รถโรงเรียนของนายธนาคาร บัณฑูร ล่ำซำ



 



          ในยุคน้ำมันแพง ค่าแรงถูก คนที่ห้อยโหนรถเมล์ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ จากการปรับขึ้นค่าโดยสาร ยังไม่นับรวมค่ามอเตอร์ไซด์รับจ้าง เรือด่วนเจ้าพระยา เรือโดยสารข้ามฟาก เรือด่วนคลองแสนแสบ เลยไปถึงเรือบินที่ทยอยปรับขึ้นราคาให้คนไทยหน้าเที่ยวเล่น

          ไม่รู้ว่าป่านนี้สารพัดรถขนส่ง อย่างรถมูลนิธิต่างๆ รถโรงพยาบาล หรือรถโรงเรียน จะเกาะกระแสขอขึ้นราคาด้วยหรือเปล่า อืม... น่าคิดเหมือนกันแฮะ

          แต่รถอะไรจะแข่งกันปรับราคาอย่างน้อยก็ยังมีรถนักเรียน ที่ใช้ชื่อ "โครงการรถนักเรียนไทย" ของ "คุณปั้น-บัณฑูร ล่ำซำ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ที่ไม่เคยเก็บค่าน้ำมันกับน้องๆ หนูๆ สักวันเดียว

          ไม่ใช่เจ้าของโครงการและเจ้าของเงินอย่างคุณปั้น เพิ่งจะใจดีออกแพ็กเกจเอาใจผู้ปกครองช่วงค่าครองชีพสูง แต่นี่เป็นโครงการที่เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2543 สมัยที่เจ้าตัวยังหนุ่มๆ ค่าน้ำมันลิตรละ 20 กว่าบาท

          บัณฑูรเคยเล่าให้ทีมงานฟังว่า เช้าวันหนึ่งขณะที่เดินทางไปทำงาน สายฝนกระหน่ำลงมาอย่างหนัก และติดไฟแดงอยู่ในรถเมื่อเหลียวมองออกไปนอกหน้าต่าง คนที่รอไฟเขียวข้างๆ กลับเป็นเด็กนักเรียนตัวเล็กๆ ที่นั่งเปียกปอนหลังอานมอเตอร์ไซด์รับจ้าง

          "ประเทศไทยไม่เคยให้ความสำคัญด้านการการศึกษา ทุกวันเด็กต้องไปโรงเรียนและตื่นแต่เช้า แต่ปรากฏว่าเด็กส่วนใหญ่ไม่ได้รับการดูแลแม้แต่การเดินทางที่ปลอดภัยไปโรงเรียน ทำไมไม่มีรัฐบาลใดสนใจเรื่องเด็กและการศึกษา เด็กต้องนั่งมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ตากแดด ตากฝน ไปโรงเรียน มอเตอร์ไซด์กี่เป็นมอเตอร์ไซด์รับจ้าง คนขับเป็นใครก็ไม่รู้ ไม่ใช่พ่อแม่ด้วยซ้ำ" บัณฑูร ระบุ

          คำถามก็คือ ผู้ใหญ่แต่ละคนที่ดูแลนโยบาย นั่งในรถเบนซ์คันงามจะตระหนักหรือไม่ เคยตื่นเช้ามาเห็นภาพเด็กต้องเร่งรีบไปโรงเรียน ไม่ได้รับประทานอาหารเช้าอย่างเต็มที่ ทั้งที่เป็นอนาคตของสังคมไทย

          "ผมได้เห็น และสิ่งที่ผมทำไม่ได้ต้องการอะไร ผมทำรถโรงเรียนของผมให้เด็กนักเรียนเพื่อให้เขาตื่นมา เดินทางปลอดภัยมีสภาพชีวิตที่ดีในแต่ละวันตอนเช้า" บัณฑูร กล่าว

          จากภาพเด็กตากสายฝน จึงกลายเป็นโครงการรถนักเรียนไทย ที่ใช้เงินส่วนตัวของคุณปั้น ซึ่งทุกขั้นตอนเจ้าตัวจะดูรายละเอียดซ้ำอีกครั้ง หลังจากผ่านมันสมองและสองมือของทีมงาน ซึ่งเป็นพนักงานธนาคารที่เป็นอาสาสมัครเข้ามาช่วยเหลือแม้ตอนนี้พนักงานบางคนก็ได้ลาออกไปแล้ว บางคนก็เกษียณ ออกไปทำงานองค์กรพัฒนาชุมชน (เอ็นจิโอ) อย่างจริงจัง แต่โครงการนี้ก็ยังอยู่

          ปี้น ปี้น...รถนักเรียนไทยมาแล้ว น้ำมันแพงก็ขึ้นฟรีคร้าบบ

          ทีมงานโครงการรถนักเรียนไทย กล่าวว่า พนักงานธนาคารเหล่านี้ไม่ได้รายได้เพิ่ม ล้วนทำด้วยหัวใจที่ผู้ใหญ่กลุ่มก้อนหนึ่งพอจะให้เด็กๆ ได้ เพราะจุดประสงค์ของการจัดทำรถโรงเรียนครั้งนี้ก็เพื่อเด็กๆ ที่ไม่มีโอกาสเดินทางไปโรงเรียนอย่างสะดวกเหมือนลูกหลานบ้านอื่น ที่มีผู้ปกครองขับรถคันโก้ราคางามไปส่งถึงหน้าประตูโรงเรียน

          ฉะนั้น เด็กที่มีสิทธิจะขึ้นรถโรงเรียนโครงการนี้จึงถูกคัดเฉพาะเด็กที่ครอบครัวมีปัญหา ผู้ปกครองอาจมีรายได้น้อย ไม่ได้อยู่กับลูกฝากไว้กับญาติและไม่สามารถเดินทางไปส่งที่โรงเรียนได้ ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซด์รับจ้างเท่านั้น

          "คำถามหนึ่งซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักของเจ้าของโครงการ ที่ไม่เคยรอคำตอบจากรัฐบาลไม่ว่าจะชุดใดก็ตาม นั่นก็คือ เหตุใดเด็กนักเรียนไทยตัวเล็กๆ ต้องตื่นเช้าผจญกับอันตรายบนห้องถนน ซ้ำคนที่พาเด็กไปส่งจุดหมายปลายทางยังโรงเรียน กลับเป็นคนขับมอเตอร์ไซด์เสื้อส้ม ใครที่ไหนก็ไม่รู้" พนักงานในโครงการนี้กล่าว

          นี่ยังไม่ต้องพูดถึงความปลอดภัยรายทางจากการไม่สวมหมวกนิรภัยให้กับเด็ก

          ฉะนั้น คนที่พอมีเงินเหลือแบ่งปันให้กับสังคมจึงอาจรอคอยความหวังจากรัฐบาลในประเทศนี้ไม่ได้ แต่อย่างน้อยสิ่งที่จะทำให้หัวใจผู้ให้ชุ่มชื่น จากการได้ทำดีให้กับสังคมคือ การลงมือทำอย่างตั้งใจจริง โดยมองข้ามผลตอบแทน อย่างทีมงานโครงการรถนักเรียนไทยก็ขอสงวนชื่อ เพราะอยากมีความสุขอย่างสมถะ


ย้อนรอยแรงบันดาลใจ

          ระหว่างพูดคุย ทีมงานคนนี้ได้นำอัลบั้มรูปโครงการรถนักเรียนไทย ที่ถ่ายไว้ตั้งแต่ปี 2543 มาปัดฝุ่นนระลึกความหลังอีกครั้ง 

          หลายครั้งเราแอบเห็นรอยยิ้มของผู้ร่วมขบวนการส่งความสุขให้กับเด็กๆ ระหว่างชี้รูปนู้น พลิกไปรูปนี้ เพราะรูปทุกภาพมีความหมายตั้งแต่การ เปิดประมูลซื้อรถ ผู้ผลิตนำรถมาส่งมอบให้กับทีมงาน ยังมีรูปคุณปั้นอยู่ระหว่างตรวจสอบสภาพภายในรถ หรือกระทั่งรูปเด็กๆ ที่กำลังขึ้นรถ

          กระทั่งรูป โลโก้รถโรงเรียน ที่เป็นรูปเครื่องบินตัวอ้วนสีฟ้ายิ้มแฉ่ง มีชื่อโครงการรถนักเรียนไทยล้อมอยู่ด้านบน ก็มาจากไอเดียของทีมงานทุกคนที่ช่วยกับคิดช่วยกันทำ

          ที่ทีมงานต้องเก็บรายละเอียดมากขนาดนี้เพราะ กว่าจะได้รถนักเรียน 1 คัน ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรถแต่ละคันต้องดัดแปลงพิเศษรองรับ 20 ที่นั่ง เก้าอี้ต้องขนาดสำหรับก้นเด็ก เพื่อให้สายรัดเข็มขัดนิรภัยโอบรัดตัวเด็กได้พอดี อุปกรณ์ภายในรถต้องมีตู้ยา ค้อนทุบกระจกกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินและเบอร์โทรศัพท์โรงพยาบาลละแวกใกล้เคียง





          กว่ารถโรงเรียนจะผ่านมือทีมงานก็ต้องผ่านการปรับแก้หลายรอบ ยังไม่รวมขั้นตอนทางราชการปรับแก้หลายรอบที่กฏหมายไม่อนุญาติให้เอกชนจัดสร้างรถโรงเรียน สนนราคาเบ็ดเสร็จกว่าจะได้รถหนึ่งคันคิดเป็นค่าใช้จ่าย 2 ล้านบาท

          ปัจจุบันรถนักเรียนไทยมีอยู่ 4 คัน คันแรกรับผิดชอบโรงเรียนวัดแจงร้อน ส่วนอีกคันจะรับส่งเด็กโรงเรียนวัดสน บ้านของเด็กๆ กลุ่มนี้จะอยู่บริเวณรอบนอก ถนนราษฏร์บูรณะออกไปอีกหน่อย ที่เหลืออีก 2 คัน รถคันหนึ่งถูกจัดเตรีมสำรองกรณีรถเสีย ส่วนอีกคันธนาคารเอาไปไว้รับ-ส่ง เด็กในมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ที่อยู่ในการดูแลของครูยุ่น "มนตรี สินทวิชัย" จังหวัดสมุทรสงคราม

          ยิ่งช่วงน้ำมันแพง ค่าใช้จ่ายรถ 4 คันปัจจุบันต่อเตือนก็เฉียด 1 แสนบาท จากปี 2543 ที่ตอนนั้นเพิ่งมีรถ 2 คัน ค่าใช้จ่ายต่อเดือน 10,705 บาท ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการดูแลรถจิปาถะอื่นๆ แต่ก็ยังไม่ได้ยินเสียบ่นจากเจ้าของโครงการ


สร้างบรรยากาศสนุกสนานยามเช้า 



          เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสย้อนวัย งานนี้เรายอมขยี้ตาพยุงความงัวเงียขอขึ้นรถโรงเรียนไปกับน้องๆ ก่อนล้อหมุนเวลา 07.00 น. จุดเริ่มต้นของเรา และรถอยู่ที่ ธนาคารกสิกรไทยราษฏร์บูรณะ เพื่อมุ่งหน้าไปยังโรงเรียนวัดแจงร้อน

          เรากลายเป็นแขกกิตติมศักดิ์ ไม่มีที่นั่งรองรับ ต้องนั่งเบาะชนหลังกับคนขับ เด็กทุกคนจึงต้องเผชิญหน้ากับเรา แต่กลายเป็นว่าหลังจากขาเล็กๆ ของเด็กตัวน้อยก้าวขึ้นบนรถ แต่ละคนก็ไม่มีใครสนใจผู้ใหญ่แปลกหน้าอย่างเรา เพราะสายตาใสๆ แต่ละคู่พลันหย่อนก้นลงเบาะ ต่างก็จับจ้องไปที่จอทีวีด้านหน้า นั่นไง... เจ้าตัวการ์ตูนช้างน้อยกำลังเริงร่า เหมือนรู้ภารกิจสร้างความสุขประจำวันผ่านจอตู้ให้กับเด็กๆ

          วันนี้การ์ตูนช้างน้อย พรุ่งนี้อาจเป็นเจ้ากุ๊กไก่หรือเจ้าผีน้อย แล้วแต่ว่าพี่คนขับรถ และพี่เลี้ยงคุมเด็กจะสลับสับเปลี่ยนหาแผ่นซีดีมาให้น้องๆ หนูๆ ได้ดูกัน

          นอกจากทีวีจอใหญ่ การตกแต่งภายในรถ ก็จะมีตัวหนังสือ ก.เอ๋ย ก.ไก่ ตัวหนังสือ A, B, C พร้อมภาพการ์ตูนประกอบแปะอยู่ขอบผนังรถ งานนี้รับประกันไม่มีโลโก้ธนาคารแอบประชาสัมพันธ์ช่อนไว้ในตัวการ์ตูน
รถคันที่เรานั่งเป็นรถรับ-ส่งโรงเรียนวัดแจงร้อนจะวิ่งรอบบริเวณธนาคาร ละแวกราษฏร์บูรณะซึ่งผู้ปกครองของหนูๆ จะรู้ว่าต้องพาเด็กมาขึ้นรถประจำจุดตรงไหน เวลาอะไร

          จุดริ่มแรกหลังจากล้อเคลื่อน คือ ป้ายรถเมล์หน้าสำนักงานใหญ่ธนาคาร เพื่อรับน้องเอมอร หลานคุณป้าวาสนา แม่ค้าขายน้ำแผงลอยที่อยู่ระหว่างง่วนกับการจัดร้านพี่เลี้ยงคุมรถใจดี เล่าให้เราฟังคร่าวๆ ว่า น้องชายของป้าวาสนา ได้ทิ้งน้องเอมอรไว้ให้พี่สาวเลี้ยง แต่ลำพังป้าต้องขายของหาเช้ากันค่ำ ไม่มีเวลาไปส่งน้องเอมอรที่โรงเรียน ทำให้ต้องพึ่งพามอเตอร์ไซด์รับจ้างไปส่งเป็นประจำ จนครูประจำชั้นเห็นว่า น้องเอมอรเข้าข่ายน่าจะได้ขึ้นรถโรงเรียนไทย จึงใส่ชื่อของน้องเอมอรให้ผู้อำนวยการโรงเรียนพิจารณาและได้ขึ้นรถโรงเรียนในที่สุด

          รถเคลื่อนตัวไปช้าๆ จากจุดแรกไปยังจุดที่สองปลายทางอยู่หน้าปากซอยถนนราษฏร์บูรณะฝั่งตรงข้ามธนาคาร จุดนี้ถือว่าเรียกความสนใจคนขับรถผ่านไปมาได้ไม่น้อย เพราะน้องๆ หนูๆ ยืนต่อแถว รอขึ้นรถอย่างเป็นระเบียบ จำได้ว่าบริเวณนั้นเป็นซอยชุมชนอะไรสักอย่าง

          ความรู้สึกของเราเหมือนรถกำลังประคองเด็กน้อยใช้ความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจนมาถึงปลายทาง "โรงเรียนวัดแจงร้อน" เด็กทุกคนมาทันเคารพธงชาติ ทำให้เรามีโอกาสพูดคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียน "คนอง คชานาวีน" และคุณครูผู้คัดเลือกเด็ก "ครูจตุพร เกตุสิงห์สร้อย" จึงรู้ว่า ยังมีเด็กนักเรียนจำนวนมากที่ต้องการขึ้นรถนักเรียนไทย แต่ไม่ผ่านเกณฑ์


          มีกรณีที่ผู้ปกครองบางรายไม่เข้าใจ ต่อว่าครูคัดเลือกเด็กลำเอียง ถึงขั้นขู่จะร้องเรียนลงหนังสือพิมพ์หัวสี
ใช่ว่าเด็กต้องยากจนถึงจะได้ขึ้นรถนักเรียนไทยเพราะหากจะวัดความยากน เด็กโรงเรียนนี้คงเข้าข่าย 80% แต่เนื่องจากการพิจารณาจากโรงเรียนต้องลงรายละเอียดเป็นเด็กเล็กที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ แล้วยังมาโรงเรียนกับคนขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นชั้นอนุบาล 1 หรือประมาณ 7-8 ขวบ ซึ่งถ้าเด็กคนนี้ได้ขึ้นรถโรงเรียนจนโตถึงระดับหนึ่ง ก็ต้องผลัดเปลี่ยนให้น้องใหม่ที่เล็กกว่าเข้ามาแทนที่

          หลายครั้งที่ครูจตุพรต้องเผชิญความลำบากใจเพราะผู้ปกครองก็อยากให้ลูกขึ้นรถนักเรียนฟรี งานเล็กของคนหัวใจโตจึงมีอุปสรรคบ้างในบางครั้งยิ่งภาวะค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น จึงเป็นธรรมดาที่ผู้ปกครองต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทาง อย่างป้าวาสนา ก็บอกเราว่า ถ้าน้องเอมอรไม่ได้ขึ้นรถนักเรียนไทย ก็ต้องฝากมอเตอร์ไซด์รับจ้างให้ไปส่ง ค่ารถไปกลับวันละ 30 บาท ซึ่งตอนนี้ก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้

          แต่จนป่านนี้ป้าวาสนา ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า รถนักเรียนมีชื่อโครงการอะไร แล้วเจ้าของโครงการแท้จริงที่ออกค่าใช้จ่ายชื่อเสียงเรียงนาม หน้าตาเป็นแบบไหน 

          ที่ป้ารู้คือ หลานนั่งรถของธนาคาร "ถ้าเจ้าของเขาได้อ่าน ก็ฝากบอกเขาด้วยว่าขอบคุณมาก ขอให้มีรถนักเรียนตลอดไป ช่วยคนจน" ถึงบรรทัดนี้หากคนรวยจากภาษีชาวบ้านในรัฐบาล ได้ยินได้ฟังบ้างก็คงดี...



ข้อมูลและภาพประกอบจาก







 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รถโรงเรียนของนายธนาคาร บัณฑูร ล่ำซำ อัปเดตล่าสุด 17 มิถุนายน 2551 เวลา 18:40:48 28,505 อ่าน
TOP
x close