รายงานข่าวจาก องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ หรือ นาซา เชิญชวนชมปรากฏการณ์จันทร์เต็มดวงในคืนวันนี้ (12 ธันวาคม) โดยคืนนี้จะเห็นจันทร์เต็มดวงที่โตที่สุดและสว่างที่สุดในรอบปีนี้ โดยจะโตกว่าดวงจันทร์ปกติถึง 14 % และสว่างมากกว่า 30% สำหรับปรากฏการณ์จันทร์เต็มดวงนี้ ด้านที่อยู่ใกล้โลกสุด คือ perigee ส่วนด้านที่อยู่ไกลสุด คือ apogee
ขณะที่ นายนิพนธ์ ทรายเพชร ราชบัณฑิตทางด้านดาราศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า วันนี้จะเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลงมากกว่าวันอื่นๆ คนไทยมักเรียกวันนี้ว่า วันพระใหญ่ โดยทุกคนสามารถเห็นดวงจันทร์ดวงใหญ่กว่าปกติ โดยเฉพาะเวลา 23.00-24.00 น. จะเห็นดวงจันทร์กลมโตสุกสว่าง โดยดวงจันทร์ดังกล่าวจะมีความกว้างของเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 33.5 ลิปดา ซึ่งต่างจากดวงจันทร์ปกติที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 30 ลิปดา อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ดวงจันทร์ใกล้โลกจะเกิดขึ้นเดือนละ 1 ครั้ง เพียงแต่ระยะห่างจากโลกที่ทำให้เห็นดวงจันทร์กลมโตสุกสว่างจะแตกต่างกัน ซึ่งครั้งนี้ถือว่าดวงจันทร์มีลักษณะโตที่สุด โดยครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าหลังจากนี้จะเกิดขึ้นอีกประมาณ 15-18 ปี
"ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะส่งผลต่อน้ำขึ้นน้ำลง หากมองเห็นดวงจันทร์กลมโตกว่าปกติ หรืออยู่บริเวณขอบฟ้าย่อมแสดงว่าเป็นช่วงน้ำขึ้น แต่หากเห็นดวงจันทร์อยู่สูงมากหรือไกลออกไปแสดงว่าเป็นช่วงน้ำลงนั่นเอง แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดน้ำท่วม เพราะแรงดึงดูดจากดวงจันทร์จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าปกติไม่กี่เซนติเมตรเท่านั้น" นายนิพนธ์กล่าว และว่า รูปร่างของดวงจันทร์มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับสังคมไทยมาเนิ่นนาน เพราะใช้ดวงจันทร์กำหนด "วันพระ" ซึ่งมี 4 วันคือ "วันพระใหญ่" 2 วัน ตรงกับ วันขึ้น 15 ค่ำ ดวงจันทร์เต็มดวง และวันแรม 14 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ ซึ่งมองไม่เห็นดวงจันทร์ ส่วน "วันพระเล็ก" มี 2 วัน หากเห็นดวงจันทร์ครึ่งดวง จะตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ ดวงจันทร์ขึ้นสูงสุดเป็นรูปครึ่งวงกลม หันด้านนูนไปทางตะวันตก นับเป็นวันพระเล็ก และวันพระเล็กอีกวันคือ แรม 8 ค่ำ เวลาเช้าตรูจะเห็นดวงจันทร์อยู่สูง เป็นรูปครึ่งวงกลม หันด้านนูนไปทางตะวันออก
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายบุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ในวันที่ 13-14 ธันวาคมนี้ จะมีปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ เกิดขึ้น ซึ่งฝนดาวตกเจมินิดส์ถือเป็นฝนดาวตกอีกกลุ่มหนึ่งที่สวยงามไม่แพ้ฝนดาวตกอื่นๆเนื่องจากมีความหลากหลายของสีที่สวยงาม
ทั้งนี้ฝนดาวตกเจมินิดส์มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่กลุ่มดาวคนคู่ ปกติสามารถสังเกตได้ตั้งแต่คืนวันที่ 6-19 ธันวาคม ของทุกปี สำหรับในปีนี้ ฝนดาวตกเจมินิดส์จะมีมากที่สุด ซึ่งอาจจะเห็นได้สูงสุด 100 ดวงต่อชั่วโมง ในคืนวันที่ 13 ธันวาคม จนถึงก่อนฟ้าสางวันที่ 14 ธันวาคม
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในวันที่ 13 ธันวาคม ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ ซึ่งนับเป็นช่วงที่ดวงจันทร์เกือบเต็มดวงและส่อง สว่างมาก จึงอาจจะทำให้เห็นฝนดาวตกเฉพาะดวงที่มีความสว่างมาก โดยผู้สนใจสามารถดูได้ทางท้องฟ้าทิศตะวันออกตั้งแต่เวลา 21.30 น. เป็นต้นไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์มติชน Kapook.com และทางอินเทอร์เน็ต