x close

เตือน! 16 อำเภอ 6 จังหวัด ดินถล่มซ้ำรอย เมืองลับแล


สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

          อิทธิพลพายุจากจีนที่เข้าไทยก่อนปกติ 10 วัน ทำให้หลายจังหวัดตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงดินถล่ม เหมือนเมื่อครั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เคยประสบมาแล้ว หลายคนยังขวัญผวากับมหันตภัยดินถล่มดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นช่วงเดือนนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว...  

          กลางดึกวันที่ 23 พฤษภาคม 2549 หลังฝนตกหนักต่อเนื่องตลอดวันตลอดคืน น้ำป่าได้พัดพาโคลนและดินเข้าถล่มทุกหมู่บ้านใน อลับแล อย่างไม่คาดฝัน ทำให้ 3 หมู่บ้านถูกกลืนหายไปในทันที ซึ่งมหันตภัยดินถล่มในคืนนั้นสร้างมูลค่าความเสียหาย 308 ล้านบาท มีผู้เสียชีวิต 83 คน สูญหาย 33 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 673 หลัง พื้นที่การเกษตรเสียหาย 481,830 ไร่  

          ณ วันนี้พายุฝนที่กระหน่ำพื้นที่หลายจังหวัดภาคใต้อย่างต่อเนื่อง เริ่มสร้างความหวาดหวั่นให้กลุ่มผู้รับผิดชอบด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หลังได้รับประกาศเตือนจากกรมทรัพยากรธรณี ให้ประชาชนเฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภูเขาสูง หุบเขา และหมู่บ้านเสี่ยงภัยดินถล่ม บริเวณ จังหวัดตาก กาญจนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช พร้อมขอให้ผู้อยู่ใน 3 เขตเทือกเขาอันตรายเพิ่มความระมัดระวังอย่างหนัก คือ เทือกเขาตะนาวศรี เทือกเขานครศรีธรรมราช และเทือกเขาภูเก็ต  

          กรมทรัพยากรธรณี ยังประกาศขอให้ผู้อาศัยใน 16 อำเภอ 6 จังหวัด ต่อไปนี้ตรวจเฝ้าระวังภัยดินถล่มและระมัดระวังการเดินทาง เนื่องจากพื้นดินสะสมน้ำฝนมาต่อเนื่องหลายวัน อาจทำให้พื้นดินอุ้มน้ำจนอิ่มตัวและแรงยึดเกาะระหว่างมวลดินลดลง จนต้องถล่มหรือเลื่อนไหลลงมาตามความชันของลาดเขา ได้แก่...

 1. อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร 
 2. อำเภอตะกั่วป่า อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา 
 3. อำเภอเมือง อำเภอเขาพนม อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ 
 4. อำเภอนาโยง อำเภอย่านตาขาว อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง 
 5. อำเภอบ้านตาขุน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี 
 6. อำเภอพิปูน อำเภอฉวาง อำเภอลานสกา อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
  

          ขณะที่นายอดิชาติ สุรินทร์คำ ผู้อำนวยการกองธรณีเทคนิค กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลว่า เหตุการณ์ฝนตกต่อเนื่องเมื่อ 2 ปีที่แล้วใน อำเภอลับแล แตกต่างจากฝนตกที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาทได้ให้มิสเตอร์เตือนภัยที่มีอยู่ 8,500 คนทั่วประเทศ ส่งข้อมูลมาให้ส่วนกลางวิเคราะห์ถึงปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่  

          "มิสเตอร์เตือนภัยคือชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม-ดินถล่มทั่วประเทศ ทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครรายงานข้อมูลจากกระบอกวัดน้ำฝนที่ติดตั้งไว้ อาจใช้เอสเอ็มเอส แฟกซ์ หรือโทรศัพท์มาที่ศูนย์กลาง แล้วเจ้าหน้าที่จะนำเอาข้อมูลที่ได้จากหลายแห่งมาเปรียบเทียบกัน หากพบปริมาณน้ำฝนมากผิดปกติก็จะเตือนให้คนในหมู่บ้านหรือพื้นที่นั้นทราบทันที ซึ่งหากไม่ได้รับคำเตือดแต่สังเกตว่า มีฝนตกหนักถึงหนักมาก 100 มิลลิเมตรต่อวัน ระดับน้ำในห้วยสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนผิดปกติ สีของน้ำเปลี่ยนเป็นสีเหมือนดินบนภูเขา หรือมีเสียงดังอื้ออึงผิดปกติมาจากภูเขา และน้ำในลำห้วยหมู่บ้านเพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็ขอให้ชาวบ้านรีบเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่นั้นให้เร็วที่สุด" อดิชาติ กล่าว   

          ทางด้านนายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ออกมากล่าวว่า ขณะนี้ ทส.ได้จัดทำพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติครอบคลุมปัญหาดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก และการพังทลายของหน้าดินรวมทั้งสิ้น 51 จังหวัด พบจังหวัดมีหมู่บ้านเสี่ยงภัยรวม 5,072 หมู่บ้าน และมีหมู่บ้านเสี่ยงภัยต่อดินถล่ม และน้ำหลากสูงสุด 2,371 หมู่บ้าน  

          ขณะเดียวกัน นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงการเกิดแผ่นดินไหวและภัยพิบัติธรรมชาติในช่วงระยะหลังว่า ตนมีความเป็นห่วงโบราณสถานและเจดีย์เก่าองค์ใหญ่ ที่จะได้รับแรงสั่นสะเทือนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว หรือฝนตกหนักและดินโคลนถล่ม จนอาจจะส่งผลต่อโครงสร้างอิฐปูน โบราณสถานเกิดรอยร้าวหรือพังทลายลงมาได้ จากข้อมูลสำนักโบราณคดีที่องค์พระธาตุใหญ่ๆ หลายแห่งตกอยู่ในความเสี่ยงภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น พระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุหลวงลำปาง พระธาตุหริภุญไชย พระธาตุนครพนม พระปฐมเจดีย์ พระธาตุนครศรีธรรมราช เป็นต้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- กรมอุตุฯ ประกาศเตือน ฝนตกหนัก คลื่นลมแรง
- พายุถล่ม - แผ่นดินเขย่า ภัยพม่า-ภัยจีน รหัสแดงเตือนไทย



ข้อมูลจาก
    

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตือน! 16 อำเภอ 6 จังหวัด ดินถล่มซ้ำรอย เมืองลับแล โพสต์เมื่อ 15 พฤษภาคม 2551 เวลา 10:57:30 9,653 อ่าน
TOP