x close

31 มีนาคม วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว


          วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 31 มีนาคม เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อราษฎรและแผ่นดินไทย มาร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงทำนุบำรุงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองในทุก ๆ ด้านกันค่ะ

วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
 
 

ประวัติวันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว


         วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับวันที่ 31 มีนาคม 2330 และด้วยความสำนึกในพระเมตตาธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณอันมีเป็นอเนกประการ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2535 กำหนดให้วันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี เป็น "วันระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า" หรือ "วันเจษฎา" เพื่อน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน

วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภาพจาก dreamloveyou / Shutterstock.com

พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว


           พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระนามเดิมว่า "หม่อมเจ้าชายทับ" เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และเจ้าจอมมารดาเรียม พระราชสมภพเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2330 ณ พระราชวังเดิมธนบุรี

            ครั้นเมื่อปี 2356 ซึ่งเป็นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ขณะนั้น หม่อมเจ้าชายทับ มีพระชันษาได้ 26 ปี ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าต่างกรม ทรงพระนามว่า "พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์" โดยทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระบรมชนกนาถให้ทรงกำกับราชการกรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระตำรวจว่าความฎีกา นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการต่างพระเนตรพระกรรณด้วย

            หลังจากนั้นได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติในวันที่ 21 กรกฎาคม 2367 เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว" ซึ่งมาจากคำว่า ทับ ซึ่งหมายถึงพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงประทับอยู่เหนือหัวของประชาชนชาวไทยทุกคนนั่นเอง และสวรรคตเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2394 รวมพระชนมพรรษา 63 พรรษา กับ 11 วัน ทรงครองสิริราชสมบัติประมาณ 27 ปี

วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระนามเต็มพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว


             เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2367 แล้ว ทรงมีพระนามเต็มว่า "พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร์ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวไสย สมุทัยดโรมน สากลจักรวาลาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาธิบดี ศรีสุวิบูลย คุณอถพิษฐ ฤทธิราเมศวร ธรรมิกราชาธิราช เดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร โลกเชษฐวิสุทธิ มงกุฎประเทศคตา มหาพุทธางกูร บรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว" นับเป็น "สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 6"

             ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เฉลิมพระปรมาภิไธยใหม่ เป็น "พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสรฐ มหาเจษฎาบดินทร์ สยามินทรวิโรดม บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว" ออกพระนามโดยย่อว่า "พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว"

             และในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีประกาศให้เฉลิมพระปรมาภิไธยเป็น "พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว" หรือ "พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3"

             จนกระทั่งในปี 2541 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ถวายพระราชสมัญญาว่า "พระมหาเจษฎาราชเจ้า" และได้ใช้เป็นสร้อยพระนามสืบมาจนปัจจุบัน

วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว


             ตลอดระยะเวลาที่รัชกาลที่ 3 ทรงครองสิริราชสมบัติประมาณ 27 ปี ตั้งแต่ปี 2367-2394 พระองค์ทรงปกครองประเทศโดยทำนุบำรุงให้ชาติเข้มแข็งรุ่งเรือง โดยทรงมีส่วนร่วมกับขุนนางในการบริหารราชการ และทรงควบคุมกิจการบ้านเมืองด้วยพระองค์เองมาตลอดรัชสมัยของพระองค์

             และทรงเพิ่มพูนรายได้ของประเทศชาติอย่างหลากหลายวิธี อาทิ การส่งสินค้าไปค้าขายกับต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงการเก็บภาษีอากรจากรูปของสินค้าและแรงงานเป็นการชำระด้วยเงินตรา รวมถึงมีการเก็บภาษีตั้งขึ้นใหม่ถึง 38 อย่าง เพื่อมิให้บังเกิดความขาดแคลนเหมือนเมื่อครั้งรัชกาลก่อน ทั้งยังได้เพิ่มงบประมาณการป้องกันประเทศ สร้างกองทัพเรือ ขุดคูคลอง สร้างป้อมปราการเพื่อรักษาปากน้ำจุดสำคัญ ๆ ในขณะเดียวกันก็ทำนุบำรุงประเทศพร้อมกันไปด้วย

             อย่างไรก็ดี ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตล่วงเลยมา 43 ปี พระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ คือ "เงินถุงแดง" ไว้เพื่อประโยชน์แก่แผ่นดิน และเงินจำนวนนี้สามารถใช้กอบกู้เอกราชในดินแดนบางส่วน และรักษาอำนาจอธิปไตยไว้ได้จนทุกวันนี้ ประชาชนชาวไทยและรัฐบาลจึงพร้อมใจกันประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์ ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ หน้าวัดราชนัดดารามวรวิหาร ในปี 2541 โดยทางราชการมีการถวายพระราชสมัญญาว่า "พระมหาเจษฎาราชเจ้า" และได้ใช้ชื่อวันงานใหม่ว่า "วันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า"

             สำหรับพระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สำคัญในด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย


ด้านความมั่นคง


             พระองค์ทรงป้องกันราชอาณาจักรด้วยการส่งกองทัพไปสกัดทัพของเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ไม่ให้ยกทัพเข้ามาถึงชานพระนคร และขัดขวางไม่ให้เวียงจันทน์เข้าครอบครองหัวเมืองอีสานของสยาม นอกจากนี้พระองค์ทรงประสบความสำเร็จในการทำให้สยามกับญวนยุติการสู้รบระหว่างกันเกี่ยวกับเรื่องเขมร โดยที่สยามไม่ได้เสียเปรียบญวนแต่อย่างใด

ด้านการคมนาคม


             ในรัชสมัยของพระองค์ใช้ทางน้ำเป็นสำคัญทั้งในการสงครามและการค้าขาย คลองจึงมีความสำคัญมากในการย่นระยะทางจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง จึงโปรดให้มีการขุดคลองขึ้น เช่น คลองบางขุนเทียน คลองบางขนาก และคลองหมาหอน

ด้านการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา


             พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก และได้ทรงสร้างพระพุทธรูปมากมาย เช่น พระประธานในอุโบสถวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร วัดปรินายกวรวิหาร และวัดนางนองวรวิหาร ทรงสร้างวัดใหม่ขึ้น 3 วัด คือ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร วัดเทพธิดารามวรวิหาร และวัดราชนัดดารามวรวิหาร ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดเก่าอีก 35 วัด เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งสร้างมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร เป็นต้น

วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดราชนัดดา ภาพจาก Supavadee butradee / Shutterstock.com

ด้านการศึกษา


             ทรงทำนุบำรุงและสนับสนุนการศึกษา โปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิท แต่งตำราเรียนภาษาไทยขึ้นเล่มหนึ่งคือ หนังสือจินดามณี โปรดเกล้าฯ ให้ผู้รู้นำตำราต่าง ๆ มาจารึกลงในศิลาตามศาลารอบพุทธาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ปั้นตั้งไว้ตามเขามอและเขียนไว้ตามฝาผนังต่าง ๆ มีทั้งอักษรศาสตร์ แพทยศาสตร์ พุทธศาสตร์ โบราณคดี ฯลฯ เพื่อเป็นการเผยแพร่วิชาการสาขาต่าง ๆ จึงอาจกล่าวได้ว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของกรุงสยาม


ด้านความเป็นอยู่


             พระองค์ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ดูแลทุกข์สุขของราษฎร ด้วยมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า ทรงไม่สามารถจะบำบัดทุกข์ให้ราษฎรได้หากไม่เสด็จออกนอกพระราชวัง เพราะราษฎรจะร้องถวายฎีกาได้ต่อเมื่อพระคลังเวลาเสด็จออกนอกพระราชวังเท่านั้น จึงโปรดให้นำกลองวินิจฉัยเภรีออกตั้ง ณ ทิมดาบกรมวัง ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อราษฎรผู้มีทุกข์จะได้ตีกลองร้องถวายฎีกาไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อให้มีการชำระความกันต่อไป โดยพระองค์จะทรงคอยซักถามอยู่เนือง ๆ ทำให้ตุลาการ ผู้ทำการพิพากษา ไม่อาจพลิกแพลงคดีเป็นอื่นได้

             ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีศาสนาจารย์และนายแพทย์ชาวอเมริกันและอังกฤษเดินทางเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาเพิ่มมากขึ้น หนึ่งในจำนวนนี้คือ ศาสนาจารย์แดน บีช บรัดเลย์ เอ็ม.ดี. หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในนามของหมอบรัดเลย์ ได้เป็นผู้ริเริ่มให้มีการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ และการฉีดวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคและการผ่าตัดขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ หมอบรัดเลย์ยังได้คิดตัวพิมพ์อักษรไทยขึ้น (พ.ศ. 2379) ทำให้มีการพิมพ์หนังสือภาษาไทยเป็นครั้งแรก โดยพิมพ์คำสอนศาสนาคริสต์เป็นภาษาไทย เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2379 ต่อมา พ.ศ. 2385 หมอบรัดเลย์พิมพ์ปฏิทินภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก

             ด้านการหนังสือพิมพ์ฉบับแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 หมอบรัดเลย์ได้ออกหนังสือพิมพ์แถลงข่าวรายปักษ์เป็นภาษาไทย ชื่อ บางกอกรีคอร์เดอร์ (Bangkok Recorder) มีเรื่องสารคดี ข่าวราชการ ข่าวการค้า ข่าวเบ็ดเตล็ด ฉบับแรกออกเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2387

             หนังสือบทกลอนเล่มแรกที่พิมพ์ขายและผู้เขียนได้รับค่าลิขสิทธิ์คือ นิราศลอนดอน ของหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูร) โดยหมอบรัดเลย์ซื้อกรรมสิทธิ์ไปพิมพ์ในราคา 400 บาท เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2404 และตีพิมพ์จำหน่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2404

ด้านการค้ากับต่างประเทศ


             พระองค์ทรงสนับสนุนส่งเสริมการค้าขายกับต่างประเทศทั้งกับชาวเอเชียและชาวยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้ากับจีน ตั้งแต่เมื่อครั้งพระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ส่งผลให้พระคลังสินค้ามีรายได้เพิ่มมากขึ้น

             นอกจากนี้มีการแต่งสำเภาทั้งของราชการ เจ้านาย ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ และพ่อค้าชาวจีน ไปค้าขายยังเมืองจีนและประเทศใกล้เคียง รวมถึงการเปิดค้าขายกับมหาอำนาจจะวันตก จนมีการลงนามในสนธิสัญญาระหว่างกัน คือ สนธิสัญญาเบอร์นี 2369 และ 6 ปีต่อมาได้เปิดสัมพันธไมตรีกับสหรัฐอเมริกาและมีการทำสนธิสัญญาต่อกันใน พ.ศ. 2375 นับเป็นสนธิสัญญาฉบับแรกที่สหรัฐอเมริกาทำกับประเทศทางตะวันออก ส่งผลให้ไทยได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมาก

วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดยานนาวา ภาพจาก boyphotos / Shutterstock.com

ด้านศิลปกรรม


             พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารจนแล้วเสร็จ และมีพระราชกระแสรับสั่งให้สร้างเรือสำเภาก่อด้วยอิฐในวัดยานนาวา เพื่อให้ประชาชนได้รู้ว่าเรือสำเภานั้นมีรูปร่างลักษณะอย่างไร เพราะทรงเล็งเห็นว่าภายหน้าจะไม่มีการสร้างเรือสำเภาอีกแล้ว

             สำหรับวรรณกรรม พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตจารึกวรรณคดีที่สำคัญ ๆ และวิชาแพทย์แผนโบราณลงบนแผ่นศิลา แล้วติดไว้ตามศาลารายรอบพระอุโบสถ รอบพระมหาเจดีย์บริเวณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาหาความรู้

กิจกรรมวันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว


             ในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนชาวไทยทุกคน ร่วมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ด้วยการวางพานพุ่มถวายบังคมพระบรมรูปของพระองค์ ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ (ศาลาเฉลิมไทย เดิม)

ขอบคุณข้อมูลจาก : lib.ru.ac.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
31 มีนาคม วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อัปเดตล่าสุด 9 มกราคม 2567 เวลา 15:35:20 94,611 อ่าน
TOP