ในวันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น "วันสิทธิเด็กสากล" เพื่อเป็นการรณรงค์ในเรื่องการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็ก ตั้งแต่สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่รอด ปลอดภัย มีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ ได้รับการศึกษาและพัฒนาตามวัย ตลอดจนได้รับการปกป้องคุ้มครองจากอันตราย การถูกละเมิดและถูกแสวงประโยชน์
นอกจากนี้ เด็ก ๆ ทุกคนยังมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง และมีส่วนร่วมในสังคม ตามที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ ได้รับรองไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2502 โดยมีหลักการ 4 ข้อ คือ
1. เด็กเกิดมาต้องมีชีวิตรอด เป็นพันธะสำคัญที่ต้องทำทุกวิถีทางให้เด็กทุกคนที่คลอดออกมาจากท้องแม่ ไม่ตายลงอย่างง่ายดายด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ
2. เด็กต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง ด้วยการไม่ให้ถูกทำร้ายทารุณกรรม หรือถูกนำไปแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เช่น ถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาส ถูกนำไปค้าประเวณี ถูกนำไปเป็นทหารเพื่อสู้รบ ถูกนำไปค้ายาเสพติด ถูกนำไปถ่ายภาพลามก
3. เด็กต้องได้รับการพัฒนาโดยรอบด้าน ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา ดังจะเห็นได้ว่ามีองค์กรระดับโลก ระดับนานาชาติ และระดับประเทศ เกิดขึ้นมากมาย เพื่อดูแลให้การพัฒนา จัดการศึกษาและจัดระบบสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อเด็กอย่างมากมาย
4. เด็กต้องมีส่วนร่วมในสังคม นี่คือมิติใหม่ของโลกที่ตระหนักชัดเจนถึงความรู้ ความสามารถและความต้องการแสดงออกของเด็กว่ามีอยู่อย่างมากมาย เวทีของเด็กในรูปแบบต่าง ๆ จึงถูกเรียกร้องให้มีขึ้นทั้งในระดับสากล ระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ยิ่งเด็กที่อยู่ในภาวะเสี่ยงหรือได้รับผลกระทบด้วยแล้ว เวทีการมีส่วนร่วมของเด็กเหล่านี้ถือเป็นหน้าที่สำคัญที่ผู้ใหญ่ทั้งหลายต้องจัดให้มีขึ้นเพื่อฟังเสียงสะท้อนจากพวกเขาโดยตรง
นี่คือหลักการที่่เป็นที่มาของการเปิดเวทีให้แก่เด็กและเยาวชนที่ประเทศต่าง ๆ ในโลกได้จัดขึ้นในช่วงวันเวลาดังกล่าว สำหรับประเทศไทยหน่วยงานราชการก็ได้มีการจัดงานเวทีสิทธิเด็กขึ้นอย่างต่อเนื่องกันมานานหลายปี
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก