มหาวิทยาลัยรังสิต เผยแพร่คำประกาศเกียรติคุณ สุเทพ เทือกสุบรรณ ทำงานเพื่อสังคมใน 2 บทบาทที่สำคัญ พร้อมระบุเหตุผล 3 ประการที่ควรได้รับดุษฎีบัณฑิต
สืบเนื่องจากกรณีที่ มหาวิทยาลัยรังสิต จะมีการจัดพิธีประสาทปริญญา ประจำปี 2557 ในวันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2558 ณ อาคารนันทนาการ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยในปีนี้สภามหาวิทยาลัยรังสิตมีมติประสาทปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง ให้แก่พระสุเทพ เทือกสุบรรณ นั้น
ล่าสุดวันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2558) เว็บไซต์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้มีการเผยแพร่คำประกาศเกียรติคุณ ต่อ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ (พระสุเทพ ปภากโร) ในพิธีมอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง มหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2557 โดยมีรายละเอียดดังนี้
"คำประกาศเกียรติคุณ
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ (พระสุเทพ ปภากโร)
ในพิธีมอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง
มหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2557
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เป็นผู้นำที่ได้รับการตอบรับไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้คนทั่วทั้งเอเชียด้วย ดังผลสำรวจของเว็บไซต์เอเชียโซไซตี้ ในปี พ.ศ. 2557 ได้ระบุว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.ได้รับคะแนนการโหวตให้เป็นบุคคลแห่งปีของเอเชีย ประจำปี 2557 โดยได้คะแนนเสียงสูงถึง ร้อยละ 88 ซึ่งมีคะแนนสูงกว่า นางสาวมาลาลา ยูซาฟไซ ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปีนี้ด้วย
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เกิดที่ตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2515 และปริญญาโททางด้านรัฐศาสตร์ จาก Middle Tennesse State University ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2518
ประวัติการทำงานทางการเมืองของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีสองบทบาทสำคัญ คือ
บทบาทแรก เป็นนักการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นในฐานะกำนัน และระดับชาติในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เข้าสู่วงการเมืองระดับชาติครั้งแรกในปี พ.ศ. 2522 โดยได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. จังหวัดสุราษฎร์ธานี และหลังจากนั้นสามารถชนะการเลือกตั้ง ได้เป็น ส.ส. อย่างต่อเนื่องถึง 10 สมัย และดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ เช่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2 สมัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรองนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสุดท้าย ก่อนที่จะลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์แล้วก้าวเข้าสู่สนามการเมืองในภาคประชาชนต่อมา
บทบาทที่สอง ในฐานะแกนนำภาคประชาชน ในนาม กปปส. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้แสดงเจตจำนงในทางการเมืองภาคประชาชน โดยมีเป้าหมายในการเคลื่อนไหวเพื่อ 1) สร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง 2) ต่อสู้เคลื่อนไหวภายใต้กรอบของกฎหมาย 3) ต่อต้านเผด็จการรัฐสภา 4) เสนอให้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตมีบทลงโทษผู้กระทำผิดโดยคดีไม่มีอายุความ และ 5) จัดตั้งสภาประชาชนโดยไม่มีนักการเมืองและไม่จำกัดสาขาอาชีพ
สำหรับเหตุผล ในการมอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง แก่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีอย่างน้อย 3 ประการ คือ
ประการแรก มอบให้ในฐานะเป็นแกนนำภาคประชาชนในการต่อสู้กับอำนาจรัฐโดยยึดหลักอหิงสา และเรียกร้องการปฏิรูปประเทศอย่างมุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละ
ประการที่สอง เป็นผู้สร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองในภาคประชาชน และสร้างอารยะขัดขืนต่ออำนาจรัฐที่มิชอบ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปประเทศ และ
ประการที่สาม เป็นบุคคลที่ได้รับคะแนนเสียงจากการโหวตให้เป็นบุคคลแห่งปีของเอเชียจากเว็บไซต์เอเชียโซไซตี้ด้วยคะแนนเสียงถึงร้อยละ 88 ในปี 2557 โดยมีคะแนนเสียงเหนือผู้นำและบุคคลสำคัญ ๆ ในเอเชียอีกหลายราย
จากข้อเท็จจริงและเหตุผลที่กล่าวข้างต้น สภามหาวิทยาลัยรังสิต ในการประชุมครั้งที่ N/2557 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 จึงมีมติเป็นเอกฉันท์มอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง แก่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป"
ภาพจาก วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก