นิทานพื้นบ้านภาคกลาง มีเรื่องอะไรน่าสนใจบ้าง วันนี้เรามีนิทานสนุก ๆ พร้อมได้แง่คิดและคติสอนใจมาให้อ่านกัน มีเรื่องอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
นิทานพื้นบ้าน... ถือว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เล่าสืบทอดต่อกันมา สำหรับประเทศไทยก็มีนิทานพื้นบ้านหลายต่อหลายเรื่องเลยทีเดียว ซึ่งนิทานพื้นบ้านของประเทศไทยนั้น มีโครงเรื่องง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน มีวิธีการเล่าแบบตรงไปตรงมา และแน่นอนนิทานทุกเรื่องจะแฝงไปด้วยคติธรรมสอนใจ ให้ข้อคิดดี ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน... ส่วนในวันนี้กระปุกดอทคอมก็ขอหยิบยก นิทานพื้นบ้านของภาคกลาง มาเล่าให้ฟังกัน ขอบอกเลยว่าแต่ละเรื่องนั้น สนุก ได้ข้อคิดดี ๆ ทั้งนั้นเลยล่ะค่ะ
นิทานพื้นบ้านภาคกลาง : ไกรทอง (จ.พิจิตร)
ชาละวันเป็นจระเข้เจ้า อาศัยอยู่ในถ้ำทองใต้บาดาล ในถ้ำทองจระเข้ จะกลายร่างเป็นคนได้ ชาละวันตอนกลายร่างเป็นคนจะเป็นหนุ่มรูปงาม โดยชาละวันเองมีเมียสาวสวยเป็นนางจระเข้ 2 ตัวคือ วิมาลา และเลื่อมลายวรรณ ชาละวันเป็นหลานชายของ ท้าวรำไพ ผู้เป็นจระเข้เจ้าที่อยู่ในศีลธรรม ไม่เคยจับสัตว์หรือมนุษย์กินเป็นอาหารและจะกินแต่ซากสัตว์ที่ตายแล้วเป็นอาหารเท่านั้น ชาละวันแม้อยู่ในถ้ำทองจะอิ่มทิพย์ไม่ต้องกินเนื้อ แต่ด้วยความมีนิสัยที่เป็นอันธพาล จึงชอบมาเมืองบนตามแม่น้ำลำคลอง จับคนที่เป็นชาวบ้านและสัตว์กินเพื่อความสนุกสนาน
ณ หมู่บ้านดงเศรษฐี แขวงเมืองพิจิตร มีพี่น้องฝาแฝดคู่หนึ่ง มีความงามเป็นที่เลื่องลือ ชื่อนางตะเภาแก้ว ผู้พี่ และนางตะเภาทองผู้น้อง ทั้งสองเป็นบุตรเศรษฐีคำ และคุณนายทองมา วันหนึ่งนางตะเภาแก้วและนางตะเภาทองได้ลงไปเล่นน้ำที่ท่าหน้าบ้าน ช่วงเวลานั้นเจ้าชาละวัน ซึ่งเป็นจระเข้ได้ออกมาว่ายน้ำหาเหยื่อ เมื่อได้เห็นนางตะเภาทอง ก็ลุ่มหลงในความงาม จึงโผล่ขึ้นเหนือน้ำเข้าไปคาบนางตะเภาทองแล้วดำดิ่งไปยังถ้ำทอง อันเป็นที่อยู่ของเจ้าชาละวัน
เมียของชาละวัน คือ วิมาลา และเลื่อมลายวรรณ เห็นก็ไม่พอใจแต่ก็ห้ามสามีไม่ได้ เพราะเกรงกลัวจึงต้องยอมให้ผัวมีเมียเป็นมนุษย์อีกคน เมื่อนางตะเภาทองฟื้นขึ้นมาเจ้าชาละวันก็เกี้ยวพาราสี แต่นางตะเภาทองก็ไม่สนใจ เจ้าชาละวันจึงจำต้องใช้เวทมนตร์สะกดให้นางตะเภาทองหลงรัก และยอมเป็นภรรยาตั้งแต่นั้นมา
เศรษฐีคำและคุณนายทองมาโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างมาก ที่นางตะเภาทองบุตรสาวคนเล็กถูกเจ้าชาละวันคาบไป และคิดว่าบุตรสาวตนคงตายไปแล้ว ด้วยความรักในบุตรสาวและความแค้นในเจ้าชาละวัน จึงประกาศออกไปว่าใครที่พบศพนางตะเภาทอง และสามารถปราบจระเข้ตัวนี้ได้จะมอบสมบัติของตนเองให้ครึ่งหนึ่ง และจะให้แต่งงานกับนางตะเภาแก้วด้วย
แต่ก็ไม่มีหมอจระเข้คนไหนสามารถปราบเจ้าชาละวันได้ นอกจากกลายเป็นเหยื่อของเจ้าชาละวันคนแล้วคนเล่า จนในที่สุดก็มีชายหนุ่มรูปงามนามว่า ไกรทอง ซึ่งได้ร่ำเรียนวิชาการปราบจระเข้จากอาจารย์คง จนมีความเก่งกล้า ได้อาสามาปราบเจ้าชาละวัน แต่อาจารย์คงรู้ว่าเจ้าชาละวันเป็นพญาจระเข้มีอำนาจมาก และหนังเหนี่ยว ฆ่าฟันไม่ตาย เนื่องจากมีเขี้ยวเพชรทำให้อยู่ยงคงกระพัน จึงได้มอบหอกสัตตโลหะ , เทียนระเบิดน้ำ เสื้อยันต์และลูกประคำปลุกเสก แก่ไกรทอง
รุ่งเช้าตั้งพิธีบวงสรวงพร้อมอ่านคาถา ทำให้เจัาชาละวันเกิดร้อนลุ่มต้องออกจาก ถ้ำขึ้นมาต่อสู้กับไกรทอง ไกรทองกระโดดขึ้นบนหลังจระเข้ และแทงด้วยหอกสัตตโลหะ ทำให้อาคมของเขี้ยวเพชรเสื่อม หอกได้ทิ่มแทงเจ้าชาละวันจนบาดเจ็บสาหัส และได้หนีกลับไปที่ถ้ำ แต่ไกรทองก็ใช้เทียนระเบิดน้ำตามไปต่อสู้อีกในถ้ำ
ระหว่างที่เข้าไปในถ้ำไกรทองก็พบกับวิมาลา เมียของชาละวัน ด้วยความเจ้าชู้จึงเกี้ยวพาราสี นางวิมาลาจนนางใจอ่อนยอมเป็นชู้ และบอกทางไปช่วยนางตะเภาทอง
ไกรทองตามมาต่อสู้กับเจ้าชาละวันในถ้าต่อจนเจ้าชาละวันตาย และไกรทองก็ได้พานางตะเภาทองกลับขึ้นมา เศรษฐีดีใจมากจึงจัดงานแต่งงานให้ไกรทองกับนางตะเภาแก้ว พร้อมมอบสมบัติให้ครึ่งหนึ่ง แถมนางตะเภาทองให้อีกคน ไกรทองจอมเจ้าชู้ก็รับไว้ ด้วยความยินดี
แต่ยังไม่จบแค่นั้นด้วยความเจ้าชู้ของไกรทองแม้ชาละวันตายไป ไกรทองก็ยังหลงรสรักกับนางวิมาลา จึงไปหาสู่ที่ถ้ำทอง และคิดจะพานางวิมาลาไปอยู่กินด้วย โดยทำพิธีทำให้นางยังคงเป็มมนุษย์แม้ออกนอกถ้ำทอง นางตะเภาแก้วและนางตะเภาทองจับได้ว่า สามีไปมาหาสู่นางจระเข้ จึงไปหาเรื่องกับนางในร่างมนุษย์จนนางวิมาลาทนไม่ไหวกลับร่างเป็นจระเข้และไกรทองต้องออกไปห้ามไม่ให้เมียตีกันและอำลาจากนางวิมาลาด้วยใจอาวรณ์
นิทานพื้นบ้านภาคกลาง : บางแม่หม้าย (จ.สุพรรณบุรี)
มีเรื่องเล่ากันว่ามีชายหนุ่มสองพี่น้องผูกสมัครรักใคร่สาวทางบ้านบางแม่หม้าย จนถึงได้สู่ขอและกำหนดนัดวันแต่งงาน เมื่อถึงกำหนดฝ่ายเจ้าบ่าวก็เคลื่อนขบวนสำเภาขันหมากมารับพวกมโหรีที่บ้านแห่งหนึ่ง เรียกว่า บ้านบางซอซึ่งวงมโหรีได้บรรเลงเพลงมาตามทางอย่างสนุกสนาน แต่ที่สนุกที่สุดก็เมื่อเดินทางมาถึงย่านน้ำอันกว้างใหญ่ อุดมไปด้วยสัตว์น้ำที่ดุร้าย คือ จระเข้ได้เกิดพายุใหญ่พัดจนสำเภาล่มจึงเรียกสถานที่แห่งนั้นว่า บ้านสำเภาล่ม หรือสำเภาทะลายปัจจุบันเรียก บ้านสำเภาทอง
เมื่อเรือล่ม บางคนก็จมน้ำตาย บางคนก็ถูกจระเข้คาบไป เจ้าบ่าวถูกจระเข้คาบว่ายไปทางทิศเหนือ ถึงบ้านเจ้าสาวเมื่อพวกเจ้าสาวเห็นก็จำได้จึงไปบอกเจ้าสาว.. เจ้าสาวเสียใจมากวิ่งตามตลิ่งตามดูเจ้าบ่าวไปจนถึงที่แห่งหนึ่ง ซึ่งไม่อาจตามไปได้ทันท่วงทีจึงได้แต่แลมองไปจนสุดสายตาที่ที่เจ้าสาวยืนมองอยู่นี้ ต่อมาเรียกว่า วัดบ้านสุด
แม้กระนั้นนางก็มิได้ท้อถอยมุ่งหน้าติดตามไปเรื่อย ๆ จนเหนื่อยอ่อนจึงนั่งพักที่โคกแห่งหนึ่งต่อมาได้ชื่อว่า "โคกนางอ่อน" เมื่อหายเหนื่อย นางก็ตามต่อไปอีกจนถึงโพนางเซาต่อมานางได้ข่าวว่า มีจระเข้คาบคนรักไปทางทิศใต้ จึงย้อนกลับมาและพบศพนางจึงนำศพมาฌาปนกิจที่วัดต่อมาวันนั้นชื่อว่า "วัดศพ" ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดประสบสุขและบ้านเจ้าสาวจึงได้ชื่อว่า "บางแม่หม้าย" มาจนทุกวันนี้
นิทานพื้นบ้านภาคกลาง : สองพี่น้อง (จ.สุพรรณบุรี)
ที่จังหวัดสุพรรณบุรีมีคลองอยู่คลองหนึ่ง เรียกว่า "คลองสองพี่น้อง" ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอสองพี่น้อง เรื่องนี้มีนิทานเล่ากันมาแต่โบราณว่า...
สมัยหนึ่งมีชายสองคนพี่น้องอาศัยอยู่ที่คลองนี้ ทั้งสองมีอาชีพทำไร่ทำสวน ฐานะค่อนข้างมีอันจะกิน และรูปร่างหน้าตาก็หล่อเหลาเอาการ เป็นที่หมายปองของสาวในบ้านเดียวกัน แต่ชายหนุ่มทั้งสองหาสนใจไม่ ต่อมาไม่นานทั้งสองได้ข่าวว่ามีสาวงามสองคนอยู่ในตำบลท้องที่อำเภอบางปลาม้า หญิงทั้งสองนี้สวยงามมาก ชายทั้งสองพี่น้องจึงคิดต้องการนางมาเป็นคู่ครองทั้งสองคน ต่อมาสองพี่น้องได้จัดเถ้าแก่ไปสู่ขอ พ่อแม่ฝ่ายหญิงเมื่อได้ฟังคุณสมบัติของฝ่ายชายก็ไม่รังเกียจ และเห็นว่าลูกสาวของตนอายุสมควรที่จะมีคู่ครองได้แล้วจึงตอบตกลง "เมื่อมาสู่ขอลูกสาวของฉันไปตกไปแต่งทั้งที ก็ขอให้สมกับหน้าตา ฐานะหน่อยหนึ่งจะได้ไหม" พ่อขอฝ่ายหญิงกล่าวกับเถ้าแก่ ฝ่ายหญิงต้องการให้จัดขบวนขันหมากลงเรือสำเภาให้ใหญ่โต จะได้เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวบ้านแถวนี้
ครั้งถึงวันกำหนดนัด ฝ่ายชายก็จัดเครื่องขันหมากและเครื่องใช้ในการแต่งงานลงเรือสำเภา มีมโหรีปี่พาทย์ครบครัน เมื่อได้ฤกษ์ขบวนขันหมากพร้อมทั้งเจ้าบ่าวทั้งสอง ก็เริ่มเคลื่อนที่จากคลองสองพี่น้องออกไปทางแม่น้ำสุพรรณขึ้นไปทางเหนือมุ่งหน้าไปบ้านเจ้าสาว
ขณะที่เรื่อแล่นไป นักดนตรีก็เล่นดนตรีดังไปตลอดทาง จนถึงตำบลหนึ่ง เมื่อนักดนตรีเปลี่ยนเพลงมาเล่นซอ ชาวบ้านจึงเรียกที่แห่งนี้ว่า "บางซอ" เพราะนักดนตรีไปเล่นซอที่นั่น เมื่อแล่นไปอีกไม่นานเสียงดนตรีก็ยิ่งดังครึกครื้น สนุกสนาน ผู้คนในเรือก็ร้องรำกันไม่ได้หยุดที่แห่งนี้จึงเรียกว่า "บ้านสนุก"
เมื่อเรือขบวนขันหมากเลยบ้านสีสนุกไปได้ไม่นาน ก็เกิดเหตุการณ์อย่างไม่คาดคิดขึ้น คือ เรือสำเภาที่บรรทุกทั้งคนทั้งเครื่องใช้ไม้สอยสำหรับงานแต่งานได้เกิดอุบัติเหตุอับปางล่มลง คนที่มากับขบวนขันหมาก และสิ่งของเครื่องใช้จมหายไปในน้ำหมด ดังนั้น ตรงที่เรือสำเภาล่มนั้นปัจจุบันจึงเรียกว่า "สำเภาทลาย" ส่วนเจ้าบ่าวสองพี่น้องจมน้ำตายทั้งคู่ ฝ่ายเจ้าสาวทั้งสองสมกับเป็นเจ้าสาวรอขบวนขันหมากด้วยใจระทึก ต่างคนก็คิดถึงเจ้าบ่าวของตนเองว่าหน้าตาหล่อเหลาแค่ไหน แต่เมื่อมีคนมาส่งข่าวว่าขบวนเรือขันหมากของสองพี่น้องล่มลงกลางแม่น้ำเสียแล้ว และเจ้าบ่าวของเธอก็จมน้ำตายด้วย หญิงทั้งสองเสียใจมาก เธอร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าเวทนา ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกบ้านที่หญิงทั้งสองอยู่ว่า "บ้านแม่หม้าย" ซึ่งปัจจุบันก็ขึ้นอยู่กับอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
แถว ๆ โรงสี ตอนนี้เค้าถมที่กลายเป็นโรงสีไปแล้ว เขาเล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนจะมีชายแก่อยู่คนนึงเขาเรียนพวกเวทย์มนต์อะไรพวกนี้ คาถาก็มีเมีย อยู่ด้วยกันเองตายาย
วันหนึ่งก็จะไปทำบุญ เมียก็ไม่มีเรือ ตัวเองก็มีคาถาแปลงตัวเป็นจระเข้ ก็เลยแปลงตัวเป็นจระเข้ให้เมียเดินทางข้ามไปฟากนู้น เพื่อที่จะไปทำบุญที่วัด พอดีเขาก็เสกน้ำมนต์ไว้ขันนึงบอกว่า ระหว่างเดินทางให้ถือขันน้ำมนต์นี้ไปด้วย เวลาข้ามฟากแล้วก็เทน้ำมนต์รดหัวจระเข้ ซึ่งตาคนนี้ได้แปลงเป็นจระเข้ แล้วตัวเองก็จะกลับกลายเป็นคน
แต่ว่าเวลาถึงกลางแม่น้ำเนี่ยขันน้ำมนต์มันก็เกิดหก ตามันก็เลยไม่สามารถที่จะกลายเป็นคนได้ ก็เป็นจระเข้ตลอดเขาก็เลยเรียกตรงนั้นว่า "บึงตาเพชร"
นิทานพื้นบ้านภาคกลาง : เขานมนาง (จ.สุพรรณบุรี)
ตำนานเรื่องบางนางบวช เกิดในเขตจังหวัดสุพรรณบุรีและอ่างทอง กล่าวกันว่าครั้งหนึ่ง มีหญิงงามชื่อพิมสุราลัย มีรูปร่างหน้าตาสวยงามเป็นที่หมายปอง ของบรรดาชายหนุ่มหลายคนชายหนุ่มเหล่านั้นพยายามแย่งชิงนาง จนเกิดเป็นเรื่องราวทะเลาะวิวาทกัน
ทำให้นางพิมสุราลัยไม่พอใจ ในที่สุดนางก็ตัดสินใจหนีเข้าไปอยู่ในป่าตามลำพัง ทำมาหากินด้วยการปลูกข้าวและทอผ้า แต่เคราะห์กรรมยังตามไปถึงในป่า มีพรานป่าคนหนึ่งชื่อตาลีนนท์ ได้เห็นนางเข้าและเกิดความรัก ตาลีนนท์เป็นคนมีเวทมนตร์จำแลงแปลงกายได้ จึงแปลงกายเป็นงูเข้าไปแอบซ่อนอยู่ในกระท่อมของนางพิมสุราลัย
ครั้นนางเข้าไปในกระท่อม งูแปลงก็เลื้อยเข้าไปรัดนางไว้ นางพิมสุราลัยตกใจจึง คว้ามีดฟันงูนั้นจนตาย เมื่อสิ้นชีวิตเวทย์มนตร์ก็เสื่อมลงร่างของงูจึงกลับคืนเป็นพรานป่า นางพิมสุราลัยรู้ตัวว่าฆ่าคนตายก็มีความตกใจและเสียใจมาก
นางคิดแค้นใจว่า ความสวยงามของนางเป็นเหตุให้เกิดเรื่องเดือดร้อนต่าง ๆ จน ต้องหนีมาอยู่ในป่าก็ยังไม่พ้น จึงคว้าเอามีดมาตัดนมทั้งสองข้างขว้างทิ้งไป กลายเป็นเขา 2 ลูก ชื่อ "เขานม" นางอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี จากนั้นนางก็ซัดเซพเนจรไป ตามลำพังในกลางป่า ตกค่ำก็อาศัยนอนในวัด วัดที่นางพิมสุราลัยไปอาศัยนอนนั้น ต่อมาได้ชื่อว่า "วัดนางนอน" ท้ายที่สุด นางก็ได้ไปบวชอยู่บนเขาแห่งหนึ่ง เขานั้นจึง ได้ชื่อว่า "เขาบางนางบวช"
นอกจากนั้น ยังมีหมู่บ้านในแขวงเมืองอ่างทองที่เล่ากันว่านางเคยไปถือศีลอยู่ ชื่อว่า "บ้านไผ่" จำศีล ส่วนบ้านเดิมของนางพิมสุราลัยที่จังหวัดสุพรรณบุรีนั้น ปัจจุบันชื่อ "บ้านเดิมบาง"
นิทานพื้นบ้านภาคกลาง : วัดพนัญเชิง (จ.อยุธยา)
วัดพนัญเชิง เป็นวัดใหญ่ที่สำคัญวัดหนึ่งในจังหวัดอยุธยา ตั้งอยู่ที่แหลมบางกะจะ เป็นวัดที่มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ซึ่งชาวบ้านนับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์กันมาก ตำนานเกี่ยวกับการสร้างวัดพนัญเชิงนั้นมีมาเก่าแก่ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา
เรื่องราวของพระเจ้าสายน้ำผึ้งกับพระนางสร้อยดอกหมากนั้น มีกล่าวไว้ในพงศาวดารเหนือ ฟังดูเหมือนเรื่องเลื่อนลอย แต่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีได้ค้นคว้าแล้วปรากฏว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งนั้นมีตัวจริง เคยเป็นกษัตริย์ซึ่งครองเมืองเก่าที่ตั้งอยู่ที่หนองโสน ก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะสร้างกรุงศรีอยุธยา และเป็นผู้สร้างวัดสำคัญ คือ "วัดพนัญเชิง" และ "วัดมงคลบพิตร" ซึ่งยังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
ตำนานเกี่ยวกับพระเจ้าสายน้ำผึ้งและพระนางสร้อยดอกหมากเล่าว่า ครั้งนั้นกษัตริย์ครองกรุงอโยธยาสิ้นพระชนม์ลง ไม่มีรัชทายาทสืบสันติวงศ์ บรรดาอำมาตย์จึงปรึกษากันหาคนดีมีบุญมาเป็นกษัตริย์ต่อไป โดยให้เสี่ยงทายเรือพระที่นั่ง เรือพระที่นั่งนั้นก็ลอยไปจอดกลางทุ่งนาแห่งหนึ่ง ซึ่งเด็กเลี้ยงควายกำลังเล่นกันอยู่
เด็กคนหนึ่งเล่นเป็นกษัตริย์ ตัดสินลงโทษประหารชีวิตเพื่อนอีกคนหนึ่งโดยใช้ไม่ไผ่ทำเป็นดาบ พอเพชฌฆาตลงดาบปรากฏว่าเด็กชาวนานั้นคอขาดกระเด็นไปตามคำสั่ง บรรดาอำมาตย์เห็นเป็นเหตุอัศจรรย์ จึงเชิญเด็กชาวนานั้นขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงอโยธยาสืบมา
ทางฝ่ายพระเจ้ากรุงจีน มีธิดาบุญธรรมซึ่งกล่าวกันว่ามีกำเนิดจากจั่นหมาก จึงได้นามว่า "สร้อยดอกหมาก" มีสิริโฉมงดงาม ครั้นนางเจริญวัยโหรได้ทำนายว่า นางจะได้เป็นคู่ครองของกษัตริย์แห่งเมืองอโยธยา พระเจ้ากรุงจีนส่งสาสน์มายังพระเจ้ากรุงอโยธยาถวายนางเป็นชายา
พระเจ้ากรุงอโยธยาได้รับสาสน์นั้นก็มีความยินดี รีบจัดกระบวนเรือออกไปรับตัวนาง ขณะที่เรือพระที่นั่งผ่านไปถึงวัดปากคลอง ได้ทอดพระเนตรเห็นรวงผึ้งใหญ่เกาะอยู่ที่ใต้ช่อฟ้า จึงทรงอธิษฐานว่าหากพระองค์มีบุญญาธิการ จะได้ปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข ขอให้น้ำผึ้งหยดลงมาที่เรือ ครั้นหันหัวเรือเข้าไป น้ำผึ้งก็หยดลงมาที่หัวเรือดังคำอธิษฐาน ผู้ที่เห็นเหตุการณ์จึงพากันขนานพระนามว่า "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง"
เมื่อพระองค์เสด็จถึงเมืองจีน พระเจ้ากรุงจีนได้รับเสด็จและจัดการอภิเษกสมรสให้อย่างสมพระเกียรติ จากนั้นพระเจ้าสายน้ำผึ้งก็พาพระนางสร้อยดอกหมากเสด็จกลับกรุงอโยธยา ครั้นมาถึงบริเวณที่เป็นวัดพนัญเชิงในปัจจุบัน พระเจ้าสายน้ำผึ้งก็ให้พระนางสร้อยดอกหมากรออยู่ในเรือพระที่นั่ง ส่วนพระองค์เสด็จเข้าพระราชวังเพื่อเตรียมรับเสด็จ
ครั้นเรียบร้อยแล้วก็ให้คนมาเชิญเสด็จพระนางสร้อยดอกหมากเข้าไปในวัง แต่พระนางสร้อยดอกหมากเกิดความน้อยพระทัยที่พระเจ้าสายน้ำผึ้งไม่เสด็จออกมารับเอง จึงรับสั่งว่าถ้าไม่เสด็จออกมารับก็จะไม่เข้าไป ครั้นคนนำความไปกราบทูล พระเจ้าสายน้ำผึ้ง ทรงเห็นเป็นเรื่องขบขัน รับสั่งว่านางอุตส่าห์มาจากเมืองจีนจนมาถึงตรงนี้แล้ว ถ้าไม่ยอมขึ้นมาก็เชิญประทับอยู่ในพระที่นั่งนั้นเถิด
เมื่อพระนางสร้อยดอกหมากได้ทรงทราบความก็ยิ่งน้อยพระทัยมากถึง กับทรงกลั้นใจตาย เมื่อพระเจ้าสายน้ำผึ้งเสด็จออกไปรับและได้ทรงทราบก็เศร้าโศกเสียพระทัยยิ่งนัก จึงเชิญศพนางไปพระราชทานเพลิงศพและให้สร้างพระอารามขึ้นตรงบริเวณที่พระราชทานเพลิงศพ พระราชทานนามว่า "วัดพระนางเชิง" ซึ่งต่อมาเรียกเพี้ยนไปว่า "วัดพนัญเชิง"
เชื่อเลยค่ะว่าน้อง ๆ หนู ๆ หลายคนคงจะสนุกเพลิดเพลินไปกับนิทานพื้นบ้านภาคกลางกันอย่างแน่นอน แถมยังรู้ประวัติความเป็นมาของสถานที่ต่าง ๆ อีกด้วย ... เรียกได้ว่า นิทานพื้นบ้านได้ทั้งความรู้และความสนุกครบรสเลยล่ะ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
- นิทานพื้นบ้าน.whitemedia.org
- นิทานพื้นบ้าน.rakjung.com