x close

ดูแลหัวใจ ให้เป็นอมตะ

หัวใจ



ภัยเงียบที่ไต่ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็ง คงหนีไม่พ้น "โรคหัวใจ" อย่างแน่นอน

          ตอนนี้โรคหัวใจคร่าชีวิตผู้ป่วยไปมากถึง 5 คนต่อชั่วโมงเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ศูนย์หัวใจโรงพยาบาลวิภาวดี จึงจัดงาน "สัปดาห์รักษ์หัวใจ" ร่วมสืบสานนโยบายองค์กรอนามัยโลกกับหัวข้อ Know Your Risk คุณรู้ความเสี่ยงโรคหัวใจของคุณเองหรือไม่? รณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงภัยร้าย รวมถึงการป้องกัน และลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจก่อนที่ภัยเหล่านี้จะมาถึงตัว

นพ.กิตติ


          นายแพทย์กิตติ ตระกูลรัตนาวงศ์ แพทย์ประจำศูนย์หัวใจโรงพยาบาลวิภาวดี กล่าวว่า โรคหัวใจมีสาเหตุการเกิดทั้งจากปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยภายนอกร่างกาย เช่น การดำเนินชีวิต การบริโภคอาหาร การสูบบุหรี่  ซึ่งปัจจุบันพบผู้ป่วยชนิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากเป็นอันดับ 1 สาเหตุมาจากหลอดเลือดแดงแข็งตัว เพราะมีไขมันหรือคอเลสเตอรอลมาเกาะติด เกิดเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดนำมาซึ่งสองอาการ คือ เจ็บและจุก แน่นบริเวณหน้าอก อึดอัดเหมือนถูกช้างเหยียบ ปวดร้าวไปที่หัวไหล่ บางรายเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหันต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงให้เร็วที่สุด เนื่องจาก "เวลา" เป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด

          ด้าน น.อ.นพ.วรงค์ ลาภานันต์ ให้เกียรติมาสาธิตขั้นตอนการช่วยชีวิตผู้ป่วยเบื้องต้น ป้องกันการสูญเสียผู้ป่วยไปอย่างฉับพลัน น.อ.นพ.วรงค์เล่าว่า อันดับแรกเวลาเห็นคนเจ็บหน้าอกแล้วล้มลงไปต้องตั้งสติตัวเองเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะลงมือช่วยเหลือผู้ป่วย

นพ.วรงค์


          "ขั้นแรกให้เข้าไปเขย่าตัว หรือเรียกดังๆ ดูว่ามีการตอบสนองหรือไม่ ถ้าไม่มีค่อยเริ่มช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน โดยเปิดทางเดินหายใจ เงยหน้าผู้ป่วย มือด้านไกลกดหน้าผาก อีกมือหนึ่งใช้สองนิ้วเชยที่กระดูกคาง ตรวจการหายใจ ตาดู หูฟัง แก้มรับสัมผัส 5-10 วินาที ถ้าไม่หายใจ ช่วยการหายใจ (เม้าท์ทูเม้าท์) และปั๊มหน้าอก วางมือกึ่งกลางราวนม สันมืออยู่บนกระดูกหน้าอก แล้วกดด้วยสันมือ ตั้งฉาก แขนตรง ไม่งอศอก (จำไว้ว่าต้องกดไม่ใช่กระแทก) ตามสูตรคือ เป่าปาก 2 ครั้ง กดหน้า 30 ครั้ง ถ้ามีการเคลื่อนไหวหรือถ้าหายใจและมีชีพจรให้จัดผู้ป่วยนอนในท่าพักฟื้น พาผู้ป่วยถึงมือแพทย์ให้เร็วที่สุด" น.อ.นพ.วรงค์แนะนำ

          แต่ทั้งนี้วิธีการห่างไกลโรคหัวใจที่ดีที่สุด นายแพทย์กิตติกล่าวว่า ควรเริ่มจากการป้องกัน โดยเริ่มจากดูแลตนเอง ตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองความเสี่ยงทุกปี ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ที่จะทำลายสุขภาพ เช่น การเลือกรับประทานอาหาร ไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูงจนเกินไป ควบคุมน้ำหนักให้พอดี และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ...เท่านี้ก็จะได้ "สวยอมตะ" ทั้ง "ตัว" และ "หัวใจ" แล้ว



imagesคลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ  



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

- glitter.kapook.com โดย Mena-BooNSonG



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดูแลหัวใจ ให้เป็นอมตะ อัปเดตล่าสุด 11 ตุลาคม 2551 เวลา 16:07:25 12,109 อ่าน
TOP