x close

ประวัติการสร้างพระมหาพิชัยราชรถ และเวชยันตราชรถ

พระมหาพิชัยราชรถ

พระมหาพิชัยราชรถ สำหรับอัญเชิญพระบรมศพไปยังพระเมรุมาศที่สนามหลวง

          พระมหาพิชัยราชรถ ปรากฏบันทึกการสร้างในพระราชพงศาวดารว่า ... ปีเถาะ สัปตศกพระโองการรับสั่งให้ช่างทำพิชัยราชรถที่จะทรงพระโกศพระอัฐิ 7 รถ ให้ตัดเสาพระเมรุตั้ง ทรงประดับเครื่องให้แล้วเสร็จในปีเถาะ

          การสร้างราชรถครั้งนั้นก็คือการสร้างพระมหาพิชัยราชรถขึ้น เพื่อการพระบรมศพพระปฐมบรมมหาชนก ใน พ.ศ. 2338  โดยโปรดให้สร้างเป็นราชรถขนาดใหญ่ตามแบบพระราชประเพณี ที่เคยมีมาครั้งกรุงศรีอยุธยา คือ มีขนาดสูง 1120 เซนติเมตร ยาว 1530 เซนติเมตร งานพระเมรุ พ.ศ. 2339

          ต่อมาใน พ.ศ. 2342 สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี สิ้นพระชนม์ ก็โปรดให้อัญเชิญพระโกศทรงบนพระมหาพิชัยราชรถออกพระเมรุอีกครั้งหนึ่ง นับจากนั้นพระมหาพิชัยราชรถก็ได้ถูกกำหนดให้เป็นราชรถเฉพาะ อัญเชิญพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินตลอดมา

พระมหาพิชัยราชรถ

          นอกจากนี้เพื่อให้การเคลื่อนย้ายเข้ากระบวนพระราชพิธีเป็นไปอย่างสะดวก และรู้สึกมีน้ำหนักเบาขึ้น ต่อมากรมศิลปากรได้เล็งเห็นความสำคัญและความงดงามของงานศิลปกรรมประณีต ศิลป์ จึงได้บูรณะซ่อมแซมเสริมความมั่นคงแก่พระมหาพิชัยราชรถขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้มรดกงานศิลปกรรมนี้อยู่คู่กับชาติไทยต่อไป การบูรณะพระมหาพิชัยราชรถสำเร็จในปี พ.ศ. 2530

พระมหาพิชัยราชรถ

          พระมหาพิชัยราชรถได้ชำรุดทรุดโทรมลงตามกาลเวลา ได้มีการซ่อมแซมเพื่อใช้งานได้อยู่เสมอ ดังที่ปรากฏในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในครั้งนั้นนอกจากซ่อมแซมให้สวยงามแล้ว ยังโปรดให้เพิ่มล้อขึ้นอีกที่ใต้ตัวราชรถทั้งนี้เพื่อให้รับน้ำหนักตัวราชรถ และบุษบกยอด และพระโกศที่ตั้งอยู่บนราชรถได้ทั้งหมด  

เวชยันตราชรถ

เวชยันตราชรถ สร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

          เวชยันตราชรถ เป็นราชรถอีกองค์หนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่ออัญเชิญพระศพ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ในงานพระเมรุคู่กับสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี ซึ่งทรงใช้พระมหาพิชัยราชรถ พ.ศ. 2342 เวชยันตราชรถมีขนาดสูง 1170 เซนติเมตร ยาว 1750 เซนติเมตร

          ภายหลังงานพระเมรุ พ.ศ. 2342 แล้ว เวชยันตราชรถก็ถูกใช้เป็นราชรถรองในงานพระเมรุพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลต่อมา  จนถึงงานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาพระมหาพิชัยราชรถชำรุด ดังนั้นในงานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 จึงได้ใช้เวชยันตราชรถเป็นรถทรงพระบรมศพ โดยไม่มีราชรถรองในริ้วกระบวน

          และแม้ในการพระเมรุอัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีใน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ก็ได้ใช้เวชยันตราชรถ เป็นรถอัญเชิญพระบรมศพ เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2528 ซึ่งกรมศิลปากรก็ได้ซ่อมแซมเสริมความมั่นคง และตกแต่งความสวยงามด้วยการลงรักปิดทองประดับกระจกในการนี้ด้วย และได้ออกหมายเรียกว่าพระมหาพิชัยราชรถ

ราชรถน้อย

          ในกระบวนแห่พระบรมศพไปยังพระเมรุมาศ นอกจากพระมหาพิชัยราชรถ และเวชยันตราชรถยังมีราชรถน้อยอีก 3 องค์ ราชรถน้อยมีลักษณะคล้ายราชรถองค์ใหญ่ทั้งสององค์ คือมีส่วนตัวรถที่แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก คานที่ยื่นออกมาเป็นรูปนาคราช บนราชรถมีบุษบกตั้งอยู่เช่นเดียวกัน เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่ามาก

          ราชรถน้อยองค์หนึ่งใช้เป็นราชรถที่สมเด็จพระสังฆราชประทับ ทรงสวดนำกระบวนพระมหาพิชัยราชรถ ราชรถองค์ที่สอง เป็นราชรถโยงผ้าจากพระบรมโกศ จัดเป็นราชรถตามจากนั้นเป็นราชรถน้อยอีกองค์หนึ่ง ใช้เป็นรถสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ประทับ เพื่อทรงโปรยทานพระราชทานแก่ประชาชนที่มาเฝ้ากราบพระบรมศพตามทางสู่พระ เมรุมาศ

          ต่อจากนั้นตามด้วยราชรถรอง คือ เวชยันตราชรถและรถประทับอื่นๆ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าราชรถที่ใช้ในการพระบรมศพจริงๆ มี 5 องค์ ซึ่งล้วนสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้นำออกใช้งานพระเมรุมาศทุกรัชกาลจนปัจจุบัน

ราชรถน้อย

ราชรถน้อยในกระบวนแห่พระบรมศพมี 3 องค์คือ
 สำหรับพระสงฆ์อ่านพระอภิธรรม 1 โปรยข้าวตอกดอกไม้ 1 และโยง 1

          คราวใดที่ราชรถองค์ใดชำรุดทรุดโทรม ก็จะได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาตลอด เพื่อให้มีสภาพที่ใช้การได้และเพื่ออนุรักษ์งานศิลปกรรมไทยไม้จำหลัก ที่ยิ่งใหญ่ไว้เป็นมรดกแห่งบรรพชนไทยตลอดไปชั่วกาลนาน อันจะก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในอัจฉริยะของบรรพบุรุษทั้งในด้านภูมิปัญญา และสุนทรียะที่เต็มไปด้วยความรอบรู้ ในปรัชญาทางศาสนาอย่างลึกซึ่งอีกด้วย

          หากจะพิจารณาถึงความหมายและคติความเชื่อที่จินตนาการออกมาเป็นรูปร่างที่ เห็นนั้น จะพบว่า การให้รูปแบบเต็มไปด้วยปรัชญาทางความเชื่อ ที่มีความหมายเกี่ยวกับเทพเจ้าที่พ้องกันทั้งในพระพุทธศาสนา และในศาสนาพราหมณ์ ก็คือเรื่องของจักรวาล

          พระพุทธศาสนาจะกล่าวว่าจักรวาลประกอบด้วยทวีป 4 ทวีป คือ อุตรกุรุทวีป อมรโคยานทวีป บุรพวิเทหทวีป และชมพูทวีป กับทั้งประกอบด้วยภูมิทั้ง 3 คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ จักวาลนี้มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางและเป็นที่ประทับของพระอินทร์ ซึ่งทรงเป็นประธานเหนือเทพทั้งปวง

          ส่วนในศาสนาพราหมณ์ ถือว่าเขาไกรลาสเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เป็นที่ประทับของพระศิวะ หรือพระอิศวร รูปแบบของพระมหาพิชัยราชรถและเวชยันตราชรถ ก็น่าจะสร้างขึ้นตามคติความเชื่อในเรื่องของจักรวาลทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นการแสดงถึงว่า ได้ให้พระสงฆ์สวดนำวิญญาณไปสู่ที่สงบอันมีโลกุตร และนิพพานเป็นสำคัญ

          รูปแบบของราชรถเป็นการจำลองเอาเฉพาะเขาพระสุเมรุเพียงองค์เดียว โดยใช้รูปของบุษบกเป็นสัญลักษณ์ บุษบกเป็นอาคารโปร่งรูปสี่เหลี่ยมค่อนข้างจัตุรัส เปิดโล่งทั้ง 4 ทิศ หลังคาเป็นชั้นๆ ประกอบด้วยซุ้มรังไก่เรียงกัน 3 ซุ้ม ชั้นแต่ละชั้นซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปดูเรียวแหลม

          ในด้านสถาปัตยกรรมถือว่าเป็นการสร้างสรรค์ของช่างที่ทำให้หลังคาดูเบา และสวยงามไม่เทอะทะ ตัวบุษบกหากจะเปรียบกับชั้นภูมิของจักรวาล ก็น่าจะเป็นชั้นอรูปภูมิได้ เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมโกศซึ่งบรรจุพระบรมศพ  ซึ่งเปรียบได้กับวิญญาณที่ไม่มีรูป ก็น่าจะเข้ากับคติความเชื่อนี้ได้ กับทั้งเป็นการเทิดพระบารมีแห่งองค์ในพระบรมโกศ ซึ่งเปรียบเสมือนทรงเป็นเทพในสัมปรายภพนั่นเอง

ราชรถโถง

ราชรถโถง สำหรับอัญเชิญพระโกศพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์
ตัวราชรถเป็นไม้จำหลักรูปพญานาค ลงรักปิดทอง เทียมลากด้วยม้า
สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์

          บุษบก ตั้งอยู่บนฐานที่ซ้อนกัน 3 ชั้น อันเปรียบได้กับภูมิทั้ง 3 ภูมินั้น จะเห็นว่า ฐานแต่ละชั้นมีรูปเทวดานั่งพนมมือเรียงรายอยู่โดยรอบ โดยมีพญานาค 4 ตัว โอบอยู่โดยรอบด้านละ 2 ตัว ซึ่งหันเศียรออกไปทางทิศตรงกันข้าม ทำให้เห็นด้านข้างของราชรถ มีปลายที่งอนโค้งขึ้น ดูคล้ายบุษบกมาลาที่ประกอบเป็นมุขบัญชร ในส่วนของท้องพระโรงที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกว่าราชการ

          ดังนั้นจะเห็นว่าเทวดานั่งพนมมือและพญานาคนั้น ก็เป็นสัญลักษณ์แห่งสวรรค์ชั้นรูปภูมินั่นเอง ฐานทั้ง 3 ชั้นตั้งอยู่เหนือตัวรถ ที่ประกอบด้วยล้อขนาดใหญ่ 4 ล้อ และมีล้อเล็กอยู่แนวกลางใต้ฐาน และคันชักอีก 2 จุด เพื่อรับน้ำหนักของราชรถทั้งคัน ดังนั้น ล้อ คาน และเพลา จึงต้องมีความแข็งแรงเป็นพิเศษด้วย อันเปรียบได้กับโลกและกามภูมินั่นเอง

 
          เรียบเรียงจาก : กรมศิลปากร. กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ราชยาน ราชรถ และพระเมรุมาศ. กรุงเทพฯ : กรม , 2539



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
hrh84yrs.org

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประวัติการสร้างพระมหาพิชัยราชรถ และเวชยันตราชรถ อัปเดตล่าสุด 6 พฤศจิกายน 2551 เวลา 21:18:08 12,150 อ่าน
TOP