25 กุมภาพันธ์ วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ


          25 กุมภาพันธ์ วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ วันที่ประเทศไทยมีการถ่ายทอดกระจายเสียงครั้งแรก จนกลายมาเป็นวันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ จนถึงปัจจุบัน

วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ

          กิจการวิทยุกระจายเสียง นับเป็นช่องทางการสื่อสารหนึ่งที่มีความครอบคลุม เข้าถึงประชาชนทั่วทุกพื้นที่ทั้งใกล้-ไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร นับตั้งแต่มีการถ่ายทอดกระจายเสียงทางวิทยุขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 พร้อมกับการถือกำเนิดขึ้นของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
ภาพจาก : การรถไฟแห่งประเทศไทย

ประวัติความเป็นมาวันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ


          วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ของทุกปี นับเป็นวันแรกที่มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุในประเทศไทย โดยกิจการวิทยุกระจายเสียง เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2471 จากดำริของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และการคมนาคม ในสมัยรัชกาลที่ 7 ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งวงการวิทยุกระจายเสียงไทย" ซึ่งได้ตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้นที่ตึกที่ทำการไปรษณีย์ปากคลองโอ่งอ่าง ตำบลวัดราชบูรณะ โดยใช้ชื่อสถานีว่า 4 พีเจ (4PJ) ซึ่งต่อมาได้มีการประกอบเครื่องส่งคลื่นขนาดกลาง 1 กิโลวัตต์ ขึ้น ทำการทดลองที่ ตำบลศาลาแดง "หนึ่ง หนึ่ง พีเจ" (11PJ) ซึ่งการใช้ชื่อสถานีว่า "พีเจ" ในยุคนั้น ย่อมาจากคำว่า "บุรฉัตรไชยากร" อันเป็นพระนามเดิมของพระองค์ท่านนั่นเอง

          หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 ซึ่งตรงกับวันพระราชพิธีฉัตรมงคล ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเปิดการส่งวิทยุเป็นปฐมฤกษ์ โดยใช้ชื่อสถานีว่า "สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท" (Radio Bangkok at Phyathai) ตั้งอยู่ที่ วังพญาไท มีกำลังส่ง 2.5 กิโลวัตต์ โดยพิธีเปิดสถานีกระทำโดยอัญเชิญกระแสพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันพระราชพิธีฉัตรมงคล กระจายเสียงสู่พสกนิกร โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า "การวิทยุกระจายเสียงที่ได้ริเริ่มจัดตั้งขึ้น และทำการทดลองตลอดมานั้น ก็ด้วยความมุ่งหมายที่จะส่งเสริมการศึกษา การค้าขาย และการบันเทิงแก่พ่อค้าประชาชน" นับเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุในประเทศไทย

          กระทั่ง พ.ศ. 2482 รัฐบาลได้ตั้ง "สำนักงานโฆษณาการ" ขึ้น และโอนสถานีวิทยุต่าง ๆ ให้อยู่ในการควบคุมดูแลของสำนักงานโฆษณาการ หรือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน โดยเรียกสถานีวิทยุใหม่ว่า "สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย"

ความสำคัญของวิทยุกระจายเสียง


          นับจากวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 จนถึงปัจจุบัน กิจการวิทยุกระจายเสียงได้พัฒนาแพร่หลายมาเป็นลำดับ จนกลายมาเป็นกลไกหนึ่งที่มีความสำคัญในกระบวนการสื่อสาร และมีบทบาทสำคัญยิ่งในการเผยแพร่ข่าวสาร วิชาการ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในทั่วทุกพื้นที่ทั้งใกล้-ไกล พัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความมั่นคงมาตามลำดับ

คุณค่าทางการศึกษาของวิทยุ


          1. ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านภาษา จากการฟังรายการทุกประเภท เนื่องจากรายการวิทยุส่วนใหญ่จะใช้ภาษาถูกต้องตามหลักภาษาและแบบแผนของทางราชการ

          2. ให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง โดยอาศัยเทคนิคของวิทยุ เช่น การพูดจูงใจ การใช้เสียงดนตรี เสียงประกอบ การเสนอซ้ำ ๆ

          3. เปิดโอกาสให้นำวิทยากร ผู้มีชื่อเสียง หรือผู้ชำนาญการสอน ถ่ายทอดความรู้ไปสู่ผู้รับจำนวนมากพร้อมกัน

          4. ปลูกฝังความรู้สึกด้านคุณธรรม ค่านิยมต่าง ๆ ได้ดี เช่น ความรักชาติ ตลอดจนค่านิยมทางศาสนาและจริยธรรมต่าง ๆ

          5. คุณสมบัติด้านเสียงของวิทยุเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการสอนด้านภาษา ขับร้องดนตรี

          6. ส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย เนื่องจากสามารถรับฟังได้ทุกเวลา ทุกสถานที่

ขอบคุณภาพจาก : การรถไฟแห่งประเทศไทย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : hqssc.rtarf.mi.th, thaigoodview.comlib.ru.ac.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
25 กุมภาพันธ์ วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ อัปเดตล่าสุด 18 ธันวาคม 2567 เวลา 16:53:30 57,378 อ่าน
TOP
x close