x close

นิติราษฎร์ แถลงชี้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ขัดหลักรัฐธรรมนูญ

นิติราษฎร์
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก enlightened-jurists

          คณะนิติราษฎร์ แถลงชี้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย ขัดหลักรัฐธรรมนูญ แจง 6 เหตุผล ที่เป็นประเด็นปัญหา โดยมีการยื่นข้อเสนอแนวทางแก้ปัญหาให้ด้วย

          วันที่ 31 ตุลาคม 2556 นักวิชาการนิติราษฎร์ได้มีการออกแถลงการณ์เกี่ยวกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย โดยเผยว่าเป็น พ.ร.บ.ที่ขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ เพราะ พ.ร.บ.ดังกล่าว ใช้ชื่อว่า "ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ...." แต่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กลับมีการแก้ไขให้รวมบุคคลอื่นนอกจากประชาชนด้วย ซึ่งการแก้ไขนี้ขัดต่อหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฯ ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่หนึ่ง อันเป็นการต้องห้ามตามข้อ 117 วรรคสามแห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 เพราะข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ห้ามมิให้การแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สองขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ

          นอกจากนี้ คณะนิติราษฎร์ยังเห็นว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ ยังมีประเด็นปัญหาต่าง ๆ ดังต่อไป

          1. พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ ครอบคลุมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายชุมนุม ซึ่งนำไปสู่ความบาดเจ็บล้มตายของประชาชนที่มาร่วมชุมนุม ซึ่งการปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐพ้นความผิด จะยิ่งตอกย้ำบรรทัดฐานที่เลวร้ายให้คงอยู่ต่อไปโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย

          2. มีการยกเว้นไม่นิรโทษกรรมให้แก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขัดแย้งกับหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 30

          3. การนิรโทษกรรมมีผลกับความผิดในช่วง พ.ศ. 2547 - วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ทำให้อาจมีบุคคลหลายกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ ถึงแม้จะไม่ได้มีโทษในคดีนี้ก็ตาม ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคของการบังคับใช้กฎหมาย

          4. การนิรโทษกรรมอาจทำให้การหาฉันทามติในการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนเป็นไปอย่างล่าช้า หรือไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย ทั้งนี้การแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมให้กับบุคคลที่ได้รับผลร้ายจากการทำรัฐประหารสมควรกระทำด้วยการลบล้างผลพวงของรัฐประหารตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์

          5. การกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นของการนิรโทษกรรมตั้งแต่ พ.ศ. 2547 อาจส่งผลให้มีเหตุการณ์หรือการกระทำความผิดบางอย่างที่ไม่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม เพราะไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549  ได้รับประโยชน์จากร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ด้วย

          6. มีการกำหนดให้บุคคลที่ได้รับนิรโทษกรรมจะได้รับทรัพย์สินที่ถูกยึดเป็นของแผ่นดินคืน แต่การที่จะได้รับคืนทรัพย์สินดังกล่าวนั้นควรจะต้องเป็นไปโดยหนทางของการลบล้างคำพิพากษา มิใช่โดยการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัติฯ นี้

          ทั้งนี้ ทางคณะนิติราษฎร์ได้มีการเสนอแนวทางแก้ปัญหา ของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าวด้วย ดังนี้

          1. ต้องแยกบุคคลซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ตลอดจนบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองแต่กระทำความผิดโดยมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง ออกจากบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549

          2. ให้ดำเนินการนิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ตลอดจนบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองแต่กระทำความผิดโดยมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยไม่นิรโทษกรรมให้กับบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ตลอดจนการสลายการชุมนุมไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใด ๆ ทั้งนี้ ตามร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง ที่คณะนิติราษฎร์ได้เคยเสนอไว้

          3. สำหรับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ให้ลบล้างคำพิพากษา คำวินิจฉัย ตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาในทุกขั้นตอนที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำรัฐประหาร ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ว่าด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร

          4. ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ไม่ได้รับการพิจารณานำไปปฏิบัติจากผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้การนิรโทษกรรมเป็นไปโดยรวดเร็วภายใต้ข้อจำกัดที่เป็นอยู่ คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้พิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้

               4.1 เนื่องจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติฯ จนขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฯ ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติฯ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงไม่สามารถใช้เป็นฐานในการพิจารณาในวาระที่สองได้ ด้วยเหตุนี้ สภาผู้แทนราษฎรจึงสมควรแก้ไขความบกพร่องดังกล่าวโดยการลงมติว่ากระบวนการตราพระราชบัญญัติฯ นี้ ขัดกับข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรข้อ 117 วรรคสาม เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติฯ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตกไป

               4.2 ให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติยกเลิกคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดเดิม และมีมติตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาเพื่อเริ่มพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ในวาระที่สองใหม่


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นิติราษฎร์ แถลงชี้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ขัดหลักรัฐธรรมนูญ โพสต์เมื่อ 31 ตุลาคม 2556 เวลา 16:10:05 19,818 อ่าน
TOP