x close

มนุษย์เพนกวิน ผู้เขียนชีวิตด้วยปลายเท้า

เอกชัย วรรณแก้ว

เอกชัย วรรณแก้ว

เอกชัย วรรณแก้ว


สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก นิตยสาร ฅ คน 
เรื่อง : ปองธรรม สุทธิสาคร
ภาพ : ธาตรี แสงมีอานุภาพ 

          ไม่มีใครคิดว่าเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่คลอดก่อนกำหนดในเดือนที่ 6 ด้วยน้ำหนักตัวไม่ถึงหนึ่งกิโลกรัม ร่างกายมีขนาดเล็กกว่าขวดน้ำปลา ไม่มีแขนทั้งสองข้าง ขาหดสั้นจนแทบจะเหลือแค่เพียงฝ่าเท้าที่ติดกับสะโพก เด็กทารกที่สามวันดีสี่วันไข้ เมื่อ 28 ปีที่แล้วคนนี้จะรอดชีวิตและอยู่มาได้จนถึงปัจจุบัน "เอกชัย วรรณแก้ว" ลูกชายคนสุดท้อง จากพี่น้องทั้งหมด 5 คน เกิดและเติบโตในครอบครัวของชาวนาที่ฐานะค่อนข้างยากจน ใน อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ เด็กพิการที่เคยอ่อนแอ และอยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วง น่าจะเป็นภาระของครอบครัวและคนรอบข้างไปตลอดชีวิต 

          แต่วันนี้ "เอกชัย" กลับทำและเป็นในสิ่งที่ตรงกันข้าม เขาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ของคณะจิตรกรรมสากล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง เป็นลูกที่มีการศึกษาสูงที่สุดในบรรดาพี่น้องทั้งหมด ใครจะคิดว่าเขาสามารถวาดรูปได้เหมือนกับคนปกติธรรมดาด้วย 2 เท้าเล็กๆ ที่เหลืออยู่

          "ตอนเด็กๆ ผมอยากออกจากบ้าน ออกไปเห็นว่านอกรั้วมีอะไร เพราะผมอยู่แต่ในบ้านก็เลยอยากเห็นโลกที่มันใหญ่กว่านั้น ตอนนั้นคิดไปถึงว่าทำไมผมถึงเดินไม่ได้เหมือนคนอื่น มันต้องทำยังไงถึงเดินได้ ซึ่งกว่าจะได้คำตอบก็ต้องรอจนถึง 6 ขวบ เพราะพ่อกับแม่บอกว่าเขาอยู่กับเราไม่ได้ตลอด เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยเหลือตัวเอง ตั้งแต่นั้นเขาก็ฝึกฝนให้ผมช่วยตัวเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นซักผ้า หุงข้าว แปรงฟัน ฯลฯ ซึ่งส่วนมากผมจะใช้หัวไหล่ในการหยิบจับของบางอย่าง แต่บางอย่างก็ต้องใช้เท้า อย่างการเดินก็เหมือนกัน ตอนแรกก็ใช้ถัดเอา แผลเต็มไปหมด จนวันหนึ่งผมเห็นเพื่อนๆ เขาเล่นกัน ผมก็อยากเดินได้ จะลุกก็ไม่กล้า แต่อีกใจหนึ่งก็เอาวะ ปรากฎว่าลุกเดินได้ 2 ก้าวก็ล้มหัวแตก พออาทิตย์ต่อมาก็ลองอีก ก็หัวแตกอีก เราหัดอย่างนี้จนเดินได้" เอก เริ่มต้นเล่าเรื่องราวชีวิต


เอกชัย วรรณแก้ว


          นอกจากจะได้เห็นโลกกว้างขึ้น เอกยังได้มีโอกาสออกไปเล่นกับเพื่อนๆ แต่ความสุขกลับอยู่กับเขาได้ไม่เนิ่นนานเท่าใดนัก เพราะจากที่เคยรู้สึกเบิกบานใจอยู่ทุกวัน ก็ต้องลดปริมาณลงเหลือแค่ช่วงเย็นๆ เสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

          "เพื่อนๆ เขาไปเรียนกันหมด แรกๆ ผมก็ไม่รู้ ได้แต่สงสัยว่าเขาหายไปไหนกันหมด จนเพื่อนๆ มาเล่าให้ฟังว่าเขาไปโรงเรียนมา มีเพื่อนเยอะ แล้วก็เอาหนังสือมาอ่าน ตอนนั้นผมก็อยากเข้าเรียนนะ แต่ก็ไม่มั่นใจว่าเราสามารถไปเรียนได้ไหม ทุกๆ วันผมจะตั้งตารอคอยให้เพื่อนๆ กลับมาเล่าให้ฟังว่าไปเรียนมาเป็นยังไงบ้าง ต่อมาวันหนึ่งพี่ชายผมซื้อหนังสือการ์ตูนมา เป็นการ์ตูนลายเส้นที่สวย เรารู้สึกชอบมาก แล้วที่สำคัญมันมีบทสนทนาอยู่ในนั้นด้วย เราก็ยิ่งอยากรู้ว่าตัวการ์ตูนเขาพูดอะไรกัน แต่เราอ่านหนังสือไม่ออก มันยิ่งทำให้เราอยากเรียนมากขึ้น"


เอกชัย วรรณแก้ว


          หลังจากวันนั้น ทุกๆ วันเอกจะหักกิ่งไม้และใช้เท้าวาดรูปลงบนพื้น ตามแต่ที่เขาจะจินตนาการได้ ศิลปะแห่งกิ่งไม้ทำให้เด็กน้อยหลุดออกจากความเหงา พันธนาการ และข้อจำกัดในชีวิตทุกสิ่งทุกอย่าง มันพาเขาข้ามไปสู่อีกโลกใบหนึ่ง ซึ่งเป็นโลกที่มีแต่ความอิสระเสรี รวมทั้งได้ใช้จินตนาการตามแบบที่ใจต้องการ และหลังจากอยู่ในโลกส่วนตัวไม่นาน เอกก็ได้เข้าเรียนสมใจ แต่การเข้าสู่ระบบการศึกษาของเอกไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากทางโรงเรียนไม่ยินยอมที่จะรับเด็กที่ไม่มีความพร้อมเข้าเรียน เพราะกลัวว่าจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 

          "เขาบอกว่าผมช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เขาไม่รับ พ่อก็บอกกลับไปว่าลูกผมช่วยเหลือตัวเองได้หมด เพราะฝึกให้ช่วยเหลือตัวเองตั้งแต่เล็กๆ พ่อขอร้องถึงขนาดที่ว่าขอให้ผมเรียนแค่พออ่านออกเขียนได้ ไม่ต้องให้วุฒิก็ได้ แต่พูดยังไงทางโรงเรียนก็ไม่ยอมท่าเดียว พ่อเลยพาผมไปหาศึกษาธิการจังหวัด พ่อเข้าไปนั่งรอในห้อง ส่วนผมอยู่นอกห้อง พอดีศึกษาธิการจังหวัดเขากลับมาจากธุระข้างนอก เขาเห็นผมก่อน เขาถามผมว่า หนูมาทำไม ผมบอกว่า มาเรื่องเรียน แล้วก็เล่าทุกสิ่งทุกอย่างให้เขาฟัง เขาเลยให้ผมลองทำอะไรต่างๆ ให้ดู พอเห็นว่าผมช่วยตัวเองได้ หลังจากนั้นศึกษาธิการจังหวัดเลยไปที่โรงเรียน แล้วสั่งกับครูใหญ่ให้รับผมเข้าเรียน ผมก็เลยได้เรียน" 


เอกชัย วรรณแก้ว


          การได้สวมเครื่องแบบนักเรียนไปเรียน นับเป็นสิ่งที่เอกปรารถนามานาน ทว่าในความเป็นจริง เพียงวันแรกที่เขาไปถึงก็แทบอยากจะลาออกทันที ซึ่ง เอก บอกว่า "คนทั้งโรงเรียนมองมาที่ผมคนเดียว มองเหมือนเป็นตัวประหลาด ผมทำอะไรๆ เขาก็มอง จนรู้สึกกดดัน รู้สึกว่าไม่อยากเรียนแล้ว ตอนกลางวันผมก็ไม่ลงไปกินข้าว จะเก็บตัวอยู่ในห้องคนเดียว จนกระทั่งครูมาปลอบและพาไปกินข้าวด้วย จากนั้นผมก็เริ่มปรับตัวและค่อยๆ เข้ากับเพื่อนๆ ได้โดยไม่รู้สึกแปลกแยก" 

          อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่มีโอกาส มีเวลาว่าง หรืออยู่คนเดียว เอกมักจะเดินไปหักกิ่งไม้นำมาวาดรูปอยู่เป็นประจำ และค่อยๆ เปลี่ยนจากวาดหมา แมว การ์ตูน มาเริ่มวาดรูปเด็กผู้ชายคนหนึ่ง เอกวาดซ้ำไปซ้ำมาอยู่หลายครั้ง ถ้าดูไม่ผิด...เด็กผู้ชายในผืนดินคนนั้นกำลังจับบางอย่างด้วยปลายเท้าเช่นเดียวกับเขา ต่างกันตรงที่มันไม่ใช่กิ่งไม้ หากแต่เป็น "พู่กัน"


เอกชัย วรรณแก้ว


          "ประมาณ ป.1 โรงเรียนเขาคัดเลือกตัวแทนไปแข่งวาดรูป 2 คน ไปแข่งระดับจังหวัด ผมก็ไปคัดกับเขา ผลปรากฎว่าผมติดเลยมีโอกาสไปแข่ง แล้วก็ได้ที่ 2 ของจังหวัด จำได้ว่าตอนนั้นได้เงินมา 5,000 บาท ผมดีใจมาก มันทำให้ผมมีที่ยืน ทำให้ผมสามารถภาคภูมิใจในตัวเองได้ ที่สำคัญมันทำให้ผมรู้ตัวเองว่าชอบวาดรูป ชอบศิลปะ เพราะเวลาที่วาดรูปผมจะรู้สึกสนุก มีความสุข จะพูดว่ามันทำให้ผมค้นพบตัวเองตั้งแต่เด็กก็ได้"

          หลังจากจบการศึกษาชั้นประถม เอกก็เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมใกล้บ้าน โดยในระหว่างนั้นก็เข้าแข่งขันประกวดวาดรูปทั้งนอกและในสถาบันอยู่เป็นประจำ จนจบชั้นมัธยม 3 เอกก็เลือกที่จะเข้าไปเรียนต่อในชั้น ปวช. ปวส. ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาในตัวเมือง คณะจิตรกรรมสากล ถึงแม้ว่าเขาต้องเดินทางไปกลับวันละเกือบ 40 กิโลเมตร หรือต้องหาเงินเรียนเองโดยการรับจ้างวาดรูปเหมือน ก็ไม่ทำให้เขาย่อท้อที่จะเอาชนะความยากลำบาก ในที่สุดเอกก็สามารถเรียนจบชั้นอนุปริญญา และเพื่อนๆ ได้ชักชวนให้เขาไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรี แต่เอกกลับคิดว่าเขาควรยุติเส้นทางชีวิตนักศึกษาเอาไว้เท่านี้ เนื่องจากต้องใช้ทุนทรัพย์ค่อนข้างสูง ทั้งๆ ที่ภายในก้นบึ้งหัวใจลึกๆ เขายังอยากเรียนต่อทางด้านศิลปะให้สูงที่สุด


เอกชัย วรรณแก้ว

เอกชัย วรรณแก้ว


          "ตอนเรียนมัธยมมีอาจารย์คนหนึ่งที่ผมรักเหมือนพ่อ แกชื่ออาจารย์โต๊ะ แกจะคอยช่วยเหลือผมตลอด ผมเลยเอาเรื่องนี้ไปปรึกษาแก แกบอกมาว่าอย่างผมต้องไปเรียนที่เพาะช่าง ตอนนั้นผมไม่รู้ว่าเพาะช่างที่อาจารย์พูดถึงคืออะไร อยู่ที่ไหน รู้แต่ว่าอาจารย์ให้ไปเราก็ไป ก็ขึ้นรถไปกับอาจารย์และเพื่อนอีกคนหนึ่ง แต่พอไปถึงมันงงไปหมด รู้สึกว่ารถราทำไมมันเยอะอย่างนี้ แล้วพอเงยหน้าขึ้นไปมันเห็นแต่ตึก จนรู้สึกอยากกลับบ้าน แต่ผมเห็นความตั้งใจของอาจารย์ ทำให้รู้สึกว่ายังไงก็ต้องเรียน ต้องสู้ ก็เลยไปติวก่อนสอบ 1 เดือน

          แต่พอผลสอบออกมาปรากฎว่าผมสอบไม่ได้ ความรู้สึกคือหมดแล้ว สิ่งที่เราหวังไว้หมดลงตรงนั้น ไม่รู้จะเอายังไงดี รุ่นพี่ที่ติวให้เขาบอกว่าให้อยู่ก่อนอย่าเพิ่งกลับบ้าน พออยู่ไปสักพักรุ่นพี่เขาเข้ามาส่งงานอาจารย์ที่เพาะช่าง มีอาจารย์เขาจำได้ว่าเป็นรุ่นพี่ผม เขาเลยถามว่า ไอ้ตัวเล็กมันกลับไปยัง รุ่นพี่ก็บอกว่ายัง อาจารย์เลยให้รุ่นพี่ตามตัวผมไปพบ แล้วเขาก็บอกให้ผมรอก่อน รอคนที่มาสอบสัมภาษณ์แล้วไม่ผ่าน จนกระทั่งวันหนึ่งมีนักศึกษาคนหนึ่งเขาสละสิทธิ์ อาจารย์เขาเลยยื่นเรื่องให้ผมเป็นกรณีพิเศษ จนผมได้เข้าเรียนที่เพาะช่าง" 


เอกชัย วรรณแก้ว


          แม้ว่าเขาไม่มีทุนมากนัก แต่โชคดีตรงที่มีคนคอยสนับสนุนนำพาให้สมัครสอบเข้าเรียนต่อ และได้ความอุปการะในเรื่องที่อยู่อาศัยจากวิทยาเขตเพาะช่าง พื้นที่ไม่กี่ตารางเมตรของห้องพักนักการภารโรงซึ่งว่างอยู่ จึงกลายเป็นห้องพักของเอกเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางมาเรียน และช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับเขาอีกทางหนึ่งด้วย และการที่เขาเป็นนักศึกษาคนเดียวของวิทยาลัยที่ใช้สองเท้าในการเดิน กิน และทำงาน ด้วยรูปร่างลักษณะท่าทางการเดินที่ดูๆ ไป ก็คล้ายๆ นกเพนกวินนี่เอง ทำให้เพื่อนร่วมรุ่น รวมถึงทุกๆ คน ในวิทยาลัยลงความเห็นและเรียกเขาว่า "เพนกวิน" ฉายานี้อาจมาจากความแตกต่างทางร่างกาย แต่ไม่ว่าเขาจะถูกเรียกว่าอะไร และด้วยเหตุผลใด ก็ไม่ได้ส่งผลให้ "เอก" ต้องใช้ชีวิตที่แปลกแยกและแตกต่างจากเพื่อนๆ เพราะว่าความสุขของการมีชีวิตคือการใช้ชีวิตอย่างมีศิลปะ และศิลปะของการมีชีวิตคือการมีชีวิตที่มีความสุข 

          "เพนกวินเป็นฉายาที่รุ่นพี่ตั้งให้ คนเขาก็เรียกกันติดปากทั้งเพาะช่าง บางทีถามหาเอกนี่เขาไม่รู้นะ แต่ถ้าบอกว่าที่เดินเหมือนเพนกวินนี่รู้ทันที ผมฟังแล้วก็ไม่ได้รู้สึกเป็นปมด้อยอะไรนะ กลับรู้สึกว่าน่ารักดีด้วยซ้ำ ไม่รู้ว่าจะคิดเป็นปมด้อยให้มันเจ็บปวดไปทำไม เขาไม่ได้มาด่าพ่อแม่หรือบังคับให้เราทำอะไรสักหน่อย ผมว่าถ้าเลือกคิดได้ ก็คิดในแง่ดีดีกว่า มันมีความสุขกว่าตั้งเยอะ สังคมบ้านเราไม่ได้ดูคนที่ความสามารถ ไม่ได้ดูที่สมอง พอเห็นว่าเขาพิการก็ปฏิเสธลูกเดียว เขาไม่ได้นึกว่าคนพิการบางคนนี่ทำงานดีกว่าคนร่างกายครบถ้วนอีก แล้วคนพิการส่วนใหญ่ไม่เรื่องมาก ตรงต่อเวลา แล้วก็ไม่มีปัญหาทะเลาะวิวาท 


เอกชัย วรรณแก้ว


          ผมว่าสังคมควรเปิดใจให้กว้างกว่าที่เป็นอยู่ ควรจะดูที่คุณค่าในตัวเขามากกว่าที่เห็นจากภายนอก เราก็เหมือนต้นหญ้าที่อยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ เป็นธรรมดาเมื่อคนเดินผ่านก็ย่อมต้องสะดุดตากับต้นไม้ใหญ่ก่อน เขาไม่ได้มองหรอกว่าต้นหญ้าที่อยู่ข้างๆ มันจะทำให้ดินชุ่ม รวมทั้งช่วยยึดเกาะหน้าดินตรงโคนต้นไม่ให้แตกกระจาย ที่พูดอย่างนี้ไม่ไช่ว่าเราต้องการเป็นต้นไม้ใหญ่หรอกนะ แต่เราต้องการที่จะเป็นหญ้าอ่อนที่อยู่กับต้นไม้ใหญ่ได้อย่างสมดุล เราเพียงแต่หวังว่าสักวันหนึ่งต้นไม้ใหญ่จะยอมเอนกิ่งของตัวเองสักเล็กน้อย ให้แสงแดดลอดผ่านมาหาเราบ้าง เพื่อที่เราจะได้เป็นต้นหญ้าที่สวยงามกว่าที่เป็นอยู่" ความคิดเห็นของเอกที่แสดงออกมาอาจเป็นเสมือนกระบอกเสียงเล็กๆ ให้เพื่อนผู้ขาดโอกาสอีกหลายๆ คน 

          สำหรับชีวิตและความฝันของเด็กศิลป์อย่าง "เอก" ไม่ได้เลิศหรูถึงขั้นต้องการเป็นปรมาจารย์ที่รังสรรค์งานศิลป์ชั้นเทพ แต่เขามีฝันเล็กๆ หลังเรียนจบ คือเขาต้องการเป็นครูสอนศิลปะให้กับเด็กๆ ด้อยโอกาสในต่างจังหวัดที่ห่างไกลและกลุ่มเด็กที่ไม่มีโอกาสได้เสพงานศิลป์ดีๆ เท่านั้นเอง 

          พบกับวิธีคิดและมุมมองเพื่อค้นหาความสุขของ มนุษย์เพนกวิน ผู้เขียนชีวิตด้วยปลายเท้า ได้ในรายการ "คน ค้น ฅน" วันอังคารที่ 5 สิงหาคมนี้ เวลา 22.15 น. ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 
นิตยสาร ฅ คน ปีที่ 3 ฉบับที่ 10 (34) เดือนสิงหาคม พ.ศ.2551  



นิตยสาร ฅ ฅน


          นิตยสาร ฅ คน ฉบับที่ 34 เดือนสิงหาคม พ.ศ.2551  

           เรื่องจากปก ปลายพู่กันและความฝัน

          เรื่องราวของชายหนุ่ม ผู้ไม่ได้ใช้เพียงสองเท้าคีบพู่กัน สร้างความงามให้กับโลกศิลปะเท่านั้น แต่ยังใช้มันขีดเขียนความฝันด้วยตัวเอง อย่างเต็มสิทธิที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมี  

           รายงานพิเศษ 6 ปีทีวีบูรพา

          เกาะติดเหตุการณ์งาน 6 ปี ทีวีบูรพา จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อลุงเสรี ผู้เริ่มจุดต่าง ปะทะยายทิ้ง ผู้สร้างจุดเปลี่ยน  

           สัมภาษณ์พิเศษ รสนา โตสิตระกูล

          "ทุนนิยมเสรี ต้องไม่ใช่เสรีภาพของหมาจิ้งจอกในเล้าไก่" แล้วทุนนิยม ควรเป็นอย่างไร ฟังเธอตอบคำถามว่าด้วยราคาน้ำมันแพง ตอบไกลไปถึงปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับทุนนิยม ซึ่งใครบางคนอาจกำลังสับสน  

           คนกับวิถี คนของความสุข ชื่อลุงนิล

          พลิกฟื้นชีวิตขึ้นใหม่ในสวนร่มรื่น 9 ชั้น พ้นจากหนี้สิน และพันธนาการ จากทำสวนทุเรียนหวังรวย เหลือเพียงสวนพออิ่ม ปรัชญาชีวิตที่เวียนกลับ พาเขามาเป็นคนของความสุขในบั้นปลาย  

           ของฝากนัก(อยาก)เขียน ก้าวแรกของการเป็นนักเขียน

          ก้าวแรกของการเป็นนักเขียนต้องเริ่มจากการเป็นนักอ่าน แต่จะอ่าน "อย่างไร" นั้น รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ มาวิจารณ์ให้รู้กันว่า อยากอ่านให้เกิดผล ต้องอ่านแบบไหน

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มนุษย์เพนกวิน ผู้เขียนชีวิตด้วยปลายเท้า อัปเดตล่าสุด 14 สิงหาคม 2551 เวลา 16:06:07 99,685 อ่าน
TOP