x close

วันไปรษณีย์โลก 9 ตุลาคม ส่งความสุขผ่านจดหมาย

          วันไปรษณีย์โลก 9 ตุลาคม ส่งความสุขผ่านจดหมาย มารู้จัก ประวัติวันไปรษณีย์โลก และยุคแรกเริ่มไปรษณีย์ในประเทศไทยกันเลย

วันไปรษณีย์โลก

          แม้การติดต่อสื่อสารของผู้คนในปัจจุบันจะมีหลากหลายช่องทางขึ้น แต่การติดต่อสื่อสารทางไปรษณีย์ก็ถือว่ายังมีความสำคัญอยู่มาก ทั้งจากการส่งข้อความหากันของบุคคลทั่วไป หรือการส่งเอกสารแจ้งนัดหมายและกำหนดการต่าง ๆ ของทางหน่วยงานราชการ หรือสำหรับวัยรุ่นยุคใหม่ การเขียนข้อความหวาน ๆ ด้วยลายมือตัวเองแล้วส่งจดหมายโต้ตอบกัน ก็เป็นการเติมสีสันความรักให้แก่ความสัมพันธ์ที่โรแมนติกไม่ใช่น้อย เหตุนี้เองจึงทำให้ไปรษณีย์ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง

           และด้วยเหตุที่ไปรษณีย์ไทยยังได้รับความนิยม ทางบริษัท ไปรษณีย์ไทย ก็ถือโอกาสในวันที่ 9 ตุลาคม ซึ่งเป็น วันไปรษณีย์โลก (World Post Day) ให้ประชาชนทุกคนสามารถนำจดหมายและโปสการ์ดส่งฟรี ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ยังจัดทำไปรษณียากรชุดพิเศษขึ้นมาเพื่อจัดจำหน่ายเป็นที่ระลึกภายในงาน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันดังกล่าวด้วย ส่วนในวันนี้เราก็ขออาสาพาเพื่อน ๆ ทุกคนมารู้จักกับประวัติวันไปรษณีย์โลกกันสักหน่อย ว่ามีที่มาอย่างไร แล้วไปรษณีย์เริ่มใช้ในประเทศไทยตอนไหน.. มาดูกันเลย

วันไปรษณีย์โลก


          วันไปรษณีย์โลก ตรงกับวันที่ 9 ตุลาคม ของทุก ๆ ปี ประกาศใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2512 โดยมติที่ประชุมองค์การไปรษณีย์สากลของโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อรำลึกถึงวันครบรอบการก่อตั้งสหภาพสากลไปรษณีย์ Universal Postal Union (UPU) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2410 ที่เมืองเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระบบงานการให้บริการและปรับปรุงไปรษณีย์ระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนเพื่อส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศด้านบริการไปรษณีย์ 

          ส่วนการเริ่มต้นไปรษณีย์ในประเทศไทย ในยุคแรกได้รับอิทธิพลมาจากกงสุลของประเทศอังกฤษ ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในปลายรัชกาลที่ 4 ราวปี พ.ศ. 2410 จากเดิมที่สื่อสารในระบบ "ม้าใช้" หรือ "คนเร็ว" เช่นเดียวกับที่ทั่วโลกได้นิยมใช้กัน กล่าวคือ ใช้คนเดินข่าวเดินทางนำข่าวไปด้วยเท้าหรือใช้ม้า เรือแพ เป็นพาหนะ โดยนำเอาระบบการติดต่อสื่อสารทางไปรษณีย์มาใช้เพื่อการติดต่อค้าขายระหว่างกรุงเทพฯ กับสิงคโปร์ จึงจำเป็นต้องติดต่อสื่อสาร ส่งข่าวไป-มากับต่างประเทศมากขึ้น โดยใช้สถานที่ตึกยามท่าน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หลังกงสุลอังกฤษ เปิดเป็นที่ทำการ พร้อมทั้งใช้ตราไปรษณียากรของสหพันธรัฐมลายาและอินเดีย ซึ่งพิมพ์อักษร B ประทับลงบนดวงตราไปรษณียากรนั้น ๆ แทนคำว่า Bangkok และจำหน่ายจดหมายเหล่านั้นไปประทับตราวันที่ที่สิงคโปร์ โดยฝากไปกับเรือค้าขายของประเทศอังกฤษ เพื่อไปยังประเทศสิงคโปร์ต่อไป


ภาพจาก : Gwoeii / shutterstock.com

          ต่อมาในต้นรัชกาลที่ 5 ราวปี พ.ศ. 2423 ข้าราชการสำนักของไทยได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอให้มีพระราชดำริจัดตั้งการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศไทย รัชกาลที่ 5 จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมไปรษณีย์ขึ้นในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ตึกใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และในวันเดียวกันนี้เองก็ได้มีประกาศเปิดการไปรษณีย์ทดลองในกรุงเทพฯ โดยกำหนดให้มีบริการไปรษณีย์ภายในอาณาเขต ดังนี้

          1. ด้านเหนือ ถึง สามเสน
          2. ด้านตะวันออก ถึง สระปทุม
          3. ด้านใต้ ถึง บางคอแหลม
          
4. ด้านตะวันตก ถึง ตลาดพลู

          ในเดือนแรกของการทดลองเปิดบริการไปรษณีย์ในเขตกรุงเทพฯ ปรากฏว่ามีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก ได้ยังความชื่นชมสมพระราชหฤทัยมาก ดังจะเห็นได้จากกระแสพระราชดำรัสซึ่งได้พระราชทานแด่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่-ผู้น้อย ข้าทูลละอองธุลีพระบาท ราชทูตอเมริกัน ท่านเอเยนต์กอมิสแซ และกงสุลต่างประเทศ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2426 โดยมีความตอนหนึ่งดังต่อไปนี้

          "การไปรษณีย์ซึ่งได้เปิดใช้โดยส่งหนังสือในแขวงจังหวัดกรุงเทพฯ เสมอนั้น ก็เป็นที่แปลกใจของเราที่ไม่คิดว่าคนไทยจะใช้หนังสือกันถึงเพียงนี้ ทำให้เรามีความประสงค์ที่จะจัดการให้ได้ส่งหนังสือไป-มาให้ได้ตลอดพระราชอาณาจักรสยามโดยเร็ว จะเป็นประโยชน์ในการค้าขายแลทางราชการมาก แล้วภายหลังเราหวังใจว่าคงจะทำตามคำเชิญของท่านผู้จัดการไปรษณีย์ใหญ่ในกรุงเยอรมนี ให้กรุงสยามเข้าจัดการส่งหนังสือไป-มาได้ทั่วโลก คือเข้าในหมู่พวกการไปรษณีย์อันรวมกัน"

          หลังจากนั้นเพียงไม่นานได้มีการเปิดบริการไปรษณีย์ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อดำเนินการจริงให้แก่ประชาชนตามระบบมาตรฐาน พร้อมเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมสำคัญของสหภาพอย่างสม่ำเสมอ จนได้รับเกียรติและความไว้วางใจจากประเทศสมาชิกเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วันไปรษณีย์โลก 9 ตุลาคม ส่งความสุขผ่านจดหมาย อัปเดตล่าสุด 7 ตุลาคม 2566 เวลา 00:03:50 27,836 อ่าน
TOP