x close

รู้ก่อนติดแก๊ส แอลพีจี - เอ็นจีวี

รถติดแก๊ส


        แม้ช่วงนี้จะมีข่าวดีเล็กๆ กับราคาน้ำมันที่เริ่มปรับลดลง ชั่วโมงนี้ประชาชนที่ยังจำเป็นต้องใช้รถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ส่วนตัว ไม่รอให้รัฐบาลมาพยุงราคาน้ำมัน หรือรอน้ำมันลดราคา รีบออกมาจัดการปัญหาราคาค่าใช้จ่ายจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ด้วยการนำรถไปติดตั้งแก๊ส 

        ปัจจุบันสถิติรถยนต์ใช้ก๊าซเชื้อเพลิงทั่วประเทศมี 309,064 คัน แบ่งเป็นรถที่ใช้ก๊าซแอลพีจี 256,083 คัน และใช้ก๊าซเอ็นจีวี 52,981 คัน จากตัวเลขความต้องการที่สูงขึ้น ตัวรัฐบาลเองก็ปรับ ตัวไม่ทันกับความต้องการของประชาชน จะเห็นว่าเรื่องของการออกมาตรฐานรับรองเรื่องของอู่ หรือให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับการติดตั้งแก๊สยังไม่มีหน่วยงานจากภาครัฐออกมาให้ความรู้อย่างจริงจัง ก่อนจะพารถคู่ใจไปยังอู่ติดตั้งแก๊ส

         มาทำความรู้จักกับแก๊ส 2 ชนิดกันก่อน คือ NGV และ LPG คลิกเลย


       

รถติดแก๊ส



        อย่างไรก็ตามจากการสำรวจตัวเลขการติดตั้งก๊าซ พบว่า ประชาชนติดตั้ง LPG สูงกว่า NGV ปรากฏการณ์นี้ ชัยฤทธิ์ กาญจนาเวส นายกสมาคมติดตั้งแก๊สไทย บอกว่า แอลพีจี ใช้ในบ้านเรามานาน 27 ปีแล้ว ขณะที่เอ็นจีวี เพิ่งมาใช้ เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา ช่างติดตั้ง ช่างซ่อมบำรุงจะมีประสบการณ์มีความเชี่ยวชาญมากกว่า มีผู้ค้าแก๊สรายใหญ่หลายรายไม่ถูกผูกขาดเหมือนเอ็นจีวี ดังนั้นจึงหาปั๊มเติมได้สะดวกกว่า อีกทั้งรถยนต์ที่ติดตั้งแก๊สแอลพีจีบรรจุก๊าซขนาดใกล้เคียงกันวิ่งได้ระยะทางมากกว่า ซึ่งระยะเฉลี่ยแอลพีจีต่อถังวิ่งได้ 350 กม. ขณะที่เอ็นจีวีวิ่งได้แค่ 100 กม. อีกทั้งขนาดของถังที่หนัก กว่า แอลพีจี 

        นอกจากนี้ยังรวมถึงราคาค่าติดตั้งเอ็นจีวีสูงกว่าแอลพีจี เหตุผลหลักของราคาแพง มาจากราคาค่าถังแก๊ส เพราะถังเอ็นจีวีต้องใช้ แรงดัน 3,000 ปอนด์ ขณะที่แอลพีจี 300 ปอนด์ ต่างกัน 10 เท่า ดังนั้นเมื่อมีความดันสูง ถังเอ็นจีวี จำเป็นต้องใช้เหล็กที่หนากว่า ถังที่เป็นเหล็กล้วนที่เรียกว่า Type 1 ราคาอยู่ที่หมื่นกว่าบาท ขณะที่ถัง Type 2 ใช้วัสดุเหล็กผสมไฟเบอร์กลาสเบาลงอีก ราคาขยับขึ้นกว่า 20,000 บาท และถัง Type 3 ขยับขึ้นมาเกือบ 50,000 บาท น้ำหนักเบาลงมาแต่ยังมีเหล็กผสม และถัง Type 4 เป็นไฟเบอร์กลาสล้วน น้ำหนักใกล้เคียงกับถังแอลพีจี ราคาตกใบละ 100,000 บาท ซึ่งเมื่อรวมอุปกรณ์ชุดฉีด และค่าติดตั้งเบ็ดเสร็จแล้ว 150,000 บาท 

รถติดแก๊ส


        อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันสูงขึ้นเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทำให้ราคาค่าติดตั้งแก๊สแอลพีจีและเอ็นจีวีสูงขึ้นเฉลี่ย 20 เปอร์เซ็นต์ บวกกับราคาเหล็กขึ้น ทองเหลืองขึ้น 

        ส่วนรูปแบบของถังที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถังตามมาตรฐาน มอก. ที่อนุญาตให้ใช้ในประเทศไทยต้องเป็นถังชนิดแคปซูลเท่านั้น ส่วนถังล้ออะไหล่หรือถังโดนัท ไม่ได้รับอนุญาตจาก มอก. ในบ้านเรา แต่ในต่างประเทศใช้กันแพร่หลาย ปลอดภัยเหมือนกันหากได้รับรอง มอก. รถยนต์ที่เลือกติดถังโดนัทจะไม่ผ่านการตรวจสภาพจากกรมการขนส่งทางบก 

        สำหรับรถยนต์ที่ใช้เครื่องดีเซล หากต้องการติดตั้งแก๊สต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 80,000-90,000 บาท เพราะต้องเปลี่ยนลูกสูบใหม่ เปลี่ยนฝาหัวเทียน เพิ่มระบบ ราคา ที่สูงมากจนทำให้ผู้บริโภครับไม่ไหว ยกเครื่องดีเซลออกไปเปลี่ยนมาเป็นเครื่องเบนซินแทน 

        นายกสมาคมติดตั้งแก๊สไทย บอกถึงข้อเท็จจริงของเอ็นจีวี อีกด้านหนึ่งว่า ก๊าซเอ็นจีวีในบ้านเรามีกากมาก คือยังมีคาร์บอน ยังแยกก๊าซที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงออกไม่หมด มีความบริสุทธิ์แค่ 73% เมื่อเทียบกับเอ็นจีวีของมาเลเซียบริสุทธิ์ถึง 99% เมื่อมีความบริสุทธิ์น้อย ส่งผลให้เครื่องยนต์เสื่อมสภาพเร็ว แม้ขณะนี้ราคาของเอ็นจีวีจะถูกกว่า คือลิตรละ 8.50 บาท และจะปรับขึ้นเป็น 12 บาท ในวันที่ 1 มกราคม ปีหน้า ขณะที่ราคาแอลพีจีอยู่ที่ลิตรละ 11.50 ซึ่งรัฐบาลพยายามให้ข่าวเป็นระยะว่าจะปรับราคาแอลพีจี โดยจะแยกเป็น 2 ราคา คือราคาก๊าซหุงต้ม และภาคขนส่ง คาดว่าจะปรับราคาขึ้นอีก 4 บาทต่อลิตร 

        "วันนี้ไม่มีใครมาการันตี ได้ว่าเอ็นจีวีจะปรับราคาเป็น 20 บาท หรือราคาจะถูกลงครึ่งหนึ่งของราคาดีเซล ที่ผ่านมาเกิดปัญหาขาดแคลนแอลพีจี จน ปตท. ต้องนำเข้า และ ปตท. ออกมาขอค่าชดเชยจากรัฐบาล อยากถามว่ารัฐบาลนำเข้าเองไม่ได้หรือ ทำไมต้องผ่านบริษัทดังกล่าว แอลพีจีคือสัญชาติไทย 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วทำไมต้องนำเข้า แอลพีจีได้มาจากการกลั่นน้ำมัน เวลาได้ก๊าซจากหลุมได้ทั้งแอลพีจีและเอ็นจีวีด้วย ที่ผ่านมาไม่เคยมีการแสดงตัวเลขการกลั่น การนำเข้าที่ชัดเจนให้ประชาชนดู อ้างแต่ว่าขาดแคลนต้องนำเข้า" 

        นายกสมาคมติดตั้งแก๊สไทย ตั้งข้อสังเกตปัญหาขาดแคลนแก๊ส พร้อมออกมาฟันธงว่า เวลานี้แอลพีจีพร้อมกว่า แม้จะผ่านวิบากกรรมลอยตัวขึ้น 4 บาทต่อลิตร แต่ยังถูกกว่าน้ำมัน ที่สำคัญเป็นตลาดเสรี อีกทั้งการเทียบความเร็วของรถเมื่อเปลี่ยนระบบมาใช้แก๊ส จากความเร็วที่ 150 กม. ต่อชั่วโมง 

        ขณะที่รถยนต์ใช้ก๊าซแอลพีจี ยังคงความเร็วที่ 150 กม.ได้ แต่เอ็นจีวีแรงตกวิ่งได้แค่ 110 กม. 

        นั่นยังไม่รวมถึงสถานีบริการเอ็นจีวี ที่ ปตท. ออกมาบอกว่าในปลายปีจะมีปั๊มเอ็นจีวี 225 ปั๊มทั่วประเทศ และ 550 ปั๊ม ในปี 2554 ทั้งที่ก่อนหน้านั้นจะมีการเพิ่มสถานีบริการ แต่ไม่สามารถทำได้ตามเป้า ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว ปั๊มเอ็นจีวี ต้องมีระยะถี่และมากกว่าแอลพีจี (ขณะนี้มีอยู่ราว 500 แห่งทั่วประเทศ) เพราะถังบรรจุแก๊สได้น้อยกว่า 

        "คิดว่ารัฐบาลน่าจะไปส่งเสริมให้รถขนาดใหญ่ และรถบรรทุกใช้ เอ็นจีวี ตอนนี้มีประชาชนที่ไปติดตั้งเอ็นจีวีมาแล้วจะมาขอเทิร์นเป็นระบบแอลพีจีทุกวัน บอกยอมขาดทุน เพราะเจอปัญหาเยอะ เราบอก เราทำไม่ได้"

        ปัจจุบันประชาชนที่ต้องการติดตั้งแก๊สรถยนต์เพื่อความปลอดภัยและมั่นใจนอกจากอู่มีการประกันหลังติดตั้ง พร้อมมีใบวิศวกรรมรับรอง อีกทางเลือกคือเลือกหาอู่ที่เป็นสมาชิกในเครือสมาคมติดตั้งแก๊ส เพราะมีช่างติดตั้งผ่านการรับรองจากสมาคม มีประกันภัยของบริษัทเอกชนเข้ามาดูแลกรณีเกิดปัญหาระหว่างอู่กับเจ้าของรถ พร้อมรับคู่มือดูแลรักษารถและตรวจสภาพทุกระยะ 

        สิ่งที่ต้องปฏิบัติ เมื่อรถยนต์เปลี่ยนมาใช้ระบบแก๊ส ต้องนำรถมาตรวจสภาพที่กรมการขนส่งภายใน 15 วัน พร้อมแนบใบรับรองจากวิศวกร บัตรประชาชนเจ้าของรถ กรอกแบบฟอร์มเพิ่มเติมรายการทะเบียนรถ 

        ถ้าเจ้าของรถไม่มาแจ้งถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 36 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ซึ่งจะบังคับใช้ ก.ม. อย่างจริงจัง วันที่ 1 สิงหาคม นี้ 

        ส่วนการคุ้มครองรถยนต์จากบริษัทประกันภัย หลังแจ้งกับการขนส่งแล้วส่งหลักฐานยังบริษัทประกันภัยเงื่อนไขการคุ้มครองต่างกัน บางแห่งขอเก็บเบี้ยประกันเพิ่ม บางแห่งขอเพิ่มวงเงินและเบี้ยประกัน บางแห่งไม่ขอเก็บประกันในปีนี้แต่ทบไปเก็บปีถัดไป

วิธีดูแลรักษารถยนต์ที่ติดตั้ง LPG

        1. ตรวจเช็กรอยรั่วซึมของก๊าซ ตามข้อต่อและจุดต่างๆ ทุกเดือน โดยใช้ฟองสบู่หรือเครื่องตรวจวัดก๊าซรั่ว

        2. ตรวจเช็กและทำความสะอาดไส้กรองอากาศทุก 5,000 กิโลเมตร บ่อยกว่าการตรวจเช็กเมื่อใช้น้ำมันเบนซินอย่างเดียว (ปกติ 10,000 กิโลเมตร)

        3. ตรวจสอบอุปกรณ์ สำหรับเติมก๊าซถังก๊าซ ตัวนอตที่ยึดถังก๊าซทุกเดือน

        4. ควรตรวจเช็กและตั้งบ่าวาส์วไอเสีย ทุกระยะ 40,000 - 60,000 กิโลเมตร เพราะบ่าวาส์วของไอเสียของเครื่องยนต์ที่ใช้ก๊าซ LPG จะมีโอกาสสึกหรอเร็วกว่าการใช้น้ำมันเบนซิน จึงควรใช้น้ำมันเบนซินสลับกับการใช้ก๊าซ เพื่อให้น้ำมันเบนซินไปเคลือบบ่าวาสว์บ้างเพื่อให้มีอายุการใช้งานนานขึ้น

        5. ห้ามดัดแปลงอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานก๊าซที่ได้รับการติดตั้งจากศูนย์ที่ได้มาตรฐาน หากมีปัญหาให้รีบติดต่อศูนย์บริการที่ติดตั้งมาทันที

        6. อุปกรณ์ที่ติดตั้งระบบก๊าซควรใช้ของใหม่ที่ได้มาตรฐานแล้ว

        7. เพื่อรักษาสภาพของเครื่องยนต์ ควรใช้น้ำมันสตาร์ตเครื่องยนต์ก่อนและหลังการใช้

        8. หากรู้สึกว่ามีกลิ่นแก๊ส และสงสัยว่าเกิดการรั่วไหลให้รีบหยุดรถและดับเครื่องยนต์โดยทันที รีบปิดระบบหันมาใช้น้ำมันสตาร์ตเครื่องแล้วรีบนำรถข้าศูนย์บริการที่ติดตั้งทันที

        9. หากเกิดไฟไหม้ที่ตัวรถ ให้รีบดับเครื่องยนต์ และรีบออกจากตัวรถ หากสามารถดับไฟได้ ให้รีบดับไฟที่แหล่งกำเนิดแล้วรีบแจ้งตำรวจ

        10. เพื่อรักษาประสิทธิภาพ และคุณภาพของชิ้นส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบน้ำมัน ควรมีน้ำมันติดถังไว้อย่างน้อย 1 ส่วน 4 ถังเสมอๆ และเพื่อป้องกันระบบน้ำมันเสียหาย


วิธีดูแลรถยนต์ที่ติดตั้ง NGV

        1. หมั่นตรวจสอบสภาพของกรองอากาศรถยนต์ ซึ่งควรทำความสะอาดทุกสัปดาห์ หรือเปลี่ยนเมื่อครบอายุใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20,000 กิโลเมตร

        2. ตรวจสอบหัวเทียน ให้อยู่ในสภาพปกติพร้อมใช้งาน เพราะหากกรองอากาศสกปรก หรือหัวเทียนเสื่อมสภาพแล้วประสิทธิภาพการทำงานของระบบ NGV ก็จะลดลงด้วย เช่น ทำให้รอบเดินเบาไม่นิ่ง และทำให้เครื่องยนต์สตาร์ตติดยาก ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะของรถยนต์รุ่นนั้นด้วย

        3. ดูแลไม่ให้มีสิ่งอื่นใดไปกระแทกถังก๊าซ เพราะอาจทำให้ตัวยึดถัง หรือสายระบายแก๊สเสียหาย ควรนำถังไปตรวจสภาพและทดสอบทุกปีนับจากวันที่ระบุ

        4. อุปกรณ์ NGV ได้ผ่านมาตรฐานจากไอเอสโอ ตามที่กฎหมายกำหนด หากเกิดอุบัติเหตุถังก๊าซจะไม่ระเบิด ผู้ใช้ระบบ NGV จึงมั่นใจได้ถึงความปลอดภัย


        เห็นข้อดีข้อด้อยของเอ็นจีวีกับแอลพีจีกันแล้ว คงตัดสินใจได้สำหรับคนที่จะนำรถคู่ใจไปติดตั้งแก๊สกันนะคะ



ข้อมูลและภาพประกอบจาก

โดย : พรประไพ เสือเขียว

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้ก่อนติดแก๊ส แอลพีจี - เอ็นจีวี อัปเดตล่าสุด 24 กรกฎาคม 2551 เวลา 17:40:02 53,710 อ่าน
TOP