x close

โวย sms นายกฯ ชวนร่วมแก้วิกฤต ละเมิดสิทธิ



          แค่เริ่มอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการวันแรก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เจอเสียงสวดจากประชาชนกับผลงานส่อละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดยผู้สื่อข่าวรายงานตลอดวันที่ 18 ธันวาคมได้เกิดปรากฏการณ์สร้างความประหลาดใจในหมู่ประชาชน เมื่อได้รับข้อความผ่านทางโทรศัพท์มือถือหรือเอสเอ็มเอส ใช้ชื่อผู้ส่งว่า your pm โดยมีเนื้อหาระบุว่า "ผมนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ขอเชิญท่านร่วมนำประเทศไทยออกจากวิกฤติ สนใจได้รับการติดต่อจากผมกรุณาส่งรหัสไปรษณีย์ 5 หลักของท่านมาที่เบอร์ 9191 (3 บ.)"

          ขณะเดียวกัน มีผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทรูหลายราย โทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนยังสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่า ได้รับข้อความสั้นดังกล่าว โดยผู้ใช้บริการรายหนึ่งสงสัยว่า อาจเป็นเล่ห์กลของแก๊งมิจฉาชีพ แต่ก็มีบางรายกล่าวว่าได้รับข้อความแล้วรู้สึกรำคาญ และถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลด้วย ขณะที่บางรายตั้งข้อสังเกตว่า การส่งข้อความดังกล่าวเป็นการหาเงินเข้ากระเป๋าใครหรือไม่ เพราะเมื่อเจ้าของเบอร์ส่งรหัสไปรษณีย์กลับไปตามหมายเลข 9191 ปรากฏว่าถูกหักเงินค่าใช้บริการครั้งละ 3 บาท แต่ถ้าเป็นคำเชิญชวนของรัฐบาลที่ต้องการความร่วมมือจากประชาชนจริงๆ ก็น่าจะให้บริการฟรี  

          ผู้สื่อข่าวจึงติดต่อกลับไปยังคอลเซ็นเตอร์ของค่ายมือถือทรู สอบถามถึงรายละเอียดของการส่งข้อความปริศนาดังกล่าว ซึ่งพนักงานรับโทรศัพท์ให้รายละเอียดว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่ทางทรูได้ส่งไปให้ ผู้ใช้บริการมือถือของบริษัทฯ ทุกรายจริง เพราะได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้ดำเนินการ ส่วนเหตุผลเรื่องการหักค่าบริการ เป็นระเบียบปฏิบัติตามปกติ และต้องขออภัยหากเป็นการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้ใช้บริการ 

          จากนั้น ผู้สื่อข่าวจึงสอบถามไปยังทีมงานของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้รับคำตอบว่า ข้อความดังกล่าวเป็นแนวคิดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ประสานผ่านนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค เพื่อต้องการส่งข้อความถึงประชาชนบอกเจตนารมณ์ในความตั้งใจที่จะทำงาน โดยจะมีการส่งข้อความดังกล่าวถึงประชาชนผ่าน 3 เครือข่ายหลัก คือ ทรู เอไอเอส และดีแทค ซึ่งนายอภิสิทธิ์จะเป็นผู้ประเมินผลการตอบรับอีกครั้ง ว่าจะส่งข้อความต่อไปอีกหรือไม่ สาเหตุที่ต้องให้ประชาชนส่งรหัสไปรษณีย์ 5 หลัก มาที่เบอร์ 9191 เพื่อต้องการทราบว่ามีประชาชนส่วนใดบ้างที่ต้องการร่วมแก้วิกฤติ และจะได้เก็บเข้าสู่ฐานข้อมูลด้วย 

          เมื่อสอบถามไปยัง นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (คบท.) ถึงเรื่องเอสเอ็มเอสดังกล่าว ก็ได้รับการเปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าผิดฐานละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่นั้น แต่การสื่อสารโทรคมนาคม หรือการสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือ เป็นการสื่อสารแบบ 1 ต่อ 1 เป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ถ้าข้อความนั้นผู้รับไม่พึงประสงค์ ก็คิดว่าละเมิดสิทธิ แต่ถ้าพอใจในการรับข้อความนั้น ก็ไม่ถือว่าละเมิดสิทธิ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของบุคคลที่เป็น ผู้รับข้อความนั้นมากกว่า  

          "ถ้าใครรู้สึกว่าถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ก็ทำเรื่องร้องเรียนมายัง คบท. เพราะที่ผ่านมาผู้ใช้บริการโทรศัพท์ มือถือได้ร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก กรณีที่มีการส่งเอสเอ็มเอส ได้แก่ ดูดวง ขายประกัน บัตรเครดิต รายการดูหนังฟังเพลง เป็นต้น ซึ่ง คบท.กำลังตรวจสอบอยู่ว่าเหมาะสมหรือไม่" ผอ.คบท.กล่าว 

          ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง กรรมการ คบท. กล่าวเสริม ว่า คบท.ตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดพรรคประชาธิปัตย์จึงเลือกใช้การสื่อสารด้วยเอสเอ็มเอสจากโทรศัพท์มือถือเพราะเป็นการสื่อสารส่วนบุคคล เจ้าของจึงควรเป็นผู้มีสิทธิ เลือกใช้ ไม่ควรถูกรุกล้ำในลักษณะมัดมือชก เอสเอ็มเอสเหมือนการเคาะประตูบ้าน บุกถึงตัวผู้รับ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหากเจ้าของมิได้ให้ความยินยอม ทั้งนี้ ตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 12 ระบุว่า ผู้ให้บริการจะนำข้อมูลที่ได้จากการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการนั้น ไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นโดยมิได้รับความยินยอมโดยชัดแจ้งจากผู้ใช้บริการมิได้ เว้นแต่เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมาย 

          กรรมการ คบท. กล่าวอีกว่า วิธีที่เปิดให้กดรับข้อความ เสียงยังก่อให้เกิดภาระกับประชาชน ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อฟังเสียงนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จึงเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ควรใช้ช่องทางอื่นที่ไม่สร้างภาระและไม่เป็นการละเมิดสิทธิประชาชน ที่ผ่านมา คบท.ได้รับการร้องเรียนเรื่องเอสเอ็มเอสรบกวนเข้ามามาก อยากให้รัฐบาลพิจารณาเลือกใช้ช่องทางอื่นสื่อสารกับประชาชน ซึ่งรัฐบาลมีอยู่มากมาย ไม่อยากให้รัฐบาลใหม่กลายเป็นผู้ละเมิดสิทธิของประชาชนเสียเอง  

          ต่อมาในช่วงเย็น นายกรณ์ จาติกวณิช ว่าที่ รมว. คลัง กล่าวถึงเรื่องเอสเอ็มเอสในครั้งนี้ว่า ทั้งหมดเป็นยุทธศาสตร์ในการสื่อสารระหว่างประชาชนกับรัฐบาล โดยเป็นการขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการ ซึ่งทุกคนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งได้มีการพิจารณาเรื่องข้อกฎหมายแล้วเห็นว่าไม่ผิดกฎหมาย และไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทั้งนี้ ทางพรรคต้องขออภัยผู้ที่อาจจะไม่ชอบพรรคประชาธิปัตย์ และทำให้เกิดความรำคาญ แต่อยากให้เปิดใจกว้างร่วมรับฟังนโยบายของพรรค ยืนยันว่าไม่ใช่ การบังคับประชาชนให้เสียเงิน เพราะเมื่อได้รับแล้วก็เป็นสิทธิของประชาชนว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ หากเห็นด้วยก็ส่งข้อความตอบรับ ก็เสียเงิน 3 บาท เชื่อว่าแนวทางนี้จะเข้าถึงประชาชนได้ทุกกลุ่ม มากกว่าโทรทัศน์ หนังสือ พิมพ์ อินเตอร์เน็ต เพราะมีผู้ลงทะเบียนอยู่กว่า 50 ล้าน หมายเลข จึงเชื่อว่าช่องทางนี้จะเข้าถึงประชาชน เพื่อที่จะพัฒนาประเทศต่อไป  


          นายกรณ์ กล่าวต่อว่า การแก้วิกฤติเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอ เพราะไม่เหมือนวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ 10 ปีก่อน เพราะขณะนี้ได้เกิดความแตกแยกในสังคม ช่องทางนี้จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ทำให้นายกฯใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น และยืนยันว่าไม่มีการแทรกแซงกิจการของบริษัทเอกชน เพราะการหารือกับผู้ประกอบการได้พูดคุยกับระดับแกนนำ ที่มีอำนาจในการตัดสินใจด้วยความรอบคอบและถูกต้องที่สุด ซึ่งต่างประเทศก็ใช้วิธีการนี้ถือเป็นเรื่องปกติ เป็นการขอโอกาสให้ประชาชนได้เสนอความเห็นเข้ามา ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ได้ระบุว่าจะรับฟังความคิดเห็นของทุกคน  ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย  จนถึงขณะนี้ก็มีประชาชนตอบรับมาเป็นจำนวนมาก



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โวย sms นายกฯ ชวนร่วมแก้วิกฤต ละเมิดสิทธิ อัปเดตล่าสุด 19 ธันวาคม 2551 เวลา 11:52:56 43,490 อ่าน
TOP