x close

สุวณา สุวรรณจูฑะ ประวัติอธิบดี DSI หญิงคนแรกของไทย

สุวณา สุวรรณจูฑะ ประวัติอธิบดี DSI หญิงคนแรกของไทย
สุวณา สุวรรณจูฑะ ประวัติอธิบดี DSI หญิงคนแรกของไทย

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก จส.100

               สุวณา สุวรรณจูฑะ ประวัติอธิบดีดีเอสไอหญิงคนแรกของไทย กับเส้นทางการทำงานในกระทรวงยุติธรรม และภารกิจสางคดีการเมืองที่รออยู่ข้างหน้า

               เป็นไปตามความคาดหมายเมื่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2557 ไฟเขียวให้ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ขึ้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งถือเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้นั่งเก้าอี้นี้อันมาพร้อมกับภาระหนักอึ้ง และก็ทำให้หลายคนสงสัยว่า ทำไมชื่อของผู้หญิงคนนี้ถึงมาแรงแซงโค้งจนเข้าวินคว้าเก้าอี้อธิบดีดีเอสไอไปได้  ตามไปย้อนดูเบื้องหลังประวัติการทำงานของ สุวณา สุวรรณจูฑะ ด้วยกัน

               สุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในวัย 58 ปี พื้นเพเดิมเป็นชาวนครศรีธรรมราช จบการศึกษาจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2521 และได้ทำงานเป็นลูกหม้อกระทรวงยุติธรรมเรื่อยมา เริ่มจากเข้ารับราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน 3 สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เมื่อปี 2522 จากนั้นไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการเงิน กองคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม

               กระทั่งปี 2538 รับตำแหน่งผู้อำนวยการกองคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม และอีก 6 ปีต่อมา ก็ได้เลื่อนขั้นเป็นผู้ช่วยปลัดกระทรวงยุติธรรม ก่อนขึ้นเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม (ระดับ 9) พร้อมกับรับตำแหน่งรักษาการรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษอีกหน้าที่หนึ่ง

               ต่อมาในปี 2547 นางสุวณา ได้เลื่อนขั้นเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม (ระดับ 10) พร้อมกับตำแหน่งที่ปรึกษาอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จนเมื่อในปี 2549 นางสุวณา ได้รับแต่งตั้งจาก ครม. ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จากนั้นอีก 5 ปี ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้ากลุ่มภารกิจ ด้านบริหารความยุติธรรม (กำกับดูแลกรมบังคับคดี และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) ก่อนที่ในปี 2555 จะได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้าน อำนวยความยุติธรรม (กำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์)

               จากประวัติการทำงานจะเห็นได้ว่า นางสุวณา สุวรรณจูฑะ ไม่ใช่นักกฎหมายโดยตรง แต่ก็ทำงานในกระทรวงยุติธรรมมาโดยตลอด และมีบทบาทเข้าไปร่วมงานกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตั้งแต่ต้น จนได้รับเลือกให้เป็นกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก่อนมีคำสั่งให้ทำหน้าที่รักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ และภายหลัง ครม. มีมติเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษในที่สุด ซึ่งหลายฝ่ายก็มองว่าที่แต่งตั้งนางสุวณาก็เพื่อลดกระแสต้านจากคนในที่ไม่ต้องการให้ทาบโอนตำรวจมาเป็นอธิบดีดีเอสไอ

               ทั้งนี้มีการคาดหมายกันว่า นางสุวณาจะได้รับมอบภารกิจให้เข้ามาสะสางคดีกองกำลังชายชุดดำ, ผังล้มเจ้า  และคดีม็อบ กปปส. ซึ่งดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ โดยคดีทั้ง 2 ส่วนเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองบานปลายจน คสช. ต้องออกมาทำการรัฐประหาร

               ด้านชีวิตส่วนตัว นางสุวณา สมรสกับ นายก่อพงศ์ สุวรรณจูฑะ ผู้พิพากษาอาวุโสที่เป็นผู้ทำงานใกล้ชิดกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีบุตรชายด้วยกัน 3 คน

สุวณา สุวรรณจูฑะ ประวัติอธิบดี DSI หญิงคนแรกของไทย

  ประวัติการทำงาน
 

พ.ศ. 2522 - เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน 3 สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม
 
พ.ศ. 2533 - หัวหน้าฝ่ายการเงิน กองคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม
  
พ.ศ. 2538 - ผู้อำนวยการกองคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม
 
พ.ศ. 2544 - ผู้ช่วยปลัดกระทรวงยุติธรรม
 
พ.ศ. 2545 - ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม (ระดับ 9) 

พ.ศ. 2545 - รักษาการรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (อีกหน้าที่หนึ่ง)  พ.ศ. 2547 - ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม (ระดับ 10)
 
พ.ศ. 2547 - ที่ปรึกษาอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (อีกหน้าที่หนึ่ง)
  
พ.ศ. 2549 - คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
 
พ.ศ. 2554 - คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรม และได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองปลัดกระทรวงยุติธรรม หัวหน้ากลุ่มภารกิจ ด้านบริหารความยุติธรรม (กำกับดูแลกรมบังคับคดี และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ)
   
พ.ศ. 2555 - ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองปลัดกระทรวงยุติธรรม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้าน อำนวยความยุติธรรม (กำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์)

พ.ศ. 2557 - อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ

  เกียรติประวัติ

พ.ศ. 2519 – 2520 - ได้รับพระราชทานทุนภูมิพล คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
พ.ศ. 2541 - สตรีตัวอย่างแห่งปี สาขาการเงินและการคลัง มูลนิธิเพื่อสังคมไทยและหนังสือพิมพ์เส้นทางเศรษฐกิจ

  เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พ.ศ. 2527 - จตุรถาภรณ์ช้างเผือก
  
พ.ศ. 2529 - ตริตาภรณ์มงกุฎไทย
 
พ.ศ. 2534 - ตริตาภรณ์ช้างเผือก

พ.ศ. 2536 - ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย
  
พ.ศ. 2540 - ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก
   
พ.ศ. 2544 - ประถมาภรณ์มงกุฎไทย
  
พ.ศ. 2547 - ประถมาภรณ์ช้างเผือก
  
พ.ศ. 2550 - มหาวชิรมงกุฎ
  
พ.ศ. 2555 - มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก 




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

   
















เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สุวณา สุวรรณจูฑะ ประวัติอธิบดี DSI หญิงคนแรกของไทย โพสต์เมื่อ 29 ตุลาคม 2557 เวลา 13:47:00 43,650 อ่าน
TOP