x close

สุริยุปราคา 2559 ดูอย่างไรให้ปลอดภัย ไม่อันตรายถึงขั้นตาบอด


สุริยุปราคา 2559


          สุริยุปราคาที่จะเกิดขึ้นในเช้าตรู่วันที่ 9 มีนาคม อย่าดูด้วยตาเปล่าเด็ดขาด เสี่ยงอันตรายถึงตาบอด มาอ่านวิธีชมสุริยุปราคาให้ปลอดภัย

          ในช่วงเวลาประมาณ 06.20-08.40 น. ของวันที่ 9 มีนาคม 2559 จะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนเหนือท้องฟ้าเมืองไทย ซึ่งหลายคนให้ความสนใจชมปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ครั้งนี้ เพราะไม่บ่อยนักที่เราจะได้พบเห็น แต่ถึงกระนั้นก็ต้องขอเตือนดัง ๆ ว่า อย่าชมสุริยุปราคาด้วยตาเปล่าเด็ดขาด เพราะการจ้องมองดวงอาทิตย์โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันอาจนำอันตรายมาสู่ดวงตาถึงขั้นทำให้ตาบอดได้ ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) จึงมีคำแนะนำในการชมสุริยุปราคาหรือการสังเกตดวงอาทิตย์ให้ปลอดภัยมาบอกทุกคน

          โดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า สำหรับวิธีการสังเกตดวงอาทิตย์โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรงผ่านอุปกรณ์กรองแสง และการสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อม

สุริยุปราคา 2559

วิธีที่ 1 การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรง 

          เป็นวิธีการสังเกตดวงอาทิตย์ด้วยตาผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น

          - กล้องโทรทรรศน์สำหรับดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ
          - กล้องโทรทรรศน์ที่ติดแผ่นกรองแสง
          - แว่นดูดวงอาทิตย์ที่ทำจากแผ่นพอลิเมอร์ดำหรือแผ่นกรองแสงไมลาร์
          - อุปกรณ์ง่าย ๆ เช่น กระจกแผ่นกรองแสงสำหรับหน้ากากเชื่อมโลหะ เบอร์ 14 หรือมากกว่า

สุริยุปราคา 2559

สุริยุปราคา 2559

สุริยุปราคา 2559

          อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้อุปกรณ์อย่างเช่น ฟิล์มเอกซเรย์ (หากใช้ต้องซ้อนกันสองชั้น), ฟิล์มถ่ายรูปใช้แล้ว, แผ่นซีดี, แว่นกันแดด, กระจกรมควัน, แผ่นฟิล์มกรองแสงสีดำที่ใช้ติดกระจกรถยนต์แม้จะมีสีดำสนิทก็ตาม แต่ก็ยังไม่ปลอดภัยต่อสายตา เพราะสิ่งเหล่านี้ยังมีประสิทธิภาพในการกรองแสงไม่เพียงพอ ถึงแม้จะกรองความเข้มแสงออกไปได้ แต่ยังไม่สามารถกรองแสงบางช่วงคลื่นที่เป็นอันตรายต่อสายตาออกไปได้ การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรงจึงต้องมีอุปกรณ์กรองแสงที่มีคุณภาพสำหรับกรองแสงอาทิตย์โดยเฉพาะ

          นอกจากนี้ ขณะทำการสังเกตไม่ควรจ้องดวงอาทิตย์นานเกิน 5 วินาทีต่อครั้ง และควรหยุดพักเป็นระยะ ๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย

สุริยุปราคา 2559

วิธีที่ 2 การสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อม

          เป็นการดูเงาของแสงอาทิตย์ผ่านฉากรับภาพหรือใช้หลักการของกล้องรูเข็ม เป็นวิธีที่มีความปลอดภัย ไม่เกิดอันตรายต่อดวงตา และช่วยให้สามารถดูปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ทีละหลายคน มีวิธีการดังนี้

          1. ใช้กล้องโทรทรรศน์รับแสงจากดวงอาทิตย์แล้วตั้งฉากรับภาพที่ออกมาจากเลนส์ใกล้ตา

          2. การฉายภาพดวงอาทิตย์จากกล้องสองตาและใช้ฉากรับ โดยทั่วไปแล้วกล้องสองตาเป็นอุปกรณ์ที่ค่อนข้างที่จะหาได้ง่ายที่สุด ซึ่งกล้องสองตาขนาดเล็กทั่วไปเหล่านี้มักมีกำลังขยายประมาณ 7–10 เท่า

          3. การฉายภาพดวงอาทิตย์จากโซลาร์สโคป (Solarscope) ใช้หลักการรวมแสงให้ไปฉายบนฉากรับภาพ

          4. ใช้หลักการของกล้องรูเข็ม ประดิษฐ์กล้องรูเข็มด้วยวิธีง่าย ๆ โดยการเจาะรูเล็ก ๆ บนวัสดุที่ต้องการ นำไปส่องกับแดด แสงแดดก็จะลอดผ่านรูที่เจาะไว้ตกลงบนฉาก ซึ่งอาจเป็นกระดาษ พื้นโต๊ะ หรือพื้นดิน รูปร่างของรูที่เจาะไม่มีผลต่อภาพบนฉาก แต่จะมีผลต่อความคมชัดและความสว่างของภาพ โดยรูขนาดเล็กจะให้ภาพที่คมชัดแต่มีความสว่างน้อย รูขนาดใหญ่จะให้ความสว่างมากแต่ความคมชัดของภาพจะลดน้อยลง

          5. การสังเกตการณ์ทางอ้อมผ่านแสงอาทิตย์ที่ลอดผ่านต้นไม้ตกบนพื้นหรือกำแพง

สุริยุปราคา 2559

สุริยุปราคา 2559

สุริยุปราคา 2559

สุริยุปราคา 2559

สุริยุปราคา 2559

ส่วนการบันทึกภาพสุริยุปราคานั้น ดร.ศรัณย์ มีคำแนะนำดังนี้

          - ระมัดระวังการบันทึกภาพดวงอาทิตย์ด้วยกล้องดิจิตอล หรือกล้องจากโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะกล้องถ่ายภาพ DSLR ที่ติดเลนส์ที่มีกำลังขยายสูง ห้ามถ่ายภาพดวงอาทิตย์โดยปราศจากแผ่นกรองแสง

          - ห้ามใช้ตาเล็งจากช่องมองภาพโดยตรงเด็ดขาด เนื่องจากเลนส์ของกล้องต่าง ๆ เหล่านี้มีคุณสมบัติในการรวมแสงและความร้อน การมองภาพที่ส่องจากเลนส์ไปยังดวงอาทิตย์โดยตรง ภาพของดวงอาทิตย์ที่ได้จากอุปกรณ์ดังกล่าวจะมีความสว่างจ้ามาก อาจทำให้สูญเสียความสามารถในการมองเห็นอย่างถาวรทันที และอาจเกิดความเสียหายต่อตัวอุปกรณ์ดังกล่าวได้เช่นกัน

          ทั้งนี้ สำหรับประชาชนที่สนใจ สามารถติดตามการถ่ายทอดสดการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในประเทศไทยดังกล่าวจากจุดสังเกตการณ์หลัก 5 แห่ง คือ

          - เชียงใหม่ : ดาดฟ้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่
          - กรุงเทพฯ : สวนเบญจกิติ ถนนรัชดาภิเษก ติดกับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
          - ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา อ.แปลงยาว
          - นครราชสีมา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
          - สงขลา: ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา

          และชมการถ่ายทอดสดสุริยุปราคาเต็มดวงจากประเทศอินโดนีเซีย ทาง website ของสถาบันที่ narit.or.th หรือติดตามข้อมูล ได้ที่ เฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page


อัพเดทข่าว สุริยุปราคา 2559 ทั้งหมดคลิกเลย
 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สุริยุปราคา 2559 ดูอย่างไรให้ปลอดภัย ไม่อันตรายถึงขั้นตาบอด อัปเดตล่าสุด 9 มีนาคม 2559 เวลา 09:48:27 18,195 อ่าน
TOP