ชงออกกฎหมายใหม่ ห้ามขายเหล้าช่วงปีใหม่-สงกรานต์
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
เตรียมชงกฎหมายห้ามขายเหล้าปีใหม่-สงกรานต์ พร้อมกำหนดสถานที่ห้ามขาย คาดดันเข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมฯ วันที่ 19 ธันวาคมนี้
วันที่ 2 ธันวาคม 2557 นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในงานประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 8 ว่า หลังจากมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 ก็ได้มีการออกอนุบัญญัติในการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีก 33 ฉบับ และในช่วงปีใหม่นี้ก็ได้มีการเสนออนุบัญญัติใหม่อีก 5 ฉบับ ประกอบด้วย
1. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดสถานที่ห้ามขาย ห้ามบริโภคในท่าเรือโดยสารสาธารณะ
2. ห้ามขายหรือบริโภคในสถานที่ที่อยู่ในกำกับดูแลของรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ
3. กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายห้ามดื่มบนทางรถไฟ
4. กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันที่ 31 ธันวาคม และ 1 มกราคม และวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี
5. กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานีขนส่ง
ซึ่งขณะนี้ได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีแล้ว โดยคาดว่าจะมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันที่ 19 ธันวาคมนี้ และจะเร่งประชุมคณะกรรมการนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติทันที เพื่อให้สามารถประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ทันก่อนช่วงปีใหม่
ขณะที่ นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า มาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำเป็นต้องดำเนินมาตรการหลาย ๆ ด้าน ไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะการควบคุมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ดำเนินการอยู่ในกรอบของกฎหมาย ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยกลยุทธ์ 5 ประการ เพื่อผลักดันนโยบาย ได้แก่
1. การสะสมปัจจัยพื้นฐาน โดยนำความรู้ที่มีการวิเคราะห์ วิจัย มาสังเคราะห์เป็นพื้นฐานในการออกนโยบาย และนำนโยบายไปปฏิบัติ
2. การทำงานร่วมระหว่างภาคีตามยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา
3. การสื่อสารสาธารณะ เพื่อนำข้อมูลความรู้ออกเผยแพร่ให้ถึงประชาชนในวงกว้าง โดยอาศัยการทำงานร่วมกับสื่อมวลชน
4. การแสวงหาและใช้หน้าต่างแห่งโอกาสอย่างเหมาะสม คือ การติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
5. การต่อสู้กับกุศโลบายในขั้นตอนทางกฎหมาย โดยจำเป็นต้องใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการควบคุม เช่น การควบคุมอัตราภาษี เพื่อจำกัดการบริโภค การควบคุมการเข้าถึงด้วยการเปลี่ยนวิธีการออกใบอนุญาต การขึ้นธรรมเนียมใบอนุญาตเพื่อจำกัดจำนวนของร้านค้า ซึ่งจะช่วยลดการเข้าถึงไม่ให้มากเกินไป รวมทั้งต้องเร่งสร้างมาตรการอื่น ๆ ที่สำคัญทางสังคม เช่น การป้องปรามการเมาแล้วขับ เป็นต้น
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก