จะถูกหาว่าเป็นแดงเทียม หากไปเหลือง ก็จะถูกมองว่าเป็นเหลืองอ่อนเกินไป (หัวเราะ) ถ้ามีตัวเลือกแค่ ก.ไก่ ข.ไข่ ให้นักเรียนเลือกก็คงน้อยเกินไป น่าจะมีหลาย ๆ สี โดยธรรมชาติเขาก็ไม่ได้ชอบกีฬาสี แต่สมัยเรียนในโรงเรียนเขามีอยู่ 4 สี เพราะฉะนั้น ถ้าให้เลือกแค่สอง มันน้อยเกินไป ยังเลือกไม่ถูก

           ทั้งนี้ ในแวดวงนักเขียนก็มีทั้งแดงเข้ม แดงอ่อน เหลืองเข้ม เหลืองอ่อน กลาง ๆ แล้ว พี่จุ้ย อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งได้อย่างไร?...ศุ บุญเลี้ยง ตอบว่า ตนเองเป็นคนชอบความขัดแย้ง แต่ไม่ชอบความรุนแรง ที่ผ่านมา ตนก็อยู่กับความขัดแย้งมาตลอด ทั้งความขัดแย้งในตัวเอง ความขัดแย้งในครอบครัว ตนมองว่า ความขัดแย้งเป็นที่มาของงานศิลปะ แต่เมื่อขัดแย้งแล้วต้องลงตัว ในความขัดแย้งมีความงามอยู่ ถ้าเราไปให้ถึงความงามนั้น


           "ผมไม่อยากให้สังคมนี้สามัคคีโดยที่คนคิดเหมือนกัน ผมอยากให้นักเขียนมีแบบนี้แหละ เยอะกว่านี้ยิ่งดี ผมรู้สึกว่า ผมฉลาดขึ้นทุกทีที่ผมได้ฟังได้ดูมุมมองของแต่ละคน" ศุ บุญเลี้ยง แสดงความคิดเห็น





           อย่างไรก็ตาม หลายคนก็ไม่ยอมรับฟังทั้งสองฝ่าย มักจะฟังแต่ฝ่ายของตัวเองเท่านั้น ซึ่ง ศุ บุญเลี้ยง ก็บอกว่า นี่เป็นปัญหาของการฟัง เพราะโดยธรรมชาติ มนุษย์มักจะยอมฟังสิ่งที่ใกล้เคียงกับตนเอง แต่บังเอิญตนชอบฟังทั้งที่คิดเหมือน และคิดต่าง มันสนุกคนละแบบ และเราต้องไม่ลืมว่า แม้แต่ศาสนาพุทธยังไม่ได้มีนิกายเดียว และไม่มีใครออกมาเรียกร้องให้ศาสนาพุทธมีนิกายเดียวด้วย มันไม่จำเป็น

           "สังคมไม่จำเป็นต้องลดความขัดแย้ง แต่ถ้าเราทำความขัดแย้งให้ปรากฏชัด ผมว่ามันจะลดความรุนแรงได้ ถ้าผมไม่ได้เลือกสี ก็ไม่ได้แปลว่าคนที่เลือกสีเขาผิด เพราะเขาไม่ได้อยู่ในภาวะเดียวกันกับผม ถ้าผมถูกกระทำบางอย่าง ผมก็อาจจะต้องเลือกบางอย่าง มันเป็นวิธีคิดที่ธรรมดามาก" ศุ บอก


           นักคิดคนดัง ยังบอกด้วยว่า สังคมสมัยนี้เปิดกว้างให้คนแสดงทรรศนะมาก คนสนใจการเมืองมากขึ้น แต่จะทำอย่างไรให้การสนใจในการยกระดับขึ้น เช่น ไปอยู่กับบุคคล อย่าไปยึดติดกับสถานการณ์มาก ให้มองปรากฏการณ์มากกว่า สำหรับตนมองว่า การเมืองไม่ใช่เรื่องที่บริสุทธิ์ มันเหมือนปลา คือ มันมีกลิ่นคาว แต่เราส่งเสริมให้คนกิน เพราะมันมีประโยชน์ เราต้องหาวิธีจัดการกับความคาว นอกจากนี้มันก็มีก้างด้วย ถ้ากินไม่ดีก็ตำคอ แต่เราก็ไม่เคยเห็นใครห้ามลูกกินปลา แต่เราหาวิธีกินอย่างไรไม่ให้ก้างมันตำ

           "เพราะฉะนั้น เราควรอยู่กับความขัดแย้งทางความคิด ไม่เช่นนั้นจะมีฝ่ายค้านหรือ หรือถ้าบริษัทมีลูกน้องคิดเหมือนกันหมด เราเอาเหรอ ไม่ได้ เดี๋ยวเกิดการฮั้วกันมาโกงเรา ดังนั้น ความขัดแย้งคือสีสัน อยากให้คนดูได้เรียนรู้ และสนุกไปกับความขัดแย้ง และอยากให้สมาคมนักเขียนจัดเวทีให้คนที่ขัดแย้งกันมาพูด คนอื่น ๆ จะได้ฟัง มันก็ช่วยให้เราฉลาดขึ้น" พี่จุ้ย ยืนยัน





           ฟัง ๆ ดูแล้ว ก็แสดงว่า ศุ บุญเลี้ยง เป็นคนที่สามารถรับฟังได้ทั้งสองฝ่าย แต่ถึงกระนั้นก็เชื่อว่า ต้องมีคนใกล้ตัว หรือญาติพี่น้องของตัวเองที่อยู่กันคนละฝ่ายแน่ ๆ แล้วจะคุยกันอย่างไร? ศุ บอกว่า บ้านของเขามีคนที่คิดไม่เหมือนกันแน่นอน แต่เราก็ต้องตกลงกัน เช่น พ่อของตนบอกว่า ความยุติธรรมไม่ได้แปลว่าต้องได้เท่ากัน สมมติ น้องตีพี่ แต่พี่จะตีน้องกลับไม่ได้ ไม่ได้แปลว่ายุติธรรม ถ้าน้องตีพี่ พี่ต้องสอนน้อง สอนไม่ได้ก็ให้พ่อสอน แต่ถ้าพี่ไปตีน้อง อันนี้ พ่อต้องตีพี่กลับ ความยุติธรรมมันไม่เหมือนกัน ความยุติธรรมมันมองเผิน ๆ ไม่ได้

           "มีคนบอกว่า ประเทศไทยไม่ได้มีสองมาตรฐานนะ แต่มันมีหลายมาตรฐาน ผมมองก็ว่าจริง เพราะมันยังมีอะไรหลายอย่างที่ไม่เป็นธรรม มันยังมีอำนาจที่นอกเหนือไปจากที่เราจะจัดการได้ในเร็ววัน แต่มันมีประเทศไหนหรือที่เจริญโดยผ่านความสงบ ผมเห็นเมื่อก่อน เกาหลี ก็ประท้วงกันจัง แล้วประเทศเขาก็เจริญ เพราะการประท้วงคือการแสดงออกอย่างหนึ่งที่นำมาซึ่งความเจริญแบบหนึ่ง การเมืองทำให้เราเสียอะไรไปหลายอย่าง เช่น อาคารบ้านเรือน เพราะฉะนั้น เราเสียแล้ว ก็ควรได้อะไรคืนมาบ้างจากความขัดแย้งครั้งนี้ ไม่ใช่เลิก ๆ กันไป แล้วทุกอย่างกลับไปสงบเหมือนเดิม ซึ่งมันก็ไม่ใช่ว่าจะดีนะ"

           ถึงตรงนี้ ผู้ดำเนินรายการถามว่า ถ้าเช่นนั้นเราควรได้อะไรคืนมาจากความสูญเสียครั้งนี้ ... ศุ บุญเลี้ยง บอกว่า ที่ตนคิดอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ความจริง ความรู้ ประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง และรายละเอียด อย่างสมัยก่อน เราเรียนประวัติศาสตร์จากห้องเรียน แต่ทุกวันนี้ เราสามารถหาข้อมูลได้หลากหลาย มีอะไรหลั่งไหลเข้ามาให้ระบบนิเวศทางปัญญาของตนพัฒนาขึ้น

           นั่นหมายความว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทางการเมืองสามารถให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์มากกว่าที่ผ่าน ๆ มาในสมัยก่อน?...นักเขียนคนดัง ตอบทันทีว่า ใช่ อย่างตอนที่ตนเป็นนักศึกษา ตนลงไปค่ายอาสาพัฒนาก็จะเห็นมุมหนึ่ง ไปเรียนวิชาอะไรก็จะเห็นอีกมุมหนึ่ง แต่มันเป็นมุมที่ถูกเลือกมาจากด้านเดียว แต่วันนี้ ตนเห็นหลายมุม เห็นสีสันที่เกิดขึ้น





           อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า กระแสโซเชียลมีเดียทำให้คนตื่นตัวกันมากขึ้น มีการส่งต่อข้อความข่าวสารความสนใจกันอย่างรวดเร็ว หรือแม้กระทั่งการวิพากษ์วิจารณ์ต่อว่าต่อขานก็เพิ่มมากขึ้นกลายเป็นปรากฏการณ์อีกอย่าง เรื่องนี้  พี่จุ้ย บอกว่า สำหรับตนเองก็เคยถูกโซเชียลมีเดียต่อว่าเช่นกัน

           "อย่างมีคนเขียนในทวิตเตอร์ว่า ผู้นำโง่ ผมก็ตอบไปว่า ไปว่าผู้นำโง่เดี๋ยวโดนคดีนะ 1.คดีหมิ่นประมาท 2.คดีเปิดเผยความลับทางราชการ ผมก็เขียนไปขำ ๆ แต่เฮ้ย...เขาไม่สนุกด้วย ถามว่าสิ่งที่ผมแสดงความคิดผมผิดไหม ผมไม่ผิด แต่บางครั้งผมอาจจะผิดที่กาลเทศะก็ได้ บ้านเมืองตอนนั้นกำลังรุนแรง กำลังน้ำท่วม ผมไม่ควรตลก ผมก็ต้องขอโทษที่ผมอาจจะผิดก็ได้ และถ้าใครที่พูดได้ฉลาดกว่านี้ผมก็อยากฟัง แต่ผมคิดว่า ความรุนแรงไม่แก้ปัญหา ไม่ชนะ อย่างกีฬาเทควันโด เขาไม่บุกกันเอาเป็นเอาตาย มันมีจังหวะต้องถอย เพราะถ้าเราบุกมาก เราก็อาจจะเพลี้ยงพล้ำได้ สังเกตไหม เขาถึงไม่อยากจะเตะกันก่อน ต้องรอจังหวะ" พี่จุ้ย บอก

           ศุ บุญเลี้ยง ยังมองด้วยว่า หากเราต่อสู้กันด้วยความงาม ด้วยศิลปะ ด้วยความคิด ด้วยปัญญา เรามีโอกาสที่จะชนะ และประเทศจะเจริญขึ้นเรื่อย ๆ แต่ตอนนี้ สังคมไทยเขาไม่ค่อยตลกด้วยแล้ว เราก็ต้องรู้ว่าเราอยู่ในสถานการณ์แบบไหน เราต้องเก็บอารมณ์ขันไปไว้ในที่ทางที่ถูกต้อง และถ้าเราเอาความขัดแย้งไปไว้ในที่ที่ถูกต้อง มันก็สนุก ความบันเทิงไม่ใช่ว่าเราต้องไปดูเรื่องตลก หนังฆาตกรรมก็บันเทิงได้ เราไปดูความขัดแย้งที่สูสี ก็บันเทิงได้

           ในตอนท้าย ศิลปินคนดัง ยืนยันความคิดที่ว่า อยากให้มีการจัดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจริง ๆ และมันน่าจะดีกันได้ สำหรับตัวเขา สีอะไรก็คบได้ เขาอยากไปคุยด้วยทั้งหมด ยกเว้นคนที่นิสัยไม่ดี เช่น คนที่มาเรียกร้องสิทธิมนุษยชน แต่กลับมาพ่นบุหรี่ใส่หน้าเขา หรือคุณอยากพูดให้เขาฟัง แต่คุณไม่อยากฟังใครเลย หรือพูดคำด่าคำ แบบนี้มันก็ไม่สนุก

           "ความสามัคคีไม่ได้แปลว่าต้องคิดเหมือนกัน ไม่ต้องไปให้ทุกคนคิดเหมือนกัน แต่เราจะรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์เหมือนกัน มันน่าจะได้ผลในความคิดของผม แต่ไม่ใช่ว่ารักกัน ทำทุกอย่างเหมือนกัน แต่หมายถึงว่า เราเดินกลับบ้านแล้วเราเข้าใจว่า คนไหนคิดอย่างไร เราเข้าใจอะไรในตัวเขาผิด บรรยากาศน่าจะดี" จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง กล่าวทิ้งท้าย พร้อมกับดีดกีตาร์และร้องเพลงเพลง "ตอบโจทย์" ที่เขาแต่งขึ้นปิดรายการ...












เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ความขัดแย้งของประเทศไทย...ในมุมมอง ศุ บุญเลี้ยง โพสต์เมื่อ 23 สิงหาคม 2555 เวลา 13:50:56 6,441 อ่าน
TOP