หนุ่มไทยพิชิต "เอเวอเรสต์" เผยแรงบันดาลใจไต่เหยียบเมฆจากงานเทิดพระเกียรติ 60 ปี ครองราชย์ ภาคธุรกิจไทยเมินสุดท้ายได้เวียดนามสนับสนุน แฉภารกิจสุดหินซ้อมปีนเขาอยู่หลายประเทศก่อนพิชิตยอดเขาดัง
คงมีไม่บ่อยครั้งที่คนไทยจะมีโอกาสสร้างประวัติศาสตร์ ปีนเขาเอเวอเรสต์ ยอดเขาสูงที่สุดในโลก ซึ่งสูง 8,848 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ด้วยความเพียรพยายาม และความศรัทธาอันแรงกล้า ทำให้นายวิทิตนันท์ โรจนพานิช อายุ 39 ปี ชาว กทม. สามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้สำเร็จและสร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นคนไทยคนแรกที่สามารถพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้เป็นผลสำเร็จ
นายวิทิตนันท์ ประกอบอาชีพครีเอทีฟรายการโทรทัศน์ และกำลังจะผันตัวเองไปเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ซึ่งด้วยสายงานดังกล่าวแทบจะไม่มีโอกาสให้ชายหนุ่มผู้นี้ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของการเสี่ยงตายอย่างการปีนยอดเขามรณะเอเวอเรสต์ ที่แต่ละปีมีคนจากทั่วโลกเอาชีวิตไปทิ้งบนยอดเขาแห่งนี้จำนวนมากได้
แต่ด้วยนายวิทิตนันท์ เป็นคนที่ชื่นชอบการผจญภัย ชอบการดำน้ำ ชอบขับเครื่องบินเล็ก และชอบการเดินทางไปทั่วทุกมุมโลก ทำให้หนุ่มใหญ่ผู้นี้มีโอกาสพบกับนายดูล สวี เชาว์ นักปีนเขาที่เป็นคนแรกของประเทศสิงคโปร์ที่ขึ้นไปเหยียบยอดเขาเอเวอเรสต์ ขณะร่วมทริปไปดำน้ำในประเทศพม่า เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา
ในการพบกับนายดูล สวี เชาว์ ครั้งนั้นเหมือนเป็นการจุดประกายให้นายวิทิตนันท์ มีความคิดที่จะเป็นคนไทยคนแรกที่นำธงชาติไทยไปปักลงบนยอดเขาที่ได้ชื่อว่าเป็นยอดเขาสูงที่สุดของโลก
"ดูล สวี เชาว์ เขาพูดกับผมว่าอยากให้มีคนไทยปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ สำเร็จอย่างเช่นคนสิงคโปร์ทำ ผมบอกกับเขาไปในวินาทีนั้นเลยว่า คนไทยทำอะไรได้ทุกอย่างและผมนี่แหละจะเป็นคนไทยคนแรกที่ไปเหยียบยอดเขาลูกนั้น" นายวิทิตนันท์เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้ต้องไปปีนเขาเอเวอเรสต์
ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา นายวิทิตนันท์ขวนขวายที่จะเดินทางไปปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ให้สำเร็จ โดยเริ่มแรกไปทดลองปีนเขาชินาบูลู ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเล 4,095 เมตร
นายวิทิตนันท์กล่าวอีกว่า ต้องการให้คนทั่วโลกรู้จักคนไทยในมุมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากมวยไทย หรือต้มยำกุ้ง และต้องการแสดงให้คนชาติไหนๆ ได้เห็นว่าคนไทยก็สามารถทำอะไรได้เหมือนคนชาติอื่นทำได้ และตั้งใจว่าในชีวิตนี้จะต้องไปยืนบนยอดเขาเอเวอเรสต์ให้ได้
แต่การปีนเขาสูงที่สุดในโลกของนายวิทิตนันท์ มีอุปสรรคสำคัญคือค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า 2 ล้านบาท จึงต้องหาทางแก้โดยการประกาศหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แต่ก็ต้องพับโครงการไปเพราะติดขัดเรื่องเวลาที่ไม่เอื้ออำนวยระหว่างคนในกลุ่ม
นายวิทิตนันท์บอกว่า ในช่วงแรกรู้สึกท้อเพราะอุปสรรคมีมาก กระทั่งเมื่อปี 2549 เกิดแรงบันดาลใจครั้งใหญ่ คือเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครองราชย์ครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเหน็ดเหนื่อยเพื่อคนไทยกว่า 60 ล้านคนมาอย่างยาวนาน ตนซึ่งเป็นคนไทยควรทำอะไรเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน
ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2549 นายวิทิตนันท์ตัดสินใจเดินทางไปยังประเทศเนปาล เพื่อไปทดลองปีนเขาเอเวอเรสต์ พร้อมทั้งถ่ายภาพตัวเองขณะปีนเขาเพื่อนำกลับมาทำเป็นชิ้นงานเสนอขอสปอนเซอร์จากภาคธุรกิจ ในการเดินทางครั้งนั้นนายวิทิตนันท์ปีนเขาเอเวอเรสต์ได้ในระดับความสูงเพียง 5 ,000 กว่าเมตร เนื่องจากขาดอุปกรณ์การปีนเขาที่มีประสิทธิภาพเพราะราคาสูง
"หลังจากกลับมาถึงประเทศไทยผมใช้เวลาหาสปอนเซอร์อยู่นานเกือบ 2 ปี แต่ก็ไม่มีใครให้ โดยส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าคนอย่างผมจะทำได้ กระทั่งพบกับคุณนิรัตติศัย กัลย์จาฤก ผู้บริหารบริษัทกันตนา ซึ่งให้ความสนใจกับแผนการของผม ต่อมาคุณนิรัตติศัย และผู้บริหารกันตนาก็ได้พยายามหาสปอนเซอร์ให้ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจในประเทศไทยแม้แต่รายเดียว โชคดีที่คุณจารึก กัลย์จาฤก รู้จักกับบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศเวียดนามซึ่งสนใจที่จะสนับสนุน" นายวิทิตนันท์กล่าว
นายวิทิตนันท์กล่าวว่า การให้การสนับสนุนของบริษัทธุรกิจจากเวียดนามมาในรูปของการร่วมกันผลิตรายการโทรทัศน์ในลักษณะเรียลิตี้ไปเผยแพร่ในประเทศเวียดนาม โดยเปิดรับอาสาสมัครชาวเวียดนามมาร่วมเดินทางไปพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ โดยมีตนเป็นหัวหน้าทีม
การคัดสรรชาวเวียดนามนั้น ในระยะแรกมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการถึง 3,000 คน ก่อนที่จะคัดเหลือเพียง 4 คน ซึ่งระหว่างการคัดตัวนั้นมีการถ่ายทำเผยแพร่เป็นรายการเรียลิตี้โชว์ออกอากาศทางโทรทัศน์ในเวียดนาม ในวันจันทร์ถึงวันเสาร์วันละ 5 นาที และในวันอาทิตย์ 30 นาที
นายวิทิตนันท์บอกด้วยว่า ระหว่างการคัดตัวนั้นมีการฝึกร่างกายให้มีความแข็งแรงเพื่อเตรียมพร้อมในการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ โดยไปปีนเขา ฟางสิปัง ในเวียดนามที่สูงจากระดับน้ำทะเล 3,100 เมตร และปีนยอดเขาชินาบาลู ในประเทศมาเลเซีย สูง 4,095 เมตร เพื่อสร้างความเคยชินและเรียนรู้วิธีการปีนเขา และปิดท้ายการฝึกซ้อมโดยการปีนเขาไอซ์แลนด์ฟิกส์ ซึ่งเป็นภูเขาน้ำแข็งสูง 6,189 เมตร ในประเทศเนปาล เพื่อให้นักปีนเขาเคยชินกับสภาพอากาศและภูมิประเทศของภูเขาลูกนี้ที่มีความใกล้เคียงกับยอดเขาเอเวอเรสต์
การเตรียมร่างกายของนักปีนเขาชุดนี้ใช้เวลาในการเตรียมตัวนานกว่า 8 เดือน ก่อนที่จะปฏิบัติภารกิจสุดท้ายคือการปีนยอดเขาสูงที่สุดในโลก
นายวิทิตนันท์เล่าว่า เขาเดินทางออกจากประเทศไทยไปยังประเทศเนปาล ในวันที่ 8 เมษายน 2551 เพื่อปฏิบัติภารกิจครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต และเดินทางกลับสู่มาตุภูมิในวันที่ 3 มิถุนายน ที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลา 2 เดือนเต็มในช่วงดังกล่าว เขาและเพื่อนร่วมทางชาวเวียดนามต้องใช้ชีวิตอยู่บนภูเขาที่ได้ชื่อว่าเป็นหลังคาโลก
"ชีวิตบนนั้นลำบากมากอากาศหนาวและแห้ง มีแต่ก้อนหิน กับหิมะ อุณหภูมิกลางวัน 15 องศาเซลเซียส บ่ายเหลือ 0 องศาเซลเซียส กลางดึกอุณหภูมิติดลบ 25 องศาเซลเซียส หากคืนไหนมีหิมะตกก็เหมือนอยู่ในนรกไม่มีผิด นอกจากอากาศแล้วอาหารก็แทบกินไม่ได้มีเพียงเนื้อที่ผ่านการปรุงจากชาวแชร์ปา รสชาติไม่ต้องพูดถึง อีกทั้งในแต่ละวันที่ปีนเขาจะต้องเดินทางตลอดทั้งวันจนกว่าจะถึงแคมป์ที่พัก โดยจุดที่ยากสุดคือบริเวณที่ผ่านพื้นที่ที่เรียกว่า คลุมบูไอซอล แปลเป็นไทยคือหิมะถล่ม จุดนี้ยากมากหากพลาดหมายถึงเอาชีวิตไปทิ้ง" นายวิทิตนันท์กล่าว
ผู้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์คนแรกของไทยกล่าวด้วยว่า แต่เมื่อเดินทางบริเวณแคมป์ 4 ซึ่งมีโอกาสได้พัก 4 ชั่วโมงก่อนที่จะขึ้นไปยังจุดซามิต ปลายยอดของภูเขาเอเวอเรสต์ สิ่งแรกที่ทำคือหยิบพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งใส่ไว้ในเป้บนหลังมาดู เพื่อเป็นกำลังใจ ก่อนที่จะเดินทางออกจากแคมป์ 4 ไปยังซามิต ที่ต้องใช้เวลาการเดินทางอีก 7 ชั่วโมง
"7 ชั่วโมงจากแคมป์ 4 ไปยังซามิต ผมพะวงอย่างเดียว กลัวพระบรมฉายาลักษณ์ กับธงชาติ หล่นหาย เพราะเส้นทางลำบากมาก แต่เมื่อถึงซามิต ผมโล่งอก พระบรมฉายาลักษณ์ยังอยู่ ธงชาติยังอยู่ ผมรีบหยิบพระบรมฉายาลักษณ์ออกมาชูขึ้นเหนือหัวและให้ มร.แชรัม แชร์ปา หัวหน้าทีมแชร์ปา ถ่ายภาพให้ ทุกคนที่อยู่ในบริเวณนั้นถามผมว่าคนในภาพเป็นพ่อผมหรือ ผมตอบเขาว่าใช่นอกจากจะเป็นพ่อผมแล้วยังเป็นพ่อของคนไทยอีก 60 ล้านคน หลังจากนั้นผมก็ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี" นายวิทิตนันท์กล่าว
ข้อมูลจาก
ภาพประกอบจากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์