x close

ขึ้นทะเบียน เขาพระวิหาร ลำดับเหตุการณ์ไทย ตกลงเขมร


         หนึ่งในผลงานรัฐบาลชุดปัจจุบันถูกโจมตีอันดับต้นๆ คือการทำข้อตกลงที่ไทยจะสนับสนุนการขอขึ้นทะเบียน "ปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก" ของกัมพูชา ในเงื่อนไขให้ขึ้นทะเบียน "เฉพาะตัวปราสาทเขาพระวิหาร" โดยฝ่ายกัมพูชาจะจัดทำ "แผนที่ฉบับใหม่" แสดงขอบเขตปราสาทเขาพระวิหารประกอบคำขอขึ้นทะเบียน

         ฝ่ายรัฐบาล โดยนายนพดล ปัทมะ รมว.การต่างประเทศ ยืนยันพร้อมแสดงแผนผังบริเวณปราสาทที่ฝ่ายกัมพูชาจะใช้ยื่นต่อยูเนสโกขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ว่า กรมแผนที่ทหารตรวจสอบบริเวณดังกล่าวอย่างละเอียดแล้ว ไม่มีส่วนใดล้ำเข้ามาในดินแดนที่ไทยอ้างสิทธิ์

        รื่องราวพิพาทระหว่างประเทศที่กลายเป็น "ข้อตกลง" กันได้ แต่กลับเป็นข้อพิพาทภายในประเทศ มีลำดับเหตุการณ์ในระยะหลัง ดังนี้

         - 12 พ.ค. นายนพดล ปัทมะ รมว.การต่างประเทศแจ้งว่า จะเดินทางไปยังเกาะกง กัมพูชา ในวันที่ 14 พ.ค. เพื่อร่วมเปิดถนนสายที่ 48 กับนายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และวาระนี้จะหารือถึงการทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าให้มีการบริหารและจัดการร่วมกันในพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งต้องรีบคุยกันเพราะเวลาเหลือน้อย เนื่องจากเรื่องการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในเดือนกรกฎาคม ที่ควิเบก ประเทศแคนาดา 

         - 14 พ.ค. นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศแถลงว่า การปักปันเขตแดนทางบกหรือพื้นที่ทับซ้อนบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร และเรื่องพื้นที่ทางทะเลบริเวณไหล่ทวีปที่กัมพูชาและไทยอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกัน เป็นการเจรจา 2 กรอบที่แยกออกจากกัน ทั้งในเรื่องคณะกรรมการที่รับผิดชอบและในสาระของแต่ละเรื่อง นอกจากกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ยังมีหน่วยงานราชการอื่นๆ ร่วมในการเจรจาด้วย

         - 14 พ.ค. หลังร่วมพิธีเปิดถนนสายที่ 48 ที่เกาะกง นายนพดล หารือกับ นายสก อาน รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา จากนั้นเปิดเผยว่า กัมพูชามีท่าทีที่อ่อนลงและผ่อนปรนมากขึ้นในเรื่องเขาพระวิหาร หลังจากไทยและกัมพูชาเห็นต่างกันมานาน ในคำวินิจฉัยของศาลโลกเมื่อปี 2505 ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ตัดสินว่าตัวปราสาทเป็นของกัมพูชา ทางกัมพูชาจึงตีความ ว่าเส้นเขตแดนน่าจะเป็นไปตามคณะกรรมการปักปันสยาม-ฝรั่งเศส แต่ไทยอ้างสิทธิ์ของไทยว่า เส้นเขตแดนนั้น ศาลโลกระบุว่าไม่มีเขตอำนาจ

         นายนพดล ย้ำว่า การแบ่งพื้นที่ทับซ้อนทางบกและการแบ่งพื้นที่ทางทะเลกับเขาพระวิหารแยกออกจากกันสาระสำคัญอยู่ที่ไทยไม่เคยคิดจะเอาเขาพระวิหารไปแลกเปลี่ยนกับก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน และปฏิเสธว่าเรื่องการเปิดถนนสาย 48 ไม่เกี่ยวกับการลงทุนในกัมพูชาของพ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะเริ่มสร้างมา 3-4 ปีแล้ว

         - 22 พ.ค. นายนพดล กับ นายสก อาน หารือที่สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส โดยมีผู้แทนระดับสูงของยูเนสโกเข้าร่วมด้วย ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน ดังนี้

         1.ไทยจะสนับสนุนการขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกซึ่งเสนอโดยกัมพูชา

         2.กัมพูชาจะขอขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทเขาพระวิหาร โดยฝ่ายกัมพูชาจะจัดทำแผนที่ฉบับใหม่แสดงขอบเขตปราสาทเขาพระวิหารเพื่อใช้แทนแผนที่ฉบับเดิมที่กัมพูชาใช้ประกอบคำขอขึ้นทะเบียน

         3.การขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกจะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิ์ของแต่ละฝ่ายในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนของคณะกรรมาธิ การเขตแดนร่วม

         4.ทั้งสองฝ่ายจะต้องร่วมกันจัดทำแผนบริหารจัดการในพื้นที่ที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนโดยสอดคล้องกับมาตรฐานการอนุรักษ์ระดับสากล เพื่อเสนอคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาภายในวันที่ 1 ก.พ.2553

         - 30 พ.ค. กรณีที่ถูกวิจารณ์ว่า แผนที่ที่ทางกัมพูชายื่นให้ฝ่ายไทยรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ของไทยประมาณ 200 เมตร นายนพดล ชี้แจงว่า ไทยถือแผนที่คนละฉบับกับกัมพูชา ไทยใช้แผนที่ แอล 7017 มาโดยตลอดตั้งแต่ศาลโลกมีคำวินิจฉัยและทุกหน่วยงานของไทยใช้แผนที่ฉบับดังกล่าวเช่นกัน

         - 5 มิ.ย. กระทรวงการต่างประเทศได้รับแผนที่ฉบับใหม่จากฝ่ายกัมพูชาที่จะใช้แทนแผนที่เดิมที่ยื่นไว้เมื่อปี 2549 และได้ขอความร่วมมือกรมแผนที่ทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ตรวจสอบข้อมูลในภูมิประเทศจริงเพื่อความถูกต้องชัดเจน

         - 16 มิ.ย. แผนที่ฉบับใหม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ

         - 17 มิ.ย. แผนที่ฉบับใหม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี โดยมติครม. มอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปลงนามในร่างแถลงการณ์ร่วมกับ นายสก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเพื่อยืนยันข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายตามที่ตกลงกันไว้ในการหารือที่กรุงปารีสด้วย

        - 18 มิ.ย. นายนพดลลงนามในข้อตกลงร่วมกับกัมพูชาเมื่อ 22 พ.ค.2551 จากนั้นเปิดแถลงข่าวแสดงแผนที่ยืนยันว่า ไทยไม่เสียดินแดน



ข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ขึ้นทะเบียน เขาพระวิหาร ลำดับเหตุการณ์ไทย ตกลงเขมร อัปเดตล่าสุด 22 มิถุนายน 2551 เวลา 11:25:35 47,184 อ่าน
TOP