x close

พิษภัยจากควันธูป !!

ธูป



          "ธูป" เป็นเครื่องหอมที่ทำมาจากขี้เลื่อย กาว น้ำมันหอมสกัดจากพืช ไม้หอม ใบไม้ เปลือกไม้ รากไม้ เมล็ดพืช เรซิน และสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม พอกอยู่บนก้านไม้ มีหลายแบบหลายขนาด 

          การจุดธูป เป็นพิธีกรรมที่ชาวอียิปต์ใช้สักการะเทพเจ้าด้วยควันที่มีกลิ่นหอม ต่อมาได้แพร่ขยายไปยังกรีกและโรมัน และมายังอินเดียโดยเข้ามาในศาสนาฮินดู ก่อนเข้ามายังศาสนาพุทธ ก่อนแพร่ขยายไปยังประเทศต่าง ๆ ในตะวันออกไกล อาทิ ไทย เกาหลี ญี่ปุ่น จีน 

          ทุกวันนี้คนมากกว่าครึ่งโลกยังคงยึดถือวัฒนธรรมการจุดธูปเพื่อสักการะเทพเจ้า เทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และบรรพบุรุษ คาดว่าในแต่ละปีจะมีคนจุดธูปมากถึงแสนตัน

          การเผาไหม้ของธูปจะปล่อยสารต่าง ๆ ออกมามากมาย มีทั้งฝุ่นละอองขนาดเล็ก, ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, คาร์บอนมอ นอกไซด์, ไนโตรเจนออกไซด์, มี เทน, สารก่อมะเร็ง อาทิ ฟอร์มาล ดีไฮด์ PAH, สารอินทรีย์ระเหยง่าย อาทิ เบนซีน 1,3-บิวทาไดอีน 

          ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และมีเทน เป็นส่วนหนึ่งของก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน จากการศึกษาพบว่า ทุก ๆ 1 ตันของธูปจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 325.1 กิโลกรัม และก๊าซมีเทน 7.2  กิโลกรัม หรือเท่ากับว่าธูปจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเท่ากับ 1 ใน 3 ของน้ำหนักธูป

          ลองคิดดูซิว่า ถ้าในแต่ละปีมีคนจุดธูปมากถึงแสนตัน จะมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทนที่เกิดจากการจุดธูปมากมายแค่ไหน ???

          นอกจากนี้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ซึ่งมี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเป็นหนึ่งในคณะผู้วิจัย ที่ได้ศึกษาถึงผลกระทบต่อสุขภาพของการได้รับควันธูปที่มีสารก่อมะเร็ง อย่างน้อย 3 ชนิด ได้แก่ เบนซีน 1,3-บิวทาไดอีน และ PAH ในคนงานที่ได้รับควันธูปจากการปฏิบัติงานในวัด 3 แห่ง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ 40 คน เปรียบเทียบกับคนงานในหน่วยงานที่ไม่มีการจุดธูป 25 คน

          การตรวจวัดปริมาณสารก่อมะเร็งทั้ง 3 ชนิดในอากาศ พบว่า บริเวณที่มีการจุดธูปภายในวัดมีระดับการปนเปื้อนของเบนซีน 1,3-บิวทาไดอีน และ PAH ในอากาศสูงกว่าหน่วยงานที่ไม่มีการจุดธูป ประมาณ 4,260 และ 12 เท่า ตามลำดับ 

          ในการตรวจวัดดัชนีชี้วัดที่จำเพาะกับการได้รับสารก่อมะเร็งเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งมีทั้งการตรวจวัดเบนซีนในเลือด และการตรวจวัดสารที่ขับออกทางปัสสาวะที่บ่งชี้ถึงการได้รับสารก่อมะเร็ง พบว่าคนงานที่ได้รับควันธูปจากการปฏิบัติงานในวัดมีปริมาณของดัชนีชี้วัดสูงขึ้นภายหลังการปฏิบัติงาน 

          สำหรับการตรวจวัดความผิดปกติของสารพันธุกรรม DNA พบว่า ระดับการแตกหักของ DNA และ 8-OHdG ในเม็ดเลือดขาวของคนงานที่ได้รับควันธูปจากการปฏิบัติงานในวัดสูงกว่าคนงานในหน่วยงานที่ไม่มีการจุดธูปประมาณ 2 เท่า นอกจากนี้คนงานที่ได้รับควันธูปจากการปฏิบัติงานในวัดยังมีความสามารถในการซ่อมแซมความผิดปกติของสารพันธุกรรม DNA ลดลง 

          ความผิดปกติของสารพันธุกรรมดังกล่าว มีความสัมพันธ์กับระดับการได้รับเบนซีน 1,3-บิวทาไดอีน และ PAH จากควันธูป ผลการวิจัยดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าควันธูปเป็นอันตรายต่อสุขภาพ การสูดดมควันธูปเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีความเสี่ยงต่อการได้รับสารก่อมะเร็งที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่าง ๆ ของสารพันธุกรรม และศักยภาพในการซ่อมแซมความผิดปกติของ DNA ลดลง ซึ่งความผิดปกติเหล่านี้เป็นกลไกส่วนหนึ่งในการเหนี่ยวนำให้เกิดโรคมะเร็ง

          "การจุดธูปเป็นวัฒนธรรมที่มีรากฐานจากความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ สืบทอดกันต่อ ๆ มา โดยที่คนจุดทำไปโดยไม่ได้คิด ถ้าฉุกคิดสักนิด ถามตัวเองว่าเป็นไปได้หรือที่ควันธูปจะทำให้สิ่งที่เราสักการะรับทราบถึงการกระทำของเรา การจุดธูปไม่ได้ก่อประโยชน์อะไรต่อคน มีแต่จะให้โทษ ไม่เพียงปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน ยังอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะปรับเปลี่ยนความเชื่อ และพฤติกรรมการจุดธูปเสียใหม่  เราสามารถทำการสักการะได้โดยพนมมือถือธูปไว้ในมือได้แต่อย่าจุด หากทุกคนช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ เราก็จะมีส่วนช่วยในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดภาวะวิกฤติโลกร้อน และยังช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งลงได้" นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หนึ่งในคณะผู้วิจัย กล่าวสรุป.


ข้อมูลและภาพประกอบจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พิษภัยจากควันธูป !! โพสต์เมื่อ 30 มิถุนายน 2551 เวลา 12:23:33 10,225 อ่าน
TOP