x close

รฟท. แจงยิบ ทำไมเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ ถึงใช้งบสูงถึง 33 ล้านบาท

          การรถไฟฯ แจงยิบ โครงการทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟฯ ทำไมใช้งบสูงถึง 33 ล้านบาท เผยเป็นงานยากต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ยันทำตามขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ คำนึงถึงประโยชน์การใช้งาน ความคุ้มค่าของงบ และหลักวิศวกรรมเป็นสำคัญ


          จากกรณีข่าวการรถไฟแห่งประเทศไทย มีการลงนามจ้างบริษัทเอกชนรายหนึ่ง โดยใช้งบประมาณ 33 ล้านบาท เพื่อเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็น สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างว่า ใช้งบประมาณสูงเกินจริงหรือไม่นั้น

อ่านข่าว : เตรียมเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ เป็นชื่อ กรุงเทพอภิวัฒน์ ใช้งบ 33 ล้าน ถกแพงไปไหม


          เกี่ยวกับเรื่องนี้ (3 มกราคม 2566) เฟซบุ๊ก ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย รายงานการชี้แจงของการรถไฟฯ ว่า โครงการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟฯ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างเคร่งครัด ทั้งการกำหนดราคากลาง กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งคำนึงถึงประโยชน์ในการใช้งาน ความคุ้มค่าของงบประมาณ เหมาะสมกับการเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบรางที่สำคัญของภูมิภาค และความถูกต้องตามหลักวิศวกรรมเป็นสำคัญ



การกำหนดราคากลาง

          การรถไฟฯ ได้ดำเนินการผ่านการตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตของงานและราคากลาง โดยพิจารณารายละเอียดของการประมาณการที่เกี่ยวข้องกับชนิด จำนวน ปริมาณ รายการพัสดุ วัสดุต่าง ๆ ค่าแรง ที่ต้องนำมาใช้ในการคำนวณที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้าง ตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นไปตามราคากลางและระเบียบของกรมบัญชีกลาง คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) เป็นเงิน 33,169,726.39 บาท

          ราคาดังกล่าว ได้รวมยอดเงินเผื่อจ่าย (Provisional Sum) เป็นเงิน 1,627,662.60 บาท ซึ่งยอดเงินเผื่อจ่ายรายการนี้กำหนดไว้ว่า จะจ่ายให้ก็ต่อเมื่อผู้ว่าจ้างสั่งให้ดำเนินการ

          สำหรับงานติดตั้งและรื้อถอนวัสดุปิดแทนผนังกระจก เช่น แผ่นผนังอะครีลิกใส เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้ลมหรือฝนสาดเข้าตัวอาคาร ระหว่างที่รอการผลิตและติดตั้งผนังกระจกใหม่ โดยในกรณีที่ผนังกระจกใหม่สามารถผลิตและติดตั้งให้แล้วเสร็จได้ทันภายใน 90 วัน ยอดเงินเผื่อจ่ายรายการนี้ผู้ว่าจ้างก็จะไม่ต้องสั่งให้ผู้รับจ้างดำเนินการและผู้รับจ้างก็จะไม่สามารถขอเบิกจ่ายเงินค่าจ้างได้ การรถไฟฯ ก็จะสามารถประหยัดเงินค่าจ้างลงได้ส่วนหนึ่งด้วย

เหตุผลที่การรถไฟฯ ต้องมีการเปิดให้มีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง

          เนื่องจากโครงการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นไปตามระเบียบของกรมบัญชีกลาง และมีความเร่งด่วน จึงต้องดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วที่สุด


กระบวนการกำหนดขอบเขตงาน

          ทางคณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตของงานและราคากลางของโครงการฯ ได้กำหนดขอบเขตของงานที่หลากหลาย ไม่ได้มีแค่การเปลี่ยนป้ายชื่อเท่านั้น แต่ยังรวมถึงจัดทำระบบไฟ งานรื้อถอน ที่มีความละเอียดอ่อนและต้องปรับปรุงอย่างระมัดระวัง รวมถึงมีการรับประกันความชำรุดบกพร่อง เพื่อให้โครงการเกิดความรอบคอบ เสร็จสิ้นเรียบร้อยตามกำหนด ซึ่งมีขอบเขตงานทั้งหมด ประกอบด้วย

          งานส่วนที่ 1 งานโครงสร้างวิศวกรรม รื้อถอนป้ายสถานีกลางบางซื่อเดิม ทั้งในส่วนภาษาไทยและภาษาอังกฤษ งานรื้อผนังกระจกและโครงกระจกอะลูมิเนียมเดิม งานรื้อระบบไฟฟ้าแสงสว่างของป้ายเดิม งานผลิตและติดตั้งโครงเหล็กยึดตัวอักษรใหม่ ต่อเติมตามความยาวป้ายที่เพิ่มขึ้น

          งานส่วนที่ 2 งานผลิตป้ายใหม่ ติดตั้งแผ่นกระจกและโครงกระจกอะลูมิเนียมใหม่ และงานประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานนี้ งานสถาปัตยกรรม งานออกแบบรายละเอียดพร้อมรายการคำนวณ และงานติดตั้งป้ายชื่อใหม่ ติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างของป้ายชื่อใหม่ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยสอดคล้องตามข้อกำหนดของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 1

          งานส่วนที่ 3 งานในช่วงรับประกันความชำรุดบกพร่อง ซึ่งรวมงานดูแลรักษาระบบไฟฟ้าแสงสว่างของป้ายด้วย เป็นเวลา 365 วัน (12 เดือน)

          นอกจากนี้ ในการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ การรถไฟฯ ยังได้กำหนดจุดติดตั้งป้ายชื่อสถานีจำนวน 2 ฝั่ง ทั้งบริเวณโดมด้านหน้าสถานีฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก โดยมีตัวอักษรตัวสระภาษาไทยฝั่งละ 24 ตัวอักษร อักษรภาษาอังกฤษฝั่งละ 31 ตัวอักษร และ 1 ตราสัญลักษณ์การรถไฟฯ ซึ่งหากรวมทั้งสองฝั่งจะมีการติดตั้งอักษรภาษาไทยรวมถึง 48 ตัวอักษร อักษรภาษาอังกฤษรวม 62 ตัวอักษร และ 2 ตราสัญลักษณ์การรถไฟฯ

รายละเอียดของอักษรป้ายชื่อที่ขอพระราชทาน

          - ส่วนที่เป็นชื่ออักษรภาษาไทย มีความสูง 3 เมตร กว้าง 2.6 เมตร หนา 40 เซนติเมตร มีความยาวของป้ายใหม่รวม 60 เมตร ตามจำนวนอักษรของชื่อพระราชทาน

          - ส่วนที่เป็นอักษรภาษาอังกฤษ มีความสูง 2.1 เมตร กว้าง 2.2 เมตร หนา 40 เซนติเมตร ผลิตตัวอักษรด้วยวัสดุอะคริลิกสีขาวนม ยกขอบ และซ่อนไฟแสงสว่างไว้ด้านหลังป้ายด้วย

          - การรถไฟฯ ได้ขอเพิ่มตราสัญลักษณ์ของการรถไฟฯ ที่มีความสูง 7 เมตร ซึ่งได้รับอนุญาตด้วยเช่นกัน


ประเด็นสำคัญ

          ป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถือเป็นป้ายขนาดใหญ่ มีความยาวชื่อ และจำนวนตัวอักษรเพิ่มขึ้นจากเดิม ติดตั้งโดยมีโครงเหล็กยึดตัวอักษรไว้ที่ด้านหลัง โครงเหล็กยึดไว้เสารับน้ำหนักในตัวอาคาร และเจาะทะลุผนังกระจกยึดตัวอักษรแต่ละตัว แต่ผนังกระจกเป็นกระจกหนากว่า 10 มิลลิเมตร ที่ไม่สามารถเจาะรูใหม่ได้

          จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนผนังกระจกที่ติดตั้งไว้เรียบร้อยแล้วด้วยกระจกใหม่สั่งหล่อพิเศษ โดยผนังกระจกต้องหล่อแผ่นกระจกเว้นรูเจาะให้พอดีจุดยึดโครงเหล็กกับตัวอักษรแต่ละตัวไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะการรื้อถอนป้ายสถานีกลางบางซื่อ (เดิม) รวมถึงงานรื้อผนังกระจก (เดิม) และการติดตั้งป้ายสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (ใหม่) รวมถึงงานติดตั้งผนังกระจก (ใหม่)

          ดำเนินการด้วย การติดตั้งกระเช้าไฟฟ้า (แขวนสลิง) ยาว 6 เมตร รวมการย้ายจุดทำงาน จำนวน 4 กระเช้า (ชุด) ระดับความสูงของป้ายสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 28 เมตร ความสูงเทียบเท่าตึก 9 ชั้น น้ำหนักที่ต้องยกขึ้นไปติดตั้งกว่า 7 ตัน เป็นงานที่ยากและต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

          ขณะเดียวกัน ผู้รับจ้างต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบ การดำเนินงานให้แล้วเสร็จครบถ้วนสมบูรณ์ตามสัญญาจ้างกำหนด 150 วัน (5 เดือน) และรับประกันความชำรุดบกพร่อง ซึ่งรวมงานดูแลรักษาระบบไฟฟ้าแสงสว่างของป้ายด้วย เป็นเวลา 365 วัน (12 เดือน)

          การรถไฟฯ จึงขอให้ความมั่นใจว่า โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชนเป็นสำคัญ อีกทั้งยังถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทุกประการ พร้อมกับได้คำนึงถึงความสวยงาม ความปลอดภัย เหมาะสมต่อการเป็นศูนย์กลางระบบรางที่ดีที่สุดในประเทศ และภูมิภาคต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รฟท. แจงยิบ ทำไมเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ ถึงใช้งบสูงถึง 33 ล้านบาท อัปเดตล่าสุด 4 มกราคม 2566 เวลา 17:01:26 12,794 อ่าน
TOP