x close

ย้อนรอย 7 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เชื้อไฟสำคัญของการเมืองไทย

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบจาก PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP , STR / AFP , AFP

          ครบรอบ 7 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มาไล่เรียงลำดับเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งชนวนความขัดแย้งสำคัญของการเมืองไทยที่ส่งผลกระทบมาจวบจนปัจจุบัน

          การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในช่วงเดือนกลางปี 2549 เพื่อขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้นให้ลงจากตำแหน่ง กลายเป็นหนึ่งในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ของหน้าประวัติศาสตร์ไทย เพราะในครั้งนั้นมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมาชุมนุมกลางเมืองหลวงของประเทศไทยกันเป็นจำนวนมาก และไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นจะจบลงเช่นไร เมื่อกลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศนัดชุมนุมใหญ่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ 20 กันยายน 2556

          อย่างไรก็ตาม ก็คงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายเท่าไรนักที่สุดท้ายแล้ว การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ จะยอมปิดฉากลงเมื่อทหารออกมาปฏิวัติรัฐประหาร ลองมาย้อนลำดับเหตุการณ์กันดู...

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
AFP

          ในช่วงเช้าของวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้เรียกผู้นำทุกเหล่าทัพเข้าประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล แต่น่าแปลกใจที่ไม่มีผู้นำเหล่าทัพคนใดเข้าร่วมประชุมเลย ยกเว้น พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในขณะนั้น อ้างว่านัดหมายกระชั้นชิดเกินไป จึงไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้

          แน่นอนว่า เหตุผลที่ พล.อ.สนธิ ยกขึ้นมาอ้างดังกล่าว พร้อมด้วยท่าทีของผู้นำเหล่าทัพที่ปฏิเสธเข้าร่วมประชุมกับคณะรัฐมนตรี นำมาซึ่งกระแสข่าวลือที่แพร่สะพัดไปทั่วทำเนียบรัฐบาลว่า อาจจะเกิดการปฏิวัติขึ้น !

          สถานการณ์ที่ดูไม่ค่อยปกติยิ่งเด่นชัดขึ้นในช่วงพลบค่ำ เมื่อกำลังทหารหน่วยรบพิเศษจากจังหวัดลพบุรีได้เคลื่อนกำลังเข้ากรุงเทพมหานคร และในช่วงเวลานั้น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ก็ได้เดินทางไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้ภายหลังจะมีการระบุว่าไปเข้าเฝ้าฯ เพื่อหารือเรื่องการทำบุญหม่อมหลวงบัว กิติยากร แต่ก็ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เริ่มรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากล จึงได้ประกาศจะเดินทางกลับจากการประชุมที่นิวยอร์กมายังประเทศไทยให้เร็วขึ้น จากเดิมวันที่ 22 กันยายน มาเป็นวันที่ 21 กันยายน 2549

          กระทั่งในเวลาประมาณ 21.00 น. กำลังจากพลร่มป่าหวาย หน่วยสงครามพิเศษลพบุรี ได้เข้ามาประจำการที่กองบัญชาการกองทัพบก และหลังจากนั้นอีกไม่ถึงชั่วโมง สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ได้ยุติการออกอากาศรายการปกติ โดยเปิดเพลงที่มีเนื้อหาสรรเสริญพระบารมี และวิดีโอเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของในหลวงแทน อันเป็นสัญญาณว่าได้เกิดความผิดปกติขึ้นแล้ว ขณะที่ตำรวจกองปราบปรามก็ได้ส่งหน่วยคอมมานโดไปประจำบ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อรักษาความปลอดภัยให้ครอบครัวของนายกรัฐมนตรี ซึ่งภายหลังมีรายงานว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายคนโตของนายกฯ ได้เดินทางไปประเทศอังกฤษตั้งแต่วันที่ 18 กันยายนแล้ว

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

          อีกหนึ่งชั่วโมงถัดมา สถานการณ์เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าเกิดการปฏิวัติรัฐประหารขึ้นในประเทศไทย เมื่อขบวนรถถังได้เคลื่อนเข้าคุมเชิงที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ และถนนราชดำเนิน เช่นเดียวกับตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพมหานครก็มีกองกำลังทหารประจำการอยู่เป็นจำนวนมาก ในช่วงนั้น มีรายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้โทรศัพท์มาสั่งการให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 เตรียมถ่ายทอดเสียงของตน เพื่อชี้แจงถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ในที่สุดแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ได้แค่ถือสายรอ เพราะทหารเข้าควบคุมสถานีฯ ไว้ได้ก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะได้ออกอากาศ

          เมื่อไม่สามารถออกอากาศทางช่อง 11 ได้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เปลี่ยนไปชิงออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์แทน โดยสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ได้แพร่สัญญาณเสียงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ประกาศออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรง หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเวลา 22.15 น. ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ได้มีคำสั่งให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และให้รายงานตัวต่อ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี  พร้อมกับแต่งตั้งให้ พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) เป็นผู้มีอำนาจแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน

          อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังอ่านประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินอยู่ จังหวะนั้นทหารก็ได้เข้าควบคุมสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์เอาไว้ได้ ก่อนจะตัดไฟฟ้า ทำให้สัญญาณออกอากาศถูกตัดไป โดยที่ยังอ่านประกาศไม่จบ ทั้งนี้ ในตอนนั้นมีกระแสข่าวว่า ทหารได้บุกเข้าไปควบคุมห้องส่งสัญญาณออกอากาศ และควบคุมตัวนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ กก.ผอ.ใหญ่ บมจ.อสมท เอาไว้ ก่อนที่ภายหลังนายมิ่งขวัญจะออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้ถูกจับกุมอย่างที่ร่ำลือกัน เพราะตอนเกิดปฏิวัติตนเองไม่ได้อยู่ในสถานี

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
 STR / AFP

          จากนั้น ในเวลา 22.25 น. สถานีโทรทัศน์เกือบทุกช่อง ยกเว้นช่อง 3 และโมเดิร์นไนน์ทีวี ได้ยุติการออกอากาศรายการปกติ เปลี่ยนมาเปิดเพลงที่มีเนื้อหาสรรเสริญพระบารมีแทน ในช่วงนั้นมีรายงานว่า ทหารกำลังเข้ายึดสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง โดยเฉพาะช่องไอทีวี และหลังจากนั้นไม่นานเกือบทุกช่องก็เชื่อมสัญญาณกับช่อง 5 ยกเว้นบางช่องที่ยังรายงานข่าวได้ตามปกติ

          กระทั่งในเวลา 22.54 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยได้ขึ้นคำประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) พร้อมลงท้ายว่า "ขออภัยในความไม่สะดวก" นับเป็นการก่อรัฐประหารครั้งแรกในรอบ 15 ปี ในวันเดียวกันนั้นเอง นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ก็ได้ประกาศยกเลิกการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 20 กันยายน เพราะอยู่ในช่วงที่ประกาศกฎอัยการศึกห้ามมีการชุมนุม

          จากนั้น คณะปฏิรูปการปกครองฯ ก็ได้ควบคุมตัว พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม มาไว้ที่กองบัญชาการทหารสูงสุด จากนั้นผู้บัญชาการทหารทุกเหล่าทัพได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
STR / AFP

          ตลอดทั้งคืนจวบจนรุ่งเช้าของวันที่ 20 กันยายน 2556 พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค อดีตโฆษก ททบ.5 ได้อ่านประกาศคณะปฏิรูปฯ หลายฉบับ เพื่อออกคำสั่งห้ามต่าง ๆ กระทั่งในเวลา 09.20 น. พล อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ได้อ่านประกาศแถลงการณ์คณะปฏิรูปฯ พร้อมด้วยผู้นำเหล่าทัพ เพื่อชี้แจงถึงสาเหตุของการรัฐประหาร ขณะที่มีประชาชนส่วนหนึ่งที่เห็นด้วยกับการปฏิวัติครั้งนี้ออกมามอบดอกไม้ให้กำลังใจเหล่าทหารที่ประจำการอยู่ตามถนนต่าง ๆ กลายเป็นภาพที่สื่อต่างประเทศนำออกไปเผยแพร่ทั่วโลก

          ต่อมาในวันที่ 21 กันยายน พล.อ.สนธิ แถลงถึงสาเหตุในการยึดอำนาจว่า เป็นเพราะรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ มีการใช้อำนาจในทางมิชอบ มีการทุจริตได้ผลประโยชน์ทับซ้อน แทรกแซงองค์กรอิสระ ละเมิดสิทธิเสียภาพ ฯลฯ พร้อมกับให้คำมั่นว่าจะฟื้นฟูรัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตยภายในหนึ่งปี จากนั้น คณะปฏิรูปฯ ก็ได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 และประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองฉบับชั่วคราวในวันที่ 1 ตุลาคม โดยให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี 

          เมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่แล้ว ในวันที่ 2 ตุลาคม กองทัพก็เริ่มถอนกำลังทหารกลับเข้าสู่กรมกอง ขณะที่คณะปฏิรูปฯ ก็ลดบทบาทลง เปลี่ยนไปอยู่ในฐานะ "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ" (คมช.) แทน เพื่อดูแลการบริหารประเทศของรัฐบาลชั่วคราว พร้อมเร่งกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีตามที่ลั่นวาจาไว้ 

          และนี่ก็คือลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งแม้จะผ่านมาถึง 7 ปีแล้ว แต่ดูเหมือนว่าการรัฐประหารครั้งนั้นก็ไม่สามารถลดทอนความขัดแย้ง หรือแก้ปัญหาใด ๆ ได้มากนัก ตรงกันข้าม กลับเป็นเหมือนอีกหนึ่งชนวนสำคัญที่ทำให้เชื้อไฟความขัดแย้งทางการเมืองลุกลามบานปลายมาจนถึงทุกวันนี้

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
AFP

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
AFP



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ย้อนรอย 7 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เชื้อไฟสำคัญของการเมืองไทย อัปเดตล่าสุด 19 กันยายน 2556 เวลา 18:31:54 42,465 อ่าน
TOP