x close

ชุดไทยพระราชนิยม สำหรับงานพระราชพิธี

ชุดไทยพระราชนิยม

          นอกจากเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ได้สำรวจแล้ว พบว่าหลายคนเลือกที่จะวัดตัวตัดชุดดำเพื่อสวมใส่สำหรับร่วมงานพระราชพิธีในวันที่ 15 พฤศจิกายนโดยเฉพาะ มีหลายคนที่เลือกตัดชุดไทยแบบที่เรียกว่า "ชุดไทยพระราชนิยม" มาสวมใส่

          ชุดไทยพระราชนิยมนี้ เริ่มต้นจาก เมื่อ พ.ศ.2503 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำริว่าพระองค์จะต้องเสด็จไปในงานรัฐพิธีที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ เป็นเจ้าภาพจัดให้มีขึ้นในโอกาสและเวลาต่างๆ กัน เพื่อต้อนรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

          แต่ชุดแต่งกายของไทยยังไม่มีแบบฉบับที่จะให้ผู้ที่เห็นรู้ทันทีว่าเป็นชนชาติไทย เหมือนกับการแต่งกายของเพื่อนบ้าน เช่น ชุดส่าหรีของอินเดีย ชุดกิมิโนของญี่ปุ่น หรือชุดผ้าซิ่นของพม่า เป็นต้น

          พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมหลวงมณีรัตน์ บุนนาค หารือกับผู้รู้ทางประวัติศาสตร์เพื่อค้นคว้าเรื่องเครื่องแต่งกายของไทยในสมัยต่างๆ และเมื่อทรงทราบแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้คุณอุไร ลืออำรุง ช่างตัดฉลองพระองค์เลือกแบบและจัดเป็นชุดไทยขึ้น 8 ชุด เพื่อใช้ในโอกาสและสถานที่ต่างๆ กัน ทุกชุดตัดด้วยผ้าไทย เพื่อเน้นให้เห็นถึงความเป็นไทยมากขึ้น
 
          ที่สำคัญคือทั้ง 8 ชุดนี้ยังคงไว้ซึ่งลักษณะการนุ่งซิ่นของสตรีในสมัยก่อนที่เป็นทั้งสตรีในราชสำนักและสตรีทั่วๆ ไป และชุดไทยตามพระราชนิยมของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นิยมเรียกสั้นๆ ว่า "ชุดไทยพระราชนิยม"

ชุดไทยพระราชนิยม

          "ชุดไทยพระราชนิยม" ประกอบด้วย ชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยจักรี ชุดไทยดุสิต ชุดไทยจักรพรรดิ และชุดไทยศิวาลัย

          ในชุดทั้ง 8 ชุดนี้ ชุดไทยเรือนต้น เป็นชุดที่มีโอกาสใช้งานมากที่สุด เพราะสามารถใช้งานได้กว้างขวางในหลายโอกาส ตั้งแต่เป็นชุดลำลองในการเฝ้าฯรับเสด็จ งานเลี้ยง งานทอดกฐิน ทำบุญ ชุดเพื่อนเจ้าสาว ชุดรับหมั้น หรือแม้แต่งานพิธีที่ระบุว่าแต่งเครื่องแบบครึ่งยศ

          ที่สำคัญชุดไทยเรือนต้นยังเหมาะกับสตรีทุกวัยที่มีรูปร่างต่างๆ กันเนื่องจากเป็นชุดที่สวมสบายไม่รัดรูป

          ชุดไทยเรือนต้นนี้จะมีส่วนคล้ายกับชุดอยู่บ้านของสตรีไทยในชนบท ที่สวมเสื้อแขนยาวแบบแขนกระบอก ตัวเสื้อตัดเข้ารูปพอดีตัวของผู้สวม นุ่งผ้าถุง โดยมากจะนิยมสีเข้มๆ เช่น สีครามหรือสีดำมะเกลือ เนื่องจากต้องทำงานบ้านทั่วไป แต่ชุดไทยเรือนต้นเป็นชุดที่ใช้กับงานตอนกลางวัน จึงใช้ผ้าที่มีสีสดสวยมีดอก สดใส หรือเป็นริ้ว หากต้องการให้ดูเป็นทางการมากขึ้นก็สามารถใช้เป็นผ้าเลี่ยน ผ้าไหม ผ้าไหมยกดอก ส่วนเครื่องประดับอาจไม่ใช้เลยก็ได้หรืออาจจะมีบ้าง เช่น สร้อยหรือกำไลข้อมือ สร้อย เข็มกลัด ตุ้มหู ชนิดติดใบหู ฯลฯ

          ชุดไทยเรือนต้นเป็นชุดที่มีเสื้อกับผ้าซิ่น โดยสวมเสื้อคอกลมไม่มีขอบตั้ง ผ่าอกติดกระดุม 5 เม็ด แขนยาวสามส่วนกว้างพอสบาย แบบเสื้อแขนกระบอก ตัวเสื้อเข้ารูปพอดีตัวหรืออาจตัดหลวมจนดูเกือบตรง ทำให้สวมใส่สบายยิ่งขึ้น ปล่อยชายเสื้อยาวทับหัวซิ่น ใช้ได้ทั้งผ้าฝ้าย ผ้าไหม ใช้สีที่ตัดกับสีผ้าซิ่น สีเดียวกับผ้าซิ่น สีอ่อนกว่าผ้าซิ่น หรือแม้แต่แก่กว่าผ้าซิ่นก็ได้ กรณีที่ผ้าซิ่นที่นุ่งเป็นผ้าเลี่ยน จะใช้ผ้าดอก ผ้าลายไทย ทำตัวเสื้อก็ได้ส่วนผ้าซิ่นที่นุ่งเป็นแบบป้ายหน้าเย็บพอดีตัว ยาวจรดข้อเท้าใช้ได้ทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหมจะยกดอกหรือเป็นผ้าซิ่นพื้นบ้าน ผ้าซิ่นมีเชิง ผ้ามัดหมี่ ย่อมใช้ได้ทั้งสิ้น

          นับว่าชุดไทยเรือนต้นเป็นชุดที่ใช้ได้อเนกประสงค์แล้วยังเป็นชุดที่สามารถใช้กับผ้าซิ่นพื้นบ้านได้อีกด้วย ซึ่งในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพในครั้งนี้ ก็มีหญิงสาวหลายคนเลือกที่จะตัดชุดไทยเรือนต้นไปสักการะพระศพ





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชุดไทยพระราชนิยม สำหรับงานพระราชพิธี อัปเดตล่าสุด 11 พฤศจิกายน 2551 เวลา 16:52:01 70,782 อ่าน
TOP