x close

20 มีนาคม วันความสุขสากล


            20 มีนาคม สหประชาชาติ เชิญชวนร่วมฉลองวันความสุขสากล (International Day of Happiness) พร้อมรำลึกถึงความสุขอันเป็นเป้าหมายพื้นฐานของมนุษยชาติ เสริมสร้างความสุขอย่างยั่งยืนให้แก่ตนเองและช่วยเหลือคนรอบข้าง

ความสุขสากล

            "ความสุข" นั้นเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตและความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ แต่ท่ามกลางสภาพสังคมที่มีการเร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและมีการแข่งขันสูงนั้น อาจจะทำให้หลาย ๆ คนมองข้ามสิ่งที่เรียกว่า ความสุข ไปในบางครั้ง ทำให้พวกเขาลืมที่จะหาความสุขให้แก่ตนเอง ลืมมองความสุขของคนรอบข้าง และลืมคิดถึงการมอบความสุขให้แก่คนอื่น ๆ ในสังคม

            ดังนั้นเพื่อให้มนุษย์ทุก ๆ คนได้ตระหนักถึงความสุข อันเป็นเป้าหมายสำคัญในการดำรงชีพและสร้างเสริมสุขภาพกายและจิตที่ดีให้แก่ตัวเองและคนรอบข้าง ในวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 2012 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ซึ่งเป็น 1 ใน 6 องค์กรหลักของสหประชาชาติ (UN) จึงได้มีมติก่อตั้ง "วันความสุขสากล" (The International Day of Happiness) โดยกำหนดให้ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม ของทุกปี โดยครบรอบวันความสุขสากลเป็นปีแรก เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 2013

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งวันแห่งความสุขสากล


            จากมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ในการก่อตั้งวันความสุขสากลนี้ มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ

            1. เพื่อให้เป็นวันที่ทุก ๆ คนจะได้ร่วมเฉลิมฉลองและตระหนักถึงความสุขอันเป็นเป้าหมายพื้นฐานของมนุษยชน รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตของมนุษย์

            2. เพื่อเรียกร้องให้แต่ละประเทศผลักดันและเข้าถึงนโยบายสาธารณะที่จะเพิ่มความสุขให้แก่ประชาชนทุก ๆ คน โดยสหประชาชาติได้มุ่งเป้าไปที่ความสนใจของโลกต่อแนวคิดในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจว่าจะต้อง ประกอบไปด้วย การรวบรวม ความเสมอภาค และสมดุล เช่นเดียวกับการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนและบรรเทาความยากจน นอกจากนี้สหประชาชาติยังระบุว่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจจะต้องมาพร้อมกับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้บรรลุความสุขของโลก

ความสุขสากล


ที่มาของวันความสุขสากล


            ความคิดริเริ่มของการประกาศวันแห่งความสุขสากลนั้น มีต้นแบบความคิดมาจากประเทศภูฏาน อันเป็นประเทศที่ประชากรมีความสุขมากที่สุดในโลก โดยได้เป็นที่ 1 ในการวัดความรุ่งเรืองของชาติและความสำเร็จทางสังคม หรือดัชนีมวลรวมความสุข (Gross National Happiness Index : GNH) ซึ่งเป็นการวัดที่ปฏิเสธการใช้เศรษฐกิจและความร่ำรวยทางวัตถุมาเป็นตัวชี้วัดการพัฒนา และหันมามองแบบองค์รวม ว่าจิตใจที่ดีของประชาชนและชุมชนนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าวัตถุ

            และเนื่องในวันครบรอบ วันความสุขสากล เป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2013 สหประชาชาติได้เชิญประเทศสมาชิกทั้งองค์กรระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค และภาคประชาสังคม รวมถึงองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐและภาคบุคคล มาร่วมประชุมเพื่อหารือถึงวิธีการที่เหมาะสมในด้านการศึกษาและกิจกรรมเพื่อเพิ่มความตระหนักของสาธารณะ ในวันความสุขสากลนี้ด้วย

ปัจจัยความสุขที่สำคัญ


            สหประชาชาติยังได้สำรวจวัดระดับความสุขใน 156 ประเทศทั่วโลก โดยมีปัจจัยความสุขที่สำคัญ เช่น รายได้ การมีงานทำ ความสัมพันธ์ที่ดี ความไว้วางใจกันในชุมชน การมีค่านิยมที่เอื้อต่อความสุขและศาสนา สุขภาพกาย สุขภาพจิต ความสัมพันธ์ในครอบครัว การศึกษา เสรีภาพทางการเมือง ความเข้มแข็งของเครือข่ายสังคม การไม่มีคอร์รัปชัน และความเท่าเทียมทางเพศและสังคม เป็นต้น มาเป็นตัวชี้วัดความสุขของประเทศต่าง ๆ อีกด้วย

            นอกเหนือจากนี้ นายบันคีมูน เลขาธิการแห่งสหประชาชาติในขณะนั้น ยังได้กล่าวเนื่องในวันครบรอบวันความสุขสากล ปี ค.ศ. 2013 ไว้ดังนี้

"เนื่องในวันแห่งความสุขสากลวันแรกนี้ 
 ขอให้เราเสริมสร้างความมุ่งมั่นของเราที่จะรวบรวมและพัฒนามนุษย์อย่างยั่งยืน 
 รวมทั้งต่ออายุสัญญาของเราที่จะช่วยเหลือผู้อื่น 
 และเมื่อใดที่เราสร้างในสิ่งที่ดีแล้ว ตัวเราก็จะดีขึ้น ความเมตตาจะช่วยยกระดับความสุข
และช่วยให้เราสร้างอนาคตอย่างที่เราต้องการได้"


ขอบคุณข้อมูลจาก : timeanddate.com, un.org, unmultimedia.org

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
20 มีนาคม วันความสุขสากล อัปเดตล่าสุด 8 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 16:06:02 24,358 อ่าน
TOP