x close

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น แถลงการณ์กำจัดคอร์รัปชั่น ก่อนการเลือกตั้ง




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น

          องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ออกแถลงการณ์ยกปัญหาคอร์รัปชั่น เป็นวาระแห่งชาติ ชี้ต้องเร่งออกมาตรการกำจัดคอร์รัปชั่น ก่อนจัดเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557

          วันนี้ (20 ธันวาคม 2556) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ได้ออกแถลงการณ์กำจัดคอร์รัปชั่น วาระประเทศไทย "ทุกภาคส่วนต้องมีมาตรการให้ประชาชนมั่นใจ ก่อนการเลือกตั้ง" โดยระบุว่า ปัญหาความวุ่นวายที่เกิดขึ้นอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ ล้วนเกิดจากปัญหาคอร์รัปชั่นทั้งสิ้น และการคอร์รัปชั่นนี้ ก็มิใช่เรื่องที่พึ่งเกิดขึ้น แต่มีมานานแล้ว เรียกได้ว่า เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยเลยทีเดียว ดังนั้น เพื่อให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหมดไป ก็ควรจะเร่งออกมาตรการกำจัดคอร์รัปชั่นที่มีแนวทางเป็นรูปธรรม สามารถนำมาปฏิบัติใช้ได้จริง และที่สำคัญ ทุกพรรคการเมืองจะต้องมีนโยบายที่จะกำจัดคอร์รัปชั่นเป็นนโยบายหลัก พร้อมทั้งต้องมีการลงสัตยาบันด้วย รวมทั้ง ชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าใจถึงมาตรการกำจัดคอร์รัปชั่นด้วย

          โดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น เชื่อว่า หากสามารถกำจัดปัญหาคอร์รัปชั่นได้ก่อนการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ก็จะสามารถเพิ่มความมั่นใจให้ประชาชนได้ว่า ผู้แทนที่ตนเลือกไปนั้น จะไม่อาศัยอำนาจที่มีอยู่ในมือเอื้อผลประโยชน์แก่ตนเอง หรือพวกพ้องอย่างที่ผ่านมา

สำหรับ แถลงการณ์จุดยืนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) มีรายละเอียด ดังนี้

          เป็นที่ตระหนักกันดีทั้งประเทศและทั่วโลกว่า ปัญหาความวุ่นวายของสังคมไทย และความล้มเหลวของการบริหารประเทศ ณ ปัจจุบัน เป็นผลสืบเนื่องมาจากการคอร์รัปชั่นโกงกินที่ได้ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน และวันนี้ได้ปะทุกลายเป็นชนวนของความแตกแยก จนเป็นที่มาของการยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ไปจนถึงการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

          นับจากเรื่องการออก พ.ร.บ. นิรโทษกรรมจนถึงเรื่องวันเลือกตั้งใหม่  ประเทศไทยได้มีปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติ นั่นคือการตื่นตัวของภาคประชาชนนับเป็นล้าน ๆ ที่มารวมตัวกันแสดงจุดยืน ที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงประเทศ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปในหลายมิติ อีกทั้งการตื่นตัวของภาคเอกชน ภาคการศึกษา และอีกหลายภาคส่วนของสังคมในการนำเสนอทางออกที่ดีที่สุดให้กับประเทศ ข้อสังเกตที่เห็นได้ชัดจากทุกเสียงของการนำเสนอคือ ปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด เป็นสาเหตุหลักของความล้มเหลวที่ผ่านมา และหากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะเป็นปัญหาของความล่มสลายในอนาคต

          องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ในฐานะองค์กรหลักของสังคมที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านการโกงกินในทุกรูปแบบ จึงขอแสดงจุดยืนพร้อมข้อเสนอดังต่อไปนี้

          1. ผู้รับผิดชอบในการบริหารประเทศต้องจัดให้มีมาตรการกำจัดคอร์รัปชั่น อย่างเป็นรูปธรรมให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ชัดว่านโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นของนักการเมืองไม่เคยประสบผลสำเร็จ การกำจัดคอร์รัปชั่นที่กระทบต่อผลประโยชน์โดยตรง ประกอบกับพฤติกรรมนักการเมืองที่สังคมไทยรู้จักดี จึงมิอาจให้ความมั่นใจกับประชาชนได้ว่าเมื่อได้อำนาจรัฐไว้ในมือจะปฏิบัติตามสัญญา นโยบายหรือสัตยาบันที่ให้ไว้ และยากที่จะเชื่อได้ว่าจะไม่ทำตัวเป็นอุปสรรคต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ก็จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นใหม่ของวงจรอุบาทว์แบบเดิม เหมือนที่เคยผ่านมา และหากไม่สามารถจัดให้มีมาตรการกำจัดคอร์รัปชั่นได้ จนต้องมีการเลื่อนวันเลือกตั้งก็จำเป็นจะต้องทำ

          2. ทุกพรรคการเมืองจะต้องมีนโยบายที่จะกำจัดคอร์รัปชั่นเป็นนโยบายหลัก ตลอดจนต้องมีการลงสัตยาบันที่จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังเป็นรูปธรรม และหากไม่ปฏิบัติตามก็จะต้องมีบทลงโทษที่เด็ดขาดชัดเจน

          3. ไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐบาลใด ทุกคณะรัฐบาลจะต้องกำหนดให้การกำจัดคอร์รัปชั่นเป็นวาระแห่งชาติ เป็นนโยบายที่สำคัญสูงสุดของประเทศ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับเปลี่ยนกฎหมาย การกำหนดกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ การเพิ่มตัวชี้วัดต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง การจัดสรรงบประมาณ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งการกำหนดรายละเอียดของแต่ละแผนงานจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนการตรวจสอบในทุกขั้นตอน

          องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ขอย้ำว่า จุดยืนของเราคือ "ต้องมีมาตรการกำจัด คอร์รัปชั่นก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจ" วันนี้ประชาชนไทยได้แสดงให้เห็นแล้วว่าจะไม่ทนต่อการคดโกงคอร์รัปชั่นอีกต่อไป และเราพร้อมจะยืนเคียงข้างประชาชนและสังคมไทยในการเปลี่ยนแปลงประเทศ นำประเทศไทยไปสู่การพัฒนาที่ไม่มีการคอร์รัปชั่นโกงกินเป็นตัวบั่นทอนทำลายอนาคต

และข้อเสนอมาตรการกำจัดคอร์รัปชั่น ก่อนการเลือกตั้ง มีดังนี้

1. กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

          1.1 ให้มีการบังคับใช้กฎหมายและแก้ไขหรือออกกฎหมายเพิ่มเติม ให้เป็นไปตามหลักการของอนุสัญญา UNCAC 2003 ทั้งหมด เช่น อายุความ การติดตามคืนและริบทรัพย์สินและการติดตามตัวผู้ร้ายข้ามแดน

          1.2 แก้กฎหมาย เพื่อกำหนดให้คดีคอร์รัปชั่นเป็นคดีอาชกรรมร้ายแรง ที่เป็นภัยคุกคามต่อความ  มั่นคงของชาติ เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งต้องมีโทษรุนแรงและไม่มีการรอลงอาญา 

          1.3 แก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาท โดยเพิ่มภาระในการพิสูจน์ของผู้ฟ้องคดี ในคดีที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะรวมทั้งคดีที่เกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น

          1.4  ให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาต่อต้านคอร์รัปชั่นของ OECD (OECD Anti-Bribery Convention)

          1.5 ให้ใช้การตรวจสอบการเสียภาษีรายได้ย้อนหลัง เป็นมาตรการในการตรวจสอบที่มาของทรัพย์สินนักการเมืองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่

          1.6 เร่งรัด พรบ.อำนวยความสะดวกประชาชนในการยื่นขอใบอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ พ.ศ....เพื่อแก้ไขปัญหาการเรียกรับสินบนจากประชาชนและนักธุรกิจในการออกใบอนุญาตต่างๆของหน่วยงานราชการ

          1.7 ออกกฎหมายควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ โดยให้ชี้แจงเหตุผลและเปิดเผยรายละเอียดค่าใช้จ่าย

          1.8 ห้ามบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ

2. สร้างความแข็งแกร่งของหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชั่น
   
          2.1 ให้ความสนับสนุนด้านงบประมาณและบุคลากรอย่างเร่งด่วนและ "เพียงพอกับการบริหารงานโดยอิสระ" แก่องค์กรที่ทำหน้าที่ต่อต้านคอร์รัปชั่น เช่น ป.ป.ช.และ สตง.โดยมีการกำหนดงบประมาณอย่างน้อยร้อยละ 0.3 ของงบประมาณแผ่นดิน

          2.2 ให้ส่งเสริมสมรรถภาพขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยปรับปรุงกระบวนการสรรหาบุคลากรและมีมาตรการคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทุกระดับในองค์กร

          2.3 ให้ ครม. สนับสนุนมาตรการของ ป.ป.ช. ในการให้แรงจูงใจแก่ผู้ให้เบาะแส โดยเฉพาะข้าราชการ (ตามมาตรา 103/4 ของกฎหมาย ป.ป.ช.)

3. สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

          3.1 เปิดให้ภาคประชาชนเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการขนาดใหญ่
ของภาครัฐ  โดยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เต็มที่อย่างไม่มีเงื่อนไข ด้วยการออกพระราชกฤษฎีกา “ข้อตกลงคุณธรรม” (integrity pact) ตามมาตรฐานของ Transparency International  ภายใน 3 เดือนนับจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

          3.2 ในโครงการจัดซื้อจัดจ้าง การลงทุนขนาดใหญ่ การจัดสรรสิทธิและสัมปทานของรัฐ ต้องมี
การทำ "การศึกษาความเสี่ยงในการเกิดคอร์รัปชั่น" และ "แนวทางป้องกัน" โดยบุคคลที่สามที่ ปปช. รับรอง โดยกันค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าวจากวงเงินโครงการ ทั้งนี้การศึกษาดังกล่าวจะต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการที่มีภาคประชาชนเป็นกรรมการอยู่ด้วยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง พร้อมทั้งให้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างกว้างขวางรวมทั้งทางอินเทอร์เน็ต


          3.3 กำหนดให้คดีคอร์รัปชั่นเป็นคดีที่ประชาชนเป็นผู้เสียหายและสามารถเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีได้

           3.4 ยืนยัน ร่าง พ.ร.บ. องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... ที่ผ่านกรรมาธิการร่วมแล้ว

          3.5 สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการต่อต้านคอร์รัปชั่นภาคประชาชน ตามแนวทางของ ป.ป.ช.

4. ผลักดันมาตรการเรื่อง "ความโปร่งใส" ที่สอดคล้องกับมาตรฐานของ Global Anti-Corruption Programmeของ UNODC

          4.1 แก้ไข พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

          4.2 กำหนดให้รัฐวิสาหกิจต้องเปิดเผยข้อมูลไม่น้อยกว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

5. รณรงค์คุณธรรม จริยธรรมและการต่อต้านคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่

          5.1 สนับสนุนให้นำหลักสูตรการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมและการต่อต้านคอร์รัปชั่น มาใช้ใน
การเรียนการสอนของเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ

          5.2 รัฐต้องเป็นผู้สร้างวัฒนธรรมการต่อต้านคอร์รัปชั่น ด้วยการให้งบประมาณเพื่อการรณรงค์ทางสื่อสาธารณะอย่างมียุทธศาสตร์และต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี โดยให้องค์กรวิชาชีพภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินงาน และสำนักงาน ป.ป.ช.เป็นผู้ดูแลโครงการ



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น แถลงการณ์กำจัดคอร์รัปชั่น ก่อนการเลือกตั้ง อัปเดตล่าสุด 6 มกราคม 2557 เวลา 18:05:24 11,392 อ่าน
TOP