x close

ทีดีอาร์ไอ ชี้จำนำข้าวทำรัฐเจ๊งเฉียด 1 ล้านล้าน


จำนำข้าวเจ๊งเฉียด1ล้านล้าน! (ไทยโพสต์)

            ทีดีอาร์ไอชี้จำนำข้าวทำรัฐเจ๊ง 9.6 แสนล้าน โกง 1.09 แสนล้าน "นิวัฒน์ธำรง" โต้รัฐบาลปูขาดทุนแค่ปีละ 1.26 แสนล้าน 3 ปี 3 แสนกว่าล้าน คุ้มช่วยชาวนา


            เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในงานสัมมนาสาธารณะเรื่อง "สู่แนวคิดใหม่ของนโยบายอุดหนุนภาคการเกษตร...บทเรียนจากนโยบายจำนำข้าว" ว่า  ข้อสรุปจากโครงการวิจัยการคอร์รัปชั่นกรณีการศึกษา : โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด พบว่า โครงการรับจำนำข้าวในปี 2554-2557 ถือเป็นโครงการที่แทรกแซงตลาดข้าวไทยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยรัฐบาลต้องใช้เงินงบประมาณดำเนินการถึง 9.85 แสนล้านบาท เพื่อรับซื้อข้าวจำนวน 54.4 ล้านตัน หรือคิดเป็น 53% ของผลผลิตทั้งหมด และมีชาวนาเข้าร่วมโครงการ 1.77-1.78 ล้านราย คิดเป็นมูลค่าข้าว 2.39 แสนล้านบาท โรงสีเข้าร่วมโครงการ 826 แห่ง โกดังเข้าร่วมโครงการ 1.68 พันแห่ง ผู้ตรวจข้าว 20 ราย

            ทั้งนี้ภายหลังจากข้อมูลการตรวจนับสต็อกข้าวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อเดือนตุลาคม 2557 ที่พบว่ามีข้าวอยู่ในสต็อกราว 17.4-18 ล้านตัน โดยในส่วนนี้มีข้าวหาย 1.2 แสนตัน และมีข้าวกว่า 85% ที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน ดังนั้นเมื่อตีราคาข้าวตามข้อมูลดังกล่าว จะพบว่ารัฐบาลต้องขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวในช่วงที่ผ่านมาทั้งสิ้น 6.6 แสนล้านบาท และหากใช้เวลาระบายสต็อกข้าวที่เหลือประมาณ 10 ปี ผลขาดทุนจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.6 แสนล้านบาท โดยในระยะยาวมีโอกาสที่ผลการขาดทุนจะสูงเกิน 1 ล้านล้านบาทได้หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี

            นอกจากนี้ ยังพบว่าการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ยังมีมูลค่าความเสียหายขั้นสูงที่เกิดจากการทุจริตในการระบายข้าวสูงถึง 1.09 แสนล้านบาท โดยในส่วนนี้แบ่งเป็น

            - การทุจริตจากการขายข้าวราคาถูก วงเงิน 7.51 หมื่นล้านบาท เช่น การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จำนวน 7.8 ล้านตัน คิดเป็น 41% วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท การเลือกขายข้าวให้พ่อค้าพรรคพวก 3.7 ล้านตัน หรือคิดเป็น 20% วงเงิน 2.15 หมื่นล้านบาท และการขายข้าวถุงราคาถูก 2.4 ล้านตัน คิดเป็น 8% วงเงิน 8.54 พันล้านบาท

            - การทุจริตจากข้าวหาย รวมถึงการสับเปลี่ยนข้าว วงเงิน 3.44 หมื่นล้านบาท เช่น กรณีไม่คืนข้าว 1.2 แสนตัน วงเงิน 1.94 พันล้านบาท และกรณีหาข้าวคุณภาพต่ำมาคืน 5.9 ล้านตัน วงเงิน 3.24 หมื่นล้านบาท

            "นโยบายจำนำข้าวก่อให้เกิดต้นทุนและความเสียหายต่อสังคมมากกว่าประโยชน์ต่อชาวนาและผู้บริโภค คิดเป็นมูลค่าถึง 1.23 แสนล้านบาท โดยคิดเป็นค่าเช่าทางเศรษฐกิจ อยู่ที่ 5.85 แสนล้านบาท หรือ 41% ของจีดีพีเกษตร ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องลงทุนเพื่อแสวงหากำไรพิเศษ ส่งผลให้ต้นทุนการปลูกข้าวแพงขึ้น  เป็นต้น แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีชาวนาในโครงการได้รายได้ทางตรงเพิ่มขึ้น 2.96 แสนล้านบาท ขณะที่ชาวนาที่ได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม อยู่ที่ 5.61 แสนล้านบาท แต่ประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับชาวนารายกลางและรายใหญ่มากกว่าชาวนายากจน และนโยบายนี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงสั้นเท่านั้น ขณะที่ระยะกลางและยาวมีผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างแน่นอน" นายนิพนธ์ ระบุ

            นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ ยืนยันว่า โครงการรับจำนำข้าวมีความล้มเหลวของนโยบายและแนวทางการปฏิบัติ เนื่องจากรัฐบาลใช้นโยบายหาเสียงโดยไม่รับผิดชอบ ไม่คำนึงถึงภาระงบประมาณและภาระขาดทุนที่จะกลายเป็นหนี้สาธารณะ รวมถึงมีการทุจริตในเกือบทุกขั้นตอน ทั้งนี้ เชื่อว่าในระยะต่อไปจะมีการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวรอบที่ 3 เกิดขึ้นอีก หากมีการเลือกตั้ง เนื่องจากชาวนาส่วนใหญ่ยังติดกับการจำนำข้าว ซึ่งไม่ควรปล่อยให้โครงการลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก เพราะถือเป็นความเสียหายกับประเทศอย่างมหาศาล

            สำหรับแนวทางทางป้องกันไม่ให้นโยบายแทรกแซงตลาดจากการใช้เงินแบบไม่จำกัดงบประมาณจนสร้างความเสียหายนี้ คือ การแก้ไขกฎหมาย เช่น การกำหนดให้พรรคการเมืองที่หาเสียงต้องแจกแจงภาระค่าใช้จ่ายและที่มาของเงินที่ได้ กำหนดให้รัฐบาลต้องเปิดเผยบัญชีการเงินและผลการดำเนินงานของโครงการต่อรัฐสภาก่อนเสนอร่างงบประมาณปีใหม่ การแก้ไขกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการให้รัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูลหากปกปิดมีความผิด

             นอกจากนี้ ให้มีการจัดทำรายงานอิสระเรื่องผลกระทบและบทเรียนจากโครงการรับจำนำข้าวเพื่อสรุปเป็นบทเรียนสำหรับประชาชน หลังจากการตรวจสอบสต็อกและจัดทำบัญชีรวมเสร็จสิ้น โดยรัฐบาลควรออกพันธบัตรเพื่อหาเงินชำระหนี้ และจัดทำแผนการชำระเงินทั้งต้นและดอกเบี้ย รวมถึงกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ให้ชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันควรเริ่มจัดระเบียบใหม่ว่าด้วยการแทรกแซงตลาดแบบโปร่งใส เช่น กำหนดและเร่งรัดให้หน่วยงานรัฐจัดทำบัญชี และบัญชีรวมโครงการเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทุกไตรมาส

            รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนปัญหาข้าวในโกดังไม่ได้มาตรฐาน เพื่อหาผู้รับผิดชอบทั้งผู้ประกอบการเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐมนตรีและนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังและยังไม่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งข้อกล่าวหา รวมทั้งจัดทำโครงการช่วยเหลือเกษตรกรและแทรกแซงตลาดที่ใช้เงินนอกงบประมาณ แต่ผ่านการขอความเห็นชอบจาก สนช.ก่อน
 
            ทางด้านนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีต รมว.พาณิชย์ ชี้แจงข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่ระบุโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีผลขาดทุนถึง 7 แสนล้านบาทถึง 1 ล้านล้านบาท และต้องใช้หนี้ 30 ปี ว่า ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยตั้งแต่ปี 2554 จนถึงสิ้นสุดช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ขายข้าวมูลค่ารวมประมาณ 2.4 แสนล้านบาท และยังเหลือข้าวในโกดังอีกประมาณ 18 ล้านตัน และถ้าขายข้าว 16.2 ล้านตัน (90% ของ 18 ล้านตัน) จะได้เงินประมาณ 2.43 แสนล้านบาท รวมแล้วจะมียอดรายได้ประมาณ 4.8 แสนล้านบาท ขณะที่โครงการจำนำข้าวใช้เงินในปี 2554-2556 เป็นเงิน 6.8 แสนล้านบาท และมีข้าวนาปี 2556/2557 มูลค่า 1.8 แสนล้านบาท รวมรายจ่ายของโครงการทั้งสิ้น 8.6 แสนล้านบาท

            "ดังนั้นโครงการนี้มีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายประมาณ 3.8 แสนล้านบาท รัฐบาลทำโครงการรับจำนำข้าวมา 3 ปี จึงมียอดค่าใช้จ่ายโครงการช่วยเหลือชาวนาปีละประมาณ 1.26 แสนล้านบาท แต่เมื่อคำนึงถึงผลประโยชน์สืบเนื่อง ก็จะเห็นได้ว่าโครงการนี้มีผลประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างยิ่ง  นอกจากนี้เงินทั้งหมดที่ใช้จำนำข้าวชาวนาได้เข้าบัญชีธนาคารของชาวนาทุกบาททุกสตางค์ จึงไม่มีการยักยอกเงินหรือมีการทุจริตใดๆ ทั้งสิ้น" นายนิวัฒน์ธำรง ระบุกนง.คง ดบ.นโยบาย 2%





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทีดีอาร์ไอ ชี้จำนำข้าวทำรัฐเจ๊งเฉียด 1 ล้านล้าน อัปเดตล่าสุด 6 พฤศจิกายน 2557 เวลา 10:37:18 12,829 อ่าน
TOP