x close

คอป. แนะสื่อไทยเลิกบิดเบือน - ยั่วยุ หวนสร้างปรองดองในสังคม


คอป. แนะสื่อไทยเลิกบิดเบือน - ยั่วยุ หวนสร้างปรองดองในสังคม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Truth for Reconciliation of Thailand

         คอป. แถลง 9 ข้อเสนอแนะ สำหรับการทำหน้าที่สื่อมวลชนในการสร้างความปรองดอง โดยระบุว่า สื่อมวลชน และรัฐ ต้องร่วมมือกันเพื่อลดความขัดแย้ง และเปิดทางเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

         เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (17 กันยายน) ที่โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน คณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นครเป็นประธาน ในการสร้างความปรองดองในชาติ ได้เผย 1 ใน 21 ข้อเสนอแนะ ซึ่งถูกบรรจุไว้ใน (ร่าง) รายงานฉบับสมบูรณ์ ได้แก่ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสื่อในการสร้างความปรองดอง โดยแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อย่อย ได้แก่ 1.ข้อเสนอแนะต่อองค์กรสื่อ และ 2.ข้อเสนอแนะต่อรัฐ รวมทั้งหมด 9 ข้อ

นายคณิต ณ นคร
นายคณิต ณ นคร

         เนื่องจาก คอป. เสนอเห็นว่า การนำเสนอข้อมูลข่าวสารของ "สื่อ" เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดความแตกแยกในสังคม โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูล และการใช้ภาษาที่มีการปลุกเร้า กระตุ้นให้เกิดความเกลียดชัง และปลุกระดมให้ใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายที่เป็นปรปักษ์ อีกทั้ง ช่องทางในการรับรู้ของประชาชนมีความหลากหลาย และรวดเร็วมากขึ้น ดังนั้น คอป. จึงมีความห่วงใยต่อบทบาท และการทำงานของสื่อที่ขาดจรรยาบรรณ และขาดความรับผิดชอบต่อสังคม จึงได้จัดทำข้อเสนอแนะต่าง ๆ ดังนี้


ข้อเสนอแนะต่อองค์กรสื่อ 

         1. คอป. มีข้อเสนอแนะว่า สื่อทุกแขนงต้องมีความระมัดระวัง และมีความรับผิดชอบในการเสนอข้อมูลที่ถูก ต้องต่อสาธารณชน โดยเฉพาะสื่อของรัฐต้องมีความเป็นกลาง และให้โอกาสทุกฝ่ายเท่าเทียมกัน ทุกฝ่ายต้องหยุดใช้สื่อเพื่อปลุกระดม และยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะสื่อวิทยุชุมชน ที่ควรหลีกเลี่ยงการวิเคราะห์ และการนำเสนอข่าวในลักษณะของการท้าทาย เนื่องจากจะเป็นการทำลายบรรยากาศของการสร้างความปรองดอง

         2. คอป. ขอเรียกร้องให้สื่อทุกแขนงปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมตามกรอบจริยธรรม และหลักวิชาชีพ สื่อต้องไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง และให้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนแก่ประชาชน โดยควรตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนนำเสนอ รวมถึงไม่นำเสนอภาพความรุนแรงในลักษณะที่ชี้นำให้สังคมเห็นว่า การใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมไทย

         3. คอป. ขอเรียกร้องให้สื่อเพิ่มบทบาทในการคลี่คลายวิกฤตความขัดแย้งของประเทศ โดยทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะ หรือเป็นสื่อกลางสำหรับทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ที่มีความเห็นในสายกลาง เพื่อลดบทบาทของกลุ่มที่มีความเห็นอย่างสุดโต่งที่มุ่งประสงค์ให้เกิดความรุนแรง และคอป.อยากให้สื่อมวลชนเพิ่มบทบาทในการกระตุ้นให้สังคมช่วยกันแสวงหาทางออกในประเด็นต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์ และมีเหตุผล เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนในความขัดแย้งได้รับฟังความคิดเห็นอันหลากหลายจากสาธารณะ

         4. องค์กรวิชาชีพสื่อต้องดำเนินการอย่างจริงจังต่อสื่อที่กระทำผิดมาตรฐาน จรรยาบรรณ ควบคุมดูแลบุคลากรในวิชาชีพสื่อให้มีมาตรฐาน และมีคุณธรรม นอกจากนี้ องค์กรวิชาชีพควรให้ความรู้แก่ประชาชนว่าการกระทำลักษณะใดเป็นการละเมิด มาตรฐานจรรยาบรรณ และสามารถร้องเรียนได้ ตลอดจนกระบวนการในการตรวจสอบ และร้องเรียน เพื่อเปิดช่องทางให้มีการตรวจสอบ และร้องเรียนการกระทำของสื่อโดยประชาชน และยังเป็นการสร้างรากฐานทางความรู้ในการรับสื่ออย่างมีวิจารณญาณของประชาชนด้วย

         5. องค์กรสื่อควรสนับสนุนให้มีการให้ความรู้ และฝึกอบรมพนักงานอย่างเป็นระบบโดย เน้นถึงความสำคัญของอุดมการณ์ และจริยธรรมในวิชาชีพ ตลอดจนจัดทำคู่มือการรายงานข่าวสารในสถานการณ์ความขัดแย้งเพื่อเป็นแนวทางแก่สื่อมวลชน ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มีความอ่อนไหวให้เป็นไปโดยไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น


ข้อเสนอแนะต่อรัฐ  

         6. รัฐต้องสนับสนุนการพัฒนากลไกในการควบคุมกันเองในทางมาตรฐานจรรยาบรรณวิชาชีพของสื่อมวลชน เช่น การสนับสนุนให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิหน้าที่ และเสรีภาพของสื่อมวลชนตามมาตรฐานจริยธรรมภายใต้สภาวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งเป็นการจัดตั้งโดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายที่มีองค์ประกอบของกรรมการสภา วิชาชีพ เพื่อให้สื่อมวลชนอยู่ภายใต้การควบคุมกันเอง โดยปราศจากการแทรกแซง

         7. รัฐต้องสนับสนุนให้มีกลไกป้องกันการแทรกแซง และการคุกคามการทำงานของสื่อมวลชน ไม่ว่าจากกลุ่มการเมือง กลุ่มอิทธิพล รวมถึงกลุ่มทุนใด ๆ เพื่อให้สื่อมวลชนสามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้โดยอิสระอย่างแท้จริง และรัฐควรออกกฎหมายคุ้มครองบุคลากรในกิจการสื่อมวลชนให้มีอิสระในการนำเสนอข่าวสาร เช่น การกำหนดแยกระหว่างผู้ลงทุนในกิจการสื่อ ผู้บริหาร กับกองบรรณาธิการออกจากกันอย่างเด็ดขาด เพื่อให้กองบรรณาธิการสามารถใช้เสรีภาพภายใต้มาตรฐานจรรยาบรรณวิชาชีพ โดยไม่ตกอยู่ในอาณัติของผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการ

         8. รัฐควรส่งเสริมการให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องสิทธิหน้าที่ เสรีภาพ บทบาท และความรับผิดชอบของสื่อมวลชนต่อสังคม รวมทั้งกำหนดให้สถาบันการศึกษา หรือกระทรวงศึกษาธิการจัดให้มีบทเรียน หรือมีหลักสูตรที่จะทำให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันสื่อ เพื่อช่วยกันตรวจสอบการนำเสนอข่าวของสื่อ มากกว่าเป็นแค่ผู้บริโภคสื่อเพียงอย่างเดียว และในระยะยาวรัฐจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ เพื่อทำหน้าที่ในการคุ้มครองประชาชนด้วย

         9. รัฐต้องแสวงหาช่องทางในการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถสื่อสาร และพูดคุย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยให้สื่อมีบทบาทสำคัญในการเป็นช่องทางให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น เพื่อลดช่องว่างแห่งความขัดแย้ง และสร้างความเข้าใจร่วมกัน




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คอป. แนะสื่อไทยเลิกบิดเบือน - ยั่วยุ หวนสร้างปรองดองในสังคม โพสต์เมื่อ 18 กันยายน 2555 เวลา 11:30:08 1,926 อ่าน
TOP