x close

เปิดประวัติ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ









 โอบามา คว้าชัยเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรก ของสหรัฐอเมริกา ด้วยคะแนน 333 เสียง ต่อ 155 เสียง  


         นายบารัค โอบามา ตัวแทนพรรคเดโมแครต เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่อนายจอห์น แมคเคน จากรีพับลิกัน ในการเลือกตั้งที่ มลรัฐยูทาห์ และ แคนซัส ใน มลรัฐยูทาห์แมคเคน เป็นฝ่ายชนะ โอบามา ไปแบบขาดลอย 61 ต่อ 37 % ขณะที่ใน แคนซัส แมคเคน ก็เป็นฝ่ายชนะไป อีก 55 ต่อ 43 % 

         ขณะเดียวกัน นายโอบามา สามารถคว้าชัยชนะได้ที่ มลรัฐไอโอวา ด้วยคะแนน ขาดลอย 72 ต่อ 27 %ทำให้ เขายังคงมีคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง นำ นายแมคเคน อยู่ที่ 207 - 129 คะแนน และ โอบามาต้องการอีกเพียง 63 คะแนนเท่านั้น ก็จะเป็น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ในทันที

          ทั้งนี้ สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า นายบารัค โอบามา ตัวแทนพรรคเดโมแครตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้งแล้วเกือบ 220 คะแนน ทิ้งห่างนายจอห์น แมคเคน คู่แข่งจากพรรครีพับลิกัน ที่ได้เพียง 135 คะแนน  

          ด้านที่ปรึกษาระดับสูงของนายจอห์น แมคเคน ออกมายอมรับว่า ทำใจแล้ว โอกาสที่จะชนะแทบไม่มี เพราะการสูญเสียฐานคะแนนเสียงในรัฐโอไฮโอ และรัฐเพนซิวาเนีย เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่า การจะถึงเส้นชัยได้คะแนน 270 คะแนนนั้นยากและเหนื่อย 

          ล่าสุด นายจอห์น แม็คเคน ตัวแทนพรรครีพับลิกัน ได้กล่าวยอมรับความพ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อนายบารัค โอบาม่า แล้ว ภายหลังนายโอบามา มีคะแนนคณะผู้เลือกตั้งเกินกว่า 270 เสียง ในช่วงเวลาเมื่อเร็วๆ นี้  

          อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานอีกว่า นายบารัค โอบามา กำลังจะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 44 ของสหรัฐอเมริกา โดยล่าสุดได้คณะผู้เลือกตั้ง 333 เสียง ต่อ 155 เสียง สามารถคว้าชัยชนะได้ในรัฐชิคาโก อิลลินอยส์

          ทั้งนี้ นายโอบามา จะกลายเป็นประธานาธิบดีเชื้อสายแอฟริกัน – อเมริกัน คนแรก พร้อมทั้งสามารถคว้าชัยได้ที่รัฐใหญ่อย่างรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งไม่เคยโหวตให้พรรคเดโมแครตนับตั้งแต่ปี 1964

          ส่วนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใด ความสัมพันธ์ของสองประเทศก็ยังเหมือนเดิมตลอดไป



โอบามา



โอบามา ประกาศหลังคว้าชัย นำอเมริกาสู่การเปลี่ยนแปลง

          
          นายบารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐฯ คนที่ 44 ขึ้นกล่าวปราศรัยขอบคุณกับผู้สนับสนุน วันนี้ (5 พฤศจิกายน) หรือเมื่อช่วงเที่ยงคืนที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น ที่แกรนด์พาร์ค ชิคาโก หลังคว้าคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง หรืออิเล็กทรอรัลโหวต เกิน 270 เสียงขึ้นไป คว้าชัยชนะ 

          นายโอบามา กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มาลงคะแนนเสียงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และไม่ได้แบ่งเป็นสีแดง หรือสีน้ำเงิน แต่เป็นสหรัฐอเมริกา โดยผลการเลือกตั้งครั้งนี้แสดงว่าการเปลี่ยนแปลงมาถึงอเมริกาแล้ว และกล่าวอีกว่า เมื่อหัวค่ำที่ผ่านมา นายแมคเคนได้โทรศัพท์มาแสดงความยินดีแล้ว พร้อมกล่าวชมแมคเคนว่าชาวอเมริกาควรชื่นชมที่นายแมคเคนเสียสละช่วยสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งขอบคุณ นาย โจ ไบเดน ผู้ที่อยู่เคียงข้างเขาตลอดเวลาในการหาเสียงเลือกตั้ง และ 16 ปีที่ผ่านมาเขาได้รับการสนับสนุน และความรักจากภรรยาของเขา มิทเชล โอบามา รวมทั้งลูกทั้ง 2 คน และว่า คุณยายของเขาแม้ไม่ได้มาร่วมยินดี แต่เชื่อว่าเธอจะเฝ้ามองจากที่ใดที่หนึ่ง 

          นายโอบามา ยังกล่าวขอบคุณผู้จัดการรณรงค์หาเสียงของเขาด้วยที่ทำให้การเลือกตั้งสำเร็จ โดยเป็นผู้จัดการเลือกตั้งที่ดีที่สุดที่เคยมีมา พร้อมทั้งขอบคุณบุคคลที่สนับสนุนเขาทุกคน และนี่คือชัยชนะของทุกๆ คน
 

          เขายังกล่าวว่า จะต้องแก้ปัญหาสงคราม พลังงานทดแทน แม้ว่าการทำทุกอย่างจะยาก แต่มีความหวังว่าจะไปถึงจุดหมายปลายทางได้ ทั้งนี้ รัฐบาลคงไม่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้ แต่พร้อมจะรับฟังเสียงประชาชน

          นายโอบามา กล่าวอีกว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ทุกคนต้องมีจิตวิญญาณในการแก้ปัญหา และไม่ใช่วอลสตรีทจะรุ่งเรืองอย่างเดียว แต่คนธรรมดาจะต้องดีด้วย 

          เขายังกล่าวย้ำสิ่งที่อับราฮัม ลินคอน เคยพูดว่า ทุกคนเป็นเพื่อนกันไม่ใช่ศัตรูกัน เขาต้องการความช่วยเหลือของประชาชนทุกคน และจะเป็นประธานาธิบดีที่ดีของประชาชน และประชาชนที่อยู่ทั่วโลกจะได้เห็นอรุณรุ่งวันใหม่ของผู้นำสหรัฐอเมริกา ใครร้องหาสันติภาพจะสนับสนุน แต่ใครที่จะทำลายล้าง ก็จะทำลายล้างกลับ โดยสิ่งที่จะชนะคนที่คิดจะทำลายล้างสหรัฐฯ ได้ จะมาจากพื้นฐานประชาธิปไตย และความมีเสรีภาพ

          เขากล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น สหรัฐฯ ก็ยังเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตย เราควรทำอะไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 



โอบามา


เปิดประวัติ บารัค โอบามา ผู้นำสีผิวคนแรกของสหรัฐฯ  


          สร้างประวัติศาสตร์เป็นที่เรียบร้อย สำหรับ "บารัค โอบามา" นักการเมืองผิวสีผู้จรัสแสงของสหรัฐ ตัวแทนพรรคเดโมแครต หลังจากชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี "จอห์น แม็คเคน" คู่แข่งแห่งพรรครีพับลิกัน ผงาดเป็นผู้นำทำเนียบขาว ด้วยฉันทามติจากคะแนนเลือกตั้งท่วมท้นของชาวอเมริกัน ที่แห่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางกระแสจับตาว่า ที่สุดแล้ว บารัค โอบามา จะทำสิ่งที่หลายคนทั่วโลกลุ้นเอาใจช่วยได้สำเร็จหรือไม่ ในการคว้าชัยเป็นประธานาธิบดี "ผิวดำ" คนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐ  . . .  อย่างไรก็ตาม พูดถึงชื่อ "บารัค โอบามา" ก็ทำให้หลายคนอยากรู้ว่าเขาคนนี้เป็นใครมาจากไหน ทำไมถึงได้กลายมาเป็นประธานาธิบดีผิวดำได้ วันนี้เรามีคำตอบมาเฉลยค่ะ

          "บารัค โอบามา" (Barack Obama) มีชื่อเต็มว่า บารัค ฮุสเซน โอบามา (Barack Hussein Obama) เกิดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ปี 1961 (2504)  ที่เมืองโฮโนลูลู ในรัฐฮาวาย บิดาคือ บารัค ฮุสเซน โอบามา เป็นชาวเคนยา มารดา คือ แอนดันแฮม เป็นชาวอเมริกัน ทั้งคู่หย่าขาดกันขณะที่โอบามาอายุเพียง 2 ปี โดยบิดาของเขากลับไปยังเคนยา ก่อนจะเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อปี 1982 

          ขณะที่มารดาของเขาก็แต่งงานใหม่และย้ายไปอยู่ที่อินโดนีเซีย เขาก็ถูกย้ายไปด้วย เมื่ออายุ 6 ปี และเข้าเรียนที่โรงเรียนในท้องถิ่นของกรุงจาการ์ตา แต่ต่อมาเขาก็ต้องสูญเสียมารดาจากโรคมะเร็งไปอีกคน และเขาก็ย้ายกลับมาอยู่กับตายายที่ฮาวาย เมื่ออายุ 10 ปี และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเข้าศึกษาต่อจนจบระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ในปี 1991 

          โอบามา เริ่มต้นชีวิตการทำงานเป็นผู้จัดงานชุมชน และประกอบอาชีพเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ก่อนดำรงตำแหน่งเป็นวุฒิสมาชิกรัฐอิลลินอยส์ 3 สมัย ตั้งแต่ปี 1997-2004 โดยเขาสอนกฎหมายด้านรัฐธรรมนูญที่มหาวิทยาลัยโรงเรียนกฎหมายชิคาโก ตั้งแต่ปี 1992-2004 ในฐานะเป็นสมาชิกสภาคองเกรส โอบามา มีโอกาสได้ร่วมร่างกฎหมายควบคุมอาวุธขีปนาวุธ และสนับสนุนความสามารถในการตรวจสอบของสาธารณชนต่อการใช้งบประมาณรัฐบาลกลาง และครั้งหนึ่งเคยช่วยร่างกฎหมายเกี่ยวกับการต่อต้านการโกงการเลือกตั้ง และการล็อบบี้, กฎหมายด้านอุณหภูมิโลกเปลี่ยนแปลง, ลัทธิก่อการร้ายใช้อาวุธนิวเคลียร์ และกฎหมายดูแลทหารอเมริกันที่กลับจากสมรภูมิรบ ขณะเดียวกัน ก็เคยมีประสบการณ์เดินทางเยือนต่างประเทศหลายประเทศ เช่น ภูมิภาคยุโรปตะวันออก,ตะวันออกกลาง และแอฟริกา

          สำหรับจุดเริ่มต้นบนเส้นทางการเมืองบารัค โอบามา ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐอิลลินอยส์ ในปี ในปี 1996 โดยเขาได้รับการสนับสนุนจากผู้สนับสนุนพรรคการเมืองทั้ง 2 พรรคใหญ่ให้มีการปฏิรูปกฎหมายจริยธรรมและสุขภาพ รวมถึงเขายังสนับสนุนกฎหมายบรรจุเรื่องการเพิ่มเครดิตภาษีให้กับแรงงานผู้มีรายได้ต่ำ  เจรจาเรื่องการปฏิรูปสังคมสงเคราะห์ และบริจาคเงินเพื่อกองทุนเลี้ยงดูเด็กเล็กอีกด้วย 

          ในปี 2003 โอบามา ได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการด้านสุขภาพ และบริการสาธารณชนของสภาสูงประจำรัฐอิลลินอยส์ ในยุคที่พรรคเดโมแครตสามารถผงาดขึ้นมาเป็นพรรคเสียงส่วนใหญ่ของคองเกรส เขาได้สนับสนุนและนำการผ่านกฎหมายตรวจสอบการจัดทำข้อมูลด้านเชื้อผิว ซึ่งทำให้ต้องบันทึกเชื้อผิวของผู้ขับขี่ที่ถูกควบคุม และออกกฎหมายที่ทำให้รัฐอิลลินอยส์กลายเป็นรัฐแรกที่ให้ฉันทานุมัติต่อการบันทึกเทป เกี่ยวกับการตรวจสอบคดีฆาตกรรม 

          ในปี 2004 โอบามาได้เขียนและขึ้นแถลงปราศรัยต่อที่ประชุมแห่งชาติพรรคเดโมแครตเป็นครั้งแรก โดยโอบามาซึ่งได้บรรยายว่า ปู่ของเขาเป็นอดีตทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่สอง เขาได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงความสำคัญต่างๆ ด้านสังคมและเศรษฐกิจ พร้อมทั้งตั้งคำถามต่อรัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เกี่ยวกับสงครามอิรัก และและมุ่งเน้นเกี่ยวกับพันธะผูกพันต่อทหารอเมริกันที่ออกไปรบนอกประเทศ 

          นอกจากนี้ เขายังได้วิจารณ์แง่มุมเกี่ยวกับคณะกรรมการเลือกตั้งที่ไม่เป็นกลาง และตั้งคำถามต่อชาวอเมริกันให้ลองค้นหาความสมัครสมานสามัคคีในความแตกต่างของสังคมอเมริกัน โดยระบุว่า "ที่นี่ไม่มีอเมริกาสายกลาง และอเมริกาสายอนุรักษ์ มีแต่เพียงอเมริกาที่เป็นสหพันธรัฐของทุกคน" 

          ประโยคดังกล่าวกลายเป็นวรรคทองของเขา ส่งผลให้สื่อมวลชนจับตานักการเมืองหนุ่มไฟแรงผู้นี้ขึ้นมาโดยทันที โดยสื่อมวลชนตีข่าวถ้อยแถลงเผ็ดร้อนตรงไปตรงมาดังกล่าว และส่งผลให้เขากลายเป็นบุคคลสำคัญทางการเมืองของสหรัฐเพียงชั่วพริบตา และยังเพิ่มภาษีในการต่ออายุเป็นวุฒิสมาชิกประจำสภาคองเกรสสมัยถัดมาด้วย

          อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2004 เพื่อหาวุฒิสมาชิกแห่งสหรัฐอเมริกาอยู่นั้น ชื่อเสียงของโอบามาได้รับการกล่าวขวัญมากขึ้น จากเป็นผู้ริเริ่มให้มีการปฏิรูปกฎหมายการประหารชีวิต โอบามาจึงลาออกจากสมาชิกวุฒิสภาแห่งรัฐอิลลินอยส์ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2004 และได้เริ่มหาเสียงเพื่อรับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาแห่งสหรัฐอเมริกา จนเขาก็ได้รับเลือกให้เป็นวุฒิสมาชิกของสหรัฐอเมริกาในที่สุด ถือได้ว่าเขาเป็นอเมริกันผิวสีคนที่ 5 ในประวัติศาสตร์ที่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา โอบามา ได้รับการยกย่องว่าเป็น "นักประชาธิปไตยผู้ซื่อสัตย์" จากนิตยสาร CQ Weekly นิตยสารที่เป็นกลางของสหรัฐอเมริกา

          เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ปี 2007 โอบามา ได้ประกาศเป็นผู้สมัครตัวแทนพรรคเดโมแครต ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่รัฐอิลลินอยส์บ้านเกิดของเขา โดยเขาเลือกสถานที่ประกาศตัว คือ อาคารสภาเก่าในเมืองสปริงฟิลด์ของรัฐอิลลินอยส์ ที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ของการเป็นนักการเมืองผิวสี ที่หาญกล้าประกาศตัวเป็นตัวแทนพรรคชิงตำแหน่งผู้นำทำเนียบขาว เนื่องจากสถานที่ดังกล่าวเคยถูกอดีตประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอร์น ประกาศแถลงสุนทรพจน์อมตะ "บ้านที่แตกแยก" มาแล้วเมื่อปี 1858 โดยตลอดการหาเสียง เขาได้เน้นประเด็นหาเสียงเรื่องการเร่งถอนทหารสหรัฐออกจากอิรัก การเพิ่มการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน การกระจายระบบสาธารณสุข ซึ่งถือเป็นนโยบายหาเสียงหลักของเขา 

          ในการรณรงค์หาเสียงนั้น ปรากฎว่า โอบามา สามารถระดมทุนได้เงินถึง 58 ล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2007 จากเงินบริจาคจำนวนเล็กๆ น้อยๆ จากหลายฝ่าย สร้างถสิติระดมทุนได้มากเป็นประวัติการรณ์ในช่วง 6 เดือนแรกก่อนการเลือกตั้ง โดยในเดือนมกราคม ปี 2008 เขายังสามารถระดมทุนได้มากเป็นประวัติการณ์เพียงช่วงเดือนเดียวของพรรคเดโมแครต คือ เป็นจำนวน 36.8 ล้านดอลลาร์ 

          ในการแข่งขันกับฮิลลารี ปรากฎว่า นายโอบามาได้สร้างปรากฎการณ์ "ล้มยักษ์" ขึ้นมาอย่างไม่คาดฝัน โดยเขาสามารถหาเสียงชนะนางฮิลลารีในรัฐต่างๆ โดยเฉพาะศึกซูเปอร์ทิวส์เดย์ ซึ่งเขามีคะแนนคณะกรรมการเลือกตั้งมากกว่านางฮิลลารี 20 เสียง พร้อมกับยังคงเดินหน้าทำสถิติระดมทุนได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ และชัยชนะอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน โดยเขาได้ประกาศแถลงชัยชนะที่เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมินเนโซต้า กลายเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ชิงศึกผู้นำทำเนียบขาว กับนายจอห์น แม็คเคน วุฒิสมาชิกรัฐอริโซน่า ที่เป็นผู้ชนะขาดลอยของพรรครีพับลิกัน และได้เลือกนายโจเซฟ ไบเด็น วุฒิสมาชิกรัฐเดลาแวร์ ซึ่งมีประสบการณ์โชกโชนด้านต่างประเทศ มาเสริมความแข็งแกร่งให้แก่เขา

           ทั้งนี้ในการหาเสียง บารัค โอบามา กล่าวว่า เขาต้องการรณรงค์ให้ยุติการทำสงครามในอิรัก ซึ่งตรงข้ามกับนโยบายของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช โอบามา ว่า ถ้าหากเขาได้รับเลือกตั้ง เขาจะออกกฎหมายตัดงบประมาณประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อหยุดการลงทุนซื้ออาวุธที่พิสูจน์ไม่ได้ ลดการพัฒนาระบบการรบหรือการต่อสู้ และมุ่งทำงานเพื่อกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเขาก็สามารถคว้าตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 44 ได้สำเร็จ

          สำหรับชีวิตส่วนตัวนั้น บารัค โอบามา สมรสกับ มิเชล โอบามา หรือมิเชล โรบินสัน เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 1989 ในขณะที่เขาทำงานเป็นที่ปรึกษาของกิจการกฎหมายเมืองชิคาโก้ โดยโอบามาและมิเชล ได้ทำงานร่วมกันในฐานะคณะทำงานเดียวกัน ก่อนที่ทั้งคู่จะหมั้นเมื่อปี 1991 และแต่งงานเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ปี 1992 และมีทายาทร่วมกัน 2 คน คือ มาเรีย แอน เกิดเมื่อปี 1998 และนาตาชา เกิดเมื่อปี 2001 

          สำหรับทรัพย์สินของ โอบามา นั้น นิตยสาร "Money" ระบุเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2007 ว่า โอบามา มีทรัพย์สินเฉลี่ย 1.3 ล้านดอลลาร์ โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายหนังสือของเขา ขณะที่รายได้ครอบครัวมีจำนวน 4.2 ล้านดอลลาร์

          โอบามา ได้เขียนหนังสือ 8 เล่มด้วยกัน อาทิ Dreams from My Father: A Story of Race and Inheritance หรือในชื่อภาษาไทย บารัค โอบามา ผมลิขิตชีวิตตัวเอง อัตชีวประวัติที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิต ความคิด มุมมองที่มีต่อเรื่องสีผิว และ The Audacity of Hope หรือในชื่อภาษาไทย กล้าหวัง กล้าเปลี่ยน หนังสือที่รวบรวมสุนทรพจน์และปาฐกถา ที่สะท้อนแนวคิดทางการเมืองที่จะนำอเมริกาไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของเขาเอง และหนังสือล่าสุดของเขาคือเรื่อง Change We Can Believe In: Barack Obama′s Plan to Renew America′s Promise 


รู้จักสหรัฐอเมริกา

         สหรัฐอเมริกา (United States of America) ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ บนพื้นที่กว่า 9.1 ล้านตารางกิโลเมตร มีทั้งหมด 50 รัฐ เมืองหลวง คือ วอชิงตัน ดี.ซี. มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 301,747,000 คน(ข้อมูลปี 2551) ปกครองแบบสหพันธรัฐ ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แบ่งอำนาจออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ

         สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในครั้งนี้ สืบเนื่องจากบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยอำนาจฝ่ายบริหาร ที่มีประธานาธิบดี เป็นประมุขและเป็นหัวหน้ารัฐบาลได้รับเลือกจากการเลือกตั้งทั่วไป ร่วมกับรองประธานาธิบดีทุก 4 ปี ในวันอังคารแรกหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายน และประธานาธิบดีจะมาจากการเลือกตั้งผ่านคณะผู้เลือกตั้ง จำนวน 538 คน ดำรงตำแหน่งไม่เกิน 2 สมัย สมัยละ 4 ปี

         หลังได้รับการเลือกตั้ง ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ยังต้องเป็นผู้ร่างรัฐบัญญัติต่อรัฐสภา และทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้ทำสนธิสัญญาต่าง ๆ ตลอดจนแต่งตั้งผู้พิพากษาเอกอัครราชทูตและตำแหน่งต่าง ๆ ของฝ่ายบริหารตั้งแต่ระดับรองผู้ช่วยรัฐมนตรีขึ้นไป

ย้อนประวัติเลือกผู้นำอเมริกา ลุ้นประธานาธิบดีคนที่ 44

         วันนี้นับเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของประชาชนชาวอเมริกันในประเทศสหรัฐอเมริกาที่จะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่มาบริหารประเทศแทนนาย จอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 43 ซึ่งจะครบวาระในเดือนมกราคม 2009 นี้ โดยประชาชนที่มีสิทธิในการเลือกตั้งต้องเป็นพลเมืองหรือเป็นผู้ที่มีสัญชาติอเมริกัน และมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ 

         ประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้แทนนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1787 สหรัฐ จึงเป็นประเทศแรกที่เริ่มมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นเพื่อให้สามารถ โอนถ่ายอำนาจบริหารจากกลุ่มหนึ่งไปยังอีกกลุ่มหนึ่งผ่านการเลือกตั้ง ดังนั้นชาวอเมริกันจะเลือกตั้งประธานาธิบดี ทุก ๆ 4 ปี ส่วนรองประธานาธิบดีจะมีการเลือกตั้งทุก ๆ 2 ปี ซึ่งการเลือกตั้งในสหรัฐ มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ การเลือกตั้งขั้นต้น และการเลือกตั้งทั่วไป โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดี ทุก 4 ปี จะมีการเลือกตั้งในวันอังคารแรกในเดือนพฤศจิกายน โดยในปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน ทั้งนี้ก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไป รัฐต่าง ๆ จะจัดเลือกตั้งขั้นต้น หรือการประชุมคอคัส (Caucus) เพื่อเลือกตัวแทน (Delegates) ที่จะเข้าร่วมประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองเพื่อเสนอชื่อตัวแทนพรรคเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ตามปกติแล้วการเลือกตั้งขั้นต้นหรือการประชุมคอคัสที่จัดขึ้นตามรัฐต่าง ๆ นี้จะจัดขึ้นระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ตามด้วยการประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองในเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม 

         คุณสมบัติของผู้ที่สมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีมาแล้ว 2 สมัย โดยการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1928 ที่ประธานาธิบดีและรองประธานา ธิบดีคนปัจจุบันไม่ลงสมัครเข้าแข่งขัน เนื่องจากบุช ดำรงตำแหน่งมาครบ 2 วาระแล้ว และรองประธานาธิบดีดิก ชีนีย์ ก็แสดงจุดยืนว่าจะไม่ลงสมัคร นอกจากนี้ผู้สมัครยังต้องเป็นผู้ที่เคยได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ และยังต้องเป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกาโดยกำเนิดมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี มีถิ่นพำนักถาวรอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย 

         ในปัจจุบันพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต ซึ่งถือเป็นทายาทของพรรคการเมืองเก่า ๆ ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 คือพรรคที่มีอิทธิพลมากที่สุดในกระบวนการทางการเมือง โดยพรรคใหญ่ 2 พรรคนี้มักจะครองตำแหน่งประธานาธิบดี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1852 เรื่อยมา และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พรรค 2 พรรคนี้ก็ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรวมกันเกือบร้อยละ 90 โดย จะมีน้อยครั้งมากที่ผู้ว่าการรัฐทั้ง 50 รัฐไม่ได้มาจากพรรครีพับลิกันหรือ พรรคเดโมแครต

         รูปแบบของการเลือกตั้งของประเทศสหรัฐอเมริกา แตกต่างจากประเทศไทยตรงที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ โดยแบ่งเป็นสาธารณรัฐทั้งหมด 50 มลรัฐ ซึ่งระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ แม้ประชาชนจะเป็นผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกประธานาธิบดี หรือที่เรียกกันว่า Popular Vote แต่คะแนนเสียงที่เป็นตัวตัดสินผลแพ้ชนะ คือ คะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง 

         (Electoral Vote) นอกจากนี้ยังมีความสลับซับซ้อนของกระบวนการเลือกตั้งอีกด้วย ขณะเดียวกันคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้งในแต่ละรัฐ ก็มีไม่เท่ากัน โดยผู้ที่ได้คะแนนเสียงดีกว่าในรัฐใหญ่ ๆ ก็มีโอกาสคว้าชัยชนะและหากพรรคใดสามารถครองเสียงคณะผู้เลือกตั้งเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมด ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคนั้นก็จะได้รับเลือกเป็นผู้นำสหรัฐคนต่อไป โดยครั้งสุดท้ายที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐซึ่งแพ้คะแนนป๊อปปูลาร์ โหวต แต่กลับเป็นฝ่ายคว้าชัยชนะเพราะได้ คะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งมากกว่า เกิดขึ้นในปี 2000 เมื่อ อัล กอร์ จากพรรคเดโมแครต ต้องพ่ายแพ้ให้กับ จอร์จ ดับเบิลยู บุช จากพรรครีพับลิกัน แม้จะได้ชัยชนะในส่วนป๊อบปูลาร์ โหวต ก็ตาม 

         ลักษณะทั่วไปของการลงคะแนนเสียงในสหรัฐอเมริกา จะมีอุปกรณ์ลงคะแนนที่หลากหลาย และเปลี่ยนลักษณะของเทคโนโลยีตลอดเวลา ปัจจุบันมีการลงคะแนนเสียงผ่านอินเทอร์เน็ตแล้ว ซึ่งทางคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ พรรคเดโมแครต ในรัฐแอริโซนาจัดทำขึ้น ที่เว็บไซต์ Election.com ซึ่งช่วยให้การลงคะแนนเสียงง่ายขึ้นเพียงผู้มีสิทธิออกเสียงเช็กรายชื่อตรวจสอบหมายเลขรหัสส่วนตัวและกรอกรหัสพร้อมหมายเลข 4 ตัวท้ายของบัตรประชาชนในแบบฟอร์มการเลือกตั้งก็สามารถเลือกตั้งได้แล้ว ในปัจจุบันมีผู้สนใจเลือกตั้งทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นและมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนการนับคะแนนจะทำในวันเลือกตั้ง แต่จะไม่มีการนับคะแนนการ เลือกตั้งล่วงหน้าจนกว่าจะมีการทำตารางผลการลงคะแนนหลังปิดหีบในวันเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้มีการเปิดเผยข้อมูลออกมาก่อนว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดมีคะแนนนำหรือตามหลังอยู่ เพราะข้อมูลเสียงล่วงหน้าจะมีผลต่อการเลือกตั้งในภายหลัง 

         วันนี้จะเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์วันหนึ่ง ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นวันที่ประชาชนชาวอเมริกัน ต่างเฝ้าจับตา แต่ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกต่างก็แอบลุ้นเช่นกันว่า ระหว่างนายบารัค โอบามา ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต หรือ นายจอห์น แมคเคน ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน ใครจะได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีคนที่ 44 ซึ่งถ้าผลการแข่งขัน นายโอบามาชนะก็จะได้เป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ประธานาธิบดีที่ชนะการเลือกตั้งนั้นจะขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2009 ตั้งแต่เวลาเที่ยงวันเป็นต้นไป


ย้อนรอยประธานาธิบดีสหรัฐ

         ประธานาธิบดี (President) คือ ตำแหน่งประมุขหรือผู้นำของประเทศที่ปกครองโดยระบอบสาธารณรัฐ ซึ่งประธานาธิบดีจะได้รับตำแหน่งจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย


สำหรับประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 1-44 ได้แก่  


         1. George Washington
         2. John Adams 
         3. Thomas Jefferson  
         4. James Madison 
         5. James Monroe 
         6. John Quincy Adams 
         7. Andrew Jackson  
         8. Martin Van Buren 
         9. William Henry Harrison 
         10. John Tyler 
         11. James K. Polk 
         12. Zachary Taylor
         13. Millard Fillmore 
         14. Franklin Pierce
         15. James Buchanan 
         16. Abraham Lincoln 
         17. Andrew Johnson 
         18. Ulysses S. Grant 
         19. Rutherford B. Hayes 
         20. James A. Garfield
         21. Chester A. Arthur 
         22. Grover Cleveland
         23. Benjamin Harrison 
         24. Grover Cleveland
         25. William McKinley 
         26. Theodore Roosevelt 
         27. William Howard Taft 
         28. Woodrow Wilson  
         29. Warren G. Harding 
         30. Calvin Coolidge 
         31. Herbert Hoover
         32. Franklin D. Roosevelt 
         33. Harry S. Truman 
         34. Dwight D. Eisenhower 
         35. John F. Kennedy 
         36. Lyndon B. Johnson 
         37. Richard Nixon 
         38. Gerald Ford 
         39. Jimmy Carter J
         40. Ronald Reagan J
         41. George H. W. Bush 
         42. Bill Clinton 
         43. George W. Bush J
         44. Barack Obama

 

ทำความรู้จักวิธีการลงคะแนนแบบอเมริกัน 

          วิธีการลงคะแนนเลือกตั้งในสหรัฐนั้นมีอยู่หลากหลายวิธี ต่างจากบ้านเราที่ใช้วิธีกาบัตรเลือกตั้งแล้วหย่อนลงหีบที่ล็อกกุญแจเอาไว้แน่นหนาก่อนจะนำไปเปิดนับท่ามกลางสักขีพยานกันอีกที ต่อไปนี้คือวิธีการลงคะแนนที่มีใช้กันอยู่ทั่วสหรัฐ

กาบัตรเลือกตั้งกระดาษ

          หนึ่งในการเลือกตั้งแบบดั้งเดิมที่ยังคงใช้อยู่ แต่ปัจจุบันคูหาเลือกตั้งจำนวนมากเลิกใช้ไปแล้ว ซึ่งวิธีการเลือกก็เหมือนในบ้านเรา

เครื่องเลือกตั้งแบบคันโยก

          เป็นการเลือกตั้งแบบแปลกๆ ที่ถือกำเนิดขึ้นในกลางศตวรรษที่ 20 ปัจจุบัน เครื่องเลือกตั้งแบบนี้เหลืออยู่เพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น โดยหลังจากเข้าคูหาแล้ว ผู้ไปใช้สิทธิ์จะต้องโยกเครื่องเลือกตั้งที่มีลักษณะคล้ายตู้หยอดเหรียญ ผู้สมัครแต่ละคนจะมีคันโยกประจำตัว เมื่อโยกเสร็จแล้วเจ้าหน้าที่ที่อยู่ด้านหลังเครื่องก็จะคอยนับคะแนนว่าผู้ใช้สิทธิ์คนนั้นโหวตให้ใคร

บัตรลงคะแนนแบบเจาะรู

          วิธีนี้ ผู้ใช้สิทธิ์จะต้องมีความสามารถด้านกลไกเล็กน้อย คือ ต้องใช้เครื่องเจาะรูให้ตรงกับชื่อผู้สมัครที่พวกเขาจะเลือกบนบัตรเลือกตั้ง แล้วเรื่องนี้ก็ได้กลายเป็นปัญหาในการเลือกตั้งเมื่อปี 2543 ที่อัล กอร์ พ่ายบุชไปไม่กี่คะแนนมาแล้ว เพราะมีบัตรจำนวนมากที่มีการเจาะรูหลายครั้งเพราะเจาะพลาด บ้างก็เจาะไม่ตรงจนทำให้เครื่องอ่านผลคะแนนได้ลำบาก เลยทำให้วิธีการนี้เลยเสื่อมความนิยมไปมาก

ระบบหน้าจอสัมผัส

          วิธีการไฮเทคแบบเดียวกับเครื่องเอทีเอ็มของธนาคารที่มีใช้กันทั่วสหรัฐ วิธีการนี้ถูกใช้แพร่หลายหลังเกิดปัญหากับบัตรเจาะรูเมื่อปี 2543 แต่ตอนนี้หลายรัฐเลิกใช้ไปแล้วเพราะไม่ไว้ใจเรื่องความปลอดภัย และความน่าเชื่อถือ หลังมีผู้ใช้สิทธิ์รายงานว่าบางครั้งเครื่องขึ้นคะแนนให้ผิดคน

เครื่องสแกนใยแก้ว

          เพราะไม่ไว้ใจระบบสัมผัส หลายแห่งเลยเปลี่ยนมาใช้เครื่องสแกนใยแก้วแทน เพราะผู้ใช้สิทธิ์จะต้องลงคะแนนในบัตรเลือกตั้งที่เป็นกระดาษ แล้วนำมาป้อนเข้าเครื่องสแกนที่จะเก็บบัตรเลือกตั้งไว้อย่างปลอดภัยในตู้ที่มีการล็อกแน่นหนา หากผู้ใช้สิทธิ์กรอกบัตรไม่ถูกต้อง เครื่องก็จะแจ้งให้กรอกใหม่ให้ถูกต้องด้วย แถมบัตรนี้ยังเก็บไว้ใช้ในยามที่ต้องมีการนับคะแนนใหม่ได้ด้วย



        ขณะนี้คงรู้แล้วว่า...ใครได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐอเมริกา แล้วเพื่อนๆ ล่ะคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
   

      

   

โดยคุณ กรวิกา คงเดชศักดา



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดประวัติ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ อัปเดตล่าสุด 11 พฤศจิกายน 2559 เวลา 10:51:53 165,403 อ่าน
TOP