x close

อ.เจษฏา ชี้คลิปตรวจคุณภาพของน้ำสิงห์มั่ว แนะฟ้องหมิ่นเจ้าของคลิป


อ.เจษฏา ชี้คลิปตรวจคุณภาพของน้ำสิงห์มั่ว แนะฟ้องหมิ่นเจ้าของคลิป

           อ.เจษฎา ชี้คลิปตรวจสอบคุณภาพของน้ำสิงห์มั่ว เหตุเจ้าของคลิปไม่เข้าใจวิธีการตรวจสอบที่ถูกต้อง แนะ บ.บุญรอด ฟ้องหมิ่นประมาทเจ้าของคลิป

           วันที่ 26 พฤษภาคม 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ชี้แจงเกี่ยวกับคลิปการตรวจสอบคุณภาพของน้ำสิงห์ ผ่านเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant  [] ว่า คลิปตรวจสอบคุณภาพของน้ำสิงห์ที่ถูกเผยแพร่ขณะนี้ เป็นการตรวจสอบที่ไม่ถูกต้อง เหตุเจ้าของคลิปไม่เข้าใจวิธีการตรวจสอบ ประกอบกับขาดความรู้เรื่องความแตกต่างด้านการผลิตระหว่างน้ำสิงห์กับน้ำดื่มยี่ห้ออื่น ๆ จึงทำให้มีการอ่านผลผิดพลาด พร้อมแนะนำให้ บ.บุญรอด ฟ้องหมิ่นประมาทเจ้าของคลิป

สำหรับข้อความที่ถูกโพสต์มีดังนี้

           "คลิปน้ำสิงห์อันตราย ... ผมแนะนำให้ บ.บุญรอด ฟ้องหมิ่นประมาทเจ้าของคลิปเลยครับ"

(โพสต์นี้ยาวนะครับ ควรอ่านให้จบ)

           พึ่งกลับเข้าห้องทำงาน คนแชทถามกันให้เพียบว่า คลิปที่มีคนเอาน้ำสิงห์ในโรงแรมมาทดสอบด้วยเครื่องมือบางอย่าง แล้วได้ค่าตัวเลขสูงเทียบกับยี่ห้ออื่น ๆ จนพูดในคลิปว่า "อันตรายที่สุด ที่มนุษย์ไม่น่าจะกินได้ " นั้น เรื่องจริงหรือเปล่า

           คำตอบคือ เค้าตรวจมั่วครับ ไม่เข้าใจวิธีการตรวจ-การอ่านผล พูดผิดเรื่องมาตรฐานน้ำดื่ม และที่สำคัญคือ เค้าไม่รู้เรื่องความแตกต่างในด้านการผลิตระหว่างน้ำสิงห์กับน้ำดื่มยี่ห้ออื่นครับ

           อย่างแรกคือ เครื่องมือที่เค้าเอามาวัดค่าน้ำนั้น มันใช้วัดค่า "ของแข็งที่ละลายอยู่ในน้ำ" หรือ Total Dissolved Solid (TDS) ซึ่งหมายถึงปริมาณของแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ละลายอยู่ในนั้นนั่น ไม่ได้หมายถึงปริมาณของตะกอนสิ่งสกปรกในน้ำ อย่างที่คนในคลิปนั้นเข้าใจว่าเป็นการวัดค่าความสะอาดของน้ำ

           พูดง่าย ๆ ว่า ถ้าผมเอาไปวัดน้ำกลั่น หรือน้ำที่ผ่านเครื่องกรองแบบออสโมซิสย้อนกลับผ่านเยื่อกรอง (reverse osmosis) หรือน้ำอาร์โอ (RO) ซึ่งมันกรองแร่ธาตุทุกอย่างออกไปหมดจากน้ำ ค่า TDS ก็จะน้อยมากจนใกล้ศูนย์ แต่ถ้าผมเอาไปวัดน้ำแร่ ยี่ห้อดัง ๆ อะไรก็ได้ ซึ่งเคลมกันว่ามีแร่ธาตุมากมายที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ค่า TDS ก็จะพุ่งสูงขึ้น จริง ๆ เราดื่มน้ำแร่ ก็จะรู้สึกได้ว่ารสชาติมันต่างจากน้ำ RO

           เรื่องต่อไป คือมาตรฐานน้ำดื่ม ถ้าเป็นน้ำ RO นั้น ค่า TDS จะกำหนดโดยเฉพาะให้อยู่ที่ 50 ppm แต่ถ้าเป็นน้ำดื่มบริโภคทั่วไป มาตรฐานน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ค่า TDS อยู่ที่ไม่เกิน 500 ppm  ดังนั้นที่น้ำสิงห์ได้ค่าออกมา 272 ppm นั้น ก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (แถมอยู่ในเกณฑ์กำลังสวยด้วย คือ ไม่ได้ใกล้ 500 ppm ที่กำหนด)

           คำถามต่อไปว่า แล้วทำไมน้ำสิงห์ถึงได้มีค่า TDS ต่างจากยี่ห้ออื่น หรือเวลาใครดื่มน้ำสิงห์เนี่ยจะรสชาติแตกต่างจากน้ำยี่ห้ออื่น ผมได้รับคำตอบจากเฟรนด์เฟซบุ๊ก ที่ทำงานในบุญรอดว่า น้ำสิงห์ไม่ใช่น้ำ RO แต่เป็นน้ำผ่านการกรองละเอียด (มีอีกหลายยี่ห้อที่ใช้ระบบนี้) จึงมีแร่ธาตุอยู่มากกว่ายี่ห้ออื่น

           ที่ยิ่งกว่านั้นคือ น้ำสิงห์ มักจะถูกนำไปใช้ในการขายเครื่องกรองน้ำบางยี่ห้อ โดยเอาไปแสดงให้ดูว่าเวลากรองผ่านเครื่องเค้าแล้ว จะเกิดตะกอนแดง ๆ ที่แผ่นกรองซึ่งมีการใช้ขั้วไฟฟ้าในการจับประจุของสารที่ละลายในน้ำ ซึ่งตะกอนแดง ๆ นี้ก็คือธาตุเหล็กที่ละลายในน้ำนั่นเอง ซึ่งถ้าคนไม่เข้าใจ ก็จะคิดว่าน้ำสิงห์สกปรกกว่ายี่ห้ออื่น ๆ

           สรุปได้ความว่า ก็เข้าใจนะว่าอยากช่วยกันตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารเครื่องดื่มให้กับผู้บริโภค แต่การทำอย่างนี้มันเป็นการปรักปรำใส่ร้ายเค้า โดยไม่มีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง ยังไงถ้าเข้าใจแล้ว ก็ควรจะขอโทษน้ำสิงห์เค้าสักคำนะครับ

           ป.ล. ออกตัวก่อนว่าที่โพสต์เนี่ย แม้ว่าผมจะเคยไปกาลาปากอสกับสิงห์ แต่ก็ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับกรณีนี้ของบุญรอดนะ แค่มันผิดหลักวิทยาศาสตร์ อีโมติคอน grin

           ป.ล. 2 จริง ๆ แล้วการสร้างความแตกตื่นให้สังคม โดยการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จในระบบอินเทอร์เน็ตเนี่ย ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อย่างร้ายแรงเลยนะ ไม่ใช่แค่เรื่องฟ้องหมิ่นประมาท คิดให้ดี ก่อนจะโพสต์อะไรครับ


world_id:55645a0c38217a0557000006



ภาพจาก เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อ.เจษฏา ชี้คลิปตรวจคุณภาพของน้ำสิงห์มั่ว แนะฟ้องหมิ่นเจ้าของคลิป อัปเดตล่าสุด 27 พฤษภาคม 2558 เวลา 10:08:28 42,996 อ่าน
TOP